สนช. แก้ที่มาคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม (ก.ต.) ผู้พิพากษาเลือกกันเองหมด เลิกระบบ ส.ว. ช่วยเลือก

ช่วงต้นเดือนสิงหาคม 2561 ผู้พิพากษาจำนวนสามคนนำโดย สืบพงษ์ ศรีพงษ์กุล อธิบดีผู้พิพากษาภาค 2 ริเริ่มเข้าชื่อผู้พิพากษาทั่วประเทศเพื่อยื่นถอดถอด ชำนาญ รวิวรรณพงษ์ ประธานแผนกคดีล้มละลายในศาลฎีกาออกจากตำแหน่ง “กรรมการตุลาการศาลยุติธรรม” จากเหตุการณ์นี้ทำให้สังคมได้รู้จักชื่อของ "คณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม" หรือ ก.ต. มากขึ้น
 
ข้อมูลจากเว็บไซต์ศาลยุติธรรม ระบุว่า ก.ต. เป็นหนึ่งในสามองค์กรที่มีอำนาจหน้าที่บริหารงานของศาลยุติธรรม ซึ่ง ก.ต. มีบทบาทและภารกิจในการวางแผนกำลังคนฝ่ายตุลาการ เช่น การบรรจุแต่งตั้ง การพัฒนาบุคลากร การควบคุมให้ข้าราชการตุลาการอยู่ในกรอบจริยธรรม และมาตรการในการรักษาวินัย ทั้งนี้เพื่อให้ผู้พิพากษามีหลักประกันว่าจะได้รับการสนับสนุนและการคุ้มครองให้มีความอิสระอย่างแท้จริง
 
แก้ไขที่มากรรมการ ก.ต. ทุกครั้งเมื่อมีรัฐธรรมนูญถาวร
ที่มาของคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม หรือ ก.ต. จะเปลี่ยนไปทุกครั้งหลังมีการจัดทำและบังคับใช้รัฐธรรมนูญฉบับถาวร ด้วยเหตุนี้เมื่อรัฐธรรมนูญ 2560 บังคับใช้ จึงมีการเสนอแก้ไข ร่าง พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม (ฉบับ ..) พ.ศ. …. ซึ่งสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้รับหลักการไปเมื่อวันที่ 4 เมษายน 2561
 
ปัจจุบันกรรมการ ก.ต. มีที่มาจาก พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2551 ซึ่งผ่านการพิจารณาโดย สนช. ที่แต่งตั้งจากคณะรัฐประหาร 2549 กำหนดให้กรรมการ ก.ต. มีจำนวน 15 คน ประกอบด้วย
 
1) ประธานศาลฎีกา เป็นประธานโดยตำแหน่ง
 
2) กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจากศาลฎีกา จำนวน 6 คน (ให้ข้าราชการตุลาการศาลฎีกาเลือกผู้พิพากษาศาลฎีกา)
 
3) กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจากศาลอุทธรณ์ จำนวน 4 คน (ให้ข้าราชการตุลาการศาลอุทธรณ์เลือกผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์)
 
4) กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจากศาลชั้นต้น จำนวน 2 คน (ให้ข้าราชการตุลาการศาลชั้นต้นเลือกผู้พิพากษาหัวหน้าศาล)
 
5) กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิที่วุฒิสภาเลือก จำนวน 2 คน (ต้องไม่เป็นข้าราชการตุลาการศาลยุติธรรม)
 
 
พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2551 แก้ไขหลังจากบังคับใช้รัฐธรรมนูญ 2550 โดยแก้ไขจากของเดิมใน พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม พ.ศ. 2543 ซึ่งออกมาหลังจากการปฏิรูปการเมืองตามรัฐธรรมนูญ 2540 ที่กำหนดให้กรรมการ ก.ต. ผู้ทรงคุณวุฒิจากศาลชั้นต่างๆ มีตัวแทนเท่ากัน คือ ฝ่ายละสี่คน และกรรมการ ก.ต. ผู้ทรงคุณวุฒิอีกสองคนมาจากวุฒิสภาจากการเลือกตั้ง
 
ข้อเสนอแก้ไขที่มา ก.ต. ครั้งล่าสุดของ สนช. ชุดปัจจุบัน คือ การแก้ไขใน มาตรา 36 (3) ให้ “กรรมการตุลาการศาลยุติธรรมผู้ทรงคุณวุฒิสองคน ซึ่งข้าราชการตุลาการทุกชั้นศาลเว้นแต่ผู้ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยผู้พิพากษา เป็นผู้เลือกจากบุคคลซึ่งไม่เป็นหรือเคยเป็นข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม” กล่าวคือเปลี่ยนที่มากรรมการ ก.ต. ผู้ทรงคุณวุฒิที่มาจากวุฒิสภาสองคน เป็นให้ผู้พิพากษาทุกชั้นศาลเป็นผู้เลือกแทน แต่ต้องเลือกจากบุคคลที่ไม่ได้เป็นข้าราชการตุลาการศาลยุติธรรมเช่นกัน
กรรมการ ก.ต. ผู้ทรงคุณวุฒิ มีวาระสองปี   
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ก.ต. ทั้งหมดมีวาระดำรงตำแหน่งคราวละสองปี โดยเมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2559 ที่ประชุม สนช. ซึ่งปฏิบัติหน้าที่แทน ส.ว. ได้พิจารณาให้ความเห็นชอบให้บุคคลสองคน คือ ผาณิต นิติทัณฑ์ประภาค อดีตประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน และ ปรีชา ชวลิตธำรง อดีตตุลาการหัวหน้าคณะศาลปกครองสูงสุด เป็นกรรมการ ก.ต. ผู้ทรงวุฒิ และวันที่ 20 มีนาคม 2561 ที่ผ่านมาเพิ่งมีการตรวจนับคะแนนเลือก ก.ต. ผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวน 12 คน ที่ผู้พิพากษาศาลชั้นต่างๆ เป็นผู้เลือก
 
ทั้งนี้หาก สนช. เห็นชอบ ร่าง พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม และกฎหมายใช้บังคับ กรรมการ ก.ต. ผู้ทรงคุณวุฒิที่ผู้พิพากษาแต่ละชั้นศาลเลือก จำนวน 12 คน จะยังคงปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่าจะครบวาระ ขณะที่กรรมการ ก.ต. ผู้ทรงคุณวุฒิ ที่ สนช. แต่งตั้ง จะยังคงปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่ากรรมการ ก.ต. ชุดใหม่จะเข้ารับหน้าที่แทน  (มาตรา 36 (3)) โดยต้องดำเนินการเลือกให้เสร็จภายใน 120 วันนับตั้งแต่วันที่ พ.ร.บ.ฉบับนี้บังคับใช้
ไฟล์แนบ