ลัดขั้นตอนรีบออก พ.ร.ก.การทำงานคนต่างด้าวฯ สุดท้ายต้องใช้ม.44 มา “ปะผุ”

วันที่ 22 มิถุนายน 2560 ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่พระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2560 หรือ พ.ร.ก.การทำงานคนต่างด้าวฯ ซึ่งตามประกาศระบุให้กฎหมายนี้ให้มีผลบังคับใช้ในวันถัดจากที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา โดยที่ผู้เกี่ยวข้องหลายฝ่ายทั้งเจ้าหน้าที่รัฐผู้บังคับใช้กฎหมาย นายจ้าง และแรงงานข้ามชาติที่เข้ามาทำงานในประเทศไทยยังไม่ทันรับรู้เหตุผลและกลไกของกฎหมายฉบับใหม่ และไม่ได้เตรียมตัวรับมือมาก่อน ส่งผลให้กฎหมายนี้กลายเป็นประเด็นที่ถกเถียงกันในวงกว้างทันที
ยุบรวมกฎหมายหลักสองฉบับ คงโครงสร้างเดิม แรงงานต่างชาติต้องขออนุญาตก่อนทำงาน
พ.ร.ก.การทำงานคนต่างด้าวฯ เป็นการหลอมรวมกฎหมายหลัก 2 ฉบับ ที่ควบคุมการทำงานของคนที่ไม่มีสัญชาติไทยเข้าด้วยกัน ได้แก่ พ.ร.บ.การทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2551 ซึ่งออกในสมัยการปกครองของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) ลงนามโดยพล.อ.สุรยุทธ จุลานนท และ พ.ร.ก.การนําคนต่างด้าวมาทํางานกับนายจ้างในประเทศ พ.ศ.2559 ที่ออกโดยคณะรัฐมนตรีชุดปัจจุบัน ของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา การออกพ.ร.ก.การทำงานคนต่างด้าวฯ ฉบับปัจจุบัน จึงเป็นการออกมาเพื่อแก้ไขหลักเกณฑ์ที่คณะรัฐประหารชุดก่อนทำไว้ และแก้ไขหลักเกณฑ์ที่รัฐบาลคสช.เพิ่งประกาศใช้ได้ไม่นาน
โครงสร้างหลักของ พ.ร.ก.การทำงานคนต่างด้าวฯ ยกแบบมาจากกฎหมายสองฉบับที่มีอยู่เดิม ในภาพใหญ่ ระบบการควบคุมการทำงานของแรงงานข้ามชาติไม่ได้ต่างไปจากเดิมมากนักคือ ผู้ที่จะทำงานต้องขออนุญาตก่อน และนายจ้างก็จ้างได้เฉพาะคนที่ได้รับอนุญาตเท่านั้น กระทรวงแรงงานมีอำนาจกำหนดเงื่อนไขในการทำงาน รวมทั้งกำหนดท้องที่และประเภทงานที่ห้ามแรงงานข้ามชาติทำด้วย การทำงานหรือการจ้างแรงงานที่ไม่ได้รับอนุญาตมีความผิดและมีโทษ 
ผู้ที่ทำธุรกิจรับจ้างนำคนต่างชาติเข้ามาทำงานและนายจ้างที่ต้องการนำแรงงานข้ามชาติเข้ามาทำงานในประเทศต้องจดทะเบียนพร้อมวางหลักประกันเพื่อคุ้มครองความเสียหายที่อาจเกิดกับผู้ที่ถูกพาเข้ามาทำงาน เพื่อป้องกันการบังคับคนเข้ามาขายแรงงานหรือการค้ามนุษย์ เมื่อแรงงานข้ามชาติไม่ได้ทำงานต่อแล้วผู้ที่พาเข้ามามีหน้าที่ต้องพากลับไปส่งยังประเทศของเขา 
กฎหมายฉบับนี้ยังจัดตั้งคณะกรรมการนโยบายการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว ที่มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นประธาน มีตัวแทนกระทรวงต่างๆ รวมทั้งหน่วยงานด้านความมั่นคง เข้ามาร่วมกันกำหนดนโยบาย และมีการจัดตั้งกองทุนเพื่อการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าวด้วย
ประเด็นหนึ่งที่พ.ร.ก.การทำงานคนต่างด้าวฯ เปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก คือ หลักการของการทำงานที่ต้องห้าม เพราะตามกฎหมายเดิมใช้หลักการ "ห้ามไว้ก่อน" ตาม มาตรา 7 ของ พ.ร.บ.การทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2551 ซึ่งกำหนดว่า งานใดที่คนตางด้าวอาจทำได้ ในท้องที่ใด เมื่อใด ให้ประกาศในกฎกระทรวง เท่ากับว่า หากคนต่างด้าวทำงานที่ไม่ได้ประกาศอนุญาตไว้จะมีความผิด แต่พ.ร.ก.การทำงานคนต่างด้าวฯ ฉบับใหม่ ใช้หลักการ "อนุญาตไว้ก่อน" โดยมาตรา 7 กำหนดว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน อาจออกประกาศห้ามคนต่างด้าวทำงานบางประเภท เท่ากับว่า งานใดที่ไม่มีประกาศห้ามไว้ คนต่างด้าวย่อมสามารถขออนุญาตทำงานนั้นได้
ข้อกังวลใหญ่ที่สุดของการออก พ.ร.ก.การทำงานคนต่างด้าวฯ ครั้งนี้ คือ การเพิ่มอัตราโทษขึ้นหลายเท่าตัว ทั้งสำหรับลูกจ้าง และนายจ้าง เช่น แรงงานข้ามชาติที่มีความผิดฐานทำงานอันเร่งด่วนโดยไม่แจ้งต่อนายทะเบียน จากเดิมมีโทษปรับไม่เกิน 20,000 บาท เพิ่มเป็นโทษปรับ 20,000-100,000 บาท นายจ้างที่มีความผิดฐานจ้างคนต่างด้าวที่ไม่มีใบอนุญาตทำงาน จากเดิมมีโทษปรับ 10,000-100,000 บาท ต่อการจ้างหนึ่งคน เพิ่มเป็นโทษปรับ 400,000-800,000 บาท ต่อการจ้างหนึ่งคน ฯลฯ
ขาดความชอบธรรม เพราะลัดขั้นตอนออกเป็น 'พระราชกำหนด' 
ในยุคปัจจุบัน ผู้มีอำนาจพิจารณาออกกฎหมายตามปกติ คือ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ สนช. ซึ่งกฎหมายที่ผ่านการพิจารณาของ สนช.จะมีสถานะเป็น พระราชบัญญัติ โดยกระบวนการออกพระราชบัญญัติจะต้องเริ่มจากมีผู้เสนอกฎหมายให้ สนช.ซึ่งมีจำนวน 250 คน เป็นผู้พิจารณา โดยมีการแบ่งการลงมติเป็นสามวาระ ระหว่างที่สนช.กำลังพิจารณา ตัวร่างกฎหมายจะถูกเผยแพร่บนเว็บไซต์ และมีการถ่ายทอดสดการพิจารณากฎหมายทุกนัดทางสถานีวิทยุโทรทัศย์ของรัฐสภาด้วย 
แต่พ.ร.ก.การทำงานคนต่างด้าวฯฉบับปัจจุบัน ถูกประกาศใช้ในฐานะ "พระราชกำหนด" ซึ่งหมายถึง กฎหมายที่คณะรัฐมนตรีเป็นผู้พิจารณาประกาศใช้เอง โดยไม่ผ่านกระบวนการตามปกติของ สนช.
รัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 172 และมาตรา 174 กำหนดว่า คณะรัฐมนตรีอาจเสนอให้พระมหากษัตริย์ตราพระราชกำหนดได้เฉพาะในกรณีฉุกเฉินที่มีความจําเป็นรีบด่วนอันมิอาจจะหลีกเลี่ยงได้ เพื่อรักษาความปลอดภัยของประเทศ ความปลอดภัยสาธารณะ ความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ หรือป้องปัดภัยพิบัติสาธารณะ หรือกรณีต้องออกกฎหมายเกี่ยวกับภาษีหรือเงินตราโดยด่วนและลับ เท่านั้น
เมื่อพิจารณา พ.ร.ก.การทำงานคนต่างด้าวฯ จะเห็นว่า ไม่ใช่กรณีจำเป็นรีบด่วนเพื่อความมั่นคงของประเทศ และไม่ใช่กฎหมายเกี่ยวกับภาษีที่ต้องออกโดยด่วน การที่คณะรัฐมนตรีชุดปัจจุบันตัดสินใจ "ลัดขั้นตอน" ออกกฎหมายเป็นพระราชกำหนด โดยที่ไม่เข้าเงื่อนไขที่จะออกเป็นพระราชกำหนดได้ ทำให้กฎหมายฉบับนี้ที่ขาดความชอบธรรมในแง่กระบวนการพิจารณา และยังอาจขัดต่อรัฐธรรมนูญอีกด้วย 
ทั้งที่หากคณะรัฐมนตรีต้องการจะออกกฎหมายด้วยกระบวนการปกติให้เป็นพระราชบัญญัติก็สามารถทำได้ไม่ยาก เพราะ สนช. ทุกคนก็ถูกแต่งตั้งขึ้นมา และตลอดระยะเวลาเกือบสามปีในการทำงาน สนช. ออกกฎหมายมาแล้วอย่างน้อย 233 ฉบับ เฉลี่ยเดือนละ 6-7 ฉบับ ด้วยเสียงเห็นชอบเกิน 90 เปอร์เซ็นต์ทุกฉบับ เมื่อเป็นเรื่องที่เร่งด่วนและรัฐบาลต้องการผลักดันให้รวดเร็ว สนช. ก็สามารถพิจารณาให้ผ่านภายในวันเดียวได้ แม้จะเป็นเรื่องสำคัญและมีรายละเอียดมาก ตัวอย่างเช่น การแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราว พ.ศ.2557 ครั้งที่ 4 ซึ่งเข้าสู่การพิจารณาและผ่าน สนช. สามวาระรวด เมื่อวันที่ 13 มกราคม 2560 จึงไม่มีเหตุผลใดที่จะต้องออกกฎหมายเรื่องนี้ด้วยวิธีการลัดขั้นตอน
บัณฑิตย์ ธนชัยเศรษฐวุฒิ นักวิชาการด้านสิทธิแรงงาน กล่าวกับประชาชาติธุรกิจว่า การออกกฎหมายในลักษณะพระราชกำหนดจะต้องเป็นเรื่องเร่งด่วนเรื่องฉุกเฉิน แต่เรื่องการบริหารจัดการคนต่างด้าว ไม่ได้ต้องถึงขั้นออกเป็นพระราชกำหนด ซึ่งเมื่อออกมาในรูปแบบนี้ก็จะแตกต่างจากการออกเป็นพระราชบัญญัติ ที่ต้องมีการเปิดให้มีการแสดงความคิดเห็นเข้ามา จึงไม่แปลกที่ผู้ประกอบการ นายจ้างจะออกมากังวลในเรื่องของเนื้อหาสาระของกฎหมาย 
บัณฑิตย์กล่าวอีกว่า ก่อนหน้านี้เครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ เคยจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นภาคประชาสังคมต่อร่างพระราชกำหนดดังกล่าว แต่การออกกฎหมายฉบับนี้เป็นพ.ร.ก.ทำให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกฝ่ายไร้โอกาสมีส่วนร่วมพิจารณา ตรวจสอบเสนอแนะ พระราชกำหนดควรออกในช่วงมีเหตุจำเป็นเร่งด่วนอย่างแท้จริง ไม่ใช่เขียนในเหตุผลของพระราชกำหนดให้ดูดี ทั้งที่ปัญหาการทำงานของแรงงานข้ามชาติและการค้ามนุษย์เป็นวาระแห่งชาติเร่งด่วนของรัฐบาลชุดนี้มานานแล้ว
นายจ้าง "ลอยแพ" ผู้ใช้แรงงานหนีกลับ ผู้ประกอบการวุ่นหนัก หวั่นกระทบเศรษฐกิจภาพรวม
การประกาศใช้พ.ร.ก.การทำงานคนต่างด้าวฯทำให้เกิดกระแสความตื่นกลัวไปทั่วแรงงานข้ามชาติจากประเทศเพื่อนบ้านจำนวนมากไม่ต้องการจะเสี่ยงถูกดำเนินคดีจึงทยอยเดินทางกลับ ขณะที่นายจ้างหลายแห่งที่จ้างแรงงานโดยไม่ได้รับอนุญาตอยู่ก่อนหน้านี้ตัดสินใจ "ลอยแพ" ผู้ใช้แรงงาน จนทำให้เกิดผลกระทบไปทั่ว
วันที่ 30 มิถุนายน 2560 เครือข่ายประชากรข้ามชาติ ออกแถลงการณ์ด่วน ขอให้รัฐเร่งทบทวนรากเหง้าปัญหาการบริหารจัดการแรงงานข้ามชาติ โดยเครือข่ายฯพบว่า หลังจากออก พ.ร.ก.การทำงานคนต่างด้าวฯ นายจ้างเริ่มละทิ้งลูกจ้างตัวเอง ลูกจ้างถูกกวาดล้างจับกุมโดยเจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมายในการควบคุมตัวและส่งกลับเป็นจำนวนมาก รวมทั้งเจ้าหน้าที่อาศัยช่องทางบังคับใช้กฎหมายในการพยายามเรียกรับเงินจากทั้งตัวแรงงานและนายจ้าง
เครือข่ายประชากรเเรงงานข้ามชาติเห็นว่า กฎหมายฉบับนี้มีบทลงโทษมากกว่ากฎหมายทุกฉบับที่ผ่านมา ซึ่งการที่รัฐมีมาตรการในการเพิ่มโทษ เช่น การเพิ่มจำนวนเงินค่าปรับ หรือโทษจำคุก อาจจะยิ่งเป็นช่องทางในการทำผิดกฎหมาย การทุจริตในวงราชการ รวมทั้งส่งผลกระทบต่อการประกอบกิจการที่จ้างแรงงานข้ามชาติ 
บำรุง ล้อเจริญวัฒนชัย ประธานหอการค้าจังหวัดสระแก้ว กล่าวกับไทยรัฐว่า กฎหมายแรงงานฉบับใหม่ถือว่าแรง และมีผลกระทบต่อชาวบ้านตามแนวชายแดนเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะกับภาคการเกษตรที่ขาดแคลนแรงงาน โดยแรงงานกัมพูชาส่วนใหญ่ยากจน ไม่มีเงินไปทำพาสปอร์ตที่มีราคาสูงเล่มละเกือบ 10,000 บาท จึงไม่อาจมาจดทะเบียนขออนุญาตทำงานให้ถูกต้องได้
ณรงค์ชัย ทันบุตรกา กำนันตำบลท่าข้าม อ.อรัญประเทศ กล่าวกับไทยรัฐว่า ชาวสระแก้ว ส่วนใหญ่มีอาชีพทำสวนทำไร่ และทำนา และต้องจ้างแรงงานกัมพูชา ซึ่งแรงงานเหล่านี้มาทำงานรับจ้างแบบเช้ามา-เย็นกลับ เพราะชาวบ้านไม่มีเงินไปจ้างแรงงานเป็นรายเดือน การที่กฎหมายใหม่กำหนดว่าต้องจ้างแรงงานที่มีพาสปอร์ต จะทำให้ต้นทุนค่าแรงสูงขึ้น ยิ่งกฎหมายบอกว่า ผู้ว่าจ้างมีโทษปรับตั้งแต่ 400,000-800,000 บาท เชื่อว่าจะมีชาวนาชาวสวนติดคุกแทนค่าปรับจำนววนมาก เพราะไม่มีปัญญาจ่ายค่าปรับ
ด้านอดิศร เกิดมงคล ผู้ปฏิบัติงาน Migrant Working Group (MWG) ให้ความเห็นกับวอยซ์ทีวี ว่า ผลกระทบต่อภาคเศรษฐกิจคิดว่ามีแน่ๆ เพราะเกิดภาวะหวาดกลัวทั้งในกลุ่มนายจ้างและแรงงานข้ามชาติในประเด็นเรื่องโทษที่สูง ทำให้เกิดข่าวลือต่าง ๆ นานา จนเกิดภาวะความไม่มั่นใจแก่คนงาน ประกอบกับมีเรื่องการเข้าจับกุมของเจ้าหน้าที่ ทำให้กระแสข่าวลือเพิ่มมากขึ้น
แก้ปัญหาก็ "ลัดขั้นตอน" ใช้ม.44 ชะลอการเพิ่มโทษ 4 มาตรา
หลังมีกระแสคัดค้านพ.ร.ก.การทำงานคนต่างด้าวฯ ดังไปทั่ว โดยเฉพาะเสียงจากผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบ ในวันที่ 4 กรกฎาคม 2560 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็ใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญ ชั่วคราว มาตรา 44 ออกคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 33/2560 เพื่อแก้ไขข้อขัดข้องของพ.ร.ก.ดังกล่าว 
คำสั่งหัวหน้า คสช. ระบุเหตุผลของการออกคำสั่งที่แสดงการยอมรับความผิดพลาดของการรีบร้อนออก พ.ร.ก.การทำงานของคนต่างด้าวฯ อยู่ชัดเจน โดยเหตุผลของการออกคำสั่งระบุว่า พ.ร.ก.ดังกล่าวได้กําหนดความผิดและบทกําหนดโทษในอัตรารุนแรง ซึ่งยังมิได้มีเวลาสร้างความรับรู้ความเข้าใจเพียงพอแก่ประชาชน จึงก่อให้เกิดความตื่นตระหนกและอาจส่งผลกระทบต่อนายจ้าง ภาคครัวเรือน ภาคผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม และภาคเกษตรกรรมจนกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมได้ 
สาระสำคัญ ของการใช้มาตรา 44 มีสั้นๆ คือ ให้ชะลอการบังคับใช้พ.ร.ก.เจ้าปัญหา ส่วนที่เป็นบทลงโทษทั้งหมด 4 มาตรา ออกไปอีก 6 เดือน ให้ไปมีผลใช้บังคับจริงในวันที่ 1 มกราคม 2561 และสั่งว่าระหว่างจะถึงกำหนดบังคับใช้ ให้นายจ้างและลูกจ้างไปจดทะเบียนให้ถูกกฎหมายเสียก่อน 
ทั้ง 4 มาตรา ที่ถูกชะลอออกไป ได้แก่
1) มาตรา 101 ความผิดของลูกจ้าง ฐานทำงานโดยไม่มีใบอนุญาต ที่กำหนดโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับ 2,000-100,000 บาท
2) มาตรา 102 ความผิดของนายจ้าง ฐานจ้างคนต่างด้าวที่ไม่มีใบอนุญาตทำงาน ที่กำหนดโทษปรับ 400,000-800,000 บาท ต่อการจ้างหนึ่งคน
3) มาตรา 119 ความผิดของลูกจ้าง ฐานทำงานอันจำเป็นเร่งด่วนโดยไม่แจ้งต่อนายทะเบียน  ที่กำหนดโทษ ปรับ 20,000-100,000 บาท
4) มาตรา 122 ความผิดของนายจ้าง ฐานจ้างคนต่างด้าวที่มีใบอนุญาตทำงานกับคนอื่น ไม่ใช่ใบอนุญาตทำงานกับตนเอง ที่กำหนดโทษปรับ 400,000-800,000 ต่อการจ้างหนึ่งคน
ข้อสังเกตต่อการใช้ มาตรา 44 ออกคำสั่งในครั้งนี้ คือ ความผิดตามข้อ 2) 3) 4) เป็นการเพิ่มโทษขึ้นมาอย่างฉับพลันจึงทำให้สังคมตื่นตกใจ มีเหตุผลให้ชะลอการบังคับใช้อยู่บ้าง แต่ความผิดของลูกจ้างฐานทำงานโดยไม่มีใบอนุญาต ตาม 1) ไม่ได้เพิ่มอัตราโทษขึ้น ยังคงใช้อัตราโทษเช่นเดียวกับกฎหมายเดิมฉบับปี 2551 อยู่ เหตุผลที่ต้องชะลอการบังคับใช้โทษตามข้อ 1) ออกไปด้วยจึงยังคงคลุมเครือและไม่สอดตล้องกับเหตุผลที่ระบุไว้ในการออกคำสั่ง
นอกจากนี้ก็มีข้อน่าสังเกตว่า มีฐานความผิดอื่นที่ถูกเพิ่มโทษขึ้นอย่างมากจนอาจก่อให้เกิดความตื่นตระหนกในตลาดแรงงานแต่กลับไม่ถูกสั่งให้ชะลอการบังคับใช้ด้วยเช่น ความผิดฐานทำงานไม่ตรงเงื่อนไขในใบอนุญาต ที่จากเดิมมีโทษปรับไม่เกิน 20,000 บาท เพิ่มเป็นปรับไม่เกิน 100,000 บาท และความผิดฐานเป็นนายจ้างที่จ้างงานไม่ตรงกับเงื่อนไขในใบอนุญาตทำงาน ที่จากเดิมมีโทษปรับไม่เกิน 10,000 บาท ต่อการจ้างหนึ่งคน ปรับไม่เกิน 400,000 บาท ต่อการจ้างหนึ่งคน 
ไฟล์แนบ