เปิดผลสำรวจ ประชาชนรับร่างรัฐธรรมนูญ เพราะต้องการให้ประเทศสงบ เนื้อหาร่างมีผลต่อการตัดสินใจน้อย

โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) และสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล เสนอผลวิจัยเชิงสำรวจ เรื่อง “เหตุผลที่คนไปลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ”

iLaw ร่วมกับสถาบันสิทธิฯ เปิดเผยผลการสำรวจเรื่อง เหตุผลที่คนไปลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ กรณีศึกษากลุ่มตัวอย่างทั้งหมด 1,672 คน จาก 4 ภูมิภาค และกรุงเทพมหานคร เก็บข้อมูลระหว่างเดือนกันยายน – ตุลาคม 2559 พบว่า ในส่วนการรับรู้ข้อมูลก่อนการลงประชามติ กลุ่มตัวอย่างเกินครึ่ง คือ ร้อยละ 52.1 ระบุว่าได้รับข้อมูลไม่เพียงพอ ในขณะที่เหลือร้อยละ 47.9 ระบุว่าข้อมูลเพียงพอ 

ผลจากแบบสอบถาม กลุ่มตัวอย่างตอบคำถามว่า ช่องทางในการรับข้อมูลเกี่ยวกับประชามติที่มีคนดูมากที่สุด คือ สื่อโทรทัศน์ คิดเป็นร้อยละ 65.4 จากกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด ในขณะที่ช่องทางสื่ออินเทอร์เน็ตกลุ่มตัวอย่างสามารถเข้าถึงได้เพียงร้อยละ 38.2 และสื่อสังคมออนไลน์ ร้อยละ 47.6 ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า การรับสื่อส่วนใหญ่ของประชาชน ยังคงรับสื่อผ่านโทรทัศน์เป็นหลัก 

เนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญส่งผลน้อยต่อการตัดสินใจลงประชามติของประชาชน โดยเหตุผลสำคัญที่สุดในการลงประชามติเห็นชอบต่อร่างรัฐธรรมนูญที่กลุ่มตัวอย่างเลือกมากที่สุด คือ ต้องการให้ประเทศสงบ ร้อยละ 39.7 และเหตุผลที่มีคนเลือกรองลงมา คือ รัฐธรรมนูญจะช่วยปราบโกง ร้อยละ 14.9 และเชื่อมั่นในการปฏิรูปประเทศของ คสช. ร้อยละ 13.6

ส่วนเหตุผลสำคัญที่สุดของกลุ่มตัวอย่างที่ลงประชามติไม่เห็นชอบต่อร่างรัฐธรรมนูญ คือ ร่างรัฐธรรมนูญฯ ฉบับนี้ไม่ได้มาจากการมีส่วนร่วมของประชาชน ร้อยละ 33.3 เหตุผลรองลงมา คือ  ไม่ชอบ คสช. หรือต่อต้านการรัฐประหาร ร้อยละ 14.3 และมีการปิดกั้นการรณรงค์ของประชาชนบางกลุ่ม ร้อยละ 12.7 

ผลสำรวจยังพบว่า กลุ่มเยาวชน (18-24 ปี) มีแนวโน้มในการลงประชามติที่แตกต่างไปจากกลุ่มวัยทำงาน (25 ปีขึ้นไป) คือ กลุ่มเยาวชนมีสัดส่วนในการลงประชามติเห็นชอบและไม่เห็นชอบในสัดส่วนที่ใกล้เคียงกัน คือ เห็นชอบร้อยละ 49.5 และไม่เห็นชอบร้อยละ 50.5 ส่วนกลุ่มวัยทำงาน กลุ่มที่เห็นชอบ ร้อยละ 66.5 และไม่เห็นชอบ ร้อยละ 33.5 

ผลการสำรวจครั้งนี้สะท้อนให้เห็นว่า ประชาชนไม่ได้ตัดสินใจลงประชามติด้วยเหตุผลด้านเนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญเป็นหลัก แต่หากเป็นปัจจัยทางมิติสังคมและวัฒนธรรมอื่นๆ ที่ทำให้ประชาชนไปลงประชามติ อย่างไรก็ตามในการสำรวจครั้งนี้ยังมีข้อจำกัด จึงยังไม่สามารถตอบคำถามได้ทุกประเด็นเกี่ยวกับปัจจัยที่มีผลต่อการตัดสินใจของประชาชน รวมทั้งยังไม่สามารถตอบคำถามเกี่ยวกับเจตนารมณ์ทางการเมืองของประชาชนได้ทั้งหมด จึงต้องอาศัยการศึกษาในระยะต่อไป  

อ่านรายงานผลสำรวจฉบับเต็ม คลิก

ไฟล์แนบ
You May Also Like
อ่าน

ศาลรธน. ไม่รับคำร้อง ปมรัฐสภาถามเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ทำประชามติกี่ครั้ง ทำตอนไหน

17 เมษายน 2567 ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเไม่รับคำร้องที่รัฐสภาขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยปัญหาอำนาจหน้าที่ของรัฐสภาว่า รัฐสภาจะมีอำนาจในการพิจารณาแก้รัฐธรรมนูญได้เลยหรือต้องทำประชามติก่อน
อ่าน

เศรษฐาแถลง ประชามติ 3 ครั้งสู่รัฐธรรมนูญใหม่ “ห้ามแตะหมวดทั่วไป-หมวดพระมหากษัตริย์” ย้ำพร้อมแก้ พ.ร.บ.ประชามติ

23 เมษายน 2567 เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ระบุว่ารัฐบาลมีความเห็นสอดคล้องกับข้อสรุปของคณะกรรมการประชามติ ที่เห็นว่าควรมีการทำประชามติสู่รัฐธรรมนูญใหม่ทั้งสิ้นสามครั้ง ไม่แตะหมวดทั่วไปและหมวดพระมหากษัตริย์ และเน้นย้ำว่าควรมีการแก้ไข พ.ร.บ. ประชามติ ควบคู่กันไปด้วย