แนะ “สื่อ” ปรับปรุงการนำเสนอข่าว “สาวประเภทสองเกณฑ์ทหาร เคารพความเป็นมนุษย์มากขึ้น”

29 มีนาคม 2560 ที่โรงแรมเดอะ สุโกศล เวลา 9.00 น.มูลนิธิเครือข่ายเพื่อนกะเทยไทยเพื่อสิทธิมนุษยชนจัดงาน เสวนา จิบกาแฟ นั่งคุย "กะเทยเกณฑ์ทหารผ่านสื่อ" เพื่อร่วมกันหาแนวทางการนำเสนอเรื่องสาวประเภทสองเข้าเกณฑ์ทหารของสื่อและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้เคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์กลุ่มสาวประเภทสอง 
 
เจษฎา แต้สมบัติ มูลนิธิเครือข่ายเพื่อนกะเทยเพื่อสิทธิมนุษยชนอธิบายถึงการระบุอัตลักษณ์ทางเพศของกลุ่มสาวประเภทสองว่า มีความละเอียดอ่อนและแต่ละคำต่างมีนัยความหมายที่แตกต่าง เช่น กะเทย สาวประเภทสอง หรืคนข้ามเพศ ขณะที่การเรียกขานนามควรจะต้องถามความต้องการและความยินยอมของผู้ถูกเรียกด้วย
"อยากฝากถึงสื่อมวลชนว่า หากมีโอกาสสัมภาษณ์น้องกะเทย สาวประเภทสอง แล้วต้องการระบุอัตลักษณ์ทางเพศก็ควรสอบถามเจ้าตัวว่า ต้องการให้เรียกคำว่าอะไรเพราะส่วนใหญ่อาจไม่ต้องเรียกคำว่า กะเทย,สาวประเภทสอง หรือคนข้ามเพศ แต่อาจจะชอบให้เรียกชื่อของเจ้าตัวก็ได้” เจษฎา กล่าว
รณภูมิ สมัคคีคารมย์ อาจารย์ประจำคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และเจ้าหน้าที่ของมูลนิธิสร้างความเข้าใจเรื่องสุขภาพผู้หญิง (สคส.) ได้เผยงานวิจัยเรื่อง วิเคราะห์การพาดหัวข่าวและเนื้อหาจากหนังสือพิมพ์และข่าวทางโทรทัศน์ ตั้งแต่ปี 2557-2559  พบว่า ช่วงเวลาดังกล่าวมีการรายงานข่าวการเกณฑ์ทหารทั้งหมด 72 ข่าว โดยร้อยละ 97 ของพาดหัวข่าวมุ่งเน้นที่ลักษณะทางกายภาพ รูปร่าง และการมีความโดดเด่นของสาวประเภทสองมากกว่ากระบวนการเกณฑ์ทหาร เช่น “หนุ่มฮือฮาลั่นศาลาวัด! '2กระเทยสวย' เข้าคัดทหารเกณฑ์เป็นสีสัน”, “น้องแก้มชายสวย รายงานตัวเกณฑ์ทหารสุโขทัย” และ "เกณฑ์ทหารอุดรฯ วันแรกคึกคัก 'น้องเฟิร์น' สาวนะยะ สวยแต่รู้หน้าที่"
รณภูมิกล่าวต่อว่า เมื่อวิเคราะห์การพาดหัวข่าวและเนื้อหาของสื่อจะเห็นได้ว่า สื่อนำเสนอข่าวสาวประเภทสองกับการเกณฑ์ทหาร 3 ประเด็นหลักคือ
1.สาวประเภทสองคือสีสัน สร้างความสนุก กระตุ้นอารมณ์และสร้างบรรยากาศให้กับการเกณฑ์ทหารเช่น สร้างความสนุกให้พี่ทหาร, หนุ่มๆ เห็นแล้วกระชุ่มกระชวย และสร้างความชื่นใจให้ทหาร เป็นต้น
2.สาวประเภทสองคือเรื่องฮือฮา เป็นความแปลกและแตกต่าง เช่น ไม่มีใครบอกคิดว่า เป็นผู้หญิงมาเกณฑ์, เดินข้างๆ ดูไม่รู้ว่าเป็นผู้ชาย, หนุ่มๆ แปลงกายเป็นสาว, หนุ่มๆ ในร่างนางฟ้า และแก๊งค์นางฟ้า เป็นต้น
3.การนำเสนอลักษณะทางกายภาพของสาวประเภทสอง เช่น ผ่าตัดหน้าอกมาแล้ว, แปลงเพศหมดทั้งตัว และแต่งตัวจัดเต็ม เป็นต้น
"สื่อดูเหมือนจะชื่นชมสาวประเภทสอง แต่มักจะไปเปรียบเทียบกับผู้หญิง ผู้หญิงต้องอาย ผู้หญิงต้องมอบมดลูกให้ สิ่งเหล่านี้กำลังเปรียบเทียบว่า กะเทยก็คือมนุษย์ผู้ชายที่ใช้ชีวิตเป็นผู้หญิง แต่งตัวเป็นผู้หญิง ไม่ใช่ผู้หญิงแท้และมีการล้อเลียนด้วย บางข่าวถึงขั้นไปเจาะลึกว่า แปลงเพศหรือยัง มีคู่หรือยัง เนื้อคู่เป็นใคร ทั้งที่ไม่ใช่เนื้อหาสาระของการมาเกณฑ์ทหาร" รณภูมิกล่าว
นอกจากนี้ รณภูมิชี้ว่า สำหรับสาวประเภทสองการเกณฑ์ทหารกลายเป็นเรื่องที่น่าเป็นกังวลโดยตั้งแต่เดือนมกราคม-มีนาคม สาวประเภทสองประมาณ 900 คน ส่งข้อความมาปรึกษาเพราะพวกเธอต้องเผชิญกับสภาวะความอึดอัด และความเป็นทุกข์ที่ต้องพาตนเองไปเข้าสู่กระบวนการเกณฑ์ทหาร  บางกรณีระบุว่า อยากหนีทหารแล้วไปใช้ชีวิตอยู่เมืองนอก ยิ่งไปกว่านั้นบางกรณียังระบุว่า มีรู้สึกอยากฆ่าตัวตายเมื่อจะต้องผ่านการเกณฑ์ทหาร
ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ ผู้ดำเนินรายการสถานีโทรทัศน์ Voice TV พูดเสริมประเด็นของการพาดหัวข่าวและเนื้อหาของรณภูมิต่อว่า การทำสื่อในเรื่องสาวประเภทสองไม่ได้แตกต่างจากการทำสื่อเกี่ยวกับเรื่องสิทธิมนุษยชน หัวใจของการทำสื่อคือ ไม่ว่าจะเป็นสื่อหรือเป็นคนทั่วไปที่แสดงความเห็นผ่านสื่อ สื่อต้องมีสำนึกว่า  คุณกำลังเล่าเรื่องของคนอื่น ดังนั้นคุณต้องเล่าเรื่องของเขาอย่างที่เขาต้องการจะสื่อให้ทราบ ไม่ใช่เล่าเรื่องเขาอย่างที่คุณอยากเล่า 
อย่างไรก็ตาม ผู้ร่วมเสวนาทั้ง 3 คนหวังว่า สื่อและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรจะเปลี่ยนมุมมองการนำเสนอข่าวการเกณฑ์ทหารที่เคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของสาวประเภทสองให้มากขึ้น โดยมุ่งเน้นการนำเสนอมุมมองต่อกระบวนการเกณฑ์ทหารเช่น แนวการปฏิบัติของสาวประเภทสองในการเกณฑ์ทหาร, คำแนะนำของเจ้าหน้าที่ตรวจเลือกในการเกณฑ์ทหาร, ผลการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ต่อสาวประเภทสอง หรือการชื่นชมที่สาวประเภทสองทำหน้าที่ตามกฎหมาย แทนที่ขนบแบบเดิมของการเสนอมุมมองต่อสาวประเภทสองว่า เป็นความสนุก ความแปลก และการนำสาวประเภทสองไปเปรียบเทียบกับผู้หญิง 
ทั้งนี้ หากสนใจเรื่อง สาวประเภทสองกับการเกณฑ์ทหาร สามารถติดตามที่ Tgmilitaryrecruit และสามารถอ่านคู่มือเมื่อ "ดิฉันต้องเกณฑ์ทหาร" คลิกที่นี่