รศ.ดร.อภิชาต ถามหาความรับผิดของกรรมการ หากยุทธศาสตร์ชาติล้มเหลว

ในการประชุมวิชาการของสถาบันพระปกเกล้า เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2560 หัวข้อ "ประชาธิปไตยไทย ความท้าทายใหม่ อุดมคติ สิ่งที่เป็นจริงและสิ่งที่อย่างเห็น: ความท้าทายที่ 5 ยุทธศาสตร์ชาติกับอนาคตประเทศไทน" รศ.ดร.อภิชาติ สถิตนิรามัย นักเศรษฐศาสตร์การเมือง กล่าวว่า พ.ร.บ.การจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ กำหนดให้ เอาร่างฉบับแรกที่จัดทำโดยสภาพัฒน์ฯ เป็นพิมพ์เขียวที่จะร่างฉบับจริงต่อ ร่างเบื้องต้นตอนนี้กำหนดเป้าหมายไว้หลากหลาย ในทางเศรษฐศาสตร์มีเป้าหมายหลักสามอย่าง คือ การเจริญเติบโตโดยทุกคนมีส่วนร่วมได้รับผลประโยชน์ที่เป็นธรรม และการพัฒนาที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Inclusive Green Growth)
เป้าหมายของยุทธศาสตร์ที่ว่าด้วยการทำให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีความสามารถในการแข่งขัน ขจัดความเหลื่อมล้ำระหว่างขนชั้น และความไม่เทียม รวมทั้งยังต้องพัฒนาเศรษฐกิจควบคู่ไปกับการรักษาสิ่งแวดล้อม สามารถเป็นจริงได้ เพราะมีตัวอย่างของประเทศในแถบเอเชียตะวันออก เช่น ญุี่ปุ่น เกาหลีไต้ ไต้หวัน ที่สามารถทำให้เกิดการเติบโตอย่างมีส่วนร่วมได้ 
จากประสบการณ์ของประเทศอื่นก็จะเห็นว่า การจะเดินหน้าไปในทิศทางนี้ต้องเริ่มจากสร้างการเติบโตให้ได้ก่อน หรือต้องมี Growth ก่อน ซึ่งต้องอาศัยนวัตกรรม (innovation) จึงจะสามารถแข่งขันในตลาดได้ 
รัฐต้องส่งเสริมนวัตกรรม โดยมีมาตรการควบคุม
สถานการณ์ในปัจจุบัน รศ.ดร.อภิชาต มองว่า ผู้ประกอบการในประเทศไทยไม่ต้องการนวัตกรรมใหม่ๆ เพราะต้นทุนในการสร้างนวัติกรรมนั้นสูง ตลาดไม่มีแรงจูงใจมากพอ ซึ่งเราไม่จำเป็นต้องรอให้นวัตกรรมใหม่ๆ เกิดขึ้นเองแต่รัฐสามารถให้ความช่วยเหลือได้ รัฐบาลจึงต้องมีนโยบายอุตสาหกรรม (industrial policy) เพื่อกระตุ้นให้เกิดการสร้างนวัตกรรมนั้นๆ เช่น การลดภาษี โดยกระบวนการสร้างนโยบายนั้นมีความสำคัญมากกว่าตัวนโยบาย รัฐจำเป็นจะต้องร่วมมือกับภาคเอกชนที่จะสร้างนโยบายที่เหมาะสม และความร่วมมือนี้จะต้องไม่ใกล้ชิดเกินไปจนกลายเป็นคอร์รัปชั่น 
สิ่งที่รัฐไทยทำมาตลอด ตั้งแต่ยุคสมัยของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นต้นมาก็คือ การแจกอภิิสิทธิ์ให้กับเอกชนไปลงทุน ดูตัวอย่างได้จาก คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ บีโอไอ ซึ่งแค่นี้ยังไม่พอ รัฐไทยยังต้องมี "ไม้ตะพด" เครื่องมือควบคุมด้วยว่า เอกชนได้นำเอาอภิสิทธิ์นั้นไปใช้พัฒนาคุณภาพการผลิตจริงหรือเปล่า ต้องมีมาตรฐานที่ชัดเจนเป็นรูปธรรมสำหรับประเมินว่า เอกชนรายใดทำงานได้ถึงเป้าหมายได้หรือไม่ ถ้าไม่ได้ก็ต้องไม่ได้รับการสนับสนุนต่อ
รศ.ดร.อภิชาต มองว่า นโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ อีซีซี เป็นนโยบายอุตสาหกรรมล่าสุดของประเทศไทย เพื่อดึงดูดเอกชนเข้ามาร่วมลงทุน แจกสิทธิิพิเศษทางภาษีสูงที่สุด ซึ่งเยอะเป็นประวัติการณ์อย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน และยังมีสิทธิพิเศษอื่นอีก เช่น ให้เช่าที่ดินได้ 99 ปี ให้ทำธุรกรรมทางการเงินด้วยเงินตราต่างชาติ บังคับให้การทำรายงานประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) ผ่านอย่างรวดเร็ว และสร้างสาธารณูปโภคให้อีกมากมาย แต่เรายังไม่เห็น "ไม้ตะพด" เลยว่า เราจะได้ความสามารถในการผลิตจากเอกชนมาอย่างไร ยังไม่มีมาตรการบังคับให้ถ่ายทอดนวัตกรรม และช่วยให้เราหลุดพ้นจากความเหลื่อมล้ำได้ 
รศ.ดร.อภิชาต กล่าวว่า บทเรียนในอดีตพบว่า การลงทุนจากต่างประเทศไม่ได้สร้างความสามารถทางเทคโนโลยีให้กับเรา และไม่สามารถยกระดับแรงงานไทยไปสู่ประเทศที่มีรายได้สูง ดังนั้น จึงขอเตือนว่า มาตรการ "ไม้ตะพด" สำคัญกว่า การให้สิทธิพิเศษ ถ้าไม่มีเลย การเติบโตทางเศรษฐกิจก็อาจไม่เกิด 
รศ.ดร.อภิชาต กล่าวด้วยว่า การที่รัฐทำหน้าที่ให้สิทธิพิเศษ หรือเอาภาษีของเราไปแจก ไม่ใช่เรื่องผิด แต่ต้องทำโดยโปร่งใสตรวจสอบได้ ให้เห็นได้ว่า การที่เอกชนได้สิทธิพิเศษไปแล้วบรรลุผลที่ต้องการหรือไม่ และต้องมีความรับผิดด้วย ถ้าให้กรรมการยุทธศาสตร์ชาติ เป็นคนวางแผนอุตสาหกรรมแล้วแผนนี้ไม่สำเร็จ กรรมการยุทธศาสตร์ชาติก็ต้องถูกถอดถอนได้ด้วย จากโครงสร้างในปัจจุบันยังมองไม่เห็นว่า ถ้ายุทธศาสตร์ชาติล้มเหลวแล้วกรรมการยุทธศาสตร์ชาติต้องรับผิดต่อใคร
ยุทธศาสตร์ชาติ เปรียบเหมือนอุโมงค์ รัฐบาลเป็นงูต้องเดินตาม
รศ.ดร.อภิชาต อธิบายว่า ตามพ.ร.บ.การจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ วางโครงสร้างไว้ให้ ยุทธศาสตร์ชาติเปรียบเป็นเสมือนอุโมงค์ และรัฐบาลเป็นงู การมียุทธศาสตร์ชาติก็เพื่อบังคับให้รัฐบาลต้องดำเนินการตามแผน เหมือนกับงูที่ต้องเลื้อยตามอุโมงค์ และการเลือกตั้งในอนาคตก็จะไม่มีผลกับการวางนโยบาย เพราะรัฐบาลจะต้องเสนอนโยบายและงบประมาณที่สอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ชาติ วุฒิสภาก็จะคอยตรวจสอบว่ารัฐบาลทำตามยุทธศาสตร์ชาติหรือไม่ โดยส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย และหากหน่วยงานรัฐใดไม่ปฏิบัติตามก็จะมีความผิดตาม พ.ร.บ.ยุทธศาสตร์ชาติฯ หัวหน้าหน่วยงานอาจถูกปลดออก
โดยยธรรมชาติของแผนยุทธศาสตร์ชาติมีลักษณะเป็นแผนแม่บทขนาดใหญ่ จึงไม่สามารถเขียนอะไรที่เป็นรูปธรรมมากๆ ได้ ถ้าเขียนชัดเกินไปก็จะไม่ยืดหยุ่นพอ ดังนั้นการจะนำไปใช้ต้องอาศัยการตีความ และอาจถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองเพื่อล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งได้
"ถ้าแผนยุทธศาสตร์ชาติไม่ได้มีประชาชนส่วนใหญ่เป็นเจ้าของ พลังทางสังคมในการขับดันก็คงไม่เกิด ก็จะมีแค่ราชการที่เป็นหัวเรือใหญ่ทำงานอยู่แค่นั้น" รศ.ดร.อภิชาต กล่าว
ยุทธศาสตร์ชาติเป็นพิมพ์เขียวชนชั้นนำ ทุนขนาดใหญ่และทหาร
โดยในแง่องค์ประกอบที่มาของผู้จัดทำยุทธศาสตร์ชาติ รศ.ดร.อภิชาต แจกแจงว่า กรรมการจัดทำร่างยุทธศาสตร์ด้านเศรษฐกิจ ส่วนใหญ่เป็นข้าราชการ อดีตข้าราชการ บุคคลในเครื่องแบบ ส่วนตัวแทนภาคเอกชนก็มาจากห้างค้าปลีกสองคน ด้านการเงินสองคน และมีอดีตนายธนาคารอีกหนึ่งคน ส่วนกรรมการยุทธศาสตร์ชาติทั้ง 28 คน มีตัวแทนเอกชนห้าคนมาจากธุรกิจธนาคาร สองคนมาจากธุรกิจคมนาคม และสองคนมาจากปูนซีเมนต์ไทย 
จะเห็นได้ว่า ตัวแทนภาคเอกชนเน้นด้านการตลาดและการเงิน ไม่ได้เน้นด้านวิศวกรที่มีความรู้เกี่ยวกับอุตสาหกรรม ตัวแทนจากภาคส่วนอื่นที่ไม่ใช่ภาคธุรกิจ เช่น ภาคแรงงาน ธุรกิจรายเล็ก ชุมชน ฯลฯ ไม่มีที่อยู่ทั้งในกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ กรรมการจัดทำ และกระบวนการรับฟังความเห็น ซึ่ง รศ.ดร.อภิชาต มองว่า ถ้าไม่สามารถสร้างการมีส่วนร่วมได้ ไม่มีตัวแทนที่จะส่งเสียงจากทุกกลุ่ม ก็ไม่แน่ใจว่า ความเหลื่อมล้ำจะได้รับการแก้ไข 
รศ.ดร.อภิชาต แสดงความเห็นว่า เมื่อพิจารณาจากร่างยุทธศาสตร์ชาติในปัจจุบันเท่าที่เราเห็นกัน ซึ่งจะเป็นพิมพ์เขียวของพิมพ์เขียวอีกที รวมทั้งองค์ประกอบของกรรมการที่จะทำงาน เป็นเพียงพิมพ์เขียวของชนชั้นนำกลุ่มเล็กๆ (narrow elite group) ประกอบไปด้วยทุนขนาดใหญ่และบุคคลในเครื่องแบบเสียเป็นส่วนใหญ่ หากรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งอยากจจะเป็นงูที่ออกนอกอุโมงค์นั้น ไม่สามารถทำได้กับนโยบายตัวหลักๆ ที่สำคัญ เพราะถูกกำหนดไว้ในยุทธศาสตร์ชาติแล้ว ถ้าไม่ทำตามก็เสี่ยงต่อการถูกถอดถอน แต่อาจจะพอทำอะไรเล็กๆ น้อยๆ ที่เป็นกิมมิกได้บ้าง