เอกสารชี้แจง เหมืองทองมีผลกระทบจริง โดยสามารถใช้กฎหมายปกติสั่งปิดและฟื้นฟูเหมืองได้

เครือข่ายประชาชนผู้เป็นเจ้าของแร่
๑ กันยายน ๒๕๖๐
ตามที่ปรากฏว่ามีการตั้งข้อสังเกตถึงกรณีรัฐบาลเผด็จการทหาร คสช. ใช้อำนาจตามมาตรา ๔๔ ปิดกิจการเหมืองแร่ทองคำที่จังหวัดพิจิตร  เพชรบูรณ์และพิษณุโลก  ของบริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน)  ผู้ร่วมทุนรายใหญ่จากประเทศออสเตรเลีย  โดยที่ยังไม่สามารถพิสูจน์หรือมีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์แน่ชัดว่าเหมืองทองคำก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม  สังคมและสุขภาพประชาชนในพื้นที่จริงหรือไม่นั้น  จึงมีการแสดงความเห็นกันอย่างแพร่หลายว่าเป็นการกลั่นแกล้งนักลงทุนเอกชนที่เกินแก่เหตุ  หรือเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบธรรม  ไม่ได้อยู่บนพื้นฐานข้อมูลทางวิทยาศาสตร์และข้อเท็จจริงที่ดีพอ  หากมีการสู้คดี  ไทยจะมีโอกาสแพ้สูง  เพราะมาตรา ๔๔ บังคับใช้ในประเทศเท่านั้น  เนื่องจากการดำเนินกิจการเหมืองแร่ทองคำแห่งนี้เป็นไปตามความตกลงเขตการค้าเสรีไทย-ออสเตรเลีย  ซึ่งมีข้อกำหนดต้องคุ้มครองนักลงทุนเอกชน  หากประเด็นนี้เข้าสู่การพิจารณาของอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ  ไทยมีโอกาสเสียเปรียบและแพ้คดีสูง  คล้ายคลึงกับกรณีค่าโง่ทางด่วนและค่าโง่คลองด่าน  
เครือข่ายประชาชนผู้เป็นเจ้าของแร่  ขอแสดงความคิดเห็นในประเด็นเหล่านี้  ดังนี้
๑. คงต้องแยกการพิจารณาเป็นสองประเด็นหลัก  ประเด็นแรกก็คือสังคมไทยควรมองผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม  สังคมและสุขภาพที่เกิดขึ้นกับประชาชนในพื้นที่รอบเหมืองทองอย่างไร  และประเด็นที่่สองเกี่ยวกับการใช้อำนาจตามมาตรา ๔๔ เพื่อปิดเหมืองทองชอบธรรมหรือไม่  อย่างไร
๒. ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม  สังคมและสุขภาพของประชาชนควรแยกออกเป็นสามส่วน  ได้แก่
(๑) ผลกระทบที่มองเห็นด้วยตา  ไม่จำเป็นต้องมีผลพิสูจน์หรือหลักฐานทางวิทยาศาสตร์รองรับ  
อาทิเช่น  หากใครลงไปในพื้นที่ก็จะสามารถมองเห็นผลกระทบส่วนนี้ได้โดยง่าย  ทั้งการที่ อบต.เขาหม้อ  หน่วยงานสาธารณสุขและส่วนราชการอื่น ๆ ในจังหวัดพิจิตร (ไม่พบความช่วยเหลือจากหน่วยงานราชการฝั่งจังหวัดเพชรบูรณ์มากนัก) แจกคูปองซื้ออาหารและพืชผักปลอดสารพิษ  รวมถึงรถบริการน้ำดื่มและน้ำใช้แก่ประชาชนในพื้นที่รอบเหมือง  เหตุเพราะมีการตรวจพบสารโลหะหนักปนเปื้อนในปริมาณสูงแพร่กระจายเข้าสู่ห่วงโซ่อาหารโดยสะสมอยู่ในดิน  พืชผักและแหล่งน้ำกินน้ำใช้  เป็นการดำเนินงานตามนโยบายของส่วนราชการท้องถิ่นภายใต้โครงการแก้ไขปัญหาและผลกระทบจากการประกอบกิจการเหมืองแร่ทองคำ   ปรากฎการณ์เหล่านี้บ่งชี้ชัดว่าหน่วยงานราชการในพื้นที่รับรู้สภาพปัญหาท่ี่เกิดขึ้นว่าการดำเนินกิจการเหมืองทองส่งผลกระทบต่อสภาพชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนจนเกิดความแร้นแค้นทุกข์ยากอย่างไรบ้าง  แต่ก็สามารถดำเนินการแก้ไขแค่เพียงปัญหาเฉพาะหน้าและระยะสั้นเท่านั้น  เพราะขาดแคลนงบประมาณและไม่ได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานระดับนโยบาย  อีกทั้งถ้าดำเนินการช่วยเหลือชาวบ้านมากไปกว่านี้ก็เกรงว่าจะถูกเพ่งเล็งว่าเข้าข้างชาวบ้านมากเกินไป     
ความทุกข์เชิงสังคมอีกประการหนึ่งที่ปรากฎให้เห็นด้วยตาเปล่าก็คือความล่มสลายของชุมชนหมู่บ้านเขาหม้อ หมู่ท่ี่ ๙  ต.เขาเจ็ดลูก  อ.ทับคล้อ  จ.พิจิตร  จากการบังคับซื้อที่ดินทั้งหมู่บ้านเพื่อนำไปขอประทานบัตรทำเหมืองแร่ทองคำ  ปัจจุบันยังเหลือชาวบ้านที่อยู่อาศัยจริงยังยืนหยัดต่อสู้กับเหมืองไม่ถึงสิบหลังคาเรือน  เป็นปรากฎการณ์บ้านแตกสาแหรกขาดแบบรวมหมู่ครั้งใหญ่มากเหตุการณ์หนึ่งในสังคมไทย
ฯลฯ
(๒) ผลกระทบที่ผลพิสูจน์หรือหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ยังไม่สิ้นสุด
อาทิเช่น  จากความเดือดร้อนของประชาชนในพื้นที่รอบเหมืองทองของบริษัทอัคราฯส่งผลให้ กพร. ตั้งคณะทำงานชุดใหญ่และย่อยรวมกัน ๕ ชุด  รายงานของคณะกรรมการด้านผลกระทบทางสุขภาพชี้ประเด็นหนึ่งที่สำคััญว่าในกลุ่มเด็กอายุ ๘-๑๒ ปี  ในโรงเรียนบริเวณรัศมีไม่เกิน ๑๐ กิโลเมตรใกล้กับเหมืองแร่ทองคำพบว่าผลการตรวจประเมินตัวชี้วัดทางชีวภาพของการรับสัมผัสแมงกานีสในเลือดและสารหนูอนินทรีย์ในปัสสาวะของเด็กสูงและมีความสัมพันธ์ของการรับสัมผัสสารหนูอนินทรีย์และภาวะบกพร่องทางการเรียนรู้  โดยกลุ่มเสี่ยงนี้จำเป็นต้องมีการตรวจติดตามและเฝ้าระวังการสืบสวนหาสาเหตุและการดูแลที่มีประสิทธิภาพต่อไป  และจำเป็นต้องได้รับการรักษาและเฝ้าระวังจนกว่าสภาวการณ์ของความเสี่ยงนั้นจะอยู่ในระดับที่จัดการได้และปลอดภัยต่อการดำรงชีวิตที่ปกติ  เป็นรายงานที่ส่งให้ กพร. ตั้งแต่อธิบดีคนก่อนแล้ว  แต่ข้าราชการภายใต้อธิบดี กพร. คนปัจจุบันบอกว่ารายงานฉบับดังกล่าวยังไ่ม่ผ่านการรับรอง  
ยังมีประเด็นที่ตรวจพบอื่น ๆ อีก  เช่น  พบการปนเปื้อนของน้ำบาดาลทั้งในระดับตื้นและระดับลึก  โดยพบทั้งสารหนูและแมงกานีสโดยเฉพาะในบ่อสังเกตุการณ์บริเวณท้ายบ่อเก็บกากแร่ที่ ๑  และบริเวณท้ายน้ำที่แสดงข้อมูลของการปนเปื้อนที่สูงกว่าเกณฑ์มาตรฐานที่กำหนดอย่างชัดเจนและต่อเนื่อง  พบปริมาณฝุ่นที่เกินค่ามาตรฐานทั้งฝุ่นละอองแขวนลอย  และฝุ่นที่มีขนาดเล็กกว่า ๑๐ ไมครอน  ที่แสดงถึงการดำเนินกิจกรรมการทำเหมืองแร่ทองคำในพื้นที่  น่าจะเป็นปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลต่อการเพิ่มขึ้นของปริมาณฝุ่นในพื้นที่ของชุมชนรอบเหมืองแร่ทองคำ  ซึ่งมีความเป็นไปได้ที่อาจจะเป็นปัจจัยหลักหรือปัจจัยเสริมของการเพิ่มความเสี่ยงต่อสุขภาพของประชาชนที่อาศัยบริเวณรอบเหมืองทองคำนี้ในระยะยาว  รวมทั้งฝุ่นขนาดเล็กกว่า ๑๐ ไมครอน  ยังเป็นปัจจัยของการเพิ่มความรุนแรงและการเพิ่มขึ้นของอัตราการเสียชีวิตในกลุ่มเสี่ยงที่เป็นผู้ป่วยโรคต่าง ๆ หลายโรค  เช่น  โรคกล้ามเนื้อหัวใจตาย  เบาหวาน  ภาวะหัวใจวายหรือโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังได้
ส่วนรายงานของคณะกรรมการด้านผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมสรุปว่าผลกระทบที่เกิดขึ้นไม่สามารถบอกได้ว่าเกิดขึ้นจากการประกอบกิจการเหมืองทองหรือเปล่า  แต่ไม่กล้าสรุปลงไปตรง ๆ ให้ชัดเจนกว่านี้ว่าผลกระทบไม่ได้เกิดจากเหมืองทอง  เนื่องจากที่บ่อเฝ้าระวังเห็นร่องรอยการรั่วไหลของสารโลหะหนักหลายชนิดอยู่จริง
ฯลฯ
(๓) ผลกระทบโดยระบบราชการ  นโยบาย  กฎหมาย  กฎ  ระเบียบ  ประกาศ  คำสั่ง  ฯลฯ
อาทิเช่น  เหมืองทองแห่งนี้เริ่มต้นได้รับประทานบัตร ๕ แปลง  ตาม ‘โครงการเหมืองทองคำชาตรี’ เมื่อปี ๒๕๔๓  ต่อมาได้ประทานบัตรเพิ่มอีก ๙ แปลง  ตาม ‘โครงการเหมืองทองคำชาตรีเหนือ’  เมื่อปี ๒๕๕๑  รวมพื้นที่ ๕,๔๖๓ ไร่  และมีโรงประกอบโลหกรรมอยู่ภายในเขตเหมืองแร่หรือเขตประทานบัตร  หลังจากได้ประทานบัตรตามโครงการเหมืองทองชาตรีเหนือแล้วก็จำเป็นต้องขยายโรงประกอบโลหกรรมและบ่อกักเก็บกากแร่สำหรับทิ้งหินและดินที่ถูกบดละเอียดที่มีสารละลายไซยาไนด์ผสมอยู่ด้วย  เพื่อรองรับการทำเหมืองแร่ในปริมาณที่มากขึ้น  โดยได้ก่อสร้างโรงประกอบโลหกรรมส่วนขยายจากเดิมที่กำลังผลิต ๘,๐๐๐ ตันต่อวัน  เป็น ๓๒,๐๐๐ ตันต่อวัน  ก่อนที่ EHIA และใบอนุญาตก่อสร้างโรงงานส่วนขยายจะผ่านความเห็นชอบและได้รับอนุญาตตามลำดับ  ไม่เพียงเท่านั้น  เหมืองทองแห่งนี้ได้ก่อสร้างบ่อกักเก็บกากแร่เพื่อรองรับส่วนขยายของโรงประกอบโลหกรรมโดยย้ายสถานที่จากทิศเหนือค่อนไปทางตะวันออกไปที่ทิศใต้ของเขตประทานบัตรที่อยู่ติดประชิดกับหมู่บ้านเขาดิน หมู่ที่ ๓  โดยไม่ได้รับอนุญาตจาก คชก. แต่อย่างใด
สองประเด็นนี้  ศาลปกครองชั้นต้นได้พิพากษาให้ระงับการเดินเครื่องจักรโดยให้ผูกมัดประทับตราเครื่องจักรในส่วนของโรงประกอบโลหกรรมส่วนขยายเอาไว้ก่อน  และห้ามใช้บ่อกักเก็บกากแร่ส่วนขยายด้วยเช่นกัน  ปัจจุบันเรื่่องยังอยู่ในชั้นการพิจารณาคดีของศาลปกครองสูงสุด
ยังมีประเด็นสำคัญอีกมากที่เกี่ยวกับหัวข้อนี้  เช่น  การทำลายเส้นทางถนนและทางน้ำสาธารณประโยชน์ของชุมชนโดยทำเหมืองทับลงไปจนเสื่อมสภาพสาธารณประโยชน์ไปหมดสิ้น  การใช้พื้นที่ป่าไม้โดยไม่ได้รับอนุญาต  เป็นต้น  สิ่งเหล่านี้ถูกกระทำซ้ำแล้วซ้ำเล่าจนบ่มเพาะอุณหภูมิความขัดแย้งระหว่างเหมืองกับชาวบ้านรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ
ฯลฯ
๓. จากที่กล่าวมาในข้อ ๒.  เรื่องเหมืองทองไม่ใช่เรื่องผลกระทบที่พิสูจน์ทราบไม่ได้  แต่มันเป็นเรื่องของอำนาจและอิทธิพลของรัฐที่ยังคงดำรงความต้องการทำเหมืองเอาไว้  สิ่งที่เกิดขึ้นจากคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ ๗๒/๒๕๕๙ ที่สั่งให้ปิดและฟื้นฟูเหมืองทองเป็นเรื่องของการขัดกันแห่งผลประโยชน์เท่านั้น  โดยรัฐบาล คสช. ไม่ได้ประสงค์จะหยุดการทำเหมืองอย่างแท้จริง  เพราะคำสั่ง คสช. เขียนไว้ชัดเจนว่าเป็นการหยุดการทำเหมืองชั่วคราวเพื่อตรวจสอบและพิสูจน์ผลกระทบที่เกิดขึ้นว่าจริงแท้ประการใด  หรือมีน้ำหนักมากน้อยแค่ไหนที่จะปิดหรือจะเปิดต่อไป  
เหตุผลอีกประการหนึ่ง  ก็คือ  หากรัฐบาล คสช. ประสงค์จะปิดเหมืองจริงก็ต้องยกเลิกเพิกถอนประทานบัตรและใบอนุญาตประกอบอื่น ๆ ทั้งหมดด้วย  แต่กลับไม่ทำ  เป็นเพียงสั่งปิดและฟื้นฟูเหมืองลอย ๆ ท่ามกลางที่นักลงทุนเอกชนยังคงเป็นเจ้าของประทานบัตรอยู่เช่นเดิม  ในกรณีของเหมืองทองคำจังหวัดเลยนอกจากประทานบัตรแล้วก็ต้องสั่งยกเลิกเพิกถอนสัญญาให้สิทธิสำรวจและทำเหมืองแร่ทองคำแปลงที่สี่ พื้นที่น้ำคิว-ภูขุมทองด้วย  เพราะเป็นสัญญาผูกขาดที่จับจองพื้นที่ขนาดใหญ่มากกว่า ๓.๔ แสนไร่  และไม่ระบุวันสิ้นอายุของสัญญา  แต่กลับไม่ทำเช่นเดียวกัน  
๔. คำสั่ง คสช. สะท้อนความอ่อนด้อยประสิทธิภาพในการบริหารบ้านเมืองสามประการ  คือ  
หนึ่ง  รัฐบาล คสช. มีส่วนดีอยู่บ้างตรงที่ยอมรับว่าชาวบ้านมีความเดือดร้อนจริง  และไม่ต้องรอผลพิสูจน์หรือพยานหลักฐานทางวิทยาศาสตร์  แต่กลับเปิดช่องโหว่ในคำสั่งด้วยความตั้งใจโดยไม่ยอมยกเลิกเพิกถอนประทานบัตร  รวมถึงสัญญาฯในกรณีเหมืองทองคำจังหวัดเลย  ไปเสียด้วยในคราวเดียวกัน  ดังนั้น  สิ่งที่รัฐบาล คสช. ทำ  จึงมีเจตนาเคลือบแคลง  
สอง  คำสั่ง คสช. สะท้อนความไร้น้ำยาของรัฐบาล คสช. ในการปฎิรูประบบราชการ  ที่ไม่สามารถกำกับดูแลและบริหารส่วนราชการในกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) และส่วนราชการอื่นในกระทรวงอุตสาหกรรมให้เร่งพิสูจน์หาหลักฐานผลกระทบทางวิทยาศาสตร์ขึ้นมารองรับคำสั่ง คสช. เพื่อป้องกันการฟ้องดำเนินคดีจากเจ้าของเหมืองได้  รูปธรรมที่เห็นก็คือ กพร. พยายามทุกวิถีทางเพื่อเสนอเรื่องต่อรัฐบาล คสช. ให้เร่งรีบเปิดเหมืองทองแก่บริษัทอัคราฯให้ได้โดยเร็ววัน  โดย กพร. พยายามทำให้ผลการศึกษาของคณะกรรมการทั้งห้าชุดที่ตั้งขึ้นมาเพื่อพิสูจน์หาหลักฐานผลกระทบจากการประกอบกิจการเหมืองทองคำตามข้อร้องเรียนของประชาชนมีผลการศึกษาที่ขัดกันจนไม่สามารถสรุปได้ว่าปัญหาและผลกระทบที่เกิดขึ้นมีสาเหตุมาจากการกระทำของการประกอบกิจการเหมืองทอง  ตรงนี้เอง  ที่่บ่งบอกได้เป็นอย่างดีว่า  ไม่ใช่ว่าปัญหาและผลกระทบที่มีสาเหตุจากการประกอบกิจการเหมืองทองไม่เกิดขึ้นจริง  แต่เป็นการบิดเบือนผลการศึกษาไม่ให้กระทบกับการประกอบกิจการเหมืองทอง  โดยโยนความผิดไปที่ธรรมชาติและพฤติกรรมของมนุษย์ว่ามีการปนเปื้อนสารโลหะหนักชนิดเดียวกันกับการทำเหมืองทองอยู่แล้วโดยธรรมชาติ  รวมถึงพฤติกรรมในสุขอนามัยของประชาชนจากการกินอาหารทะเลที่มีสารโลหะหนักเหล่านี้ประกอบอยู่  และสารเคมีจากยาฆ่าหญ้า  แมลง  ยากำจัดศััตรูพืชอื่น ๆ  ยาเร่งการออกดอกออกผลแก่พืชที่ปลูก  เป็นต้น 
ซึ่งถ้าเรื่องนี้ไม่ใช่การทำงานสวนทางกับความต้องการของรัฐบาล คสช.  ก็ต้องบอกว่ารัฐบาล คสช. รู้เห็นเป็นใจกับ กพร.  เล่นเกมสองหน้า  ด้านหนึ่งเอาใจประชาชน  อีกด้านหนึ่งรอเวลาที่จะเปิดเหมืองทองกลับมาใหม่  โดยอาจจะให้เจ้าของเดิมดำเนินการต่อไป  หรืออาจจะให้เจ้าของใหม่ดำเนินการแทน  หรืออาจจะบีบให้เจ้าของเดิมเปลี่ยนโครงสร้างบริษัทโดยยอมรับหุ้นส่วนใหญ่รายใหม่เข้ามาดำเนินการร่วมกัน     
สาม  พฤติกรรมที่ขัดกันเองของรัฐบาล คสช.  ในขณะที่ออกคำสั่งหัวหน้า คสช. ให้ปิดและฟื้นฟูเหมืองทองคำ  ซึ่งเป็นการยกระดับและพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในท้องถิ่นให้ดีขึ้นได้  แต่กลับทำตรงกันข้ามโดยออกคำสั่งเพื่อลดระดับและทำลายคุณภาพชีวิตของประชาชนในท้องถิ่นให้เสื่อมลงโดยออกคำสั่งให้ยกเว้นการใช้บังคับกฎหมายผังเมืองเพื่อทำให้เขตเศรษฐกิจพิเศษตั้งอยู่ได้ในพื้นที่ที่ไม่เหมาะสมกับการพัฒนาอุตสาหกรรม  ออกคำสั่งยกเลิกการบังคับใช้กฎหมายสิ่งแวดล้อมเพื่อยกเว้นโครงการพัฒนาขนาดใหญ่หลายประเภท  เช่น  ด้านคมนาคมขนส่งและการสร้างเขื่อนและชลประทานให้สามารถจัดหาผู้รับเหมาเอกชนเพื่อดำเนินโครงการหรือกิจการได้โดยไม่ต้องรอให้ EIA ได้รับความเห็นชอบเสียก่อน  และออกคำสั่งเพื่อล้มล้างกฎหมาย ส.ป.ก. และล้มล้างคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดให้สามารถนำที่ดิน ส.ป.ก. ที่สงวนหวงห้ามเอาไว้สำหรับเกษตรกรรายย่อยไปใช้ทำเหมืองแร่  ขุดเจาะปิโตรเลียมและก่อสร้างโรงงานอุตสาหกรรมซึ่งเป็นกิจการที่ไม่เกี่ยวเนื่องกับเกษตรกรรมได้  เป็นต้น   
๕. หากรัฐบาล คสช. เห็นว่าระบบกฎหมายปกติไม่สามารถปิดเหมืองทองได้  จึงใช้กฎหมายพิเศษโดยออกเป็นคำสั่ง คสช. เพื่อดำเนินการแก้ไขปัญหาที่กฎหมายปกติไม่สามารถจัดการได้นั้น  คำถามสำคัญก็คือรัฐบาล คสช. สามารถออกคำสั่งเพื่อแก้ไขปัญหาให้กับกรณีอื่น ๆ ที่คล้ายคลึงกันกับเหมืองทองได้หรือไม่ ?  
รัฐบาล คสช. สามารถออกคำสั่งเพื่อแก้ไขปัญหาด้วยมาตรฐานเดียวกันกับที่ออกคำสั่ง คสช. ปิดเหมืองทองได้หรือไม่ ? 
ถ้าเห็นว่าเนื้อหาในคำสั่ง คสช. เป็นกฎหมายที่ดี  มีขึ้นมาเพื่อแก้ไขสิ่งอุดตันในระบบกฎหมายปกติที่สภาพใช้บังคับอยู่นั้นไม่สามารถแก้ไขปัญหาเหมืองทองได้  หรือไม่สามารถสั่งให้ปิดและฟื้นฟูเหมืองทองได้เหมือนกับคำสั่ง คสช.  ทำไมถึงไม่ทำให้เนื้อหาในคำสั่ง คสช. เข้าไปอยู่ในกฎหมายปกติที่ใช้บังคับอยู่เพื่อที่จะทำให้มาตรฐานและคุณภาพชีวิตของประชาชนดีขึ้นจากการทำให้เหมืองแร่ในกรณีอื่น ๆ  หรือโครงการพัฒนาขนาดใหญ่อื่น ๆ ถูกควบคุม  ตรวจสอบและกำกับดูแลดีขึ้น ?
แต่ทำไมเราถึงเห็นสิ่งที่สวนทางกันกับคำสั่ง คสช. ที่สั่งให้ปิดและฟื้นฟูเหมืองทอง  โดยรัฐธรรมนูญที่ถูกประกาศใช้ในส่วนของการทำ EIA/EHIA ให้มีมาตรฐานต่ำลงไปกว่ากฎหมายสิ่งแวดล้อมที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบันเสียอีก  ในขณะที่กฎหมายปกติก็ใช้งานไม่ได้จริง (ที่จะปิดและฟื้นฟูเหมืองทองได้) เรายิ่งกลับเห็น คสช. ทำให้ระบบกฎหมายปกติมีมาตรฐานที่ต่ำลงไปอีกจากผลของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน  รวมถึงที่กล่าวไว้ในหัวข้อสามของข้อ ๔. ด้วย
๖. คำสั่ง คสช. ทั้งในกรณีอื่น ๆ และกรณีให้ปิดและฟื้นฟูเหมืองทองมีความไม่ถูกต้องชอบธรรม  เป็นการใช้อำนาจแบบสุ่มสี่สุ่มห้า  ทำลายระบบนิติรัฐทั้งในส่วนของอำนาจฝ่ายบริหาร  ฝ่ายนิติบัญญัติและตุลาการเสียจนง่อยเปลี้ยไปหมดทั้งสังคมไทย  เพราะตามความจริงแล้วเพียงแค่กฎหมายปกติ  เช่น  กฎหมายแร่  กฎหมายสิ่งแวดล้อม  หรือกฎหมายประกอบอื่น ๆ ก็สามารถสั่งให้ปิดและฟื้นฟูเหมืองทองได้ดีกว่านี้  โดยเฉพาะกฎหมายแร่ฉบับใหม่ก็มีบทบัญญัติใหม่ ๆ หลายมาตราที่สามารถนำมาใช้โดยเป็นเหตุเป็นผลที่ดี  เช่น  บทบัญญัติในมาตรา ๑๗ และมาตราอื่น ๆ ในหมวดของนโยบายในการบริหารจัดการแร่ที่อ้างได้ว่าพื้นที่ประทานบัตรและพื้นที่ขอประทานบัตรอื่น ๆ ของแร่ทองคำมีความไม่เหมาะสมหรือขัดต่อพื้นท่ี่ที่สมควรสงวนหวงห้ามไว้เพื่อการใช้ประโยชน์อื่น  รวมถึงการจัดทำยุทธศาสตร์การบริหารจัดการแร่  หรือแผนแม่บทการบริหารจัดการแร่ที่ต้องจัดทำขึ้นตามกฎหมายแร่ฉบับใหม่ก็สามารถสงวนหวงห้ามแร่ทองคำไม่ให้นำขึ้นมาใช้ประโยชน์ในโอกาสและเวลาที่ยังไม่เหมาะสมแก่สังคมไทยได้  เป็นต้น  ซึ่งเป็นผลดีแก่ทุกฝ่าย