ก้าวพ้น คสช. 9 เรื่องที่อาจเกิดขึ้นหลังคสช. ลงจากอำนาจ

จังหวะที่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ลั่นวาจาในที่ประชุมว่า "ถ้างั้นตั้งแต่นาทีนี้ ผมตัดสินใจยึดอำนาจการปกครองประเทศไทยก็ตกอยู่ภายใต้การปกครองของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมา 

 

22 พฤษภาคม 2561 วันครบรอบสี่ปี เหตุการณ์รัฐประหาร ระยะเวลาสี่ปี ถ้าเป็นรัฐบาลที่มาจาการเลือกตั้งก็ถึงเวลาเลือกตั้งใหม่ ถ้าผลงานดีประชาชนก็อาจเลือกให้กลับมาเป็นรัฐบาลอีก ถ้าผลงานแย่ ประชาชนก็อาจเลือกพรรคอื่นขึ้นมาเป็นรัฐบาลแทน 

 

แต่สำหรับประเทศไทยภายใต้ คสช. ดูจะไม่มีอะไรแน่นอน การเลือกตั้งถูกเลื่อนแล้วเลื่อนอีกและกรอบเวลาวันเลือกตั้งที่พูดไว้ว่าจะเป็นเดือนกุมภาพันธ์ปีหน้าก็ชักดูไม่แน่นอน ถึงอย่างนั้น งานเลี้ยงย่อมมีวันเลิกลา วันหนึ่งการเลือกตั้งย่อมเกิดขึ้นและ คสช. ก็ต้องลงจากอำนาจ เราจึงอยากชวนทุกคนมีความหวัง ลองจินตนาการเก้าเรื่องสำคัญที่อาจเกิดขึ้นเมื่อประเทศไทยกลับสู่ระบอบประชาธิปไตย

 

 

 

 

1. ไม่มีใครมีอำนาจพิเศษเบ็ดเสร็จเด็ดขาด

 

ภายหลังรัฐประหาร คสช. ใช้อำนาจพิเศษเป็นเครื่องมือในการปกครอง อ้างทั้งความเป็นผู้มีอำนาจสูงสุดหรือรัฏฐาธิปัตย์และอ้างมาตรา 44” ตามรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 ออกประกาศ คำสั่ง คสช. และคำสั่งหัวหน้า คสช. รวมแล้วอย่างน้อย 525 ฉบับ ใช้อำนาจในสาระพัดเรื่องตั้งแต่ห้ามจุดพลุปีใหม่ยันยกเลิกการใช้รัฐธรรมนูญ แม้อำนาจพิเศษจะมีจุดเด่นที่ความรวดเร็ว แต่ลักษณะอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ก็นำมาซึ่งข้อเสียที่ตรวจสอบไม่ได้ เป็นไปตามอำเภอใจ เช่น การให้อำนาจทหารจับคนไปปรับทัศนคติ การให้ทหารควบคุมประชาชนได้เจ็ดวัน หรือยกเลิกหรืองดใช้กฎหมายปกติ เช่น การเร่งรัดเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษสิบจังหวัด โดยยกเลิกการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ฯลฯ

 

หลังยุค คสช. อำนาจพิเศษอันเบ็ดเสร็จเด็ดขาดจะหายไปพร้อมกับ คสช. ตามที่มาตรา 265 รัฐธรรมนูญ 2560 กำหนดไว้ว่า มาตรา 44 และ คสช. จะหายไปหลังรัฐบาลใหม่ที่มาจากการเลือกตั้งได้เข้ามาแทนที่ รัฐบาลหน้าจะไม่สามารถใช้อำนาจตามใจชอบแต่จะต้องใช้อำนาจไปตามรัฐธรรมนูญและกฎหมายปกติ และการกระทำใดๆ ของรัฐบาลจะต้องรับผิดชอบต่อกฎหมาย เพราะไม่สามารถออกคำสั่งพิเศษเพื่อให้ตัวเองลอยนวลจากการกระทำผิด เราจะรัฐสภาและศาลที่มีหน้าที่คอยตรวจสอบถ่วงดุลรัฐบาล ขณะที่ประชาชนจะมีความกล้าที่จะใช้อำนาจในการตรวจสอบรัฐบาลมากขึ้น และการมีส่วนร่วมของประชาชนในกฎหมายหรือนโยบายต่างๆ จะมีมากขึ้นเช่นกัน เพราะจะไม่มีใครใช้อำนาจพิเศษทำอะไรพลการโดยไม่ปรึกษาประชาชน

 

 

 

 

2. เลือกรัฐบาลของตัวเองได้ ไล่รัฐบาลที่ไม่ชอบได้

 

ในยุค คสช. ถ้าประชาชนเห็นว่ารัฐบาลทำงานไม่ดี ผลงานไม่เข้าตา หรือไม่ชอบพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ประชาชนทำอะไรไม่ได้มากนัก เพราะไม่มีกลไกที่ให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลเลย ประชาชนที่ออกมาแสดงความไม่พอใจต่อรัฐบาลไม่ว่าจะเป็นเรื่องปากท้องหรือเรื่องหลักการประชาธิปไตยก็ล้วนถูกปิดกั้น ปราบปราม หรือจับกุมดำเนินคดีกันไป ประชาชนที่ไม่พอใจแต่ไม่แสดงออกก็ต้องอดทนกันไป ทั้งๆ ที่ก็ไม่รู้จะต้องอดทนอีกถึงเมื่อไหร่ เพราะแม้ คสช.จะมีโรดแมปสู่การเลือกตั้งแต่ก็ดูเหมือนจะเป็นกรอบเวลาที่ขยายได้เรื่อยๆ ไม่มีจุดสิ้นสุด 

 

หลังยุค คสช. เมื่อประเทศไทยได้กลับสู่ประชาธิปไตยและมีการเลือกตั้งอีกครั้ง ประชาชนสามารถเลือกรัฐบาลที่ตัวเองต้องการได้และจะมีพรรคการเมืองหลายพรรคที่เสนอตัวแข่งขันเพื่อเป็นตัวเลือกให้กับประชาชน หากพรรคไหนได้รับเสียงข้างมากจนสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้แล้วบริหารประเทศล้มเหลว ไม่ทำตามนโยบายที่สัญญาไว้ หรือทำงานไม่เป็นที่ถูกใจ ก็จะไม่มีรัฐบาลไหนอยู่ได้เรื่อยๆ แบบไม่มีวาระเหมือนรัฐบาล คสช. เพราะเมื่อรัฐบาลบริหารประเทศครบวาระสี่ปีก็จะต้องมีเลือกตั้งใหม่ หรืออาจเร็วกว่านั้นก็ยังได้หากรัฐบาลชิงยุบสภาก่อนครบวาระ หากเรายังชื่นชอบรัฐบาลเดิมก็เลือกพรรคเดิม หากเราไม่ชอบก็เลือกพรรคใหม่ คนไทยหลังจากนี้จะไม่ต้องบ่นอีกต่อไปว่าเมื่อไรจะเลือกตั้ง หรือ เมื่อไรมันจะไปสักที

 

 

 

 

3. รัฐสภามีผู้แทนประชาชน มีฝ่ายค้านตรวจสอบรัฐบาล

 

ภายหลังรัฐประหาร คสช. ตั้งสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ขึ้นเพื่อทำหน้าที่ออกกฎหมายแทนสภาผู้แทนราษฎร (..) และวุฒิสภา (..) โดยมีสภาชิก สนช. 250 คน มาจากการแต่งตั้งของ คสช. ทั้งหมด โดยสมาชิก สนช. 144 คน หรือเกินครึ่งของสภาเป็นทหาร ตลอดระยะเวลาสี่ปี สนช. ออกกฎหมายไปแล้วอย่างน้อย 292 ฉบับ มีมติเอกฉันท์ 226 ฉบับ ส่วนทีเหลือแม้จะมีสมาชิก สนช. ไม่เห็นชอบบ้างก็ไม่เกินหกคน นอกจากนี้ยังมีถึงกฎหมายถึง 17 ฉบับที่ถูกพิจารณาเห็นชอบอย่างรวดเร็วภายในเวลาหนึ่งวัน แน่นอนว่าที่ผ่าน สนช. ทำหน้าที่เหมือนตรายางที่ประทับตรากฎหมายของ คสช. มากกว่าจะเป็นสภาที่คอยตรวจสอบถ่วงดุล เป็นปากเป็นเสียงให้ประชาชน 

 

หลังการเลือกตั้ง สนช. จะถูกยุบลง และประเทศไทยจะกลับมาใช้ระบบสองสภาที่ประกอบด้วย .. และ .. โดยมี .. ที่เป็นผู้แทนของประชาชนมาจากการเลือกตั้ง ด้วยเหตุนี้ภาพของสภาตรายางแบบสั่งได้จะหายไป เพราะในสภาจะประกอบไปด้วยพรรคการเมืองหลายพรรคที่เป็นตัวแทนประชาชนจากพื้นที่ต่างๆ เข้ามาอภิปรายถกเถียงเพื่อออกกฎหมายที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชน นอกจากนี้ .. ยังสามารถเปิดอภิปรายไม่ไว้วางรัฐบาลได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการมี ..ฝ่ายค้านในสภาจะช่วยทำให้การตรวจสอบการบริหารงานของรัฐบาลเข้มข้มมากขึ้นอีกด้วย

 

 

 

 

4. ใช้ประชาธิปไตยจัดการกับคอร์รัปชั่น

 

การปราบปรามคอร์รัปชั่นถือเป็นคำมั่นสัญญาหลักของ คสช. ผลงานรูปธรรมเริ่มตั้งแต่รัฐธรรมนูญที่มีชื่อเล่นว่าฉบับปราบโกงโดยเพิ่มกลไกจัดการนักการเมืองไว้จำนวน เช่น การเพิ่มอำนาจองค์กรอิสระอย่าง ... และ สตง. หรือการจัดทำมาตรฐานทางจริยธรรม ขณะที่สี่ปีที่ผ่านมา คสช. ตั้งองค์กรใหม่ขึ้นมาปราบทุจริตโดยตรงสี่องค์กร ใช้อำนาจพิเศษออกประกาศและคำสั่งที่เกี่ยวข้องกับการปราบทุจริตไปแล้วอย่างน้อย 39 ฉบับ อย่างไรก็ตามการแก้ปัญหามีลักษณะแบบบนลงล่างคือเป็นการสั่งการจากผู้มีอำนาจและหน่วยราชการ มากกว่าการสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนในการตรวจสอบทุจริต

 

ขณะที่การปราบปรามคอร์รัปชั่นของ คสช. ก็มีลักษณะในการเลือกปฏิบัติกับฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองหรือกับคนเล็กคนน้อยมากกว่าจะจัดการกับปัญหาคอร์รัปชั่นในฝ่ายตัวเอง เช่น การทุจริตโครงการก่อสร้างอุทยานราชภักดิ์, การทุจริตโครงการจัดซื้อเรือเหาะ, พฤติกรรมไม่แจ้งบัญชีทรัพย์สินของ พล..ประวิตร วงษ์สุวรรณ ฯลฯ ทั้งหมดนี้ถูกประชาชนตั้งข้อกังขา และเมื่อประชาชนตั้งคำถามหรือวิจารณ์ในประเด็นเหล่านั้นก็ถูกคุกคามปิดปากดำเนินคดี เช่น กิจกรรมนั่งรถไฟไปอุทยานราชภักดิ์ส่องกลโกงก็ถูกดำเนินคดีด้วยข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2558 หรือในบ้างกรณีถูกนำเข้าค่ายทหานปรับทัศนคติ

 

หลังการลงจากอำนาจของ คสช. ปัญหาคอร์รัปชั่นก็ยังไม่มีทางหมดไปง่ายๆ แต่ข้อดีของการแก้ไขปัญหาคอร์รัปชั่นในระบอบประชาธิปไตย ก็คือประชาชนจะสามารถมีส่วนร่วมในการตรวจสอบคอร์รัปชั่น กล่าวคือ อย่างน้อยที่สุดประชาชนก็สามารถตั้งคำถามวิพากษ์วิจารณ์หรือออกมาชุมนุมกดดันโดยไม่ต้องเกรงกลัวรัฐบาล นอกจากนี้ในระบบประชาธิปไตยยังมีกลไกตรวจสอบอื่นๆ เช่น รัฐสภาที่บรรดา .. จะสามารถตรวจสอบอภิปรายรัฐบาลได้อย่างเต็มที่ ซึ่งอย่างน้อยจะช่วยทำให้การคอร์รัปชั่นมีต้นทุนด้านความโปร่งใสมากขึ้น

 

 

 

 

5. สื่อมวลชนมีเสรีภาพ ประชาชนได้รับข่าวสารรอบด้านและหลากหลาย

 

ภายหลังรัฐประหาร คสช. พยายามควบคุมการรับรู้ข่าวสารของประชาชนอย่างเข้มงวด หนึ่งในความพยายามคือการเข้าควบคุมสื่อมวลชน ที่ผ่านมา คสช.จัดการกับสื่อมวลชนที่วิพากษ์วิจารณ์ คสช. ด้วยการลงโทษด้วยวิธีการตั้งแต่การตักเตือนจนถึงการสั่งให้หยุดการดำเนินการ โดยอาศัยอำนาจจากประกาศ คำสั่ง คสช. และใช้คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เป็นเครื่องมือในการจัดการกับสื่อมวลชน จากการเก็บข้อมูลของไอลอว์มีสื่อมวลชนถูก กสทช. ลงโทษไม่ต่ำกว่า 52  ครั้ง ขณะเดียวอีกด้านหนึ่ง คสช. ก็จัดทำรายการ เช่นรายการคืนความสุขหรือในชื่อใหม่รายการศาสตร์พระราชายัดเยียดข้อมูลของตัวเองแต่ฝ่ายเดียวให้ประชาชนรับฟัง ซึ่งรายการของ คสช. ออกอากาศทุกค่ำวันศุกร์ทางสถานีโทรทัศน์และวิทยุทุกช่องเป็นเวลาติดต่อกันมานานกว่าสี่ปีแล้ว

 

หลัง ยุค คสช. จะไม่มีรัฐบาลไหนมีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดที่จะออกคำสั่งหรือออกกฎหมายควบคุมสื่อมวลชนได้ แม้แต่จะใช้อำนาจแทรกแซงองค์กรอิสระก็จะไม่ง่ายดายเหมือนสี่ปีของ คสช. แน่นอนว่าเมื่อรัฐบาลมีอำนาจในการควบคุมสื่อมวลชนลดลง เสรีภาพในการนำเสนอข่าวสารและการทำหน้าที่วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลก็จะมากยิ่งขึ้น อีกด้านหนึ่ง ประชาชนก็สามารถที่จะได้รับข้อมูลข่าวสารที่หลากหลายและรอบด้านยิ่งขึ้น ทั้งความเห็นจากฝ่ายที่เห็นด้วยและเห็นต่างจากรัฐบาล อีกทั้งสื่อก็ยังสามารถเป็นปากเป็นเสียงให้กับประชาชนได้มากกว่านี้

 

 

 

 

6. รัฐธรรมนูญประกันเสรีภาพในการแสดงออก

 

เสรีภาพในการแสดงออก คือหัวใจสำคัญของระบบประชาธิปไตย เพราะการแสดงออกจะเปิดโอกาสให้ประชาชนแสดงความต้องการของตัวเอง เพื่อส่งต่อความคิดอุดมการณ์ไปยังเพื่อนร่วมชาติ หรือส่งเสียงเพื่อเพิ่มอำนาจต่อรองให้ตัวเองกับผู้มีอำนาจรัฐ สี่ปีที่ผ่านมา เสรีภาพการแสดงออกถูกจำกัดอย่างเข้มงวด ผู้เห็นต่างถูกเรียกเข้าค่ายปรับทัศนคติ บางคนถูกคุกคามถึงบ้าน การจัดกิจกรรมสาธารณะถูกปิดกั้น ขณะที่การวิจารณ์ผู้นำ คสช. อาจเป็นภัยต่อความมั่นคงได้ ประชาชนหลายคนต้องถูกกล่าวหาจนมีคดีความเกิดขึ้นมากมายที่ทำให้ประชาชนต้องขึ้นศาลทหารบ้างศาลพลเรือนบ้าง

 

ข้อมูลจากไอลอว์ พบว่าที่ผ่านมามีประชาชนที่ถูกเรียกรายงานตัวและปรับทัศนคติ มีผู้ที่ถูกข่มขู่ คุกคามและติดตาม อย่างน้อย 1,138 คน กิจกรรมสาธารณะถูก คสช. หรือเจ้าหน้าที่รัฐปิดกั้นและแทรกแซง อย่างน้อย 264 กิจกรรม กลุ่มชาวบ้านหรือประชาสังคมถูกปิดกั้นการชุมนุมอย่างน้อย 66 กลุ่ม มีบุคคลที่ถูกดำเนินคดีในข้อหาฝ่าฝืนชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป อย่างน้อย 378 คน เป็นต้น ตัวอย่างข้อมูลดังกล่าวเผยให้เห็นถึงสถานการณ์เสรีภาพในการแสดงออกที่ย่ำแย่ ตั้งแต่ คสช. ยึดอำนาจมา

 

หลังยุค คสช. ประชาชนจะมีเสรีภาพการแสดงออกมากยิ่งขึ้น นั้นหมายความว่า การชุมนุมสาธารณะ กิจกรรมแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ กิจกรรมและงานเสวนา หรือวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลย่อมทำได้ การกระทำต่างๆ เหล่านี้จะถูกคุ้มครองโดยรัฐธรรมนูญ แม้ในทางปฏิบัติอาจมีข้อจำกัดอยู่มากมาย แต่ก็เป็นประโยชน์ในกรณีที่ประชาชนต้องต่อสู้คดีที่เกิดจากการใช้เสรีภาพในชั้นศาล การอ้างสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญก็สามารถทำได้ง่าย 

 

 

 

 

7. ระบบประกันสุขภาพจะกลับมาพัฒนาขึ้นอีกครั้ง

 

ตั้งแต่การเกิดขึ้นของระบบหลักประกันสุขถ้วนหน้าหรือบัตรทองในปี 2545 หลักการสำคัญ คือ เน้นการมีส่วนร่วมให้ประชาชนทุกภาคส่วนเข้ามาช่วยกันคิดช่วยกันทำให้ระบบประกันสุขภาพเป็นของทุกคนไม่ใช่แค่เรื่องของบุคลากรกระทรวงสาธารณสุขเท่านั้น ในยุค คสช. นิมิตร เทียมอุดม เครือข่ายคนรักประกันสุขภาพ ให้สัมภาษณ์กับ วอยซ์ทีวีออนไลน์ ว่า "ตลอดสีปีมานี้ไม่ได้เกิดความก้าวหน้าในการพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพเลย มีแต่บั่นทอน ทำลาย และทำให้ระบบอ่อนแอลง" ระบบหลักประกันสุขภาพยังคงมีความเหลื่อมล้ำ สิทธิข้าราขการได้รับค่าใช้จ่ายรายหัวเฉลี่ยคนละ 12,397 บาท ซึ่งมากกว่าสิทธิประกันสังคมและสิทธิบัตรทองที่ได้รับค่าใช้จ่ายรายหัวเฉลี่ยคนละประมาณ 2,000 – 3,000 บาท เท่านั้น 

 

แม้ระบบประกันสุขภาพทั่วหน้าหรือสิทธิบัตรทองของประเทศไทยจะได้รับการยอมรับจากนานาชาติ แต่ในทางตรงกันข้าม คสช. กลับบ่นอยู่เป็นระยะๆ ว่าระบบนี้เป็นภาระทางงบประมาณของประเทศ ดังจะเห็นได้จากความพยายามในการแก้กฎหมายประกันสุขภาพเพื่อให้กระทรวงสาธารณสุขกลับมาอำนาจมากขึ้น และความพยายามเปิดช่องเพิ่มภาระให้ประชาชนในการร่วมจ่าย หรือความพยายามร่างกฎหมายใหม่เพื่อตั้งซูเปอร์บอร์ดมาคอยคุมเรื่องสาธารณสุขของประเทศ เพิ่มอำนาจให้กับกลุ่มบุคคลระดับสูงในระบบสุขภาพ แต่ไม่ได้เป็นการปรับโครงสร้างเพื่อให้ประชาชนเข้าถึงระบบหลักประกันสุขภาพดีขึ้น หากความพยายามล้มบัตรทองของ คสช. สำเร็จ จะกระทบต่อประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศราว 48 ล้านคน

 

นิมิตร ในฐานะภาคประชาชนที่ผลักดันเรื่องระบบประกันสุขภาพมาอย่างต่อเนื่อง กล่าวว่า "หัวใจสำคัญของระบบหลักประกันสุขภาพคือการมีส่วนร่วม ความเป็นประชาธิปไตย ในยุคสมัยที่เราไม่มีประชาธิปไตย ระบบหลักประกันสุขภาพไม่มีทางเติบโตเลย" หลัง คสช. เมื่อมีการเลือกตั้ง และประชาธิปไตยเริ่มเดินหน้าอีกครั้ง การมีส่วนร่วมของประชาชนจะเพิ่มมากขึ้นอีกครั้ง ขณะที่พรรคการเมืองสำคัญๆ ต่างก็ให้ความสำคัญกับนโยบายการสร้างหลักประกันสุขภาพให้กับประชาชน

 

 

 

 

 

8. ประชาชนเลือกตั้งผู้ว่าฯ ทุกจังหวัดเป็นไปได้

 

สี่ปีที่ผ่านมา คสช. บริหารราชการแผ่นดินโดยใช้กลไกของระบบราชการส่วนกลางขับเคลื่อนประเทศเป็นหลักส่งผลให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ถูกลดบทบาทลง แน่นอนว่าการกระจายอำนาจการปกครองไปสู่ อปท. ให้เพิ่มมากขึ้นต้องหยุดชะงักลง มิหนำซ้ำอำนาจจากผู้แทนประชาชนในท้องถิ่นถูกดึงเข้าสู่มือข้าราชการมากขึ้น ด้วยการหยุดเลือกตั้งท้องถิ่นที่ดำเนินการอย่างต่อเนื่องมากตลอดกว่าสองทศวรรษ การแต่งตั้งข้าราชการระดับซีแปดขึ้นเข้าไปอยู่ไปนั่งอยู่ในสภา อปท. บางแห่ง หรือแต่งตั้งผู้บริหารท้องถิ่นอย่างผู้ว่าเมืองพัทยาและผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครแทนการเลือกตั้ง

 

นอกจากนี้ รัฐธรรมนูญ 2560 ที่ คสช. เป็นผู้จัดทำยังทำให้อนาคตของการกระจายอำนาจการปกครองสู่ท้องถิ่นถอยหลังลงไปอีกด้วยการเปิดโอกาสให้ผู้บริหาร อปท. รูปแบบพิเศษไม่จำเป็นต้องมาจากการเลือกตั้ง การไม่กำหนดข้อห้ามข้าราชการดำรงตำแหน่งผู้บริการ อปท. ไม่กำหนดวาระในการดำรงตำแหน่งผู้บริหาร อปท. หรือการตัดสิทธิการออกเสียงประชามติภายในท้องถิ่น หาก อปท. ทำโครงการที่จะส่งผลกระทบต่อประชาชนในท้องถิ่น

 

คสช. ประกาศว่าการเลือกตั้งท้องถิ่นจะเกิดขึ้นก่อนการเลือกตั้ง .. ซึ่งตามโรดแมปล่าสุดของ คสช. กำหนดว่าการเลือกตั้ง .. จะเกิดขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ 2562 แน่นอนว่าหลังจาก คสช. ออกไป การการกระจายอำนาจการปกครองสู่ท้องถิ่นจะกลับมาอีกครั้ง โดยเฉพาะหากมีสภาผู้แทนราษฎรชุดใหม่ การกระจายอำนาจก็จะได้รับการผลักดันอีกครั้ง เพราะพรรคการเมืองหลัก คือ พรรคเพื่อไทย กับพรรคประชาธิปัตย์ หรือพรรคอนาคตใหม่ ที่กำลังเป็นที่นิยมต่างสนับสนุนแนวทางนี้ ซึ่งเป็นไปได้ว่าการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดโดยตรง หรือการให้อำนาจแต่ละ อปท. มีอิสระในการจัดสรรทรัพยากรทั้งงบประมาณและบุคคลด้วยตนเองมากขึ้นจะเกิดขึ้นในไม่ช้า

 

 

 

 

9. แก้รัฐธรรมนูญอาจง่ายกว่าที่คิด

 

คสช. ตั้งฉายาเพื่อโฆษณาชวนเชื่อรัฐธรรมนูญ 2560 ว่าฉบับปราบโกงบ้างฉบับปฏิรูปบ้าง แต่เนื้อแท้ของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ คือความพยายามสืบทอดอำนาจของ คสช. ด้วยการให้มี ..แต่งตั้ง 250 คน เปิดช่องให้มีนายกฯ คนนอก ตั้งคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ และคณะกรรมการปฏิรูปประเทศ หรือแม้กระทั่งองค์กรอิสระ เพื่อให้ตัวเองและพวกพ้องสามารถมีอำนาจได้ต่อไปหลังการเลือกตั้ง นอกจากนี้ ยังลดอำนาจและสร้างข้อจำกัดให้กับสถาบันทางการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง ตั้งแต่การทำนโยบายต่างๆ ต้องเดินตามยุทธศาสตร์ชาติ หากไม่เดินตามก็อาจถูกองค์กรอิสระและศาลเล่นงานให้พ้นจากตำแหน่งได้ การกำหนดมาตราฐานทางจริยธรรมที่เปิดโอกาสให้ ... ใช้ดุลยพินิจเอาผิดนักการเมืองได้ หรือการออกแบบระบบเลือกตั้งที่มีความสลับซับซ้อนและผลการเลือกตั้งอาจไม่สะท้อนเจตนารมณ์ของประชาชนส่วนใหญ่

 

มีการวิเคราะห์กันว่าการออกแบบรัฐธรรมนูญที่ไม่เป็นประชาธิปไตย ล้าหลัง ไม่ตอบโจทย์สภาพปัญหาของประเทศ จะส่งผลให้หลังการเลือกตั้งกติกาและกลไกต่างๆ ที่ คสช. วางไว้ในรัฐธรรมนูญจะสร้างปัญหาและนำประเทศไปสู่ความขัดแย้งและทางตัน ไม่ว่าพรรคการเมืองไหนใดขึ้นมาเป็นรัฐบาลก็จะเจอความยากลำบากในการบริหารประเทศ แม้แต่กระทั่ง คสช. เองก็ตาม หลายภาคส่วนทั้งพรรคการเมืองหรือภาคประชาชนต่างเห็นสอดคล้องกันว่าหลังการเลือกตั้ง รัฐธรรมนูญ 2560 จะต้องถูกแก้ไข แต่การแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี่ก็ยากที่สุดในโลก แต่ละด่านอาจต้องต่อสู้กับ ..เพียงไม่กี่คนที่สนับสนุนทหารหากพวกนี้ไม่ยอมรับการแก้ไขก็ไม่สามารถเดินต่อได้ หรือจะต้องต่อสู้กับ ..ที่มาจาก คสช. และต่อสู้กับศาลรัฐธรรมนูญ ที่ก็คาดเดาได้ไม่ยากกว่าผลจะเป็นอย่างไร รวมทั้งอาจเสี่ยงติดคุกติดตะรางในข้อหาล้มล้างรัฐธรรมนูญอีก

 

แน่นอนว่าการเลือกตั้งที่จะถึงพรรคการเมืองหลายพรรคจะชูการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นนโยบายสำคัญในการปลดล็อกประเทศไทย และมีแนวโน้มว่าพรรคที่ได้เสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรจะเสนอนโยบายนี้ แม้พรรคการเมืองการเมืองขนาดใหญ่สองพรรค คือพรรคเพื่อไทยกับประชาธิปัตย์จะยังเห็นต่างในจังหวะการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่ทั้งสองพรรคหรือพรรคอื่นๆ ต่างมั่นใจว่าการแก้รัฐธรรมนูญไม่ยากหากสังคมเห็นร่วมกัน โดยประเทศไทยเคยมีบทเรียนจากรัฐธรรมนูญ 2540 ที่ทุกภาคส่วนของประเทศเห็นร่วมกันและนำมาสู่การร่าง "รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน" ด้วยเหตุนี้ หลังการเลือกตั้งรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่ประชาชนมีส่วนร่วมออกแบบจะต้องเกิดขึ้นไม่ช้า และคสช. จะอยู่ในอำนาจไม่นานตามความหวัง