ร้องศาลปกครองให้เพิกถอนประกาศ อย. ที่โอนภารกิจตรวจสอบสินค้านำเข้าให้กระทรวงเกษตรฯ

10 กันยายน 2561 เวลา 10.30 น. ณ ศาลปกครองกลาง มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคร่วมกับเครือข่ายองค์กรผู้บริโภค ร้องศาลปกครองให้เพิกถอนประกาศ อย. ที่โอนภารกิจตรวจสอบการนำเข้าสินค้าเกษตรให้กระทรวงเกษตรฯ เสี่ยงนำเข้าสินค้าไม่ปลอดภัยต่อผู้บริโภค ลดหย่อนมาตรการหวังต่อรองทางการค้า
จากกรณี สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ออกประกาศสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา เรื่องการถ่ายโอนภารกิจให้หน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ตรวจสอบการนำเข้าสินค้าอาหารค้าเกษตรนั้น เครือข่ายองค์กรผู้บริโภคที่ร่วมฟ้องคดีเห็นว่า ขั้นตอนการออกประกาศดังกล่าวเป็นการดำเนินการโดยปราศจากอำนาจ และก่อให้เกิดความเสียหายต่อผู้บริโภคโดยรวม จึงร่วมกันฟ้องคดีต่อศาลเพื่อป้องกันความเสียหายที่จะเกิดกับผู้บริโภค
บุญยืน  ศิริธรรม นายกสมาคมสหพันธ์องค์กรผู้บริโภค กล่าวว่า เนื่องจากการดำเนินการตามประกาศฯ ฉบับดังกล่าวส่งผลกระทบต่อสิทธิด้านความปลอดภัยในการบริโภคสินค้าของผู้บริโภคโดยตรง กล่าวคือ เดิมในการตรวจสอบการนำเข้าสินค้าเกษตรและอาหารที่นำเข้ามาในประเทศไทยนั้น อย. มีกระบวนการตรวจสอบ และการประกันคุณภาพที่ด่านตรวจ ที่มีขั้นตอนการเก็บตัวอย่างสินค้าที่ขออนุญาตนำเข้าไว้ตรวจสอบก่อนที่จะอนุญาตให้นำเข้ามาและวางจำหน่ายในประเทศไทยให้ได้สินค้าเกษตรและอาหารที่ปลอดภัยสู่ประชาชนซึ่งเป็นผู้บริโภคทั้งหลาย แต่การตรวจสอบการนำเข้าสินค้าเกษตรและอาหารของหน่วยงานในสังกัดของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์นั้น ทำการตรวจสอบเพียงเอกสารที่เกี่ยวข้อง ไม่ได้เก็บตัวอย่างสินค้าที่ขออนุญาตนำเข้าไว้ตรวจสอบดังเช่นการตรวจสอบของ อย. แต่อย่างใด
"หลังจากที่มีการออกประกาศฯ ฉบับดังกล่าว มีการนำเข้าปลาตาเดียวหรือปลาฮิราเมะ จากจังหวัดฟุกุชิมะ ประเทศญี่ปุ่น ที่มีการปนเปื้อนจากการรั่วไหลของกัมมันตรังสีจากภัยพิบัตินิวเคลียร์ เข้ามาในประเทศไทย โดยเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรฯ เพียงตรวจสอบเอกสารที่เกี่ยวข้องเท่านั้น ไม่มีการเก็บตัวอย่างปลาดังกล่าวไว้ตรวจสอบแต่อย่างใด แต่กลับปัดให้ อย.ไปตรวจสอบหากมีปัญหาเมื่อสินค้าออกสู่ตลาดแล้ว ซึ่งถือว่า ขั้นตอนการตรวจสอบและการคุ้มครองผู้บริโภคถูกลดทอนอย่างชัดเจนเมื่อมีการถ่ายโอนภารกิจ"
ด้าน กรรณิการ์ กิจติเวชกุล อนุกรรมการด้านอาหาร ยา หรือผลิตภัณฑ์สุขภาพ คณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน (คอบช.) เปิดเผยว่า ก่อนฟ้องคดีปกครอง ทางเครือข่ายผู้บริโภค และ คอบช. ได้ทำหนังสือติดตาม และให้ข้อเสนอแนะกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาอย่างต่อเนื่อง รวมถึงมีการแถลงข่าวคัดค้านให้ยุติการดำเนินการออกประกาศดังกล่าว แต่พบว่าหน่วยงานรัฐกลับเพิกเฉยต่อข้อเสนอแนะ ไม่ตอบ ไม่ให้ข้อมูล และไม่ดำเนินการแก้ไขปัญหาเพื่อป้องกันความเสียหายที่จะเกิดต่อผู้บริโภค
“เมื่อประกาศดังกล่าวมีผลบังคับใช้ คณะอนุกรรมการด้านอาหารฯ ของ คอบช. ได้ทำหนังสือสอบถามกระบวนการทำงานไปยัง อย. และกระทรวงเกษตรฯ ทั้งสิ้น 4 ฉบับ แต่ทาง อย. ไม่เคยตอบกลับมา ส่วนสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตร  ตอบกลับมาเพียง 1 ครั้ง  ในประเด็นการแก้ไข พระราชบัญญัติอาหาร แต่ไม่ตอบเรื่องวิธีปฏิบัติงานตามประกาศฯ ข้างต้น"
กรรณิการ์มองว่า หน่วยงานรัฐไม่ได้ใส่ใจต่อข้อเสนอแนะขององค์กรผู้บริโภค และความปลอดภัยของผู้บริโภคในประเทศไทย หากสินค้านำเข้าที่ไม่ปลอดภัยได้แพร่กระจายไปทั่วประเทศ ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะแก้ปัญหา การถ่ายโอนโยกย้ายภารกิจรังแต่จะสร้างความสับสนในการทำงานระหว่างหน่วยงานของรัฐด้วยกันเอง สุดท้ายผลกระทบก็จะมาตกอยู่กับประชาชน ไม่เพียงเท่านั้น กระทรวงเกษตรฯยังพยายามผลักดันการแก้ไขพ.ร.บ.อาหาร ที่ไม่ได้อยู่ในความรับผิดชอบของตนเพื่อเอื้อธุรกิจ ทั้งที่ พ.ร.บ.อาหารนั้นให้ความสำคัญกับการคุ้มครองผู้บริโภค ดังนั้น คอบช. และเครือข่ายผู้บริโภคจึงตัดสินใจพึ่งศาลปกครองเพื่อเพิกถอนประกาศดังกล่าวให้มาตรฐานการคุ้มครองผู้บริโภคไม่แย่ไปกว่านี้
จิราภา เติมเพ็ชร ทนายความของศูนย์ทนายเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค กล่าวว่า ในการฟ้องคดีครั้งนี้ ได้ขอให้ศาลปกครองดำเนินการ 3 ข้อ คือ

1. ขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้เพิกถอน “ประกาศสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา เรื่อง การถ่ายโอนภารกิจให้หน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ตรวจสอบการนำเข้าสินค้าอาหาร ประกาศ ณ วันที่ 29 เมษายน 2559 ทั้งฉบับ และสั่งให้ กระทรวงสาธารณสุข และ อย. ยุติการถ่ายโอนภารกิจให้หน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ตรวจสอบการนำเข้าสินค้าอาหาร

2. ขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้หน่วยงานปฏิบัติหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติตาม พระราชบัญญัติ อาหาร พ.ศ. 2522
3. ขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้กระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีคำสั่งให้หน่วยงานในสังกัด หยุดปฏิบัติหน้าที่ตามประกาศ อย. ดังกล่าว
ทั้งนี้ การฟ้องคดีดังกล่าวขององค์กรผู้บริโภค เป็นการทำหน้าที่ของผู้บริโภคในการคุ้มครองสิทธิอันพึงมีพึงได้ของผู้บริโภคโดยรวม โดยเฉพาะสิทธิในการได้รับความปลอดภัยจากสินค้าและบริการ ซึ่งส่งผลต่อสุขภาพ อนามัยของผู้บริโภคเป็นวงกว้าง และให้รัฐทำหน้าที่คุ้มครองสิทธิผู้บริโภคตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 46 และมาตรา 61