เสียงคนรุ่นใหม่ต่อ ‘กฎหมายพิเศษ’ ของคสช.

หลังรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ใช้อำนาจพิเศษออกประกาศหรือคำสั่งเพื่อควบคุมสถานการณ์ทางการเมือง จำนวนมาก นับถึงวันที่ 21 กันยายน 2561 คสช. ออกประกาศ 128 ฉบับ ออกคำสั่ง 213 ฉบับ และออกคำสั้งหัวหน้า คสช. 194 ฉบับ รวมแล้วมีจำนวนมากถึง 535 ฉบับ ซึ่งจำนวนนี้ยังเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ตามระยะเวลาที่อยู่ในอำนาจ 
ภายใต้บรรดาประกาศและคำสั่งดังกล่าว มีคนรุ่นใหม่จำนวนหนึ่งสะท้อนออกมาว่า พวกเขาไม่เห็นด้วยกับกฎหมายเหล่านี้ โดยเฉพาะการใช้อำนาจพิเศษเพื่อตอบสนองนโยบาย คสช. อย่างเช่น เช่น การเรียกบุคคลเข้ารายงานตัว การห้ามชุมนุมทางการเมือง การควบคุมการทางานของสื่อมวลชน 
"เฟรนด์" นิสิตคณะบริหารธุรกิจ เศรษฐศาสตร์และการสื่อสาร สาขาวิชาการสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยนเรศวร  
"ก่อนหน้านี้ไม่ได้สนใจการเมือง พอช่วงหลังเริ่มเข้ามาศึกษา และมาเรียนหนังสือ ก็ต้องให้ความสนใจในเรื่องนี้ เราคิดว่า ควรจะมีความรู้ในด้านการเมือง ด้านกฎหมาย หรือตามข่าวสารด้านนี้บ้าง เคยได้ยินเกี่ยวกับการที่ทหารไปเคาะประตูบ้านคน แล้วจู่ๆ ก็มีคนหายไป" 
"ตั้งแต่ที่ คสช. เข้ามาปกครองประเทศ คำว่า "สิทธิ" ที่เราควรจะกระทำได้ มันถูกจำกัดมากขึ้น เราเป็นเยาวชน คือ เรามีสิทธิเสรีภาพที่อยากจะแสดงความคิดเห็น เป็นคนยุคใหม่ที่อยากจะก้าวขึ้นมาพัฒนาประเทศ เราเลยคิดว่าการที่ คสช. มาปกครองประเทศในตอนนี้มันมีข้อจำกัดบางอย่างที่ทำให้เราไม่สามารถเสนอความคิดเห็นบางอย่างออกไปได้ ในเรื่องทางการเมือง รวมถึงการวิพากษ์วิจารณ์อะไรต่างๆ ในสังคมด้วย"
"สนใจเวลามีนักศึกษาออกมาแสดงความคิดเห็น รวมกลุ่มกันยื่นข้อเสนอบางอย่าง หรือการขับเคลื่อนทางสังคม แต่เราไม่เคยไปเข้าร่วมกับเขา เอาจริงๆ ส่วนตัวเรากลัว กลัวว่า จะเกิดอะไรขึ้น เพราะถ้าเราไปร่วม อาจจะโดนเอาไปออกสื่อ หรือว่าโดนให้สัมภาษณ์ ก็เลยกลัวว่า มันจะมีผลกระทบต่อตัวเรา ครอบครัว การใช้ชีวิตในอนาคต และการเข้ารับทำงานด้วย"
นักศึกษามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ 
"ตั้งแต่การรัฐประหารเป็นต้นมา ก็สนใจการเมืองอย่างอย่างเข้มข้น เพราะชีวิตเราเปลี่ยนไปค่อนข้างเยอะ เรารู้สึกเราโดนละเมิดอะไรบางอย่าง"
"ก่อนหน้านี้เราวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลที่ทำอะไรไม่ดีได้ สมัยรัฐบาลเลือกตั้ง เราจะด่ายังไงก็ไม่ผิดอะไร แต่ตอนนี้ เห็นคนด่ารัฐบาลโดนทั้งมาตรา 44 โดนทั้งประกาศคำสั่ง คสช. ผมรู้สึกมันไม่แฟร์ การวิพากษ์วิจารณ์เป็นสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐาน"
"การวิพากษ์วิจารณ์มันเป็นเรื่องปกติ ทุกคนถกเถียงกันได้ ด่ากันได้ การเถียงกันด้วยเหตุผลมันจะนำไปสู่การแก้ไขปัญหา แต่ถ้าปิดทุกอย่าง มันจะไม่นำไปสู่อะไรเลย การนำทุกความคิดเห็นมารับฟังจะทำให้เราได้ข้อสรุปที่ดีกว่า แล้วบางทีข้อสรุปอาจจะเป็นการเจอกันครึ่งทางก็ได้ ถ้ามีกระบวนการรับฟังความคิดเห็น มีการแลกเปลี่ยนอาจจะทำให้ประชาชนมั่นใจมากขึ้นก็ได้ มันไม่จำเป็นจะต้องได้ตามประชาชนสุด หรือฝ่ายรัฐสุด"
"พอเราสนใจการเมืองและผันตัวมาเป็นนักกิจกรรม กลายเป็นว่ามันเสี่ยง จะไปไหนมาไหนก็จะมีคนมาตาม ผมว่าไม่ใช่ อย่างเพื่อนผมบางคนก็โดนติดตาม จะจัดกิจกรรมอะไร เจ้าหน้าที่ทหารก็จะเข้ามา ทั้งที่พวกเราก็ไม่ได้ทำอะไรผิด ทำไมต้องคุกคาม"
"เราเคยจัดกิจกรรมครั้งหนึ่งซึ่งมันคงดูล่อแหลมในสายตาเจ้าหน้าที่ แต่จริงๆ มันไม่ได้มีอะไร ทหารก็มาถามว่าจัดอะไร รู้มั้ยการจัดกิจกรรมของเราไม่ดี มาบอกข้อเสียให้เราฟัง แล้วทหารไม่ได้มารอบเดียว มาแล้วมาอีก บางทีก็ยกกล้องถ่ายรูปเรา มันทำให้เรารู้สึกไม่ปลอดภัย มาจนเรารู้สึกจิตตก เรากลัว กลายเป็นเวลาเราจัดกิจกรรมอะไรก็ต้องระวัง พอโดนมากเข้า ก็กลายเป็นจัดกิจกรรมแล้วมันไม่ได้อะไร มันต้องลดสเกล มันไม่ได้สร้างอิมแพ็ค เพราะเรามัวแต่กลัว"
"อย่างในพื้นที่สามจังหวัด ถ้าจัดประเด็นที่เกี่ยวข้องกับพื้นที่สามจังหวัดจะโดนบ่อย บางที่ประเด็นไม่ได้เกี่ยวข้องกับการต่อต้านอำนาจรัฐก็โดน เจ้าหน้าที่ทหารจะมาคุย แล้วเวลามาก็ไม่ได้บอกว่าทำตามกฎหมายอะไร ไม่แนะนำตัว อยู่ดีๆ ก็มาถามจัดอะไร จัดทำไม สุดท้ายกิจกรรมที่จัดได้ คือ กิจกรรมที่ตอบสนองความต้องการของเขา อะไรที่ไม่ตอบสนองเขา วิพากษ์วิจารณ์เขาก็จะจัดไม่ได้" 
"เต้ย" คณะศึกษาศาสตร์ สาขาวิชาสังคมศึกษา มหาวิทยาลัยมหาสารคาม 
"ผมเริ่มรู้จักข่าวการเมืองครั้งแรกสมัยรัฐประหารปี 2549 หลังจากนั้นก็ทราบข่าวการชุมนุมของคนสองสีเสื้อมาเรื่อยๆ แต่ก็ไม่ได้ให้ความสนใจมากนัก เริ่มติดตามจริงๆ คือช่วง ม.5 ตอนนั้นมีข่าวการชุมนุมใหญ่ปิดกรุงเทพ จนนำมาสู่การรัฐประหารในวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 จากนั้นก็เริ่มติดตามเพจข่าวต่างๆ เพื่ออัพเดทข่าวการเมืองมาเรื่อยๆ"
"ย้อนไปตอนสมัยอยู่ ม.6 ผมเคยอ่านหนังสือและคลิปวิดีโอเกี่ยวกับเหตุการณ์ 14 ตุลา และ 6 ตุลา นั่นเป็นจุดเริ่มต้นให้หัดตั้งคำถามกับสังคมที่ผมอยู่ว่าเคยเกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้นในประเทศเราด้วยหรือ ประเทศเราเป็นสยามเมืองยิ้ม หรือเป็นเพียงมายาคติต่างๆ ที่เคยถูกสอนและปลูกฝังมา จากนั้นเราก็เริ่มอ่านหนังสือที่เป็นกระแสรอง ทำให้ได้มองเห็นสังคมในแบบที่ต่างออกไป"
"พอมาเรียนมหาวิทยาลัยโชคดีที่เรียนสายสังคมศึกษา เลยมีโอกาสเรียนกับอาจารย์ทางฝั่งมนุษย์ศาสตร์และสังคมศาสตร์ที่มีแนวคิดก้าวหน้าเก่งๆ หลายท่าน ทั้งด้านการเมือง ประวัติศาสตร์ มานุษยวิทยา" 
"ส่วนตัวไม่เคยชุมนุมทางการเมือง การแสดงออกทางการเมืองที่เคยทำคือใช้สิทธิลงคะแนนประชามติร่างรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ตอนนั้นไปโหวตไม่รับร่าง ถือว่าเป็นการใช้สิทธิใช้เสียงครั้งแรกตั้งแต่อายุครบ 18 ปีบริบูรณ์ และก็เป็นครั้งแรกและครั้งเดียวจนถึงทุกวันนี้ที่มีโอกาสแสดงออกทางการเมืองในระดับชาติ" 
"ก่อนหน้าสิ่งกระทบจิตใจมากที่สุดในเรื่องแสดงออกทางการเมืองยุค คสช. คือเห็นคนที่ออกมาแสดงความคิดเห็นทางการเมือง หรือรวมตัวชุมนุมทางการเมือง ถูกตั้งข้อหาและดำเนินคดี หลายคนถูกจับกุมคุมขัง หรือต้องวนเวียนขึ้นศาลเป็นเวลานาน ทั้งๆ ที่มันเป็นสิทธิมนุษยชนของคนที่จะสามารถแสดงออกทางการเมือง หรือชุมนุมอย่างสงบ ปราศจากอาวุธ ได้ แต่เขากับริดรอนสิทธิตรงนี้ของเราไป"
"ส่วนการแสดงออกของนักศึกษาปัจจุบัน ผมคิดว่ามีปัจจัยภายนอกหลายประการ ทั้งครอบครัวที่อาจไม่เปิดกว้าง หรือเป็นห่วงไม่อยากให้เราแสดงออกทางการเมือง สถาบันการศึกษาและอาจารย์ ที่คอยเซ็นเซอร์นิสิตนักศึกษาของตัวเอง โดยใช้ข้ออ้างว่าไม่อยากให้เสียชื่อเสียงมหาวิทยาลัย สุดท้ายผมคิดว่าก็เป็นรัฐบาลเผด็จการเองที่คอยออกข้อบังคับต่างๆ มาปิดกั้นการแสดงออกตรงนี้ ทั้ง พรบ.คอมพิวเตอร์ฯ ทั้ง พรบ.ชุมนุมในที่สารธารณะ และอื่นๆ บางทีนิสิตนักศึกษาจะจัดกิจกรรมภายในมหาวิทยาลัย ก็ไม่ได้รับอนุญาตให้ใช้สถานที่ หรือมีทหารมาคอยคุกคามไม่ให้จัด หรือเวลาจัดงานก็มารบกวนบรรยากาศการจัดงาน" 
"เฟิร์ส" นักศึกษาคณะศิลปศาสตร์ สาขานิเทศศาสตร์ เอกวิทยุโทรทัศน์และภาพยนตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี 
"เพิ่งมาสนใจสื่อการเมืองช่วงเรียนมหาวิทยาลัย ไม่รู้เพราะอะไร น่าจะเป็นเพราะบรรยากาศ สภาพแวดล้อมทั้งอาจารย์ วิชาที่เรียน จนมันซึมเข้าไป ประกอบกับมาอ่านหนังสือ ดูหนังมากขึ้น เลยรู้สึกว่าการเมืองเป็นเรื่องใกล้ตัวกว่าที่คิด อาจจะใกล้กว่าเรื่องกีฬาหรือบันเทิงเสียด้วยซ้ำ เลยรู้สึกว่าต้องสนใจบ้าง" 
.
"ตอนเข้ามาเรียนนิเทศศาสตร์ ปี 1 มีช่วงปฐมนิเทศ อาจารย์เปิดหนังเรื่องลุงบุญมีระลึกชาติ ของเจ้ย อภิชาติพงศ์ ให้ดู ตอนแรกก็ดูไม่รู้เรื่องแต่จำเนื้อเรื่องได้ จำได้ด้วยความคับข้องใจ เลยไปหาข้อมูลเกี่ยวกับหนังเพิ่มเติม จนได้ไปอ่านหนังสือเกี่ยวกับคอมมิวนิสต์ เกี่ยวกับการหนีเข้าป่าของนักศึกษา ตอนหลังพอลองมาดูหนังใหม่ก็เข้าใจมากขึ้น หนังสือวรรณกรรม 1984 ของจอร์จ ออร์เวล ก็เป็นหนึ่งในนั้นที่หาเสพ"
.
"ส่วนวิชาเรียนก็ส่งอิทธิพลมาก เข้ามาปีหนึ่งต้องเรียนทฤษฎีการเขียนข่าวเบื้องต้นเป็นเรื่องกฎหมายและจริยธรรมสื่อ ทำให้เราต้องอ่านข่าวและศึกษาเกี่ยวกับการทำสื่อมากขึ้น ยิ่งได้อ่านก็รู้สึกว่าจริงๆ แล้ว สื่อควรเป็นกระบอกเสียงของประชาชนที่สะท้อนปัญหาที่มีต่อประชาชน ไม่ใช่แค่รายงานข่าวบันเทิงหรือสามีภรรยาทะเลาะกัน สื่อควรเป็นสิ่งที่เพิ่มอำนาจให้ประชาชน"
.
"งานข่าวเชิงสารคดีที่สนุกที่สุดคือ ชิ้นที่ทำกับเพื่อน ตอนไปฝึกงานที่กรุงเทพฯ คือข่าวงานแสดงศิลปะกราฟฟิตี้ที่วอยซ์สเปซที่มีรูปเสือดำ นาฬิกา ที่รู้สึกสนุกกับชิ้นนี้ที่สุด เป็นเพราะตัวผมชอบงานศิลปะอยู่แล้ว แล้วยังเป็นงานศิลปะที่สะท้อนการเมืองอีก พอมีคนหนึ่งกล้าพูดมันก็จะเป็นแรงกระเพื่อมให้คนรุ่นใหม่กล้าแสดงออก กล้าแสดงตัวตน เลยรู้สึกสนุก แต่เรื่องแบบนี้สังคมไทยยังปิดกั้น ข่าวนี้ยังทำให้เห็นว่ามันมีอำนาจบางอย่างที่จับตาและติดตามดูทุกอย่างที่เราทำ เราไม่ได้เป็นอิสระอย่างแท้จริง แค่งานศิลปะยังมีการจำกัดกรอบ เลยเกิดคำถามว่าประเทศไทยจะไปไหนได้ถ้ามีการจำกัดแบบนี้"
"อีกงานข่าวที่สนุกคือการไปติดตามขบวน We Walk เดินมิตรภาพที่ขอนแก่น เป็นครั้งแรกที่ไปเห็นกิจกรรมเคลื่อนไหวทางการเมืองด้วยตาตัวเอง วันนั้นเขาไปหยุดขบวนที่วัดแห่งหนึ่ง มีคนมาจากหลายกลุ่ม มีชาวบ้านแถวนั้นมาดูแล มีนักศึกษามหาวิทยาลัยต่างๆ และลุงๆ ป้าๆ ผู้ได้รับผลกระทบเรื่องทรัพยากรจากเมืองเลยและอีกหลายๆ ที่ จำได้ว่าพวกเขาตั้งใจเดินขบวนจากกรุงเทพฯ ไปที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยขอนแก่น แสดงจุดยืนเรื่องสิ่งแวดล้อมและเรื่องรัฐธรรมนูญ 
ระหว่างทางก็มีทหารตำรวจตามติดควบคุมสถานการณ์เรื่อยๆ ที่ไปทำข่าววันนั้นเพราะอยากสื่อสารให้สังคมได้รู้เรื่องจริงๆ ตรงๆ เรื่องแบบนี้ควรเผยแพร่ได้โดยไม่ต้องเซ็นเซอร์ ไม่ต้องมาอ้างว่าพูดแล้วเสียหาย ทำไมไม่พูดตรงๆ จะดองไว้ให้เป็นปัญหาสะสมทำไม มันก็จะเหมือนเชื้อรา ถ้ามัวแต่ปิดบัง"
"ผมคิดว่าสื่อมีเสรีภาพในการทำงานระดับหนึ่ง แต่ก็น่าเสียดายที่สื่อบางส่วนไม่กล้าใช้เสรีภาพที่มีทำงานอย่างเต็มที่ พอเข้าใจอยู่ว่ามันมีกฎหมายควบคุมการทำงานของสื่อ แต่บางครั้งสื่อจำต้องทำตามเพื่อความอยู่รอด เพราะสุดท้ายแล้วสื่อทำงานอยู่ภายใต้โครงสร้างรัฐ และประชาชนเองยังไม่มีเสรีภาพร้อยเปอร์เซ็น อย่างนักข่าวรอยเตอร์ของพม่าก็ถูกตัดสินจำคุกเรื่องเผยเอกสารราชการลับเรื่องโรฮิงญา" 
"ในประเทศที่ไม่ได้เป็นประชาธิปไตยอย่างสมบูรณ์ มันไม่มีทางที่สื่อจะมีเสรีภาพในการทำงานอย่างเต็มที่" ยอมรับว่าหดหู่ที่เห็นนักข่าวพม่าถูกขังคุก มันไม่ใช่เรื่องผิดที่เราจะพูดความจริงหรือพูดถึงปัญหาให้คนมีหน้าที่ได้แก้ไข แต่กลายเป็นว่าพอเปิดเผยก็ถูกจำกัด"
"ผลกระทบจากรัฐประหารปี 2557 อย่างง่ายๆ เลย ผมอายุ 18 ปี แต่ยังไม่มีโอกาสเลือกตั้ง ถ้าถามว่ากระทบยังไง การเลือกตั้งคือสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน เท่ากับเรายังไม่ได้สิทธิของความเป็นคนที่เราพึงได้ครบถ้วนเลย การเลือกตั้งดูจะไม่ได้กระทบรุนแรงจนเราใช้ชีวิตปกติไม่ได้ แต่มันเป็นความรู้สึกว่าอะไรบางอย่างขาดหายไป ซึ่งก็บอกไม่ได้เหมือนกันว่าทำไมรู้สึกอย่างนั้น ไม่เข้าใจทำไมการเลือกตั้งในประเทศนี้มันยากจัง 
"ส่วนเรื่องอื่นๆ เมื่อก่อนที่บ้านขายอาหารก็รู้สึกว่าทำไมเงินในกระเป๋าหมดเร็วขึ้น ที่นาต้องแบ่งขายแบ่งเช่า เพราะทำไปไม่คุ้ม ปัญหามันกระทบหลายด้านเพราะเอาคนบริหารไม่เป็นมาบริหารมันก็เหมือนเด็กเล่นของเล่น ปัญหามีอยู่จริงแต่ไม่ถูกพูดถึง มีการเอาตัวเลขต่างๆ มาแสดงว่าเศรษฐกิจดีขึ้นแต่ถ้าไปถามคนในสังคมจริงๆ จะรู้เลยว่ามันไม่ดีขึ้น แต่แย่ลงด้วยซ้ำ" 
"ผมเคยทำหนังสั้นเป็นงานในวิชาเรียน เรื่อง ศิวิไลซ์ ล้อเลียน คสช. โดยตรง เป็นเรื่องของคนถูกปิดหูปิดตา ถูกครอบงำทางความเชื่อว่าสิ่งที่ คสช.ทำเป็นสิ่งที่ถูก การที่ประเทศมีความสงบไม่มีความเคลื่อนไหว เป็นเรื่องดี เราหลงเชื่อกับโฆษณามากไปหรือเปล่า เขาบอกราคาข้าวสูงขึ้นแต่ทำไมคนเลิกทำนา ในเรื่องให้ตัวเอกใส่แว่นวีอาร์แล้วมองดูอะไรสวยไปหมด แต่ไม่มีโอกาสถอดแว่นดูโลกจริงๆว่ามันเลวร้ายขนาดไหน มีการขู่ว่าถอดแว่นผิดนะ นอกนั้นก็มีทำเอ็มวีชื่อขอเถอะปีนี้ เป็นเอ็มวีเรื่องนักศึกษาคนหนึ่งที่อยากเลือกตั้งแต่ไม่ได้เลือก ทำตอนปี 3 วิชาผลิตสื่อโทรทัศน์" 
"ผมเชื่อว่านักศึกษาเห็นด้วยกับผมเยอะแต่ไม่กล้า จากที่ได้พูดคุยกับหลายๆ คน บางคนบอกไม่ฝักใฝ่เผด็จการมีความคิดก้าวหน้า อยากเลือกตั้ง แต่ก็ยังคิดว่าการเมืองเป็นเรื่องน่ากลัว เป็นเรื่องของผู้ใหญ่ บางคนติดภาพว่าคนที่ไปยุ่งการเมืองมักถูกจับก็เลยเลือกที่จะไม่เคลื่อนไหวเปิดเผย"
"จ๋า" สมาชิกกลุ่มเยาวชนคนต้นน้ำ จังหวัดแพร่  
"ถึงแม้ว่าสายการเรียนจะไม่ได้เกี่ยวข้องโดยตรงกับทางการเมือง แต่ชีวิตเรามันเกี่ยว เพราะว่าเราก็เป็นประชาชนคนหนึ่งที่มี "สิทธิ" เราเคยทำงานกับชุมชน เห็นหลายๆ สิ่ง แล้วหลายอย่างยังต้องมีการพัฒนา ก็เลยมาสนใจเรื่องการเมือง"
"เราไม่เห็นด้วยกับกฎหมายที่ไม่เป็นธรรม เพราะการจะออกกฎหมายต้องผ่านกระบวนการ แต่ในยุค คสช. ออกคำสั่งมาเพื่อตัวเอง แล้วถามว่าจะผลักดันให้เป็นกฎหมายที่ใช้จริงๆ เราก็เลยคิดว่ามันควรจะมาทบทวน ต้องกลับมาทบทวนว่าอะไรที่ใช้ได้อะไรที่ใช้ไม่ได้ ต้องให้เกิดประโยชน์กับประชาชนและประเทศชาติมากที่สุด"
"ประเด็นทางสังคมที่เราสนใจก็คือเรื่องทรัพยากรธรรมชาติ อย่างเรื่องเหมืองแร่ ที่เกิดขึ้นมายาวนานก่อนยุค คสช. ซึ่งที่แถวนั้นเป็นที่แถวบ้านเรา เราก็ได้รับผลกระทบด้วย หลังจากนั้นมาก็ทำให้สนใจกฎหมายมากขึ้น สนใจสิทธิมากขึ้น เพราะถ้าวันนั้นคนที่บ้านไม่ลุกขึ้นมาต่อสู้ ลุกขึ้นมาทำให้สังคมรับรู้ว่าตอนนี้เกิดอะไรขึ้น ตอนนี้ก็คงไม่มีบ้านอยู่ไปแล้ว"
"พอ คสช. เข้ามา สิ่งที่ส่งผลกระทบกับเราคือตั้งแต่ที่เราเกิดมา ยังไม่เคยได้เลือกตั้งเลย แล้ว คสช. อยู่มาแล้ว 4 ปีกว่า เมื่อไหร่จะทำตามสัญญาสักที เราก็คิดว่าประเทศปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย มันก็ควรจะเป็นประชาธิปไตยได้แล้ว คุณมาใช้คำสั่ง ออกกฎหมาย มันคืออะไร"
"ไนท์" บัณฑิตจากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น นักดนตรีและผู้ก่อตั้ง somjing book & stodio(ร้านหนังสือเอาเท่ห์)
"เป็นคนทำงานกลางคืนคนหนึ่งที่สนใจเหตุบ้านการเมือง เพราะมีหลายสิ่งผิดปกติอย่างเห็นได้ชัด 
นักดนตรี คือหนึ่งในอาชีพที่มีโอกาสพบปะแลกเปลี่ยนทัศนคติกับคนหลากหลายอาชีพ เสียงที่ดังที่สุดและจริงที่สุดอาจเป็นบทสนทนาของกลุ่มคนเล็กๆ หลากหลายอาชีพในแต่ละค่ำคืนเหล่านี้แหละ"
"เรื่องมันอาจจะเริ่มจากตอนเข้ามหาวิทยาลัย เริ่มติดตามการเมืองจริงๆ หลังจากมีโอกาสทำกิจกรรมกับคณะ เข้าร่วมชมรมกลุ่มเผยแพร่กฎหมายสิทธิมนุษยชน(ดาวดิน) ฝึกงานกับอาสาสมัครนักกฎหมายสิทธิมนุษยชนรุ่น4(มอส.) ทำค่ายลงพื้นที่เรียนรู้สังคมในพื้นที่ต่างๆ ที่ได้รับผลกระทบจากโครงการพัฒนารัฐและเอกชน (ประเด็นเขื่อนแก่งเสือเต้น เขื่อนปากมูล โครงการผันน้ำลำพระเนียง หนองบัวลำภู เหมืองแร่โปแตชอุดร เหมืองแร่ทองคำเมืองเลย ) ก็เลยเริ่มซึมซับกับสิ่งเหล่านี้ทีละนิด หลายพื้นที่เกี่ยวโยงทางประวัติศาสตร์การเมือง เกิดการตั้งคำถามกับสิ่งที่เกิดขึ้น สิ่งเหล่านี้ล้วนใกล้ตัวกว่าที่คิด"
"ส่วนหนังสือเล่มแรกที่เปิดโลกทัศน์เลยคือ เช กูวาร่า (ตอนนั้นไม่รู้จักจริงๆ พอมารู้ คนบ้าอะไรทำไมเท่ห์จัง เริ่มอยากเป็นซักครึ่งนึง) ต่อมาก็ดูหนังเรื่อง THE MOTORCYCLE DIARIES บันทึกลูกผู้ชายชื่อ..เช ค่อยๆ เปิดโลกตัวเองจากหนังสือทีละเล่ม ตั้งแต่ แด่หนุ่มสาว ของ กฤษณะมูรติ , โลกของโซฟี , งานเขียนของจิตร ภูมิศักดิ์ ,ลูกอีสานของคำพูน บุญทวี, เสกสรรค์ ประเสริฐกุล, รงค์ วงษ์สวรรค์, พันธุ์หมาบ้า น้าชาติ กอบจิตติ , กนกพงศ์ สงสมพันธุ์ นิ้วกลมผมก็อ่าน A day ผมก็ชอบ นิตยสาร Way มีทุกเล่ม บางทีถ้าชอบอ่านเราต้องอ่านอะไรให้หลากหลาย ซ้ายไปก็หนัก ขวาไปก็ไม่ดี แอบเป็นติ่งรายการ เจาะข่าวตื้น แต่ทั้งหมดที่เสพคือการทำควบคู่ไปกับการเดินทางในพื้นที่กรณีต่างๆ และร่วมกินอยู่ทำกิจกรรมกับกลุ่มดาวดิน สิ่งเหล่านี้ในฐานะคนทำเพลงทำให้ผมสร้างานของตัวเองได้ถึงทุกวันนี้"
"ส่วนเหตุที่ทำให้เข้าร่วมกลุ่มดาวดินในขวบปีนั้น(2550) ปัจจัยแรกคือเบื่อห้องเรียนและประมวลกฎหมาย ปัจจัยต่อมาคือเพื่อนและสังคม ประกอบกับอยากเดินทางเพื่อค้นหาตัวเอง และตั้งคำถามว่า เราพอมีอะไรจะแลกเปลี่ยนหรือรับใช้ผู้อื่นหรือสังคมได้บ้าง ก็เข้าร่วมกิจกรรม รณรงค์ ม.นอกระบบ, ไม่เอาโทษประหาร (Amnesty) ,รณรงค์ปล่อยไผ่ ดาวดิน, แจกใบปลิวไม่เอารัฐธรรมนูญจากการรัฐประหาร, กิจกรรมเดินมิตรภาพ We Walk , Walk For Right ฯลฯ 
"ภาพรวมความประทับใจจากกิจกรรมเหล่านั้นคือการได้แลกเปลี่ยนกับเพื่อนพี่น้องในแต่ละพื้นที่ นานไปเหมือนมีอีกครอบครัวหนึ่งในชีวิตไปเลย มีความสุขทุกครั้งที่เพลงของผมถูกนำไปใช้ในขบวน ในขบวนเปิดเพลงของเราและพี่น้องร้องเพลงของเรา ได้เห็นรอยยิ้มพอๆ กับน้ำตาตรงนั้นรู้สึกถึงคุณค่าของการต่อสู้ดิ้นรนของพี่น้องตรงนั้น ย้ำชัดมากๆ ถึงคำว่าความเท่ากันของความเป็นมนุษย์"
"ในแง่มุมของนักดนตรีที่เคยทำกิจกรรมทางการเมือง ผมคิดว่าสิ่งที่ได้รับผลกระทบคือเพื่อนพี่น้องที่เคยร่วมทำกิจกรรมทางการเมืองถูกควบคุมตัวหลายเหตุการณ์ ตั้งข้อหาถึงขั้นเป็นภัยความมั่นคงของประเทศ สิ่งที่เจ็บปวดที่สุดคือการที่เราทำอะไรอีกฝ่ายไม่ได้เลย ทำให้เราไม่มีพื้นที่ในการแสดงออกทางความคิด ทั้งที่เราคือเจ้าของประเทศ แต่ระบบนี้ทำให้เราตระหนักไปในทางตรงข้าม คือเราเป็นแค่คนที่ขอเขาอยู่อาศัยเก็บค่าเช่าจ่ายค่าคุ้มครอง"
"เคยไปคุยๆ สำรวจความเห็นกับพวกทำงานทางศิลปะ เราชอบพูดแซวๆ ติดตลกต่อการบริหารประเทศของคสช. มากกว่า แต่ถ้าเอาจริงก็ไม่ตลกเลย เริ่มมีการเรียกเก็บภาษี ณ ที่จ่ายบางที่จากค่าจ้างที่ไม่ได้มากมายอยู่แล้ว ใครที่เป็นเจ้าของสถานบันเทิงจะรู้ดีถึงการควบคุมที่เข้มงวด(แต่ไม่ถูกจุด) ผู้คนไม่กล้าจับจ่าย ลูกค้าลดลงอย่างเห็นได้ชัด หลายร้านเริ่มปิดตัวลง ถ้ามองถึงการเติบโตทางเศรษฐกิจ สถานที่แรกที่เราควรสังเกตุการณ์ความเปลี่ยนแปลงคือสถานบันเทิงและงานที่เกี่ยวกับงานศิลปะนี่แหละ"
"แม้จะเป็นสถานการณ์แบบนี้ เวลานี้ ผมยังเชื่อเสมอถึงพลังบริสุทธิ์ของนักศึกษา เชื่อว่ายังเป็นเงื่อนไขทางสังคมที่มีลักษณะพิเศษ แต่ด้วยยุคสมัยเปลี่ยนผ่าน นักศึกษาบอบช้ำ ฝ่ายปกครอง(โดยเฉพาะเผด็จการทหาร)มีบทเรียน(กลัวนักศึกษามาก) ยิ่งเป็นยุคสมัยที่วนกลับเป็นเผด็จการ(คู่ปรับตลอดการ) สิ่งที่เห็นได้ชัดใน 4 ปี มานี้ คือการถูกจำกัดพื้นที่ พูดบ่อยๆ คือคำว่า "สิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น" เขาทำให้นักศึกษากับการเมืองคือสิ่งที่น่ากลัว น่าเบื่อ และไม่ใช่หน้าที่ของนักศึกษา มีบางอย่างถูกบีบรัด กีดกัน และแยกห่าง"
กลุ่มนักศึกษาคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏกำแพงเพชร
"ปกติได้เรียนเรื่องที่มากฎหมาย เรื่องอำนาจนิติบัญญัติ บริหาร ตุลาการ ทั้งสามฝ่ายจะต้องทำงานเชื่อมโยง ตรวจสอบแต่ละฝ่าย ถ่วงดุลอำนาจ ซึ่งกันและกัน เคยได้ยินเรื่องมาตรา 44 แต่ไม่ได้รู้เนื้อความจริงๆ รู้แต่ว่า ให้อำนาจกับคณะ คสช. ที่จะออกคำสั่งอะไรก็ได้ รู้สึกว่า ค่อนข้างจะเผด็จการเกินไป ไม่มีอีกฝ่ายหนึ่งที่สามารถมาตรวจสอบการใช้อำนาจได้ เพราะมันเป็นคนคนเดียวกัน"
"เรื่องประกาศ และคำสั่งต่างๆ ของ คสช. เคยได้ยินบ้างตามข่าวโทรทัศน์ หรือเฟซบุ๊ก แต่ว่าไม่เคยเรียนจากที่อาจารย์สอนเลยและไม่ค่อยเข้าใจมากนัก"
"รู้จักเรื่องการปิดกั้นสิทธิเสรีภาพจากข่าวทางโทรทัศน์ รู้ว่า ทำนู่นก็ไม่ได้ ทำนี่ก็ไม่ได้ เราจะพูดถึง คสช. แสดงความคิดเห็นก็อาจจะไม่ได้ ถูกห้ามไปทุกอย่าง ทั้งที่เรามีสิทธิที่จะออกความคิดเห็น กลายเป็นไม่มีการรับฟังอะไร"
"อันที่จริงก็ไม่รู้ว่า ระบบปิดกั้นแบบนี้จะอยู่ไปอีกนานเท่าไร แต่ก็ไม่อยากให้มันอยู่นาน เพราะมันไม่โอเคกับสิทธิของเรา เรื่องต่างๆ ไม่ควรเก็บไว้กับแค่ที่ตัวของเราเอง เราควรจะต้องแสดงออกไปได้ พูดออกไปเพื่อให้คนอื่นเข้าใจความคิดเห็นของเราด้วย อะไรที่ประชาชนไม่พอใจสิ่งที่รัฐเสนอมาก็ควรได้เสนอกลับไป แต่เขากลับปิดกั้นไม่ให้เราเสนอ อยากให้บรรยากาศแบบนี้ไม่อยู่นาน"
"ถ้าชุมนุมกันแม้จะมีคนมามาก แต่ถ้าไม่มีอาวุธ ไม่รุนแรง มันก็น่าจะเป็นเรื่องที่ทำได้ เพราะเป็นแค่การแสดงความคิดเห็นของคนกลุ่มใหญ่ๆ กลุ่มหนึ่งที่คิดเห็นต่างกัน ถ้าหากไปกันอย่างสงบ ไม่ก่อความวุ่นวาย ไม่ปิดทางเข้าออก หรืออะไรประมาณนี้ ไปกันธรรมดาก็ไม่น่าจะผิด"
"ถ้าแค่เกินห้าคนก็ถือว่า ผิดแล้ว ทั้งๆ ที่ไม่มีอาวุธอะไรเลย ก็ไม่เห็นด้วยเลย"
"ถ้าคำสั่งห้ามถูกยกเลิก คนก็จะออกมากันแน่ๆ ก็จะออกมาเรียกร้องสิทธิของตัวเองที่ควรได้กลับคืน เรียกร้องชื่อเสียงของตัวเองกลับคืน ตามที่อาจารย์เคยสอนว่า ไม่มีกฎหมายห้ามก็ไม่มีความผิด"