อะไรๆ ก็ผม … ปัญหาภาระทางกฎหมายของผู้ดูแลเว็บไซต์ ตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ

เรื่องโดย อัฑฒพล ธนศานติ
นักศึกษาคณะนิติศาสตร์ ชั้นปีที่4 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
เมื่อผมเปิดสมาร์โฟนเครื่องสี่เหลี่ยมของผมขึ้นมา ทั้งหน้าเฟสบุ๊คและไลน์เต็มไปตัว Notification ต่างๆ มากมายเพื่อเตือนว่า มีใครติดต่อเรามาบ้างหรือในโลกใบนี้มีอะไรเคลื่อนไหวไหม? ผู้อ่านก็คงไม่ต่างจากผมเท่าไหร่นัก เพียงแค่ท่านลุกไปทานข้าว เข้าห้องน้ำ หรือเพียงแค่นั่งทำงานสักพัก โลกก็หมุนไปด้วยความเร็วอย่างที่คาดไม่ถึง และการสื่อสารในโลกสังคมออนไลน์ มีลักษณะผ่านเข้ามาอย่างรวดเร็วและสื่อสารออกไปรวดเร็วไม่ต่างกัน  
แล้วใครล่ะมีหน้าที่ต้องดูแลสื่อออนไลน์ตัวกลางพวกนี้? คำตอบก็คงเป็น เจ้าของสื่อตัวกลาง หรือภาษาทั่วไปๆเรียกว่า “แอดมิน” ส่วนภาษาทางกฎหมายเรียกว่า “ผู้ให้บริการ” กลุ่มคนเหล่านี้มีหน้าที่ต้องดูแลสื่อออนไลน์ของพวกเขาเพราะถือว่าเขาได้รับประโยชน์จากสื่อที่พวกเขาจัดทำขึ้นมา โดยการควบคุม ดูแลนั้นเป็น “หน้าที่” ไม่ให้ใครก็ได้เข้ามาสื่อสารทั้งวิธีการแสดงความคิดเห็น โพสต์ หรือกระทำบางอย่างที่สุ่มเสี่ยงว่าผิดกฎหมายของบ้านเมือง
อาจฟังดูเป็นเรื่องง่าย แต่ความจริงนั้นกลับตรงกันข้ามกัน เพราะอย่างที่กล่าวมาแล้วว่า โลกสังคมออนไลน์มันรวดเร็วและว่องไวมาก การควบคุมดูแลจาก “แอดมิน” อาจไม่ทั่วถึงเสมอไปแม้เป็นหน้าที่ของเขาก็ตาม และรัฐหรือเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องก็ไม่ควรปล่อยให้เป็นหน้าที่ของแอดมินเพียงอย่างเดียว แต่ แทนที่รัฐจะออกกฎหมายเพื่อช่วยสอดส่องดูแลและแก้ปัญหาในโลกออนไลน์ ที่มีการกระทำผิดกฎหมาย รัฐกลับออกกฎหมายที่สร้างภาระให้กับ “แอดมิน” หรือ “ผู้ให้บริการ” ให้มีภาระทางกฎหมายมากขึ้นตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 หรือ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ 
ปัญหาอันเกิดขึ้นจากมาตรา 15 ของ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ซึ่งบัญญัติไว้ว่า 
           “มาตรา 15  ผู้ให้บริการผู้ใดจงใจสนับสนุนหรือยินยอมให้มีการกระทำความผิดตามมาตรา 14 ในระบบคอมพิวเตอร์ที่อยู่ในความควบคุมของตน ต้องระวางโทษเช่นเดียวกับผู้กระทำความผิดตามมาตรา 14”
ปัญหาการเพิ่มภาระของผู้ให้บริการตามมาตรา 15 จะขอแบ่งอธิบายให้เกิดความเข้าใจง่ายๆ คือ หนึ่ง ปัญหาจากการบัญญัติถ้อยคำตามมาตรา 15,  สอง ปัญหาการสร้างภาระทางกฎหมายให้กับแอดมินในทางปฎิบัติ, สาม สิ่งที่ร่างใหม่จะเพิ่มเติมจากร่างเดิม, สี่ สิ่งที่ยังเป็นปัญหาเช่นเดิม และ  ห้า แนวโน้มต่อเศรษฐกิจดิจิทัล กับมาตรา 15 
1. ปัญหาจากการบัญญัติถ้อยคำตามมาตรา 15
1.1. ปัญหาประการแรก คือ การใช้คำว่า “จงใจสนับสนุนหรือยินยอม”  ในมาตราดังกล่าวขัดต่อหลักเกณฑ์กฎหมายอาญา เนื่องจากพระราชบัญญัติดังกล่าวเป็นกฎหมายมุ่งเน้นการลงโทษผู้กระทำความผิด จึงมีลักษณะเป็นกฎหมายอาญาประเภทหนึ่ง การบัญญัติถ้อยคำจึงต้องชัดเจน และการตีความจึงต้องเคร่งครัด จะตีความนอกเหนือจากถ้อยคำมิได้ 
นอกจากนี้การบัญญัติถ้อยคำในกฎหมายว่า “จงใจ” มิใช่การบัญญัติถ้อยคำตามลักษณะของกฎหมายอาญา เนื่องจากกฎหมายอาญา การจะลงโทษผู้กระทำความผิดต้องมีโครงสร้างองค์ประกอบภายในประกอบด้วย คือ “เจตนา” การใช้คำว่า “จงใจ” ซึ่งเป็นคำที่มักปรากฏในกฎหมายแพ่ง จึงอาจทำให้เกิดการตีความที่ผิดพลาดไปได้ว่า การจงใจ กับเจตนา เหมือนกันหรือไม่อย่างไร และขอบเขตเท่าใดจึงถือว่า มีเจตนาแล้ว 
1.2. ปัญหาประการสอง คือ มาตราดังกล่าวมิได้กำหนดฐานะว่า “ผู้ให้บริการ” คือผู้ใดบ้าง ซึ่งตามคำอธิบายพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ของสำนักงานศาลยุติธรรม ระบุว่า ผู้ที่จะมีความผิดตามมาตรา 15 ได้นั้นต้องเป็น ผู้ให้บริการตามมาตรา 3 บทนิยาม บัญญัติว่า   “ผู้ให้บริการ” หมายความว่า
          (1) ผู้ให้บริการแก่บุคคลอื่นในการเข้าสู่อินเทอร์เน็ต หรือให้สามารถติดต่อถึงกันโดยประการอื่น โดยผ่านทางระบบคอมพิวเตอร์ ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นการให้บริการในนามของตนเอง หรือในนามหรือเพื่อประโยชน์ของบุคคลอื่น
          (2) ผู้ให้บริการเก็บรักษาข้อมูลคอมพิวเตอร์เพื่อประโยชน์ของบุคคลอื่น  
ดังนั้น หากตีความโดยจากมาตรา 3 ของ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ผู้มีสถานะเป็น “ผู้ให้บริการ”หรือ “แอดมิน” ตามมาตรา 15 จึงต้องตีความโดยกว้าง รวมถึงกลุ่มผู้ให้บริการอย่างน้อยสี่จำพวก  
          1. ผู้ประกอบการโทรคมนาคมไม่ว่าโดยระบบโทรศัพท์ ระบบดาวเทียม ระบบวงจรเช่า หรือบริการสื่อสารไร้สาย  
          2. ผู้ให้บริการเข้าถึงเครือข่ายระบบคอมพิวเตอร์ไม่ว่าโดยอินเทอร์เน็ตทั้งผ่านสายและไร้สาย หรือในระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์ภายในเรียกว่า อินทราเน็ต ที่จัดตั้งขึ้นในเฉพาะองค์กรหรือหน่วยงาน  
          3. ผู้ให้บริการเช่าระบบคอมพิวเตอร์ หรือให้เช่าบริการโปรแกรมประยุกต์ (Host service provider) 
          4. ผู้ให้บริการเก็บรักษาข้อมูลคอมพิวเตอร์เพื่อประโยชน์แก่บุคคลอื่นตาม มาตรา 3(2) นั้นย่อมหมายถึงผู้ให้บริการข้อมูลคอมพิวเตอร์ผ่าน application ต่าง ๆ ที่เรียกว่า content  provider เช่น ผู้ให้บริการ Web board หรือ  Web service เป็นต้น 
ฉะนั้นจะเห็นได้ว่า คำว่า “ผู้ให้บริการ” ตามมาตรา 15 มีความหมายกว้างเกินไป รวมไปถึง จำพวกผู้ประกอบการโทรคมนาคมที่ดูแลระบบดาวเทียม ระบบวงจรเช่า หรือบริการสื่อสารไร้สาย ซึ่งโดยธรรมชาติผู้ให้บริการกลุ่มนี้จะไม่เข้ามาเกี่ยวข้องกับเนื้อหาที่สื่อสารกันระหว่างผู้ใช้บริการ
2. ปัญหาการสร้างภาระในการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ให้บริการ
2.1. ปัญหาประการแรก คือ ขอบเขตที่เนื้อหาใดจะเข้าข่ายเป็นความผิด นั้น ส่งผลให้ผู้ให้บริการต้องนำข้อมูลนั้นออกจากระบบของตนทั้งๆ ที่ยังไม่ทราบแท้จริงว่าข้อความนั้นขัดกับกฎหมายตามมาตรา 14 พระราชบัญญัติดังกล่าวจริงหรือไม่ ปัญหาข้อนี้ทำให้ผู้ให้บริการต้องทำหน้าที่คล้ายศาลที่ตัดสินล่วงหน้าว่าข้อความใดผิดมาตรา 14 เมื่อมีการนำข้อมูลออกจากระบบหรือมีการเซ็นเซอร์จากแอดมิน  ย่อมส่งผลโดยตรงให้ผู้ใช้บริการลดน้อยถอยลง กระทบต่อเศรษฐกิจดิจิทัลต่อไปอย่างแน่นอน 
2.2. ปัญหาประการสอง คือ เมื่อปรากฏข้อความที่ยังก้ำกึ่งระหว่าง ผิดกฎหมายกับไม่ผิดกฎหมาย แต่ไม่มีการแจ้งเตือนจากเจ้าหน้าที่รัฐ (หลักการ Notice and Takedown) ให้นำข้อมูลนั้นออก แต่กลับถูกตีความว่า “จงใจหรือยินยอม” ให้มีข้อความที่ผิดกฎหมาย ผู้ให้บริการจึงต้องรับความผิดตามมาตรานี้ทันที ประกอบกับไม่มีกำหนดระยะเวลาว่าเมื่อผู้ให้บริการพบข้อความฝ่าฝืนกฎหมายต้องนำออกภายในกี่วัน จึงเป็นความไม่แน่นอนของ “ผู้ให้บริการ” ที่เป็นคนกลางอยู่ระหว่างรัฐที่มีหน้าที่ควบคุมดูแล กับประชาชนที่เป็นผู้ใช้บริการ ภาระหนักทั้งหมดจึงตกกับ ผู้ให้บริการ หรือ แอดมินทันที
2.3. ปัญหาประการสาม คือ มาตราดังกล่าวเน้นการลงโทษ ผู้ให้บริการ ทั้งๆ ที่ผู้ให้บริการเป็นเพียง “ตัวกลาง” เท่านั้น แทนที่จะเน้นไปที่การสืบหาผู้กระทำผิดแท้จริงมากกว่า   โดยกำหนดให้ผู้ให้บริการมีโทษเช่นเดียวกับผู้กระทำผิดเอง 
กรณีศึกษาที่เด่นชัดที่สุดสำหรับปัญหาการตีความและบังคับใช้มาตรา 15 ของพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ คือ คดีจีรนุช เปรมชัยพร : ผู้อำนวยการเว็บไซต์ประชาไท  ซึ่งถูกฟ้องในฐานะผู้ให้บริการจากข้อความบนเว็บบอร์ดทั้งหมด 10 ข้อความ คดีนี้จำเลยให้การปฏิเสธและต่อสู้จนถึงศาลฎีกา สุดท้ายศาลฎีกาวางบรรทัดฐานให้จำเลยรับผิดในข้อความเดียว ซึ่งอยู่บนเว็บบอร์ดนาน 20 วัน ให้จำคุก 8 เดือน ปรับ 20,000 บาท โทษจำคุกให้รอลงอาญา
ในระยะหลัง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ฉบับนี้ถูกวิจารณ์อย่างหนักถึงปัญหาที่กล่าวมาแล้ว จึงเกิดความพยายามเสนอแก้ไขร่างกฎหมายฉบับนี้ เป็นหนึ่งในชุดกฎหมายความมั่นคงดิจิทัล หรือชุดกฎหมายเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล และมีการแก้ไขมาตรา 15 เพื่อแก้ปัญหาที่กล่าวมาแล้วนี้ด้วย 
3. ประเด็นที่ร่างแก้ไขฯ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ พัฒนาขึ้นจากกฎหมายเดิม
3.1. การยกเลิกคำว่า “จงใจ” และแก้ไขเพิ่มเติมเป็นคำว่า “ความร่วมมือ ยินยอม หรือรู้เห็นเป็นใจกัน”
ร่างกฎหมายใหม่ที่ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา ก็ยังไม่ได้ใช้คำว่า “เจตนา” ให้ชัดเจน แต่ใช้คำว่า “ความร่วมมือ ยินยอม หรือรู้เห็นเป็นใจกัน” ซึ่งย่อมเกิดความชัดเจนในการตีความ และปรับใช้มากกว่าคำว่าจงใจ เพราะทั้งคำว่า ร่วมมือ ยินยอม รู้เห็นเป็นใจล้วนเป็นคำที่ใช้ในกฎหมายอาญาหลักทั่วไป มีการตีความในเชิง ตัวการร่วมหรือผู้สนับสนุน ในหมวดที่ 6 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 (ตัวการ) และมาตรา 86 (ผู้สนับสนุน) ฉะนั้นร่างแก้ไขเพิ่มเติมดังกล่าว จึงเป็นการแก้ไขปัญหาได้ดีในระดับหนึ่ง ในแง่ปัญหาการบัญญัติถ้อยคำสำนวนในมาตรา 15
3.2. รัฐมนตรีออกกฎหมายลำดับรอง กำหนดขั้นตอนการแจ้งเตือน (หลัก Notice and Takedown)
จากกฎหมายเดิมเกิดปัญหาว่า “แอดมิน” ถือว่ามีความรับผิดทันที หากเป็นผู้บริการตามที่กฎหมายกำหนด และเข้าเงื่อนไข จงใจ ยินยอมหรือสนับสนุน ให้มีการกระทำความผิดเกิดขึ้น 
แต่ร่างแก้ไขเพิ่มเติมใหม่นี้นำหลัก Notice and Takedown มาใช้ หลักดังกล่าวนี้คือ หากพบข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่    ฝ่าฝืนกฎหมายปรากฏอยู่ในระบบคอมพิวเตอร์ที่อยู่ในความควบคุมของตน ให้รีบลบออกภายในเวลาอันเหมาะสมนับแต่วันที่รู้หรือได้รับแจ้ง หรือภายในระยะเวลาที่พนักงานเจ้าหน้าที่กำหนด หากลบออกภายในเวลาที่กำหนดแล้วก็จะไม่ต้องรับโทษ หากผู้ให้บริการมิได้ดำเนินการแก้ไขหรือระงับการทำให้แพร่หลายซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ดังกล่าว ก็จะต้องระวางโทษ 
หลัก Notice and Takedown ที่กฎหมายใหม่จะนำเข้ามาใช้จึงเป็นการลดภาระการควบคุมดูแล และลดภาระความเสี่ยงของตัวกลางได้บ้าง เพราะมีการแจ้งเตือนจากฝ่ายบริหาร เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเสมือนรัฐเข้ามามีบทบาทคัดกรองข้อมูลที่ฝ่าฝืนกฎหมายควบคู่ไปกับผู้ให้บริการ หลักการดังกล่าวจึงมีประโยชน์และช่วยลดภาระต่อ ผู้ให้บริการได้
แต่อย่างไรก็ตามขั้นตอนวิธีการตามมาตรา 15 วรรคสอง ของร่างแก้ไขเพิ่มเติมใหม่นั้น ยังไม่มีการออกกฎหมายลำดับรองถึงวิธีการแจ้งเตือนว่า มีขั้นตอนอย่างไร ระยะเวลาเท่าใดในการนำข้อมูลออกจากระบบของ     ผู้ให้บริการ ซึ่งก็ยังเป็นปัญหาต่อไป หากร่างใหม่ดังกล่าวมีประกาศใช้ออกมา ย่อมต้องมีกฎหมายลำดับรองออกตามมารับรองหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐและคุ้มครองสิทธิ์ของประชาชนเช่นกัน
3.3. เปิดโอกาสให้ผู้ให้บริการพิสูจน์ได้ว่าปฏิบัติตามขั้นตอนแจ้งเตือน
ร่างแก้ไขเพิ่มเติมใหม่นี้มีการบัญญัติ วรรคสามเพิ่มเติมขึ้นมา   “…ถ้าผู้ให้บริการพิสูจน์ได้ว่าตนปฏิบัติตามประกาศของรัฐมนตรีที่ออกตามวรรคสอง  ผู้นั้นไม่ต้องรับโทษ ” หลักนี้สืบเนื่องมาจากวรรคสอง ที่เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องใช้หลักการ Notice and Takedown  หรือการแจ้งเตือน ผู้ให้บริการว่า มีข้อมูลในการควบคุมดูแลของตนกำลังฝ่าฝืนกฎหมายอยู่ ต้องนำข้อมูลนั้นออกจากระบบคอมพิวเตอร์ ตามขั้นตอนที่รัฐมนตรีประกาศอันเป็นกฎหมายลำดับรองออกมา และหากยังมีข้อมูลที่ฝ่าฝืนกฎหมาย “ผู้ให้บริการ” จึงมีความผิด
แต่มาตรา 15 วรรคสาม บัญญัติเปิดโอกาสให้ ผู้ให้บริการ พิสูจน์ว่าตนได้ปฏิบัติตามขั้นตอนที่เจ้าหน้าที่แจ้งแล้ว เพียงแต่ข้อมูลฝ่าฝืนกฎหมายนั้นยังปรากฏอยู่ภายใต้การดูแลของตน ตนย่อมพ้นความรับผิด ซึ่งต่างจากมาตรา 15 เดิมอันปราศจากการพิสูจน์ใดๆ ทั้งสิ้น เมื่อปรากฏข้อมูลฝ่าฝืนกฎหมาย ภายใต้การควบคุมดูแลของผู้ให้บริการ กฎหมาย “ถือว่า” มีความรับผิด ทันที
ฉะนั้นการเปิดโอกาสให้มีการพิสูจน์หักล้างข้อกล่าวหาดังกล่าวจึงเป็นเรื่องที่เหมาะสมและเป็นธรรมมากขึ้นต่อผู้ให้บริการ แต่การบัญญัติดังกล่าวถูกตั้งข้อสังเกตจาก  ผู้ช่วยศาสตราจารย์ สาวตรี สุขศรี ดังคำสัมภาษณ์จากเว็บไซต์เครือข่ายพลเมืองเน็ตนี้  
“…ทว่าในร่างพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ตรรกะดังกล่าวกลับ “กลับกัน” คือแทนที่จะให้ผู้ให้บริการ “ไม่ต้องรับผิดไว้ก่อน” เว้นแต่จะมีส่วนรู้เห็นกับเนื้อหานั้น ร่างกฎหมายไทยกลับให้ “รับผิดไว้ก่อน” เว้นแต่ผู้ให้บริการจะพิสูจน์ได้ว่าตนไม่มีส่วนรู้เห็นกับเนื้อหานั้นหรือ ได้ทำตามขั้นตอนการแจ้งเตือนและเอาออกแล้ว ซึ่งนี่จะเป็นภาระแก่ผู้ให้บริการไทย…”
ซึ่งการตั้งข้อสังเกตดังกล่าว ผู้เขียนมีความคิดเห็นสอดคล้องกับบทสัมภาษณ์ เนื่องจากในกฎหมายอาญา จำเลย ย่อมได้รับการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าบริสุทธิ์ จนกว่าจะได้รับการพิสูจน์จากฝ่ายโจทก์จนปราศจากข้อสงสัยว่าจำเลยกระทำผิดจริง อันเป็นภาระการพิสูจน์ที่ต้องตกแก่ฝ่ายโจทก์ แต่ร่างแก้ไขเพิ่มเติมดังกล่าวกลับ ผลักภาระการพิสูจน์ไปยังจำเลย ซึ่งเป็นการบัญญัติขัดต่อหลักการทางกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา 
ฉะนั้นร่างแก้ไขเพิ่มเติมใหม่แม้จะบัญญัติบทยกเว้นความผิดไว้ เพื่อประโยชน์แก่ผู้ให้บริการ แต่การบัญญัตินั้นนอกจากขัดหลักกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาแล้ว ในอีกแง่หนึ่งยังเพิ่มภาระ เรื่องการพิสูจน์เพื่อยกเว้นความผิดให้แก่ผู้ให้บริการได้เช่นกัน ความหวังดีของผู้ร่างแก้ไขเพิ่มเติมดังกล่าวจึงควรทบทวน เรื่อง การพิสูจน์ยกเว้นความผิดให้ถี่ถ้วนเสียก่อนการประกาศใช้จริง
4. ประเด็นที่ยังเป็นปัญหาเช่นเดิม โดยร่างแก้ไข พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มิได้แก้ปัญหาหรือลดภาระแต่อย่างใด
4.1. คำว่า “ผู้ให้บริการ” ยังกว้างและขาดการแยกประเภทผู้ให้บริการเช่นเดิม
ดังกล่าวแล้วในบทที่สอง เรื่อง ปัญหาอันเกิดจากการบัญญัติถ้อยคำสำนวน คำว่า “ผู้ให้บริการ” ยังกว้างเช่นเดิมมิได้มีการระบุลงไปเฉพาะเจาะจง ในอนาคตอาจเกิดปัญหาการตีความกว้างเกินกว่าเจตนารมณ์ของกฎหมาย เพื่อเป็นผลร้ายกับคนที่ไม่ควรจะต้องรับผิดไปด้วย
4.2. ไม่มีกำหนดระยะเวลาชัดเจนว่าหลังการแจ้งเตือนต้องนำข้อมูลออกจากระบบภายในกี่วัน
ปัญหาดังกล่าวมีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะการที่รัฐออกคำสั่งทางปกครอง ประการใดประการหนึ่งมายังประชาชน ในที่นี้คือ ผู้ให้บริการ ว่าต้องนำข้อมูลที่ฝ่าฝืนกฎหมายออกจากระบบคอมพิวเตอร์ที่ตนควบคุม ดูแล  อันเป็นการกระทบต่อสิทธิ เสรีภาพในการประกอบอาชีพ และเสรีภาพในการติดต่อสื่อสาร การจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนนั้นจึงต้องกระทำโดยมีเหตุผลรองรับ และชั่งน้ำหนักตามหลักสัดส่วน จึงสามารถออกคำสั่งเพื่อจำกัดสิทธิเสรีภาพนั้นได้ และที่สำคัญนอกจากนั้น คำสั่งทางปกครองดังกล่าวยังต้อง มีความชัดเจน แน่นอน ของเงื่อนไขต่างๆ ที่รัฐจะล่วงล้ำสิทธิ เสรีภาพนั้นๆ 
กรณีเรื่อง คำสั่งของเจ้าหน้าที่เพื่อให้ผู้ให้บริการนำข้อมูลออกจากระบบ จึงต้องมีกำหนดเวลาที่แน่นอน เช่น ต้องนำข้อมูลที่ฝ่าฝืนกฎหมายออกจากระบบคอมพิวเตอร์ ภายใน 3 วันนับแต่ได้รับคำสั่งจากเจ้าหน้าที่กระทรวงไอซีที เป็นต้น  มิฉะนั้นเจ้าหน้าที่รัฐอาจใช้เป็นช่องโหว่ในการดำเนินคดีต่อผู้ให้บริการ โดยใช้มาตรฐานที่ไม่เท่าเทียมกันระหว่างผู้ให้บริการด้วยกันเอง หรือใช้อำนาจตามอำเภอใจได้ ปัญหาดังกล่าวจึงยังต้องรอดูกฎหมายลำดับรอง ที่ออกโดยอาศัยอำนาจรัฐมนตรี ว่าจะกำหนดวิธีการ ขั้นตอนการแจ้งเตือนอย่างไร ซึ่งหากกำหนดเวลาไว้ให้น้อยเกินสมควร เช่น 1 วัน หลักการดังกล่าวนี้ก็อาจสร้างปัญหาอื่นตามมาอีกก็ได้
5. แนวโน้มต่อเศรษฐกิจดิจิทัล กับมาตรา 15 
หากพิจารณาในมุมของเศรษฐกิจดิจิทัล ในอนาคตอันใกล้นี้ ต้องมีการเจริญเติบโตแบบก้าวกระโดดทั้งเทคโนโลยีด้านการสื่อสาร หรือเทคโนโลยีทางคอมพิวเตอร์ในรูปแบบต่างๆ
และเมื่อการสื่อสารทั้งหมดถูกรวบรวมโดยระบบคอมพิวเตอร์ สิ่งที่จะเกิดขึ้นตามมาคือ เว็บไซต์ต่างๆที่ใช้ในการติดต่อสื่อสาร แลกเปลี่ยนความคิดเห็นต่างเพิ่มมากขึ้น เมื่อมีผู้ให้บริการเพิ่มมากขึ้น ปัญหาของมาตรา 15 ย่อมเกิดตามมาอย่างหลีกเลี่ยงมิได้ ฉะนั้นหากยังมีการบังคับใช้กฎหมายฉบับปัจจุบันอยู่ย่อมส่งผลกระทบต่อผู้ให้บริการที่ต้องรับภาระความเสี่ยงในการควบคุมดูแลเว็บไซต์ของตนโดยเจ้าหน้าที่มิได้มีส่วนช่วยควบคุมดูแลอย่างเต็มกำลัง และเมื่อผู้ให้บริการต้องคอย ควบคุมดูแล จนเกินกำลังที่ตนจะรับภาระไว้ จึงตัดปัญหาโดยการลบ บล็อก ผู้ใช้บริการออกจากเว็บไซต์ของตนเอง ในทางกลับกันผู้ใช้บริการย่อมรู้สึกไม่เสรีในการใช้สื่อผ่านสังคมออนไลน์และหลบเลี่ยงเข้าสู่เว็บไซต์ตนได้รับความรู้สึกเช่นนั้น สุดท้ายสภาวะเช่นนี้จะทำให้กิจกรรมต่างๆ ในโลกดิจิทัลเป็นไปอย่างจำกัด ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจดิจิทัลอย่างแน่นอน