สี่ปี คำสั่ง คสช. “ทวงคืนผืนป่า” ล้มเหลวเรื่องการเพิ่มพื้นที่ป่า ทำชาวบ้านเดือดร้อน

คำสั่ง คสช. ที่ 64/2557 และ 66/2557 ให้อำนาจทหารเข้า "ทวงคืนผืนป่า" ใช้มาครบสี่ปีแล้ว เครือข่ายประชาชนชวนกันถอดบทเรียน พบผลกระทบทำให้ชาวบ้านถูกไล่ออกจากที่ดิน ถูกจับกุมดำเนินคดีอย่างมาก ผ่านมาสี่ปีแล้วปัญหายังไม่จบแต่ก็ทวงคืนผืนป่าไม่ได้ตามเป้า จึงเป็นนโยบายที่ล้มเหลว

14 มิถุนายน 2561 เป็นวันครบรอบสี่ปีของการใช้คำสั่ง คสช. ฉบับที่ 64/2557 หรือนโยบายทวงคืนผืนป่า เครือข่ายทรัพยากรจังหวัดแม่ฮ่องสอน จัดเวทีเสวนาหัวข้อ "สิทธิในที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกินภายใต้ คำสั่ง คสช." ที่อำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน เพื่อถอดบทเรียน ทบทวนผลกระทบจากการใช้คำสั่งดังกล่าว
เล่าฟั้ง บัณฑิตเทอดสกุล ศูนย์กฎหมายสิทธิชุมชน กล่าวว่า สถานการณ์ปัจจุบันจังหวัดแม่ฮ่องสอนมีพื้นที่ประมาณ 7,900,000 ไร่ ถือว่า ใหญ่เป็นอันดับต้นๆ ของประเทศ พื้นที่ที่สภาพเป็นป่ากว่า 6,900,000 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 87 ของพื้นที่ทั้งหมด ที่ดินที่ประชาชนทำกินและออกเอกสารสิทธิเรียบร้อยมีแค่ ร้อยละ 1.3 ขณะที่ทางภาคกลางบางจังหวัดไม่มีพื้นที่ป่าเลย ส่วนกรุงเทพมีพื้นที่ป่า ร้อยละ 0.33 เท่านั้น แต่ชาวเขา คนชนเผ่า กลับถูกมองว่า เป็นคนทำลายป่า
เล่าฟั้ง เล่าว่า ปัญหาเรื่องที่ดินของชาวบ้านมีมานานก่อนรัฐบาล คสช. แล้ว แต่หลังจาก คสช. เข้ามา ก็ออกคำสั่งที่ 64/2557 ให้อำนาจทหาร ตำรวจ และฝ่ายปกครอง เป็นผู้นำภารกิจตรวจยึดที่ดินที่ชาวบ้านทำการเกษตรอยู่ จากที่เดิมปฏิบัติการแบบนี้นำโดยเจ้าหน้าที่ป่าไม้ ทำให้สถานการณ์ร้อนขึ้น กลายเป็นมีหน่วยงานสี่หน่วยงานมีอำนาจทำได้ 
เล่าฟั้ง เล่าต่อว่า ในปี 2559 มีคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 13/2559 เพื่ออำนวยความสะดวกให้ทหารเข้าไปจัดการอะไรได้โดยไม่ต้องมีหมายศาล เป้าหมายแรกของคำสั่งนี้ เพื่อให้ทหารเข้าไปตรวจบ่อนการพนัน หรือซ่องโสเภณีของผู้มีอิทธิพล แต่คำสั่งนี้ก็ถูกเอามาใช้กับการทวงคืนผืนป่าด้วย จึงเกิดการเอาทหารหลายร้อยคนเข้าปิดล้อม-ตรวจค้น หมู่บ้านของชาวบ้านในช่วงปี 2559 แล้วเข้าค้นบ้านทุกหลัง แค่มีทหารยศร้อยตรีไปด้วยคนเดียว ก็เข้าไปในบ้านของชาวบ้านได้แล้ว โดยไม่ต้องมีหมายศาล
เล่าฟั้งเปิดเผยข้อมูลว่า ในจังหวัดแม่ฮ่องสอนข้อมูลระหว่างปี 2555-2556 มีคดีเกิดขึ้นทั้งหมด 487 คดี เฉลี่ยปีละ 243.5 คดี แต่หลังใช้คำสั่งที่ 64/2557 ระหว่างเดือนมิถุนายน 2557- กรกฎาคม 2560 มีคดีเกิดขึ้นทั้งหมด 1,003 คดี เฉลี่ยปีละ 334.3 คดี มีผู้ถูกจับกุมดำเนินคดี 136 คน ที่ดินถูกยึดทั้งหมด 4,689.24 ไร่
สุพรรณ อู่ศรีเมือง หรือ "พ่อหลวงสุพรรณ" จากหมู่ที่ 6 ต.แม่ลาหลวง อ.แม่ลาน้อย เล่าว่า ชาวบ้านของหมู่บ้านนี้ อยู่อาศัยในพื้นที่เขตรักษาพันธ์สัตว์ป่าแม่ยวมฝั่งขวา และ อุทยานแห่งชาติแม่ยวมฝั่งซ้าย ไม่กี่วันที่ผ่านมา มีเจ้าหน้าที่ป่าไม้มาสำรวจข้อมูลที่อยู่อาศัยของชาวบ้าน โดยบอกล่วงหน้าแค่วันเดียว คนที่ไม่ได้มาพบเจ้าหน้าที่เพราะต้องไปรับจ้างที่อื่นในวันนั้นก็อาจต้องกลายเป็นคนตกหล่น ที่ไม่มีเอกสารจากทางเจ้าหน้าที่รับรอง
เกษตรกรในชุมชนที่เป็นชาวปกากญอ ทำไร่หมุนเวียน ซึ่งหมายถึง การทำไร่ในที่ดินแปลงหนึ่งแล้วพักไว้ให้ที่ดินฟื้นตัว แล้วค่อยกลับมาทำการเกษตรใหม่ แต่ทางเจ้าหน้าที่ไม่เข้าใจ พอเห็นว่า พื้นที่ไหนมีต้นไม้ขึ้นเยอะก็เข้าใจว่า เป็นป่า ห้ามชาวบ้านไปทำกิน ตั้งแต่ คสช. เข้ามา ชาวบ้านถูกจับกุมฐานมีไม้หวงห้ามไว้ในครอบครอง ถูกยึดไม้ ถูกรื้อบ้านที่ทำจากไม้ ทำให้เกิดความเดือดร้อน ทำให้ชาวบ้านก็แตกแยกกัน 
ประยงค์ ดอกลำไย ที่ปรึกษาสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ กล่าวว่า ก่อน คสช. เข้ามายึดอำนาจเราเคยต่อสู้กันยาวนานตั้งแต่ปี 2537 เราเรียกร้อง พ.ร.บ.ป่าชุมชน มากว่า 30 ปี ก็ยังไม่สำเร็จ และเราก็กำลังเตรียมจะเปิดตัวร่างกฎหมายเพื่อแก้ปัญหาที่ดิน 4 ฉบับ ในเดือนมิถุนายน 2557 แต่ถูกรัฐประหารเสียก่อน ทำให้ร่างนั้นต้องพักเอาไว้ก่อน
ประยงค์ อธิายว่า หลังจากออกคำสั่ง คสช. ที่ 64/2557 ได้เพียงสามวัน ก็มีคำสั่ง คสช. ที่ 66/2557 ออกมาอีก ซึ่งเหมือนจะมีส่วนที่เป็นประโยชน์อยู่บ้าง เพราะเขียนว่า การทวงคืนผืนป่าต้องไม่ให้กระทบต่อผู้ยากไร้ ผู้ที่มีรายได้น้อย และผู้ไร้ที่ดินทำกิน แต่ไม่มีนิยามจำกัดความไว้ชัดเจนว่า ใครเป็นคนยากไร้บ้าง ข้อนี้ไม่มีผลในทางปฏิบัติ เพราะเจ้าหน้าที่ที่ลงไปปฏิบัติมักจะอ้างว่า เป็นความผิดซึ่งหน้า แล้วใช้อำนาจตามพ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ ไล่จับชาวบ้านเป็นรายๆ ไป
นอกจากนี้ ประยงค์ยังเสริมว่า คสช. ยังออกประกาศ คสช. ที่ 106/2557 ลงนามโดยพล.อ.ประยุทธ์ เพียงคนเดียวแก้ไข พ.ร.บ.ป่าไม้ มีผลให้เพิ่มประเภทไม้หวงห้ามประเภท ก. จากเดิมที่มีแค่ไม้สักกับไม้ยาง เพิ่มขึ้นอีก 14 ชนิด เช่น ไม้พะยูง ไม้ประดู่ และอนุญาตให้ครอบครองได้น้อยลง จากเดิมให้ครอบครองใช้ประโยชน์ได้ไม่เกิน 1 ลูกบาตรเมตร ลดลงเหลือ 0.2 ลูกบาตรเมตร และเพิ่มโทษเป็นจำคุกตั้งแต่ 1-20 ปี ทำให้ศาลลงโทษน้อยกว่านี้ไม่ได้ เมื่อคดีชาวบ้านขึ้นศาลก็ต้องลงโทษอย่างต่ำ คือ จำคุก 1 ปี 
"นโยบายทวงคืนผืนป่า จริงๆ แล้วไม่ใช่ แต่เป็นการทวงคืนที่ดินทำกินของประชาชน เอาไปเป็นป่าให้กับจังหวัดอื่นที่ไม่มีพื้นที่ป่าเหลือแล้ว" 
"ถ้าคนที่อยู่อาศัยในพื้นที่ป่าโดยไม่มีเอกสารสิทธิร่วมมือกัน จะมีคนขับเคลื่อนด้วยกันประมาณ 12 ล้านคน คนเหล่านี้เป็นเหยื่อของ คสช. ที่ คสช. ถือว่า เป็นคนบุกรุกป่าและต้องปฏิบัติการไล่ออกจากพื้นที่ พอตรวจค้นบ้านแล้วเจอไม้ที่เตรียมเอาไว้สร้างบ้าน ก็กวาดจับชาวบ้าน เป็นเรื่องน่าเศร้า"
ประยงค์กล่าวด้วยว่า ตามแผนแม่บทป่าไม้ที่มีมาตั้งแต่ปี 2528 กำหนดว่า ประเทศไทยต้องมีพื้นที่ป่าร้อยละ 40 ของพื้นที่ทั้งหมด ซึ่งยังขาดอยู่อีก 26 ล้านไร่ เมื่อ คสช. ใช้นโยบายทวงคืนผืนป่ามาสี่ปี ยึดที่ดินชาวบ้านไปแล้ว 500,000 ไร่ ยังขาดอีกเยอะมาก จึงเป็นนโยบายที่ล้มเหลว ไปไม่ถึงเป้าหมาย แต่ก็สร้างผลกระทบให้กับชาวบ้านรายเล็กรายน้อยที่ถูกไล่ที่ และถูกดำเนินคดี