กฎหมาย กสม. ฉบับใหม่ เปลี่ยนองค์กรตรวจสอบเป็นกระบอกเสียงรัฐ

คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เป็นองค์กรอิสระที่เกิดขึ้นครั้งแรกตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 เป็นผลจากแรงผลักดันและการเรียกร้องต้องการของประชาชน ที่มุ่งหวังให้มีกลไกอิสระ เพื่อทำหน้าที่ส่งเสริม คุ้มครอง และพิทักษ์สิทธิเสรีภาพของประชาชนให้มีผลปรากฏเป็นจริง ตามที่มีการบัญญัติรับรองสิทธิเสรีภาพอย่างกว้างขวางไว้ในรัฐธรรมนูญ
เมื่อเปลี่ยนรัฐธรรมนูญใหม่เป็นรัฐธรรมนูญปี 2560 คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติก็ยังคงอยู่ โดยร่างรัฐธรรมนูญกำหนดให้คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ต้องตรากฎหมายลูกอย่าง พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (พ.ร.ป.กสม.) ขึ้นมา เพื่อระบุที่มาและอำนาจหน้าที่ขององค์กรอิสระองค์กรนี้
กฎหมายใหม่เปลี่ยนที่มา-กำหนดโควต้า ผู้มีสิทธินั่งเก้าอี้ กสม.
จากเดิมรัฐธรรมนูญ 2540 กำหนดให้ที่มาของคณะกรรมการสิทธิฯ มีลักษณะเปิดกว้าง ขอเพียงเป็นผู้ซึ่งมีความรู้หรือประสบการณ์ด้านการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนเป็นที่ประจักษ์ แต่ทว่า กฎหมายกสม. ปี 2560 ได้ปรับให้ที่มาของคณะกรรมการแต่ละคนมีความเฉพาะเจาะจงมากขึ้น โดยกำหนดโควต้าสำหรับเก้าอี้แต่ละตัวในคณะกรรมการสิทธิฯ ว่า ต้องมีความรู้และประสบการณ์ในด้านใดด้านหนึ่งดังต่อไปนี้ 
(1) มีประสบการณ์ในการทำงานด้านสิทธิมนุษยชนต่อเนื่องกันเป็นเวลาไม่น้อยกว่าสิบปี 
(2) มีความรู้ความเชี่ยวชาญในการสอนหรือทำงานวิจัยเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน ในระดับอุดมศึกษามาแล้วเป็นเวลาไม่น้อยกว่าห้าปี 
(3) มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านกฎหมายเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนทั้งภายในประเทศและต่างประเทศที่จะยังประโยชน์ต่อการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการ 
(4) มีความรู้และประสบการณ์ด้านการบริหารงานภาครัฐที่เกี่ยวกับการส่งเสริม และคุ้มครองสิทธิมนุษยชนมาแล้วเป็นเวลาไม่น้อยกว่าห้าปี 
(5) มีความรู้และประสบการณ์ด้านปรัชญา วัฒนธรรม ประเพณี และวิถีชีวิตของไทยเป็นที่ประจักษ์ที่จะยังประโยชน์ในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนมาแล้วเป็นเวลาไม่น้อยกว่าสิบปี
ทั้งนี้ ในองค์ประกอบคณะกรรมการสิทธิฯ แต่ละด้านต้องมีอย่างน้อยหนึ่งคนแต่ไม่เกินสองคน ซึ่งประกอบกันเป็นกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติทั้งหมด 7 คน 
กฎหมายใหม่ แก้ที่มาคณะกรรมการสรรหา ยึดหลักการปารีส-ลดตัวแทนศาล
ภายหลังสำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ลดสถานะคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนเนื่องจากที่มาของคณะกรรมการสรรหา ทำให้กฎหมาย กสม. ปี 2560 พยายามปรับสัดส่วนคณะกรรมการสรรหาให้สอดคล้องกับหลักการว่าด้วยสถานะและหน้าที่ของสถาบันแห่งชาติเพื่อการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน หรือ 'หลักการปารีส' ที่ต้องการให้คณะกรรมการสรรหามีความหลากหลายมากขึ้น
กฎหมายจึงกำหนดคณะกรรมการสรรหาจำนวน 11 คน ประกอบด้วย ประธานศาลฎีกา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ผู้นําฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร ประธานศาลปกครองสูงสุด ผู้แทนองค์กรเอกชนด้านสิทธิมนุษยชน 3 คน ผู้แทนสภาทนายความ ผู้แทนสภาวิชาชีพสื่อมวลชน และอาจารย์ประจําหรือผู้เคยเป็นอาจารย์ประจําในสถาบันอุดมศึกษาซึ่งสอนหรือทํางานวิจัยหรือทํางานด้านสิทธิมนุษยชนมาแล้วเป็นเวลาไม่น้อยกว่าสิบปี และเพิ่มผู้แทนสภาวิชาชีพทางการแพทย์และสาธารณสุขเข้ามา 
ทั้งนี้แตกต่างจากรัฐธรรมนูญ 2550 ที่กรรมการสรรหามาจากฝ่ายศาลเป็นส่วนใหญ่ ขณะที่เมื่อเทียบกับกฎหมาย กสม. ปี 2542 จะพบว่า สัดส่วนตัวแทนจากองค์กรเอกชนด้านสิทธิมนุษยชน ตัวแทนจากสื่อมวลชน และตัวแทนจากนักวิชาการลง รวมถึงตัวแทนจากฝ่ายการเมืองที่มาจากแต่ละพรรคในสภาถูดลดจำนวนลงอย่างมาก จากเดิมที่เคยมีผู้แทนองค์กรเอกชนด้านสิทธิมนุษยชน 10 คน นักวิชาการ 5 คน สื่อมวลชน 3 คน และนักการเมือง 5 คน
กฎหมายใหม่ เพิ่มหน้าที่ชี้แจงต่างชาติถึง 'สิทธิมนุษยชนไทยสไตล์'
กฎหมาย กสม. ปี 2560 กำหนดหน้าที่ใหม่ให้คณะกรรมการสิทธิฯ ต้อง "ตรวจสอบและรายงานข้อเท็จจริงที่ถูกต้องเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนทุกกรณีโดยไม่ล่าช้า" และ "ชี้แจงและรายงานข้อเท็จจริงที่ถูกต้องโดยไม่ชักช้าในกรณีที่มีการรายงานสถานการณ์เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยโดยไม่ถูกต้องหรือไม่เป็นธรรม"
มีชัย ฤชุพันธ์ ประธาน กรธ.  อธิบายที่มาของหน้าที่ดังกล่าวว่า ต้องการให้ กสม.รายงานความจริงที่เป็นอยู่ในประเทศไทย เพราะแต่ละประเทศมีมุมมองแตกต่างกันตามวัฒนธรรมและประเพณี ที่มีมายาวนานของแต่ละประเทศ เช่น ประเทศไทยเราสั่งสอนให้กราบไหว้พ่อแม่ หรือเอาเท้าของพ่อแม่ใส่ไว้บนหัว สำหรับคนไทยมองว่าเป็นความกตัญญู แต่สำหรับบ้างประเทศอาจจะมองว่าล้าสมัย เป็นการขัดหลักสิทธิมนุษยชน เพราะประเทศเขาอาจตบหัวพ่อแม่ได้ ดังนั้น ถ้ามีใครรายงานเรื่องนี้ออกไป ก็เป็นหน้าที่ กสม. ต้องออกมาชี้แจงว่านี้เป็นประเพณีของเรา ไม่ใช่การละเมิดสิทธิมนุษยชน เราถือเป็นความศิวิไลซ์ เป็นความเป็นมนุษย์ ที่สมบูรณ์แบบมากกว่าฝรั่ง 
กฎหมายให้ 'เซ็ตซีโร่' กำหนดเวลา 260 วัน เลือก กสม.ชุดใหม่
กฎหมาย กสม. ปี 2560 กำหนดให้ กสม. ทั้งคณะต้องพ้นไปจากตำแหน่งหลังกฎหมายฉบับนี้มีผลบังคับใช้ หรือที่เรียกว่า 'เซ็ตซีโร่' แต่ให้ยังคงปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่าจะได้ กสม. ชุดใหม่เข้ามาทำงาน โดยขั้นตอนในการสรรหา กสม. ชุดใหม่ จะต้องเสร็จสิ้นภายใน 260 วัน นับตั้งแต่กฎหมายประกาศใช้ 
โดยขั้นตอนการสรรหาจะเริ่มจากให้ กสม.ชุดปัจจุบันกำหนดระเบียบการจดแจ้งและการคัดเลือกกันเองภายในองค์กรเอกชนด้านสิทธิมนุษยชนและสภาวิชาชีพต่างๆ เพื่อหาตัวแทนเป็นคณะกรรมการสรรหา จากนั้น จึงทำการคัดเลือกผู้มีเหมาะสมเป็น กสม. ชุดใหม่ ให้วุฒิสภาให้ความเห็นชอบ
แต่ทว่า ในกรอบระยะเวลาดังกล่าว หากรัฐบาลคสช. มีการจัดเลือกตั้งในปี 2562 ก็เท่ากับว่า ผู้ที่จะทำหน้าที่พิจารณาให้ความเห็นชอบ กสม. ชุดใหม่ ก็มีความเป็นไปได้สูงที่จะเป็น สนช.ซึ่งทำหน้าที่แทนวุฒิสภาในปัจจุบัน
You May Also Like
อ่าน

ส่องวาระศาลรัฐธรรมนูญ-องค์กรอิสระ สว. 67 เคาะเลือกคนใหม่ได้เกินครึ่ง

พฤษภาคม 2567 สว. ชุดพิเศษ จะหมดอายุแล้ว แต่ สว. ชุดใหม่ ยังคงมีอำนาจสำคัญในการเห็นชอบตุลาการศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ ภายใต้วาระการดำรงตำแหน่งของ สว. ชุดใหม่ จะมีอำนาจได้ “เกินครึ่ง” ของจำนวนตำแหน่งทั้งหมด
อ่าน

ศาลรธน. ไม่รับคำร้อง ปมรัฐสภาถามเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ทำประชามติกี่ครั้ง ทำตอนไหน

17 เมษายน 2567 ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเไม่รับคำร้องที่รัฐสภาขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยปัญหาอำนาจหน้าที่ของรัฐสภาว่า รัฐสภาจะมีอำนาจในการพิจารณาแก้รัฐธรรมนูญได้เลยหรือต้องทำประชามติก่อน