“บทเรียนราคาแพง” จากไม้บรรทัดของคนรักสัตว์

ในความเข้าใจของคนในสังคม สัตว์เลี้ยงอาจไม่ได้มีสถานะเป็นแค่สัตว์หรือทรัพย์สิน ไม่ว่าจะเป็นเจ้าตูบแสนรัก เจ้าเหมียวแสนซน หรือแม้แต่พ่อไก่ชนตัวเก่ง ก็ล้วนแล้วแต่เป็นเพื่อนร่วมโลกที่ขาดไปไม่ได้ แต่คำถามคือ ทุกคนมีความคิดและความรู้สึกต่อสัตว์เหมือนกันหรือเปล่า?
 
หากเดินไปถามพ่อแม่ที่ลูกน้อยถูกทำร้ายด้วยสัตว์เลี้ยงแสนรักของคนข้างบ้าน หรือไปถามคนที่ไม่ชอบสัตว์เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว พวกเขาอาจจะสะท้อนกลับมาว่า พวกมันก็ไม่ต่างจากอสูรกายแบบหนึ่งเสียด้วยซ้ำ และด้วยความรู้สึกที่ไม่เท่ากันระหว่างคนรักสัตว์กับคนที่ไม่รักสัตว์เช่นนี้ จึงมีปัญหาที่ต้องคิดอย่างพิถีพิถันว่า เราจะทำอย่างไร ให้ “ศีลธรรม” ของคนสองกลุ่มตรงกัน โดยไม่มีใครได้รับผลกระทบร้ายแรงจากสิ่งที่พวกเขาคิดหรือเชื่อ
“พ.ร.บ. คุ้มครองสัตว์ฯ” ในฐานะไม้บรรทัดอันใหม่ของสังคม
หากอุปมาศีลธรรมเป็นหน่วยมาตรวัด กฎหมายก็คือไม้บรรทัดที่ใช้วัดว่า ใครกำลังทำผิดไปจากเส้นศีลธรรมที่ประชาชนปกติพงมี และตอนนี้สังคมไทยก็มีการประกาศใช้ไม้บรรทัดอันใหม่เกี่ยวกับเพื่อนร่วมโลกอย่างสัตว์เลี้ยงและสัตว์อื่น ซึ่งมีชื่อเรียกว่า กฎหมายป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ หรือ "พ.ร.บ.คุ้มครองสัตว์ฯ"
กฎหมายดังกล่าวมีการการประกาศบังคับใช้เป็นกฎหมายตั้งแต่วันที่ 26 ธันวาคม 2557 เป็นต้นมาโดยผ่านการพิจารณาเห็นชอบโดยสภานิติบัญญัติแห่งชาติหรือ สนช. ที่เป็นสภาซึ่งมาจากการแต่งตั้งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติหรือ คสช. แต่เนื่องด้วย "สถานการณ์พิเศษ" ที่คสช. อ้าง สภาดังกล่าวจึงค่อนข้างขาดการมีส่วนร่วมจากประชาชนอย่างกว้างขว้าง
โดยเหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้  ก็คือ การอนุมานว่า สังคมได้มีมุมมองต่อสัตว์เปลี่ยนไป มองว่าสัตว์เป็นสิ่งมีชีวิต มีความรู้สึก และและเป็นองค์ประกอบสำคัญของสิ่งแวดล้อม จึงควรได้รับการคุ้มครองจากการทารุณกรรม และเจ้าของสัตว์ก็ต้องจัดสวัสดิภาพให้เหมาะสมตามประเภทและชนิดของสัตว์ ทั้งในระหว่างการเลี้ยงดู การขนส่ง การนำสัตว์ไปใช้งาน หรือใช้ในการแสดง จึงจำเป็นจะต้องตรากฎหมายดังกล่าวขึ้นมา
ส่วนเนื้อหาสาระของ พ.ร.บ.คุ้มครองสัตว์ฯ ก็ถือเป็นการยกระดับการคุ้มครองสัตว์ให้หนักแน่นขึ้นกว่าแต่ก่อน เช่น
หนึ่ง การกำหนดนิยามคำว่า “ทารุณกรรมสัตว์” ให้ชัดเจนขึ้น เช่น  การกระทําหรืองดเว้นการกระทําใดๆ ที่ทําให้สัตว์ได้รับความทุกข์ทรมานไม่ว่าทางร่างกายหรือจิตใจ ได้รับความเจ็บปวด ความเจ็บป่วย ทุพพลภาพ หรืออาจมีผลทําให้สัตว์นั้นตาย และให้หมายความรวมถึงการใช้สัตว์พิการ สัตว์เจ็บป่วย สัตว์ชราหรือสัตว์ที่กําลังตั้งท้อง เพื่อแสวงหาประโยชน์ ใช้สัตว์ประกอบกามกิจ ใช้สัตว์ทํางานจนเกินสมควร หรือใช้ให้ทํางานอันไม่สมควร เพราะเหตุที่สัตว์นั้นเจ็บป่วย ชราหรืออ่อนอายุ
สอง การปรับอัตราโทษให้สูงขึ้น โดยแต่ก่อนการกระทำความผิดเกี่ยวกับทารุณสัตว์จะถูกกำหนดไว้ในประมวลกฎหมายอาญามาตรา 381 กับ 382 ที่มีโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือนหรือปรับไม่เกินหนึ่งพันบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ  แต่ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองสัตว์ได้ปรับโทษเป็นจำคุก ไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 40000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
               
อย่างไรก็ดี กฎหมายนี้ก็มีข้อยกเว้นที่ไม่ถือเป็นการทารุณกรรมสัตว์อยู่หลายอย่าง ได้แก่
  1. การฆ่าสัตว์เพื่อใช้เป็นอาหาร เฉพาะสัตว์เลี้ยงที่เลี้ยงไว้เป็นอาหาร
  2. การฆ่าสัตว์ตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมการฆ่าสัตว์ และจำหหน่ายเนื้อสัตว์
  3. การฆ่าสัตว์ในกรณีที่สัตวแพทย์เห็นว่าสัตว์ป่วยหรือพิการหรือบาดเจ็บ และไม่สามารถรักษาให้มีชีวิตอยู่รอดและปราศจากความทรมาน
  4. การฆ่าตามพิธีกรรมความเชื่อทางศาสนา
  5. การป้องกันโรคระบาดจากสัตว์
  6. การป้องกันอันตรายจากสัตว์ต่อทรัพย์สินหรือชีวิต
  7. การกระทำใด ๆ ต่อร่างกายสัตว์ที่เข้าข่ายการประกอบวิชาชีพการสัตวแพทย์โดยผู้ประกอบวิชาชีพสัตวแพทย์
  8. การตัดหู หาง ขน เขา หรืองาโดยมีเหตุอันสมควร และไม่เป็นอันตรายต่อสัตว์ หรือการดำรงชีวิต
  9. การจัดให้มีการต่อสู้ของสัตว์ตามประเพณีท้องถิ่น
ไม้บรรทัดของคนรักสัตว์ VS. ไม้บรรทัดของคนในสังคม
นับตั้งแต่มีการบังคับใช้กฎหมายมา มีผู้ถูกดำเนินคดีไปแล้วอย่างน้อย 5 ราย โดยคดีแรกเป็นคดีของผู้สูงอายุ วัย 50 ปี ที่หนองคาย  ซึ่งต้องคำพิพากษา จำคุก 1 เดือน ปรับ 2 พันบาท เนื่องจากใช้อาวุธมีดขว้างทำร้ายสุนัข จนแพทย์ต้องทำการรักษาเย็บบาดแผลให้ประมาณ 100 เข็ม แต่ฝ่ายจำเลยอ้างว่า การกระทำของตนเกิดจากสุนัขจะวิ่งไปกัดไก่ของตน ทำให้ศาลสั่งรอลงอาญาเป็นเวลา 1 ปี แทน
อย่างไรก็ดี ในกรณีนี้ มีข้อสังเกตที่น่าสนใจว่า ตัวผู้เสียหายเองเป็นญาติกับผู้กระทำความผิด และด้วยความที่เป็นญาติกัน ก็ไม่อยากให้เรื่องใหญ่โต และเจ้าตัวก็ไม่คิดว่าเรื่องจะใหญ่โตขนาดนี้ อยากจะยอมความกันไป แต่ก็ไม่สามารถทำไม่ได้ เพราะกฎหมายดังกล่าวต้องดำเนินการให้เสร็จสิ้นกระบวนการ นี่นับว่าโชคดีที่คดีดังกล่าวใช้เวลาการตัดสินและพิจารณาไม่นาน (ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากการที่จำเลยเลือกที่จะรับสารภาพ) หากจำเลยคิดจะต่อสู้คดี แต่ไม่มีเงินประกันตัว ฝ่ายจำเลยก็ต้องอยู่ในคุกไปเรื่อยๆ จนกว่าคดีจะถึงที่สุด
อีกกรณีหนึ่งซึ่งก็น่าสนใจ ก็คือ คดีพ่อค้าขายข้าวมันไก่ ที่ใช้ท่อนเหล็กและใช้มีดทำร้ายสุนัขจรจัดที่ถูกล่ามโซ่ไว้บริเวณหน้าอพาร์ทเม้นท์จนตาย ซึ่งในคดีนี้ ศาลมีคำพิพากษาว่า  จำเลยกระทำผิดจริงตามฟ้อง พิพากษาจำคุก 4 เดือน โดยไม่รอลงอาญา แต่จำเลยรับสารภาพเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาคดี ลดโทษจำคุกลงกึ่งหนึ่ง เหลือโทษจำคุก 2 เดือน อีกทั้ง จำเลยอ้างว่ากระทำไปเพราะอารมณ์ชั่ววูบที่สุนัขเคยไปกัดบุตรของจำเลย ทำให้มีเหตุบรรเทาโทษ และเปลี่ยนโทษจำคุกเป็นกักขังไว้ 2 เดือน โดยจำเลยจะถูกนำตัวไปกักขัง ที่สถานกักขังกลาง จังหวัดปทุมธานี 
จะเห็นได้ว่า จากทั้งสองกรณี “มูลเหตุจูงใจ” ในการทำร้ายสัตว์ของพวกเขามิใช่เพราะพวกเขาเป็นคนเหี้ยมโหด เพียงแต่บันดาลโทสะและตอบโต้ในสิ่งที่สัตว์มากระทำต่อทรัยพ์สินของเขา หรือบุคคลที่เขารัก
ถึงแม้กฎหมายจะมีทางออกว่า การฆ่าสัตว์ในกรณีที่ “มีความจําเป็น” เพื่อป้องกันอันตรายแก่ชีวิตหรือร่างกายของมนุษย์ หรือสัตว์อื่น หรือป้องกันความเสียหายที่จะเกิดแก่ทรัพย์สิน แต่มันก็มีประเด็นที่ต้องให้ศาลเป็นผู้วินิจฉัยต่อว่า แล้วสิ่งใดเหล่าถึงจะเรียกว่า “มีความจำเป็น”
นับว่าน่าเห็นใจ เมื่อจำเลยทั้งสองคนในคดีนี้ ต้องโดนพิพากษาทั้งๆ ที่ “จริต” ต่อสัตว์ของพวกเขา ไม่ได้สอดคล้องกับ "จริต" ของผู้ที่ออกกฎหมาย แต่พวกเขาต้องถูกไม้บรรทัดของคนอีกกลุ่มหนึ่งกระหน่ำหวดให้หลาบจำ ในโทษฐานที่มองสัตว์ด้วยสายตาที่ไม่เหมือนกับผู้ผลักดันกฎหมายฉบับนี้
แน่นอนว่า การเห็นอกเห็นใจสิ่งมีชีวิตไม่ว่าตัวเล็กตัวน้อยแค่ไหนในโลกล้วนแล้วแต่น่าสรรเสริญและน่าชื่มชม เพียงแต่ มันยุติธรรมหรือไม่ ที่เราจะใช้การบังคับขู่เข็ญด้วยโทษจำคุกหรือโทษปรับที่สูงเพื่อให้คนที่มีพื้นฐานความคิดไม่เหมือนกับเรา หรือคนที่เติบโตมาด้วยสภาพแวดล้อมที่ต่างกับเรา
จะดีกว่าหรือไม่ที่เราจะใช้ “การมีส่วนร่วม” เพื่ออธิบายเหตุผล ความจำเป็น ในการยกระดับศีลธรรมของคนซึ่งมาจากสภาพแวดล้อมที่ต่างกันให้ตรงกัน ก่อนที่จะมีการบังคับใช้กฎหมาย เพราะที่ผ่านมาเราก็มีบทเรียนมากมายจากการบังคับใช้โทษที่สูงแต่ “ไม่พอดี” กับความเป็นจริง อาทิ ตา-ยาย เก็บเห็ดในป่าสงวน แต่กลับต้องถูกดำเนินจำคุกถึง 15 ปี เป็นต้น
เรื่องเหล่านี้คงไม่ใช่แค่บทเรียนราคาแพงสำหรับชายสูงวัย และพ่อของเด็กที่ต้องได้รับโทษจำคุก แต่มันยังรวมไปถึงผู้ร่างกฎหมายหรือผู้ที่สนับสนุนกฎหมายนี้อีกด้วย