ร่างพ.ร.ป.พรรคการเมือง ฉบับ กรธ. พรรคการเมืองตั้งยาก เสี่ยงโดนลงโทษง่าย

ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง (พ.ร.ป.พรรคการเมือง) เป็นกฎหมายสำคัญที่จะนำไปสู่การเลือกตั้ง ตามรัฐธรรมนูญ 2560 โดยรัฐธรรมนูญกำหนดให้เป็นหน้าที่ของกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ในการจัดทำร่างพ.ร.ป.ฉบับนี้  สำหรับการพิจารณาร่างพ.ร.ป.พรรคการเมือง รอบสุดท้ายของกรธ. สิ้นสุดเมื่อวันที่ 3 เมษายน 2560 ก่อนส่งเข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)
วันที่ 7 ธันวาคม 2559 กรธ.เปิดรับฟังความคิดเห็นต่อร่างพ.ร.ป.พรรคการเมือง ที่กรุงเทพมหานคร อุดม รัฐอมฤต โฆษก กรธ. แถลงว่า ร่างพ.ร.ป.ฉบับนี้พยายามสร้างกลไกให้ประชาชนเป็นเจ้าของพรรคการเมืองอย่างแท้จริง และให้สมาชิกพรรคมีส่วนร่วมในการบริหารพรรคโดยที่ไม่ถูกครอบงำจากนายทุน โดย อุดม ยกข้อกำหนดสำคัญคือ "การให้สมาชิกพรรคทุกคนต้องจ่ายเงินบำรุงพรรค" ว่าจะช่วยแก้ไขปัญหานี้ได้ ส่วนประเด็นที่มองกันว่าพรรคการเมืองขนาดเล็ก จะอยู่ลำบากหรือไม่ อุดม กล่าวว่า การจะส่งผู้สมัครหรือนำแนวคิดทางการเมืองไปสู่การบริหารประเทศ จำเป็นต้องมีกำลังหรือองคาพยพที่ใหญ่พอสมควร ดังนั้นพรรคเล็กต้องทำงานมวลชนให้คนที่มีความคิดร่วมอุดมการณ์เข้ามาร่วมเอง
ขณะที่พรรคการเมืองต่างๆ ก็ออกมาแสดงความเห็นโดยเฉพาะการกำหนดให้สมาชิกต้องจ่ายค่าบำรุงพรรคว่า จะเป็นการทำลายเสรีภาพของประชาชน รวมทั้งตีค่าอุดมการณ์ของประชาชนต่ำเกินไป ขณะที่ในทางปฏิบัติอาจเป็นเรื่องยากและต้องใช้เวลา ซึ่งประชาชนยังไม่เข้าใจว่าทำไมต้องเสียเงินบำรุงพรรคการเมือง นอกจากนี้ยังมีเงื่อนไขต่างๆ เช่น การประชุมพรรค การจัดทำนโยบาย การตั้งสาขาพรรค อาจทำให้พรรคขนาดเล็กมีปัญหาในการจัดการ
จัดตั้งพรรคใหม่ต้องใช้คนอย่างน้อย 500 รายชื่อ พร้อมเงินทุนหนึ่งล้าน 
ในการจัดตั้งพรรคการเมืองใหม่ถือเป็นอีกประเด็นหนึ่งที่สำคัญ โดยร่างพ.ร.ป.พรรคการเมืองของ กรธ.กำหนดให้ บุคคลไม่น้อยกว่า 500 คน ซึ่งมีอุดมการณ์ทางการเมืองในแนวทางเดียวกันอาจร่วมกันดำเนินการเพื่อจัดตั้งพรรคการเมือง แต่การการตั้งพรรคการเมืองใหม่ได้ต้องมีทุนประเดิมไม่น้อยกว่า 1,000,000 บาท โดยผู้ร่วมกันจัดตั้งพรรคการเมืองทุกคนต้องร่วมกันจ่ายเงินเพื่อเป็นทุนประเดิมคนละไม่น้อยกว่า 1,000 บาท แต่ไม่เกินคนละ 300,000 บาท (มาตรา 9) ทั้งนี้ หากย้อนกลับไปดู พ.ร.ป.พรรคการเมือง พ.ศ.2550 จะพบว่าการจัดตั้งพรรคการเมืองเป็นไปอย่างง่ายดายมากกว่า เพราะประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป จำนวน 15 คน ก็สามารถตั้งพรรคการเมืองได้ และไม่มีบทบัญญัติให้พรรคการเมืองต้องมีทุนตั้งต้นประเดิมมาก่อน
กำหนดข้อบังคับให้สมาชิกพรรคต้องจ่ายค่าบำรุงอย่างน้อยปีละ 100 บาท
การกำหนดให้สมาชิกพรรคการเมืองต้องจ่ายค่าบำรุงพรรคเป็นประเด็นที่ถูกพูดถึงอย่างมาก ร่างพ.ร.ป.พรรคการเมือง ของกรธ. กำหนดไว้ว่าการจ่ายเงินบำรุงพรรคการเมือง แต่ละพรรคต้องกำหนดลงในข้อบังคับการประชุม โดยระบุใน มาตรา 15 (15) ว่า “รายได้ของพรรคการเมือง และอัตราค่าธรรมเนียมและค่าบำรุงพรรคการเมืองต้องเรียกเก็บจากสมาชิกไม่น้อยกว่าปีละ 100 บาท” หรืออาจกำหนดให้เรียกเก็บค่าบำรุงพรรคจากสมาชิก แบบตลอดชีพก็ได้ แต่ต้องไม่น้อยกว่า 2,000 บาท อย่างไรก็ตาม ในบทเฉพาะกาล มาตรา 136 ระบุว่า ในการเรียกเก็บค่าบำรุงพรรคการเมืองสำหรับปีแรก พรรคจะเรียกเก็บต่ำกว่า 100 บาท ก็ได้ แต่ต้องไม่น้อยกว่า 50 บาท
ตั้งพรรรคหนึ่งปีต้องมีสมาชิก 5,000 คน สี่ปีต้องเพิ่มเป็น 10,000 คน
เมื่อรวบรวมสมาชิกผู้ร่วมก่อตั้งได้ครบจำนวน 500 คนขึ้นไป และได้ทำการจดทะเบียนพรรคการเมืองเรียบร้อย ร่างพ.ร.ป.พรรคการเมือง ฉบับกรธ. กำหนดให้ภายในหนึ่งนับแต่วันที่นายทะเบียนรับจดทะเบียนพรรคการเมือง พรรคการเมืองต้องดำเนินการตาม มาตรา 33 คือ  1) ดำเนินการให้มีจำนวนสมาชิกไม่น้อยกว่า 5,000 คน และต้องเพิ่มจำนวนสมาชิกให้มีจำนวนไม่น้อยกว่า 10,000 คนภายในสี่ปี และ 2) จัดให้มีสาขาพรรคในแต่ละภาคตามบัญชีรายชื่อภาคและจังหวัด ที่กกต. กำหนดอย่างน้อยภาคละหนึ่งสาขา โดยสาขาพรรคการเมืองแต่ละสาขาต้องมีสมาชิกที่มีภูมิลำเนาอยู่ในเขตพื้นที่ที่รับผิดชอบของสาขานั้นตั้งแต่ 500 คนขึ้นไป
พรรคเก่าระดมสมาชิกใหม่ 180 วัน ต้องให้สมาชิก 500 คน จ่ายค่าบำรุงพรรค
สำหรับพรรคการเมืองเก่าตาม พ.ร.ป.พรรคการเมือง พ.ศ.2550 แม้ กรธ.ยืนยันว่าจะไม่มีการ “เซตซีโร่” พรรคการเมืองเก่าให้เริ่มนับหนึ่งใหม่ แต่พรรคการเมืองเก่าต้องทำการเคลียร์สมาชิกเก่า และระดมสมาชิกใหม่ให้ได้ 500 คน สำหรับพรรคการเมืองเก่าที่ยังมีสมาชิกไม่ถึง 500 คน ต้องดำเนินการให้มีสมาชิกให้ครบ 500 คนภายใน 180 วันนับแต่วันที่ พ.ร.ป.ฉบับใหม่ใช้บังคับ และจัดให้มีทุนประเดิมจำนวน 1,000,000 บาท เช่นเดียวกับพรรคการเมืองที่ตั้งใหม่
นอกจากนี้พรรคการเมืองเก่า ต้องจัดให้สมาชิกพรรคจำนวนไม่น้อยกว่า 500 คน ชำระค่าบำรุงพรรคภายในเวลา 180 และจัดให้สมาชิกพรรคชำระเงินค่าบำรุงพรรคให้ได้จำนวน ไม่น้อยกว่า 5,000 คนภายในหนึ่งปี และให้ได้จำนวนไม่น้อยกว่า 10,000 คนภายในสี่ปี เมื่อพ้นระยะเวลาสี่ปีแล้ว ให้สมาชิกภาพของสมาชิกที่มิได้ชำระค่าบำรุงพรรค เป็นอันสิ้นสุดลง
สำหรับการจัดตั้งสาขาพรรค และตัวแทนพรรคประจำจังหวัดต้องทำให้ครบถ้วนภายใน 180 อย่างไรก็ดี พรรคการเมืองอาจทำหนังสือขอขยายเวลาออกไปได้ แต่ต้องไม่เกินสามปี นับแต่วันสิ้นกำหนดระยะเวลา 180 วัน เมื่อครบระยะเวลาแล้วพรรคการเมืองใดยังไม่ได้ดำเนินการให้เสร็จ ให้พรรคการเมืองนั้นสิ้นสภาพไป (มาตรา 131)
เลือกผู้สมัคร ส.ส. ต้องรับฟังความเห็นตัวแทนพรรคประจำจังหวัดประกอบด้วย
ประเด็นหนึ่งที่สำคัญของร่างพ.รป.พรรคการเมือง ฉบับกรธ.ที่แตกต่างจากพ.ร.ป.พรรคการเมืองฉบับก่อนหน้า คือ วิธีการสรรหาผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ที่เดิมให้เป็นอำนาจของ "คณะกรรมการบริหารพรรค" และ "คณะกรรมการคัดเลือกผู้สมัครรับเลือกตั้ง" ของพรรคเท่านั้น แต่ กรธ.กำหนดวิธีการสรรหาผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ให้เป็นหน้าที่และอำนาจของ "คณะกรรมการสรรหาผู้สมัครรับเลือกตั้ง" ของพรรคการเมือง (มาตรา 49)
โดยองค์ประกอบของคณะกรรมการสรรหาผู้สมัครรับเลือกตั้งอย่างน้อยต้องประกอบด้วยกรรมการบริหารพรรคการเมืองไม่เกินกึ่งหนึ่งของคณะกรรมการสรรหาผู้สมัครรับเลือกตั้ง และหัวหน้าสาขาพรรคการเมืองและตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัดซึ่งเลือกกันเองจนครบจำนวน โดยวิธีการเลือกกันเองและจำนวนหัวหน้าสาขาพรรคการเมืองและตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัดให้เป็นไปตามข้อบังคับของแต่ละพรรคการเมือง แต่อย่างน้อยต้องมีหัวหน้าสาขาพรรคการเมืองไม่น้อยกว่าสี่สาขาซึ่งมาจากภาคต่างกัน ทั้งนี้ ในการสรรหาผู้สมัครรับเลือกตั้ง ให้คณะกรรมการสรรหาผู้สมัครรับเลือกตั้งรับฟังความคิดเห็นของหัวหน้าสาขาพรรคการเมือง ตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัด และสมาชิก มาประกอบการพิจารณาในการสรรหาด้วย 
สำหรับ พรรคการเมืองซึ่งจัดตั้งใหม่ ในการสรรหาผู้สมัครรับเลือกตั้ง หากยังไม่มีสาขาพรรคการเมืองและตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัด ให้คณะกรรมการสรรหาผู้สมัครรับเลือกตั้งของพรรค ประกอบด้วยกรรมการบริหารพรรคการเมืองจำนวนสี่คน และตัวแทนสมาชิกจำนวนเจ็ดคน ซึ่งอย่างน้อยต้องมีตัวแทนสมาชิกพรรคในแต่ละภาคตามที่ กกต.กำหนด (มาตรา 135)
เสนอนโยบายต้องชี้แจงวงเงิน ที่มาของเงิน และความคุ้มค่าของนโยบาย
อีกสิ่งหนึ่งที่เพิ่มเข้ามาใหม่ในร่างพ.ร.ป.พรรคการเมือง คือ การกำหนดให้การโฆษณานโยบายของพรรคการเมืองที่ต้องใช้จ่ายเงิน อย่างน้อยต้องมีการแสดงรายละเอียดดังต่อไปนี้ 1) วงเงินที่ต้องใช้ และที่มาของเงินที่จะใช้ในการดำเนินการ 2) ความคุ้มค่าและประโยชน์ในการดำเนินนโยบาย 3) ผลกระทบและความเสี่ยงในการดำเนินนโยบาย ในกรณีพรรคการเมืองไม่ได้ดำเนินการตามวรรคหนึ่ง ให้กกต.สั่งให้ดำเนินการให้ถูกต้องภายในระยะเวลาที่กำหนด (มาตรา 51)
ตัดสิทธิเลือกตั้งกรรมการบริหารพรรค 20 ปี
บทลงโทษในร่างพ.ร.ป.ฉบับนี้ ที่ค่อนข้างจะรุนแรงอย่างหนึ่งคือ ในระหว่างที่มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือให้มีการเลือกสมาชิกวุฒิสภา หากคณะกรรมการบริหารพรรคการเมืองและกรรมการบริหารพรรคการเมืองไม่ควบคุมและกำกับดูแลสมาชิกจนกระทำการฝ่าฝืนกฎหมายต่างๆ กกต.สามารถมีคำสั่งให้คณะกรรมการบริหารพรรคการเมืองนั้นพ้นจากตำแหน่งทั้งคณะ และห้ามไม่ให้ดำรงตำแหน่งใดในพรรคการเมืองจนกว่าจะพ้นเวลา 20 ปี อย่างไรก็ตาม กรรมการบริหารพรรคการเมืองซึ่งพ้นจากตำแหน่งมีสิทธิยื่นคำร้องคัดค้านคำสั่งของกกต. ต่อศาลรัฐธรรมนูญได้ภายใน 30 วัน (มาตรา 22)
ให้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญยุบพรรค หากมีหลักฐานอันควรเชื่อว่ากระทำผิด
การยุบพรรคการเมืองถูกกำหนดให้เป็นหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งจะเกิดขึ้นได้เมื่อ กกต.มีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าพรรคการเมืองใดกระทำผิด โดยให้ กกต.ยื่นศาลรัฐธรรมนูญเพื่อสั่งยุบพรรคการเมืองนั้น เมื่อศาลรัฐธรรมนูญดำเนินการไต่สวนแล้ว มีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่า พรรคการเมืองกระทำผิด ให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคการเมือง และเพิกถอน สิทธิสมัครรับเลือกตั้งของคณะกรรมการบริหารพรรคการเมืองนั้น การกระทำผิดที่จะนำไปยื่นศาลรัฐธรรมนูญ เช่น กระทำการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขหรือเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ หรือ ให้บุคคลอื่น ซึ่งไม่ใช่สมาชิกพรรคกระทำการควบคุม ครอบงำ หรือชี้นำ กิจกรรมของพรรคในลักษณะที่ทำให้พรรคหรือสมาชิกของพรรคขาดความอิสระ ไม่ว่าโดยตรงหรือโดยอ้อม เป็นต้น (มาตรา 86)
ไฟล์แนบ