ร่าง รธน.ผ่านประชามติ แต่ยังแก้ต่อเรื่องนายกฯ การศึกษา และศาสนา

แม้วันที่ 7 สิงหาคม 2559 ร่างรัฐธรรมนูญ 2559 จะผ่านการออกเสียงประชามติความเห็นชอบจากประชาชนส่วนใหญ่ แต่หลังจากวันออกเสียงประชามติก็มีการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญอีกครั้ง เพื่อให้สอดคล้องกับคำถามพ่วงที่ผ่านประชามติเห็นชอบเช่นกัน นอกจากนี้ ยังมีการออกคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จำนวนสองฉบับเพื่อ “ปะผุ” ร่างรัฐธรรมนูญ หลังจากเกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง

 

แก้ร่างรัฐธรรมนูญให้ ส.ว.ร่วมเลือกนายกฯ แต่เสนอชื่อไม่ได้

หลังจากที่การลงประชามติเสร็จสิ้น เสียงส่วนใหญ่ของผู้ออกมาใช้สิทธิมีมติเห็นชอบทั้งร่างรัฐธรรมนูญ และคำถามพ่วง “เห็นชอบให้ ส.ว.ที่มาจากการแต่งตั้ง ร่วมกับ ส.ส.เลือกนายกฯ” กรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) จึงดำเนินการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญเพื่อให้สอดคล้องกับคำถามพ่วง โดยมีการแก้ไข มาตรา 272 ให้ ส.ว.มีสิทธิร่วม ส.ส.ในการเลือกนายกรัฐมนตรี เพียงประเด็นเดียว

อย่างไรก็ตามเมื่อ กรธ.ส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ และศาลรัฐธรรมนูญได้ตีความกลับ โดยแถลงคำวินิจฉัยว่า ร่างรัฐธรรมนูญซึ่ง กรธ. แก้ไขในมาตรา 272 ไม่ชอบด้วยผลประชามติ และให้ กรธ.ดำเนินการแก้ไขตามที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ซึ่งประเด็นที่ กรธ. แก้ไขตามศาลรัฐธรรมนูญมีสามประเด็น คือ

1) “ส.ส.มีสิทธิเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีเท่านั้น” ศาลวินิจฉัยว่าการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญประเด็นนี้สอดคล้องกับผลประชามติแล้ว คือ ให้ ส.ส.เป็นผู้เสนอชื่อนายกฯ ทั้งจากบัญชีรายชื่อพรรคการเมือง และนายกฯ คนนอก โดย ส.ว.ไม่มีสิทธิเสนอชื่อนายกรัฐมนตรี

2) “ให้ ส.ว.ร่วมกับ ส.ส. ตัดสินใจเปิดทางนายกฯ คนนอก” จากเดิมร่างรัฐธรรมนูญกำหนดให้เป็นหน้าที่ของ ส.ส.ไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของทั้งสภามีอำนาจริเริ่มเสนอให้มีนายกฯ ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งได้ ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า การแก้ไขไม่สอดคล้องกับผลประชามติ โดยให้การเริ่มตัดสินใจว่าจะมีนายกฯ คนนอกหรือไม่ เป็นหน้าที่ของ ส.ว.รวมกับ ส.ส.ไม่น้อยกว่าสองในสามของสมาชิกทั้งหมด

3) “เลือกนายกฯ คนนอกไม่จำกัดภายในวาระแรก” จากเดิมร่างรัฐธรรมนูญมาตรา 272 กำหนดให้การเลือกนายกฯ คนนอกสามารถเกิดขึ้นเพียงครั้งเดียวในวาระเริ่มแรกหลังการเลือกตั้ง ส.ส. ครั้งแรกเท่านั้น แต่ศาลรัฐธรรมนูญให้เปลี่ยนเป็น จะเลือกนายกฯ คนนอกกี่คนก็ได้ ภายในระยะเวลา 5 ปีแรก

 

ม.44: ขยายเรียนฟรีจาก 12 ปีในร่างรัฐธรรมนูญ เป็น 15 ปีแทน

เรื่องแรก เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2559 ก่อนวันออกเสียงประชามติ หัวหน้า คสช.อาศัยอำนาจตามมาตรา 44 แก้ปัญหาร่างรัฐธรรมนูญ เรื่องการศึกษา โดยเนื้อหาในร่างรัฐธรรมนูญตามมาตรา 54 ระบุไว้ว่า “รัฐต้องดำเนินการให้เด็กทุกคนได้รับการศึกษาเป็นเวลา 12 ปี ตั้งแต่วัยก่อนเรียนจนจบการศึกษาภาคบังคับอย่างมีคุณภาพโดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย” ซึ่งมาตราดังกล่าวถูกวิพากษ์วิจารณ์เป็นอย่างมาก ว่าเป็นการลดทอนสิทธิในการศึกษา รวมทั้งในนโยบายทางด้านการศึกษาของรัฐบาลที่ผ่านมานั้น มีนโยบายให้เรียนฟรี 15 ปี การที่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ระบุให้เรียนฟรีเพียง 12 ปีนั้นเป็นเรื่องที่ขัดกับนโยบายทางด้านการศึกษาที่ผ่านมา 

หลังจากนั้น คสช. จึงอาศัยอำนาจตามมาตรา 44 ประกาศคำสั่ง หัวหน้า คสช. ฉบับที่ 28/2559 เรื่องให้จัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน 15 ปี โดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย โดยให้เหตุผลว่า รัฐบาลที่ผ่านมามีนโยบายการจัดการศึกษาโดยไม่เก็บค่าใช้จ่ายเป็นเวลา 15 ปี และเพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายด้านการศึกษาของ คสช. และนโยบายปฏิรูปการศึกษาของรัฐบาล จึงยืนยันแนวทางดังกล่าว และพัฒนาต่อไปด้วยการยกระดับจากการเป็นโครงการตามนโยบายของแต่ละรัฐบาลให้เป็นหน้าที่ของรัฐและมาตรการตามกฎหมาย เพื่อเป็นหลักประกันความยั่งยืนมั่นคง และเพื่อให้สามารถจัดงบประมาณสนับสนุนได้อย่างต่อเนื่อง 

 

ม.44: ให้รัฐสนับสนุนการศึกษาและเผยแพร่คำสอนทุกศาสนา ไม่ใช่เพียงแค่พุทธศาสนา นิกายเถรวาท

เรื่องถัดมาคือ เรื่องศาสนา ในร่างรัฐธรรมนูญ มาตรา 67 ระบุว่า “รัฐพึงอุปถัมภ์และคุ้มครองศาสนาพุทธและศาสนาอื่น” และวรรคต่อมา ในการคุ้มครองอุปถัมภ์พระพุทธศาสนา ให้รัฐสนับสนุนการศึกษาและการเผยแพร่หลักธรรมของพุทธศาสนานิกายเถรวาท และให้มีมาตรการและกลไกไม่ให้มีการบ่อนทำลายไม่ว่าในรูปแบบใด  

บทบัญญัติดังกล่าวนี้ถูกวิพากษ์วิจารณ์เป็นอย่างมากเนื่องจากถูกมองว่าเป็นการลิดรอนและเลือกปฏิบัติ ประกอบกับผลประชามติของ 3 จังหวัดชายแดนใต้ปรากฏไม่เห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ อันเนื่องมาจากบทบัญญัติเกี่ยวกับศาสนา วันที่ 22 สิงหาคม 2559 คสช.จึงใช้มาตรา 44 ออกคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 49/2559 เรื่องมาตรการอุปถัมภ์และคุ้มครองศาสนาต่างๆ ในประเทศไทย โดยขยายความคุ้มครองศาสนาและอุปถัมภ์ทุกศาสนา และให้รัฐสนับสนุนการศึกษาและเผยแพร่คำสอนที่ถูกต้องของแต่ละศาสนา โดยที่ไม่ขัดต่อกฎหมาย 

You May Also Like
อ่าน

กรธ. ชุดมีชัย ออกแบบระบบ สว. “แบ่งกลุ่มอาชีพ”-“เลือกกันเอง” สุดซับซ้อน!

ระบบ “เลือกกันเอง” สว. 67 ที่ให้เฉพาะผู้สมัคร ซึ่งต้องจ่ายค่าธรรมเนียม 2,500 บาท มีสิทธิโหวต คิดค้นโดยคนเขียนรัฐธรรมนูญ 2560 นำโดยมีชัย ฤชุพันธุ์
อ่าน

เป็น สว. เงินเดือนเท่าไหร่? ได้สวัสดิการ-สิทธิประโยชน์อะไรบ้าง?

สว. 2567 แม้ไม่มีอำนาจเลือกนายกฯ เหมือน สว. ชุดพิเศษ แต่มีอำนาจอื่นๆ เต็มมือ พร้อมกับเงินเดือนหลักแสน และสวัสดิการ สิทธิประโยชน์อีกเพียบ