“บังคับคดีปกครอง” แบบใหม่ ยึดทรัพย์สินส่วนตัวเจ้าหน้าที่ได้ ไม่ต้องรอคดีจบก่อน

สนช. ผ่านร่างกฎหมาย แก้ไขพ.ร.บ.ศาลปกครองฯ สร้างระบบการบังคับคดีทางปกครองแบบใหม่ หลังระบบเดิมพบปัญหาบังคับคดีหน่วยงานรัฐไม่ได้ จึงเพิ่มอำนาจให้ศาลสั่งบังคับคดีเอากับทรัพย์สินส่วนตัวของเจ้าหน้าที่รัฐได้ และแม้บางคดีจะยังอยู่ระหว่างอุทธรณ์ ก็ขอให้ศาลสั่งบังคับคดีไปก่อนได้
เนื่องจากคดีปกครองเป็นคดีระหว่างหน่วยงานรัฐหรือเจ้าหน้าที่กับประชาชน หรือคดีระหว่างหน่วยงานรัฐด้วยกันเอง เมื่อศาลปกครองมีคำพิพากษา ผู้ที่ต้องปฏิบัติตามคำพิพากษาจึงอาจเป็นประชาชนทั่วไป หน่วยงานของรัฐ หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ ก็ได้แล้วแต่กรณี ศาลปกครองอาจพิพากษาให้ผู้แพ้คดีต้อง ยกเลิกคำสั่ง ข้อบังคับ หรือสั่งให้ทำอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือเลิกทำ หรือสั่งให้ชดใช้เงินหรือส่งมอบทรัพย์สินต่อกันก็ได้ 
กรณีที่ศาลสั่งให้ยกเลิกคำสั่ง หรือข้อบังคับ คำพิพากษาของศาลก็จะมีผลในทางกฎหมายโดยไม่ต้องมีกระบวนการเพื่อบังคับให้เป็นไปตามคำพิพากษาหรือที่เรียกว่า กระบวนการบังคับคดี อีกชั้นหนึ่ง กรณีที่ศาลมีคำพิพากษาให้บุคคลดำเนินการบางอย่าง หรือสั่งให้ชดใช้เงินหรือส่งมอบทรัพย์สิน จะใช้ระบบการบังคับคดีเช่นเดียวกับคดีแพ่ง คือ หากใครไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษา ศาลจึงมีอำนาจสั่งจับกุม กักขัง สั่งยึดหรืออายัดทรัพย์สินของบุคคลนั้นมาชำระหนี้ตามคำพิพากษาได้ 
ที่ผ่านมา การบังคับคดีต่อประชาชนทั่วไปยังไม่ใช่ปัญหาหลัก แต่ปัญหาการบังคับคดีของศาลปกครองมีเฉพาะกรณีที่ศาลสั่งให้หน่วยงานของรัฐหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐทำอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือชดใช้เงินหรือส่งมอบทรัพย์สิน ศาลปกครองสูงสุดจึงได้เสนอร่างกฎหมายฉบับใหม่เพื่อแก้ไขเพิ่มเติมในเรื่องการบังคับคดีปกครอง 
กฎหมายเดิมบังคับเอาทรัพย์สินราชการมาใช้หนี้ไม่ได้ – รอคดีถึงที่สุดอาจนานหลายปี
ร่างพ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง (ฉบับที่ 8)  ถูกเสนอเข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2558 ใช้เวลาพิจารณาไม่นานนัก และประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 26 เมษายน 2559 โดยมีสาเหตุสำคัญการแก้ไขกฎหมายฉบับนี้ 3 ประการ ได้แก่
1. กรณีหน่วยงานรัฐหรือเจ้าหน้าที่ไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาล ปฏิบัติไม่ถูกต้อง หรือล่าช้าเกินควร คำพิพากษาลักษณะนี้ไม่อาจนำวิธีการบังคับคดีทางแพ่ง คือ การสั่งให้บุคคลอื่นทำแทน สั่งจับกุมหรือกักขังเจ้าหน้าที่ซึ่งไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษาศาล มาใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพและเหมาะสม 
2. กรณีที่ศาลพิพากษาให้หน่วยงานรัฐชำระเงิน มักเกิดปัญหาที่หน่วยงานไม่มีงบประมาณเพียงพอชำระหนี้ หรือต้องใช้ระยะเวลานานเนื่องจากมีขั้นตอนการขออนุมัติและเบิกจ่ายงบประมาณ และหากหน่วยงานนั้นไม่ชำระเงินตามคำพิพากษา ศาลปกครองก็ไม่อาจบังคับคดีโดยการยึดหรืออายัดทรัพย์สินซึ่งเป็นของรัฐมาขายทอดตลาดเพื่อชำระหนี้ให้ผู้ชนะคดีได้ เนื่องจากทรัพย์สินของราชการไม่อยู่ในข่ายการบังคับคดี และไม่อาจบังคับเอาจากทรัพย์สินส่วนตัวของเจ้าหน้าที่ผู้ที่ไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษาได้
3. ตามกฎหมายเดิมเมื่อศาลปกครองชั้นต้นมีคำพิพากษา ผู้ชนะคดีไม่สามารถบังคับคดีได้ทันที เนื่องจากกฎหมายกำหนดให้รอไว้จนกว่าจะพ้นระยะเวลาอุทธรณ์ หรือหากมีการอุทธรณ์ก็ต้องรอจนกว่าคดีถึงที่สุด นั่นคือเมื่อศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษา ทำให้ผู้ชนะคดีไม่อาจได้ประโยชน์จากคำพิพากษาในทันที ซึ่งในทางปฏิบัติการต้องรอจนกว่าคดีจะถึงที่สุด อาจเป็นระยะเวลาที่ยาวนานมาก ขึ้นอยู่กับรายละเอียดของแต่ละคดี ทำให้การปฏิบัติตามคำพิพากษาไม่มีประสิทธิภาพ และบางครั้งก็ล่วงเลยเวลาที่ผู้ชนะคดีจะได้รับประโยชน์จากคำพิพากษานั้นแล้ว ดังนั้น ในบางครั้งคำพิพากษาของศาลจึงไม่ได้สร้างความเป็นธรรมแก่ผู้ชนะคดีได้จริง
กฎหมายใหม่ให้บังคับคดีไม่ต้องรอคดีจบ สั่งปรับหน่วยงานรัฐได้ ยึดทรัพย์สินส่วนตัวเจ้าหน้าที่ได้
พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง (ฉบับที่ 8) พ.ศ. 2559 จึงเป็นกฎหมายใหม่ที่ประกาศใช้เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว มีทั้งสิ้น 9 มาตรา  และมีสาระสำคัญ ดังนี้
1. กรณีที่ศาลปกครองมีคำพากษาแล้ว และไม่มีการยื่นอุทธรณ์ การบังคับคดีสามารถทำได้เมื่อพ้นระยะเวลา 30 วัน นับแต่ศาลอ่านคำพิพากษา แต่กรณีที่มีการยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาของศาลปกครองชั้นต้น ฝ่ายชนะคดีสามารถยื่นคำขอต่อศาลโดยชี้แจงเหตุผลอันสมควรเพื่อให้ฝ่ายแพ้คดีปฏิบัติตามคำพิพากษาทันทีโดยไม่ต้องรอให้ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาก็ได้ ศาลปกครองสูงสุดจะพิจารณาคำขอนั้นและมีคำสั่งตามที่เห็นสมควร แต่การยื่นขอบังคับคดีทันทีนี้ทำได้เฉพาะคดีบางประเภทตามที่ระเบียบของที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดประกาศกำหนดเท่านั้น ซึ่งนับถึงช่วงปลายปี 2559 ก็ยังไม่มีการออกระเบียบดังกล่าว 
2. กรณีที่ศาลเห็นว่าคู่กรณีฝ่ายที่แพ้คดีไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษา หรือมีข้อขัดข้องในการปฏิบัติตามคำพิพากษา ให้ศาลมีอำนาจพิจารณาหรือไต่สวนเพื่อกำหนดมาตรการให้คู่กรณีฝ่ายที่แพ้คดีปฏิบัติตามคำพิพากษาให้ถูกต้อง หรือเพื่อให้การบังคับคดีเสร็จสิ้นโดยเร็ว 
3. กรณีศาลพิจารณาข้อเท็จจริงและไต่สวนแล้วเห็นว่าหน่วยงานรัฐหรือเจ้าหน้าที่จงใจไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษา หรือปฏิบัติล่าช้า หรือไม่ปฏิบัติโดยไม่มีเหตุอันสมควร ศาลมีอำนาจสั่งให้หน่วยงานรัฐหรือเจ้าหน้าที่นั้นชำระค่าปรับได้ครั้งละไม่เกิน 50,000 บาท (ส่งเป็นรายได้แผ่นดิน) และมีอำนาจแจ้งผู้บังคับบัญชา หรือผู้กำกับดูแลเจ้าหน้าที่ผู้นั้นให้สั่งลงโทษทางวินัยได้ และหากเจ้าหน้าที่ไม่ชำระค่าปรับตามคำสั่งดังกล่าว ศาลมีอำนาจบังคับคดีเอาจากทรัพย์สินส่วนตัวของเจ้าหน้าที่ผู้นั้นได้ 
4. ให้มีเจ้าพนักงานบังคับคดีซึ่งศาลปกครองแต่งตั้งจากข้าราชการฝ่ายศาลปกครองเป็นผู้มีอำนาจดำเนินการบังคับคดีตามกฎหมายนี้ และตามระเบียบของที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด โดยสามารถมอบหมายให้เอกชนหรือบุคคลอื่นปฏิบัติการแทนภายการกำกับดูแลของตนได้
กฎหมายใหม่ของศาลปกครองฉบับนี้ นอกจากจะแก้ไขปัญหาข้อขัดข้องในการบังคับคดีต่อหน่วยงานรัฐและเจ้าหน้าที่ที่ไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษาแล้ว ยังเพิ่มอำนาจให้ศาลสั่งชำระค่าปรับซึ่งเป็นมาตรการที่ไม่มีกำหนดในการบังคับคดีทางแพ่ง และแม้ศาลไม่อาจบังคับคดีจากทรัพย์สินของราชการได้ แต่กฎหมายนี้ให้อำนาจศาลบังคับคดีเอาจากทรัพย์สินส่วนตัวของเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษาศาลได้ ซึ่งตามหลักกฎหมายปกครอง เจ้าหน้าที่ไม่ได้ปฏิบัติงานในฐานะส่วนตัวแต่ทำเพื่อประโยชน์สาธารณะ ศาลจึงต้องใช้มาตรการนี้อย่างจำกัดเคร่งครัดเฉพาะกรณีที่ศาลไต่สวนข้อเท็จจริงแล้วเห็นว่า เจ้าหน้าที่ผู้นั้นจงใจหรือไม่มีเหตุอันสมควรในการไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษาเท่านั้น 
นอกจากนี้ กฎหมายใหม่นี้ยังแก้ไขส่วนสำคัญเกี่ยวกับการบังคับคดี คือ กำหนดให้คู่กรณีฝ่ายชนะคดีสามารถยื่นคำขอให้ฝ่ายแพ้คดีปฏิบัติตามคำพิพากษาได้ทันทีโดยไม่ต้องรอคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด อย่างไรก็ตาม บทบัญญัติเรื่องนี้จะมีผลใช้บังคับได้ต่อเมื่อที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดออกระเบียบกำหนดประเภทคดี เงื่อนไขการยื่นคำขอ และการพิจารณาคำขอ เรียบร้อยแล้ว
ไฟล์แนบ