จับกระแส “แก้ไขร่างรัฐธรรมนูญ” ตามที่พระมหากษัตริย์พระราชทานข้อสังเกต

เส้นทางสู่การประกาศใช้รัฐธรรมนูญ
หลังจากร่างรัฐธรรมนูญผ่านการทำประชามติเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2559 บีบีซีไทย รายงานว่า รัฐบาลภายใต้การนำของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้นำทูลเกล้าฯถวายร่างรัฐธรรมนูญเพื่อลงพระปรมาภิไธย เมื่อต้นเดือนพฤศจิกายน 2559 หลังจากที่นำร่างรัฐธรรมนูญขึ้นทูลเกล้าฯถวายแล้ว สำนักราชเลขาธิการทำเรื่องมาถึงรัฐบาลว่าสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ มีพระกระแสรับสั่งว่ายังมีเรื่องที่จำเป็นต้องแก้ไขให้เป็นไปตามพระราชอำนาจอยู่ 3-4 เรื่อง 20 มกราคม 2560 สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯได้มีข้อสังเกตพระราชทานให้ปรับแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญในหมวดที่เกี่ยวกับพระราชอำนาจ รัฐบาลจึงรับทูลเกล้านำมาปรับแก้ไข ต่อมา 17 กุมภาพันธ์ 2560 รัฐบาลจึงได้นำร่างรัฐธรรมนูญร่างแก้ไขเพิ่มเติมตามข้อสังเกตพระราชทานขึ้นทูลเกล้าฯอีกครั้ง เพื่อลงพระปรมาภิไธย
3 เมษายน 2560 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่หมายกำหนดการพระราชพิธีประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ซึ่งเป็นฉบับที่ 20 นับตั้งแต่เปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตย พ.ศ. 2475 ซึ่งพิธีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญจะมีขึ้นในวันที่ 6 เมษายน 2560 นี้  
ข้อสังเกตพระราชทาน แก้เพียงหมวดพระมหากษัตริย์ ส่วนหมวดอื่นยังคงเดิม
ไทยรัฐออนไลน์รายงานว่าข้อสังเกตพระราชทานที่มีพระราชกระแสรับสั่งให้แก้ไขให้เป็นตามพระราชอำนาจนั้น พลเอกประยุทธ จันทร์โอชาได้แถลงในวันที่ 10 มกราคม 2560 หลังจากการประชุม คสช.ว่า ทางสำนักพระราชวังได้ทำเรื่องมาปรึกษาเพื่อที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับผ่านประชามติในหมวดพระมหากษัตริย์ เพื่อให้เป็นไปตามพระราชอำนาจ สยามรัฐ รายงานว่า มีการตั้งคณะกรรมการกฤษฎีกาเพื่อดำเนินการยกร่างมาตราที่จะมีการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชามติให้เป็นไปตามข้อสังเกตพระราชทาน ซึ่งมีหน้าที่ในการยกร่างเฉพาะมาตรา และตรวจสอบให้เป็นไปตามข้อสังเกตพระราชทาน และคำปรารภ โดยมาตราที่จะแก้ไขมีทั้งหมด 3 มาตรา คือ มาตรา 5 17 และ 182 แต่ถ้าหากว่า 3 มาตราดังกล่าวเกี่ยวข้องกับมาตราอื่น ๆ หรือเกี่ยวพันกับพระราชอำนาจก็จำเป็นต้องแก้ไขตามไปด้วย อย่างไรก็ตาม จะไม่มีการแก้ไขในหมวดที่เกี่ยวข้องกับสิทธิเสรีภาพ แนวนโยบายแห่งรัฐ คณะรัฐมนตรี ศาล การเลือกตั้ง องค์กรอิสระ พรรคการเมือง ที่มาของ ส.ส. และ ส.ว. รวมถึงบทฌแพาะกาลด้วย 
เปิดหาเนื้อหา มาตรา 5 17 และ 182 ร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชามติ ก่อนการแก้ไขตามข้อสังเกตพระราชทาน
มาตรา 5 ระบุว่า รัฐธรรมนูญถือเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ กฎหมาย ข้อบังคับหรือการกระทำที่ขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญไม่สามารถใช้บังคับได้ แต่ถ้าหากไม่บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญกล่าวไว้ ให้วินิจฉัยไปตามประเพณีการปกครองไทยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข โดยให้ประธานศาลรัฐธรรมนูญจัดให้มีการประชุมร่วมกันระหว่างประธานศาลฎีกา ประธานศาลปกครองสูงสุด ประธานศาลรัฐธรรมนูญ และประธานองค์กรอิสระเพื่อวินิจฉัย และให้คำวินิจฉัยของที่เป็นประชุมเป็นที่สิ้นสุด และมีผลใช้กับรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล องค์กรอิสระ และหน่วยงานของรัฐ 
"รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ บทบัญญัติใดของกฎหมาย กฎ หรือข้อบังคับ หรือการกระทำใด ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ บทบัญญัติหรือการกระทำนั้นเป็นอันใช้บังคับมิได้
เมื่อไม่มีบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญบังคับแก่กรณีใด ให้กระทำการนั้นหรือวินิจฉัยกรณีนั้นไปตามประเพณีการปกครองประเทศไทยในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
เมื่อมีกรณีเกิดตามวรรคสองเกิดขึ้น ให้ประธานศาลรัฐธรรมนูญจัดให้มีการประชุมร่วมระหว่างประธานสภาผู้แทนราษฎร ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร ประธานวุฒิสภา นายกรัฐมนตรี ประธานศาลฎีกา ประธานศาลปกครองสูงสุด ประธานศาลรัฐธรรมนูญ และประธานองค์กรอิสระเพื่อวินิจฉัย 
ในการประชุมร่วมตามวรรคสาม ให้ที่ประชุมเลือกกันเองให้คนหนึ่งทำหน้าที่ประธานในที่ประชุมแต่ละคราว ในกรณีที่ไม่มีผู้ดำรงตำแหน่งใด ให้ที่ประชุมร่วมประกอบด้วยผู้ดำรงตำแหน่งเท่าที่มีอยู่
การวินิจฉัยของที่ประชุมร่วมกันให้ถือเสียงข้างมาก ถ้าคะแนนเสียงเท่ากัน ให้ประธานในที่ประชุมออกเสียงเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งเป็นเสียงชี้ขาด 
คำวินิจฉัยของที่ประชุมร่วมให้เป็นที่สุด และผูกพันรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล องค์กรอิสระ และหน่วยงาน"
มาตรา 17 ระบุเกี่ยวกับการแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ซึ่งผูกพันกับมาตรา 16 คือ ถ้าพระมหากษัตริย์ไม่ได้แต่งตั้งผู้สำเร็จราชการตามมาตรา 16 หรือไม่สามารถแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการเพราะยังไม่บรรลุนิติภาวะ หรือสาเหตุอื่น ให้คณะองคมนตรีเป็นผู้เสนอชื่อผู้สมควรดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนต่อรัฐสภาเพื่อขอความเห็นชอบ ถ้ารัฐสภาเห็นชอบแล้วให้ประธานรัฐสภาประกาศในพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์ แต่งตั้งผู้นั้นให้เป็นผู้สำเร็จราชการ 
"ในกรณีที่พระมหากษัตริย์มิได้ทรงแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ตามมาตรา 16 หรือในกรณีที่พระมหากษัตริย์ไม่สามารถทรงแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เพราะยังไม่ทรงบรรลุนิติภาวะหรือเพราะเหตุอื่น ให้คณะองคมนตรีเสนอชื่อผู้ใดผู้หนึ่งซึ่งสมควรดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ต่อรัฐสภาเพื่อขอความเห็นชอบ เมื่อรัฐสภาให้ความเห็นชอบแล้ว ให้ประธานรัฐสภาประกาศในพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์ แต่งตั้งผู้นั้นเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์"
มาตรา 17 นั้นไม่ได้ผูกพันเพียงแค่มาตรา 16 แต่ยังผูกพันไปถึงมาตรา 16 18 และ 19 
มาตรา 182 เป็นเรื่องเกี่ยวกับการลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ โดยต้องมีรัฐมนตรีเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ เว้นแต่มีบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่นในรัฐธรรมนูญ 
"บทกฎหมาย พระราชหัตถเลขา และพระบรมราชโองการอันเกี่ยวกับราชการแผ่นดิน ต้องมีรัฐมนตรีลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ เว้นแต่มีบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่นในรัฐธรรมนูญ
ให้ผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการเป็นผู้รับผิดชอบในกิจการทั้งปวงบรรดาที่ได้รับสนองพระบรมราชโองการ"
หลังจากการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ ฉบับที่ 20 แห่งราชอาณาจักรไทยแล้ว เรายังต้องมาติดตามกันต่อไปว่ารัฐบาลได้แก้ไขเพียงแค่มาตราที่ระบุไว้ก่อนหน้าเท่านั้นหรือไม่ และจะเกิดอะไรขึ้นหลังจากรัฐธรรมนูญฉบับนี้ประกาศใช้