หวั่นร่างพ.ร.บ. กสทช. ใหม่ รัฐต้อง “เสียค่าโง่” เพื่อขอคืนคลื่นความถี่

วงเสวนาถก ร่างแก้ไข พ.ร.บ.กสทช. หมอประวิทย์ค้านระบบจัดสรรคลื่นโดยไม่ต้องประมูล ด้านวรพจน์  NBTC Policy Watch ชี้ การจะแก้กฎหมายให้จ่ายค่าชดเชยการคืนคลื่นเป็นการ "เสียค่าโง่" เพราะคลื่นความถี่เป็นของสาธารณะอยู่แล้ว พร้อมชวนดูระบบการสรรหา กสทช. ชุดใหม่ เอาคนตรวจสอบมาเป็นคนเลือกเอง
ตามที่ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) กำลังพิจารณาแก้ไขพ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2553 หรือ ร่างแก้ไข พ.ร.บ.กสทช. ซึ่งร่างกฎหมายใหม่มีเนื้อหาที่น่าสนใจหลายประการ ดังนี้
1. รื้อระบบการสรรหากรรมการกสทช.ใหม่หมด ให้ศาลและองค์กรอิสระสรรหาเป็นผู้สรรหากรรมการกสทช. จากข้าราชการตำแหน่งหัวหน้ากรมขึ้นไป ทหารหรือตำรวจที่มียศพลโทขึ้นไป หรือคนที่เป็นผู้บริหารบริษัทมหาชนที่มีทุนจดทะเบียนไม่ต่ำกว่าหนึ่งพันล้านบาท โดยตัดช่องทางเสนอชื่อโดยภาคประชาสังคมออกไป
2. ยกเลิกความเป็นองค์กรอิสระของ กสทช. โดยกำหนดให้ กสทช. จัดทำแผนแม่บทการบริหารคลื่นความถี่ (Roadmap) ให้สอดคล้องกับนโยบายของกระทรวงเศรษฐกิจดิจิทัล และในกรณีที่มีปัญหาว่าการทำงานของ กสทช. สอดคล้องกับแผนระดับชาติดังกล่าวหรือไม่ ให้คณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เป็นผู้วินิจฉัย
3. กำหนดให้การประมูลคลื่นความถี่ ใช้หลักเกณฑ์อื่นที่ไม่ใช่จำนวนเงินเพียงอย่างเดียว ซึ่งอาจให้กรรมการกสทช. พิจารณาใบอนุญาตการใช้คลื่นความถี่โดยดูจากคุณสมบัติอื่นๆ ที่ตนเองถูกใจได้ หรือที่เรียกว่า Beauty Contest ก็ได้   
ฯลฯ
21 มีนาคม 2560 มีการจัดงานเสวนาเวที Nation Roundtable เรื่อง "พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ ตัวแปรเศรษฐกิจดิจิทัล" ขึ้นที่โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ แอท เซ็นทรัลเวิลด์
แก้กฎหมาย กสทช. ก็เพื่อเพิ่มอำนาจหน่วยงานความมั่นคง
นพ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กรรมการ กสทช. กล่าวว่า การแก้ไข กฎหมาย กสทช. ครั้งนี้เป็น หนึ่งในชุดกฎหมายเศรษฐกิจดิจิทัล เพื่อแก้ไขอำนาจหน้าที่ให้สอดคล้องกับการตั้งกระทรวงเศรษฐกิจดิจิทัล (กระทรวงดีอี) ระบบกฎหมายเรื่องโทรคมนาคมมีปัญหามาก เพราะที่ผ่านมาเราออกกฎหมายทีละขยักๆ เช่น พ.ร.บ.การประกอบกิจการวิทยุและโทรทัศน์ พ.ร.บ.วิทยุโทรคมนาคม และตัวพ.ร.บ.กสทช. ที่ออกมาในปี 2553 กฎหมายแต่ละฉบับออกคนละช่วงเวลา ถ้าจะปรับปรุงกฎหมายจริงๆ ต้องเอาทุกฉบับมาหาจุดแข็ง และยกร่างใหม่ไม่ให้แต่ละขัดกันเอง
แต่ร่างแก้ไข พ.ร.บ.กสทช. ครั้งนี้ คนแก้อยากทำทีเดียวจะได้คุ้ม ก็ไปแก้ไขเรื่องอื่นด้วยไม่ใช่เฉพาะเรื่องอำนาจหน้าที่ความสัมพันธ์ระหว่างกระทรวงดีอีกับกสทช. คือ แก้ไขเรื่องที่มาของกรรมการ กสทช. และกระบวนการสรรหา โดยมีกรรมการสรรหาชุดครอบจักรวาลของประเทศไทย ได้แก่ ศาลรัฐธรรมนูญ ศาลปกครอง ป.ป.ช. ฯลฯ มาทำหน้าที่สรรหา แนวคิดนี้เหมาะกับการสรรหาองค์กรอิสระที่จะต้องมาตรวจสอบผู้มีอำนาจทางการเมือง แต่เมื่อจะต้องจัดการกับเศรษฐกิจและความสัมพันธ์ทางธุรกิจก็อาจจะมีปัญหาได้ องค์กรแต่ละแห่งมีความพิเศษที่ไม่ใช่ให้กรรมการชุดครอบจักรวาลมาเลือกใครก็ได้
ด้าน วรพจน์ วงศ์กิจรุ่งเรือง คณะทำงานติดตามนโยบายและสื่อโทรคมนาคม (NBTC Policy Watch) กล่าวเสริมในประเด็นเดียวกันว่า การเขียนวิธีสรรหากรรมการ กสทช. ชุดใหม่ เป็นไปในทางที่อยากให้กรรมการ กสทช. เป็นคนสูงอายุ เป็นนายทุนใหญ่ เป็นข้าราชการ และเป็นทหารตำรวจเท่านั้น ซึ่งไม่มีคำอธิบบายเลยว่า ทำไมคนที่จะมาเป็นกสทช. ต้องเป็นทหารหรือตำรวจยศพลโท แทนที่จะกำหนดคุณสมบัติให้ต้องมีประสบการณ์อื่นๆ ที่เกี่ยวกับเรื่องการสื่อสาร
วรพจน์ยังกล่าวด้วยว่า คณะกรรมการสรรหากสทช. ตามร่างฉบับนี้ ที่ประกอบไปด้วยศาล, ป.ป.ช., ผู้ตรวจการแผ่นดิน ฯลฯ เป็นการให้คนทำหน้าที่สรรหาเป็นคนเดียวกับคนที่จะต้องทำงานตรวจสอบ กสทช. ในอนาคต ซึ่งคนตรวจสอบไม่ควรจะมีส่วนในการเลือกคนมาเป็น กสทช. ไม่เช่นนั้นเมื่อในอนาคตต้องทำหน้าที่ตรวจสอบ จะตรวจสอบคนที่ตัวเองเลือกมาได้อย่างไร 
วรพจน์ วิเคราะห์ว่า การเสนอแก้ไข พ.ร.บ.กสทช. ครั้งนี้ ไม่ได้เป็นไปเพื่อให้ กสทช. ทำหน้าที่สนับสนุนเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัลให้ดีขึ้นอย่างแท้จริง เพราะเราไม่เห็นทั้งเรื่องแผนการจัดสรรคลื่นความถี่ หรือการเรียกคืนคลื่นความถี่ที่ยังทำไม่สำเร็จ การคุ้มครองความเป็นส่วนตัว และคุ้มครองผู้บริโภค แต่เป็นการแก้ไขเพื่อปรับโครงสร้างอำนาจอย่างเดียวโดยไม่เห็นวิสัยทัศน์ใดๆ และข้อเสนอแก้ไขไม่ได้สร้างการมีส่วนร่วมจากประชาชนแต่เป็นการทำโดยหน่วยงานรัฐทั้งหมด
"การแก้ไขกฎหมายครั้งนี้เป็นไปเพื่อปรับโครงสร้างอำนาจ เพื่อดึงอำนาจที่ควรจะเป็นขององค์กรอิสระอย่าง กสทช. กลับมาเป็นอำนาจของรัฐ ซึ่งจะเป็นปัญหา สะท้อนให้เห็นว่า ใครมีอำนาจอยู่ในตอนนี้ก็ปรับกฎหมายเพื่อตัวเอง พูดตามตรง คือ หน่วยงานความมั่นคงมีอำนาจอยู่ในตอนนี้ การปรับกฎหมายหลายส่วนก็เป็นไปเพื่ออำนาจของหน่วยงานความมั่นคง" วรพจน์กล่าว
ไทยขาดโรดแมป จัดสรรคลื่นความถี่ไร้ประสิทธิภาพมาตลอด
นพ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กรรมการ กสทช. อธิบายสถานการณ์ปัจจุบันว่า การเอาคลื่นความถี่มาใช้งานให้เกิดประโยชน์ยังเป็นปัญหาใหญ่ของประเทศไทย คลื่นความถี่บางประเภทที่มีใช้เพียงพอ เช่น wifi ก็ควรต้องประกาศให้ชัดเจนว่าไม่ต้องขออนุญาต เอกชนจะได้จัดสรรไปใช้กันได้ คลื่นวิทยุแท็กซี่ตอนนี้ก็ไม่รู้ใช้ระบบไหนกันอยู่ คลื่นโทรศัพท์มือถือก็รู้อยู่แล้วว่าเมื่อไหร่สัมปทานจะหมด ควรจะจัดการประมูลคลื่นล่วงหน้าก่อนที่สัมปทานเดิมจะหมดอายุได้ (early auction) แต่ก็ไม่ได้ทำ ทำให้ทุกอย่างโกลาหล ผู้ใช้บริการก็ไม่อาจรู้ตัวล่วงหน้าได้ว่าซิมจะดับหรือไม่ ซึ่งร่างแก้ไข พ.ร.บ.กสทช. ฉบับใหม่ก็ยังไม่ได้เขียนให้ชัดว่า ต้องจัดทำแผนการจัดสรรคลื่นความถี่ (Spectrum Roadmap) หรือการจัดประมูลคลื่นล่วงหน้าให้เรียบร้อย
นพ.ประวิทย์ ชี้ว่า ในอนาคตเทคโนโยลีต้องใช้คลื่นความถี่เยอะขึ้น ถ้าคลื่นที่จัดสรรมาใช้มีจำนวนน้อยโครงสร้างพื้นฐานของเราก็จะด้อยกว่าประเทศอื่น เช่น ต่อไปอาจจะมี 5G นิวเรดิโอ ต้องอาศัยการวางแผนการจัดการคลื่นก่อนถึงจะใช้ได้ ถ้าไม่วางแผนสินค้าจากต่างประเทศจะนำเข้ามาใช้ในประเทศไม่ได้ อุตสาหกรรมเราใช้งานไม่ได้ ผู้บริโภคก็จะขาดสิ่งที่ควรจะใช้ได้ 
"การจัดสรรคลื่นความถี่ด้วยวิธีการประมูล เป็นวิธีการที่โปร่งใสที่สุด ใครก็ตามที่พยายามทำให้ไม่เกิดการประมูล และพยายามให้มีการเล่นใต้โต๊ะได้ เป็นเรื่องอันตรายต่อตลาด ขณะเดียวกันการประมูลที่โปร่งใสก็ต้องมีหลักเกณฑ์การประมูลที่ฉลาดด้วย" นพ.ประวิทย์ กล่าว
ดร.รวีพันธ์ พิทักษ์ชาติวงศ์ ผอ.สายงานกฎหมายบริษัท ดีแทค กล่าวว่า ประเทศไทยไม่ได้กำลังแข่งขันกับตลาดในประเทศไทยเท่านั้น แต่กำลังแข่งขันกับตลาดทั่วโลก ซึ่งใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ที่เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตเป็นตัวนำในการการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ คลื่นความถี่ของไทยมีอยู่เท่าๆ กับอเมริกาและประเทศอื่น เราควรจะมีคลื่นความถี่ใช้ประมาณ 1340-1960 เม็กกะเฮิรตซ์ภายในปี 2563 แต่ปัจจุบันเราใช้กันอยู่ 320 เม็กกะเฮิรตซ์ คลื่นความถี่ของไทยหาได้ยาก ไม่ใช่เพราะไม่มี แต่เพราะไม่ได้จัดสรรเพื่อเอามาใช้กัน อาจกล่าวได้ว่าผู้ประกอบการ "หิว" เมื่อ กสทช. จัดสรรอะไรออกมาก็ต้องรีบแย่งกันหมด ทำให้ราคาสูงเกินกว่าที่ควรจะเป็น เป็นการจัดสรรคลื่นความถี่ที่ไร้ประสิทธิภาพ
ดร.รวีพันธ์ เสนอว่า กฎเกณฑ์การจัดสรรคลื่นความถี่ที่ดีต้องชัดเจนรู้ได้ล่วงหน้า ต้องกำกับดูแลโดยองค์กรที่โปร่งใส และต้องส่งเสริมการแข่งขัน เพื่อเพิ่มตัวผู้เล่นในตลาด ไม่ใช่ทำให้การแข่งขันลดลง รูรั่วของพ.ร.บ. กสทช. ปี 2553 ที่มีอยู่ตอนนี้ยังไม่ถูกแก้ไข เช่น การที่ผู้ประกอบการไม่สามารถรู้ล่วงหน้าว่าจะมีการประมูลคลื่นเมื่อไรก็ยังคงเหมือนเดิม กสทช. ไม่มีแผนการจัดสรรคลื่นความถี่ ไม่มีใครรู้ว่าในอนาคต กสทช. จะเอาคลื่นอะไรมาจัดสรรบ้าง ทำให้วางแผนการจัดการและการแข่งขันไม่ได้
ดร.รวีพันธ์ เล่าวว่า ตอนนี้สหภาพยุโรป กำหนดให้ประเทศสมาชิกจัดทำแผนการจัดสรรคลื่นความถี่ และต้องวางแผนการจัดประมูลล่วงหน้าก่อนสัมปทานเดิมหมดอายุ บางประเทศประมูลล่วงหน้า 3 ปี บางประเทศประมูลล่วงหน้า 5 ปี ซึ่งหากประมูลล่วงหน้าได้ประมาณ 1-2 ปี ก็เป็นเวลาที่เหมาะสม ซึ่งประเทศไทยไม่เคยทำได้แบบนี้ บางครั้งประมูลหลังจากใบอนุญาตเดิมหมดไปแล้วด้วยซ้ำ ดร.วีรพันธ์เสนอให้ ร่างพ.ร.บ. กสทช. ใหม่กำหนดให้ กสทช. มีหน้าที่จัดทำแผนการจัดสรรคลื่นความถี่ และจัดการประมูลล่วงหน้าอย่างน้อย 6 เดือน หรือ 1 ปี 
ดร.รวีพันธ์ แสดงความเห็นว่า หากการจัดสรรคลื่นความถี่ไม่ใช้วิธีการประมูล และใช้วิธีประกวดคุณสมบัติ (Beuty Contest) จะไม่มีความเป็นธรรม ซึ่ง ร่างพ.ร.บ.กสทช. ใหม่ เขียนว่า หลักเกณฑ์และเงื่อนไขการประมูล "จะคำนึงถึงจำนวนเงินที่เสนอให้แต่เพียงอย่างเดียวไม่ได้" ประโยคนี้จะมีปัญหาก่อให้เกิดการตีความถึงเงื่อนไขอื่นที่จะจัดสรรคลื่นความถี่โดยไม่ได้พิจารณาแค่เงินที่จะจ่ายตอบแทนให้รัฐ ส่วนตัวคิดว่าต้องเสนอให้ตัดประโยคนี้ออกจากร่าง พ.ร.บ. กสทช. ที่กำลังจะแก้ไข
หวั่น กสทช. เสียความเป็นอิสระ รัฐต้อง "เสียค่าโง่" เพื่อขอคืนคลื่นความถี่
วรพจน์ วงศ์กิจรุ่งเรือง คณะทำงานติดตามนโยบายและสื่อโทรคมนาคม (NBTC Policy Watch) แสดงความเห็นว่า ตามร่าง พ.ร.บ.กสทช. ใหม่ กำหนดให้ กสทช. จัดทำแผนแม่บท แต่ให้คณะกรรมการเศรษฐกิจดิจิทัลมีอำนาจวินิจฉัยเมื่อความเห็นไม่ตรงกัน เท่ากับกำลังทำลายความเป็นอิสระขององค์กรกำกับดูแลอย่าง กสทช. ซึ่งกรณีนี้เห็นชัดเจนว่า หน่วยงานของรัฐเป็นเจ้าของคลื่นความถี่ และมีผลประโยชน์ในการจัดสรรคลื่นความถี่มาโดยตลอด การให้หน่วยงานรัฐดึงอำนาจกลับไปจะเป็นปัญหา จะทำให้ กสทช. กลายสภาพเป็นหน่วยงานหนึ่งของกระทรวงเศรษฐกิจดิจิทัล เป็นเรื่องไม่เหมาะสมและเป็นเรื่องประโยชน์ทับซ้อน
สำหรับประเด็นที่ ร่างพ.ร.บ.กสทช.ใหม่ กำหนดให้ กสทช. สามารถเรียกคืนคลื่นความถี่โดยเอาเงินกองทุนไปจ่ายค่าชดเชยให้กับหน่วยงานที่ครอบครองคลื่นอยู่เดิม วรพจน์ เห็นว่า กสทช. มีอำนาจและหน้าที่ตามกฎหมายอยู่แล้วที่จะเรียกคลื่นความถี่ที่อยู่ในมือหน่วยงานรัฐและหน่วยงานความมั่นคง โดยไม่ต้องเอาเงินไปชดเชยอะไรเลย หากจะให้มีการจ่ายเงินชดเชยก็เรียกได้ว่าเป็นการ "เสียค่าโง่" เพราะคลื่นความถี่เป็นของสาธารณะไม่ใช่ของหน่วยงานรัฐและต้องเอาคืนอยู่แล้วตามกฎหมาย เราจะต้องจ่ายกรณีเรียกคืนคลื่นจากเอกชนที่เสียเงินประมูลมาเท่านั้น 
ด้าน ดร.พันธ์ศักดิ์ ศิริรัชตพงษ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กล่าวว่า การเสนอแก้ไขกฎหมายครั้งนี้เป็นการพยายามจะเดินไปข้างหน้า เราไม่สามารถเอาคลื่นความถี่คืนมาเพื่อจัดสรรใหม่ได้ เพราะติดขัดกฎหมายฉบับเดิม และมีคลื่นจำนวนหนึ่งที่หน่วยงานรัฐใช้งานอยู่ การเรียกคืนคลื่นก็ต้องให้เจ้าของเดิมย้ายไปคลื่นอื่นแล้วต้องเสียค่าอุปกรณ์ในการย้าย จึงกำหนดให้มีค่าชดเชยเยียวยาเพื่อให้เอาไปใช้ตรงนี้ โดยหวังว่าจะปลดล็อกปัญหาที่เรามีคลื่นความถี่ไม่เพียงพอได้ แต่ในทางปฏิบัติเรื่องการจ่ายค่าชดเชยจะทำอย่างไรอยากให้เป็นงานของ กสทช. ไปคิดต่อ
ดร.พันธ์ศักดิ์ ยืนยันว่า ร่างพ.ร.บ.กสทช. ฉบับนี้ เป็นการพยายามมองภาพอดีตและขับเคลื่อนไปข้างหน้า ภายใต้ความคิดที่ว่า เพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการ สร้างแข่งขันอย่างเสรีระหว่างเอกชน และให้ราคาลดลงเพื่อให้ประโยชน์ผู้บริโภค