นับถอยหลัง ‘ภารกิจหนีตาย’ ที่ คสช. เขียน พรรคการเมืองเล่น

ท่ามกลางการลงพื้นที่ (หาเสียง) ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันโอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) แต่พรรคการเมืองทั้งใหม่และเก่ายังไม่สามารถขยับตัวได้ เนื่องจากติดเงื่อนไขห้ามดำเนินกิจกรรมทางการเมืองตามประกาศคสช. ที่ 57/2557 และ คำสั่งหัวหน้าคสช. ที่ 3/2558 ทั้งนี้ หากไม่ปฏิบัติตามจะต้องได้รับโทษ ไม่ว่าจะเป็นโทษปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือทั้งจำทั้งปรับ
ในขณะเดียวกัน พรรคการเมืองยังต้องเล่นภายใต้ 'กติกา' ที่ คสช. เป็นคนเขียน ได้แก่ คำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 53/2560 และ พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 ที่กำหนดให้พรรคการเมืองต้องหาสมาชิกพรรคการเมืองให้ได้อย่างน้อย 500 คนพร้อมชำระค่าบำรุงพรรค หรือการจัดหาทุนประเดิมพรรคให้ได้ 1,000,000 บาท ภายในระยะเวลาที่กำหนด และต้องทำไพรมารีโหวตเพื่อจะคัดเลือกผู้ลงสมัครรับเลือกตั้ง เป็นต้น
บทลงโทษสำหรับพรรคการเมืองที่ไม่อาจทำตามกติกาของคสช. ถูกแบ่งออกเป็นโทษสถานเบา เช่น พรรคการเมืองไม่มีสิทธิส่งผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส่วนโทษที่หนักที่สุดอาจจะถึงขั้นสิ้นสภาพการเป็นพรรคการเมือง
'สี่ภารกิจใหญ่' ที่พรรคการเมืองต้องทำตามคำสั่งหัวหน้า คสช.
คำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 53/2560 กำหนดภารกิจไว้ให้พรรคการเมือง ได้แก่ การหาสมาชิกพรรคการเมืองให้ได้อย่างน้อย 500 คน พร้อมชำระค่าบำรุงพรรค, การจัดหาทุนประเดิมพรรคให้ได้ 1,000,000 บาท, การจัดตั้งสาขาพรรคอย่างน้อย 4 สาขาในแต่ละภาค และการจัดการประชุมใหญ่เพื่อแก้ไขข้อบังคับและจัดทําคําประกาศอุดมการณ์ทางการเมือง รวมถึงการเลือกผู้บริหารของพรรค
โดยทุกภารกิจล้วนแล้วแต่มีเวลาจำกัด อย่างเช่น การหาสมาชิกพรรคและจัดหาทุนประเดิมนั้น พรรคการเมืองต้องทำให้เสร็จภายใน 180 วันนับตั้งแต่ 1 เมษายน 2561 หรือต้องให้เสร็จสิ้นภายในวันที่ 28 ตุลาคม 2561 ทั้งนี้ หากพรรคการเมืองไม่สามารถดำเนินการได้ทันคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) สามารถต่อเวลาให้พรรคการเมืองได้ไม่เกิน 180 วัน หรือประมาณ 25 เมษายน 2562
ส่วนภารกิจการประชุมพรรค เลือกกรรมการบริหารพรรค และการจัดตั้งสาขาพรรคนั้น พรรคการเมืองต้องดำเนินการให้เสร็จภายในระยะเวลาเก้าสิบวันนับตั้งแต่วันที่ คสช. 'ปลดล็อคพรรคการเมือง' หรือนับตั้งแต่ยกเลิกหรือแก้ไขประกาศ คสช. ที่ 57/2557 และคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 ซึ่งเงื่อนไขในการปลดล็อคนั้นขึ้นอยู่กับวันที่ประกาศใช้ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งสภาผู้แทนราษฎร (พ.ร.ป.เลือกตั้ง ส.ส.) และ คสช. จะเป็นผู้พิจารณาอีกที ทำให้ยังไม่มีวันเวลากำหนดที่แน่นอนในตอนนี้
หากพรรคการเมืองไม่สามารถดำเนินการได้ทันตามกรอบเวลาที่กำหนด อาจต้องสิ้นสภาพการเป็นพรรคการเมือง และในระหว่างที่ยังทำภารกิจไม่สำเร็จก็ไม่สามารถส่งผู้สมัครรับเลือกได้อีกด้วย 
พรรคการเมืองที่อยากส่งผู้สมัครต้องทำไพรมารีโหวตก่อน
สำหรับพรรคการเมืองที่จะส่งผู้สมัครรับเลือกตั้ง ขั้นตอนที่สำคัญอย่างหนึ่งคือ การทำไพรมารีโหวต (Primary Vote) หรือการคัดเลือกหาผู้สมัครรับเลือกตั้งในแต่ละเขต ซึ่งขั้นตอนดังกล่าวถูกบรรจุไว้ใน พ.ร.ป.พรรคการเมืองฯ ที่มีคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เป็นคนร่าง และสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เป็นคนอนุมัติ
พ.ร.ป.พรรคการเมืองฯ กำหนดเงื่อนไขการทำไพรมารีโหวตไว้ว่า พรรคการเมืองจำเป็นจะต้องมี “สาขาพรรคการเมือง” หรือ “ตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัด” ที่มีเขตพื้นที่รับผิดชอบในเขตเลือกตั้งนั้น 
โดยสาขาพรรคการเมืองต้องมีสมาชิกที่มีภูมิลำเนาอยู่ในเขตพื้นที่ที่รับผิดชอบของสาขานั้นตั้งแต่ 500 คนขึ้นไป และถ้าเป็นตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัดต้องมีสมาชิกที่มีภูมิลำเนาอยู่ในเขตเลือกตั้งในจังหวัดนั้นเกิน 100 คน 
อย่างไรก็ดี ก่อนการตั้งสาขาพรรคการเมืองหรือตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัด พรรคการเมืองจำเป็นต้องรอให้ คสช. 'ปลดล็อคพรรคการเมือง' ก่อน อีกทั้ง จำเป็นต้องรอให้ กกต. แบ่งเขตเลือกตั้ง เพื่อให้ทราบว่า เขตเลือกตั้งไหนอยู่ในจังหวัดอะไร ต้องมีสาขาพรรคที่ไหนบ้าง ซึ่งการกำหนดเขตเลือกตั้งถูกบรรจุอยู่ใน พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ที่ผ่านฉลุยทั้ง สนช. และศาลรัฐธรรมนูญเรียบร้อยแล้ว คาดว่าจะมีผลบังคับใช้อย่างช้าที่สุดคือเดือนต้นเดือนมกราคมปี 2562
ภารกิจเยอะแต่เวลาน้อย กติกา คสช. กระทบเวลาหาเสียง
เมื่อนายกรัฐมนตรีทูลเกล้าฯ ถวาย พ.ร.ป.การเลือกตั้ง ส.ส. และ พ.ร.ป.การได้มาซึ่ง ส.ว. ให้พระมหากษัตริย์ลงพระปรมาภิไธย เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2561 ขั้นตอนหลังจากนี้คือ รอพระมหากษัตริย์พิจารณาเป็นเวลาไม่เกิน 90 วัน 
เมื่อพระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธยแล้ว ให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาคาดว่าช้าสุดไม่เกินเดือนกันยายนหรือตุลาคม 2561 แต่เมื่อประกาศแล้วต้องรอ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. มีผลบังคับใช้อีกเก้าสิบวัน ซึ่งอย่างช้าที่สุดประมาณต้นเดือนมกราคม 2562 จากนั้นจึงจะเข้าสู่การจัดการเลือกตั้ง ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นได้ช้าที่สุดไม่เกินต้นเดือนพฤษภาคม 2562
หากพิจารณาจากระยะเวลาดังกล่าวแล้วจะพบว่า พรรคการเมืองมีเวลาดำเนินการตามคำสั่งหัวหน้า คสช. และ พ.ร.ป.พรรคการเมืองแล้ว ประมาณ 7-8 เดือน ในกรณีที่ คสช. ยินยอมปลดล็อคพรรคการเมืองทันทีที่กฎหมาย ส.ส.และส.ว. ประกาศในราชกิจจานุเบกษา
ที่สำคัญ ต้องไม่ลืมว่า ในระยะเวลา 7-8 เดือนนั้น พรรคการเมืองก็ยังมีภารกิจอื่นอีก เช่น การหาเสียง การลงพื้นที่พบปะประชาชน คิดค้นออกแบบนโยบายให้ประชาชนเลือก และที่สำคัญ คือ นโยบายนั้นต้องเป็นไปตามรูปแบบที่ พ.ร.ป.พรรคการเมืองฯ กำหนด และต้องสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ คสช. อีกด้วย 
คสช. หารือพรรคการเมืองแล้ว แต่ยังไม่ชัดจะผ่อนปรนมากแค่ไหน
วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยหลังการประชุมหารือ 4 ฝ่าย ได้แก่ ตัวแทนรัฐบาลคสช. กกต. กรธ. และพรรคการเมือง เพื่อรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับการเตรียมการเลือกตั้ง เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2561 ว่า ในระหว่างที่ คสช. ยังไม่ปลดล็อคพรรคการเมือง พรรคการเมืองสามารถจัดประชุมใหญ่ของพรรคได้ด้วยการทำหนังสือขออนุญาตจาก คสช. เป็นรายกรณีไป ส่วนการจัดตั้งสาขาพรรค จะปลดล็อคให้พรรคจัดประชุมใหญ่และคัดผู้สมัครได้โดยไม่ต้องรอหัวหน้าสาขาพรรคการเมืองทั้ง 4 ภาค 
ส่วนที่พรรคการเมืองรอความชัดเจนของการแบ่งเขตเลือกตั้งนั้น วิษณุ เปิดเผยว่า สามารถดำเนินการได้ตั้งแต่ พ.ร.ป.การเลือกตั้ง ส.ส. ประกาศในราชกิจจานุเบกษา โดย กกต.จะใช้เวลา 60 วันในการจัดทำและมีเวลาให้พรรคการเมืองประมาณ 30 วันเพื่อทำไพรมารีโหวต 
ส่วนประเด็นการแก้ไขวิธีการทำไพรมารีโหวตจากแบบรายเขตเป็นแบบรายภาค หรือให้ยกเลิกระบบไพรมารีไปเลย หรือให้เลื่อนการนำไพรมารีไปใช้ในการเลือกตั้งครั้งหน้าแทนนั้น พล.อ.ประวิตร วงษ์สุรรณ นายกรัฐมนตรี จะรับข้อเสนอไปแจ้งต่อที่ประชุม คสช. กกต. และ กรธ. 
อย่างไรก็ดี วิษณุ เปิดเผยว่า การ "ปลดล็อก" ปัญหาต้องแก้ไขคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 53/2560 ส่วนจะแก้ด้วยวิธีไหนอย่างไร ยังไม่ขอเปิดเผย แต่นี่ก็ยังไม่ใช่การ "ปลดล็อกอย่างสิ้นเชิง" เพราะถ้าจะให้พรรคการเมืองกลับมาทำกิจกรรมได้เต็มที่ ต้องยกเลิกประกาศ คสช. ฉบับที่ 57/2557 คำสั่ง คสช. ที่ 3/2558 และคำสั่ง คสช. ที่ 53/2560 ซึ่งไม่สามารถตอบได้ว่าจะเกิดขึ้นเมื่อใด จนกว่าจะมีการประชุมครั้งที่ 2 ภายหลัง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. มีผลบังคับใช้ ซึ่งนายกฯ เป็นประธานเอง