ปัญหาชาวบ้านกับการต่อต้านรัฐประหาร

โดย เลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์
๒๕ เมษายน ๒๕๕๙

 

                 

ขบวนประชาชนก่อนรัฐประหารปี ๒๕๔๙  ที่ชูคำขวัญหรือวาทกรรมแบบ  ‘ประชาชนต้องกำหนดอนาคตตนเอง’  ‘ประชาชนต้องมาก่อน’  ‘ลดอำนาจรัฐ เพิ่มอำนาจประชาชน’  รวมถึงข้อทบทวน  ข้อคิดเห็น  ข้อเสนอแนะ  หรือข้อค้นพบจากงานศึกษาวิจัยของปัญญาชนสาขาต่าง ๆ ที่พยายามแสวงหา ‘ความเป็นธรรมทางสังคม’  หรืออะไรอื่นทำนองนี้  เป็นอะไรที่ดูดี  จับต้องได้  มีสีสันและความหวังถึงแม้จะอยู่ท่ามกลางกระแสเชี่ยวกรากของทุนนิยมโลกาภิวัฒน์ก็ตาม  แต่ขบวนประชาชนหลังรัฐประหารปี ๒๕๔๙ เป็นต้นมา  ที่ยังคงชูคำขวัญหรือวาทกรรมดังกล่าว  เป็นอะไรที่ย้อนแย้งถึงขั้นวิกลจริต  ไม่ใช่เพราะคำขวัญหรือวาทกรรมดังกล่าวล้าสมัยตกยุคไปแล้ว  มันยังคงเป็นคำขวัญหรือวาทกรรมที่ทันสมัยอยู่เช่นเดิม  แต่การกระทำของขบวนประชาชนและปัญญาชนที่หันไปสนับสนุนรัฐประหารต่างหาก  ได้ทำให้มันกลายเป็นคำขวัญหรือวาทกรรมแบบจับต้องไม่ได้และไร้ความหวังอีกต่อไปโดยสิ้นเชิง

ส่วนใหญ่แล้วในขบวนประชาชน  โดยเฉพาะที่ทำงานกับชาวบ้านเพื่อติดตามนโยบาย  โครงการพัฒนาและการบังคับใช้กฎหมายด้านสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติของรัฐและทุน  มีความร่วมมือจากหลายภาคส่วนเพื่อทำการศึกษา ค้นคว้าและวิจัยต่อเรื่องดังกล่าวที่สัมพันธ์กับอำนาจ กลไกและการเอื้อประโยชน์ต่อกันทางการเมือง-ราชการ-ทุนเป็นอย่างดี  มีความเข้าใจเป็นอย่างดีว่าการเมือง-ราชการ-ทุนเกี่ยวข้องกันอย่างไรต่อการผลักดันนโยบาย โครงการพัฒนาและกฎหมายที่เอื้อประโยชน์ต่อกัน

แต่เป็นเรื่องน่าแปลก  ตรงที่ในระดับความคิด  ขบวนประชาชนมีความเข้าใจในความสัมพันธ์ของอำนาจ กลไกและการเอื้อประโยชน์ต่อกันทางการเมือง-ราชการ-ทุนเป็นอย่างดี  แต่ในระดับการกระทำกลับเห็นการปฏิบัติและเคลื่อนไหวไม่สอดคล้อง  กล่าวคือ  ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของอำนาจ กลไกและการเอื้อประโยชน์ต่อกันทางการเมือง-ราชการ-ทุนไม่สามารถหลุดออกมาจากเอกสารงานค้นคว้า ศึกษา วิจัยได้  มันยังคงเป็นความรู้ที่อยู่แค่ในงานเขียน งานประชุมสัมมนาและบ่นรำพึงในใจ  แทบจะไม่เคยเห็นหรือมีน้อยมากที่พวกที่อยู่ส่วนบนของขบวนประชาชนจะสร้างกระบวนการเรียนรู้เกี่ยวกับความสัมพันธ์ของอำนาจ กลไกและการเอื้อประโยชน์ต่อกันทางการเมือง-ราชการ-ทุนอย่างจริงจังให้กับขบวนประชาชน

บทรำพึงที่พบเห็นบ่อยมากในขบวนประชาชนก็คือ  การตัดพ้อด้วยความท้อแท้หรือไม่ก็ครุ่นคิดเพื่อจะหาหนทางใหม่หรือฝ่าทางตันอยู่เสมอว่าขบวนประชาชนได้เคลื่อนไหวจนติดเพดานของอำนาจรัฐแล้ว  ในทางอำนาจฝ่ายบริหารก็เคลื่อนไหวกดดันจนได้มติคณะรัฐมนตรี  แต่กลับถูกตระบัตสัตย์อยู่เสมอกับความไม่จริงใจในการแก้ไขปัญหา  ในทางอำนาจฝ่ายนิติบัญญัติสามารถเสนอร่างกฎหมายฉบับประชาชน  แต่กลับถูกแก้ไขเนื้อหาเสียจนไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์เดิม  ในทางอำนาจฝ่ายตุลาการก็ถูกกลั่นแกล้งจากการถูกดำเนินคดีและระบบเจ้าขุนมูลนายของตุลาการที่ดูถูกเหยียดหยามประชาชนจนต้องติดคุกติดตารางหรือโดยทำทัณฑ์บน  ในทางอำนาจฝ่ายเถื่อนก็บาดเจ็บ พิการและล้มตายจากการข่มขู่ คุกคาม ทำร้ายร่างกายและลอบฆ่า

ด้วยความคิดเช่นนี้เอง  จึงคล้ายกับจะมีบทสรุปในทำนองว่า  ไม่ว่าจะครุ่นคิดเพียงใดก็ไม่สามารถมีหนทางอื่นอีกที่จะฝ่าทางตันได้  นอกเสียจาก ‘อำนาจพิเศษ’ ที่สามารถบันดาลให้ความตีบตันของขบวนประชาชนได้รับการทะลุทะลวงออกไปจากข้อจำกัดและอำนาจของฝ่ายบริหาร นิติบัญญัติและตุลาการที่ถูกควบคุมโดยรัฐบาลประชาธิปไตยจากการเลือกตั้ง  

ขบวนประชาชนเหล่านั้น  โดยเฉพาะพวกที่อยู่ส่วนบนหรือมีบทบาทชี้นำในขบวนประชาชนจึงโหยหา เข้าร่วม สนับสนุนรัฐประหารทั้งสองครั้งล่าสุด  เพราะเห็นว่ารัฐประหารจะทำให้อำนาจรัฐของรัฐบาลประชาธิปไตยจากการเลือกตั้งเกิดสภาวะโกลาหล วุ่นวาย ชะงักงัน หยุดนิ่ง เปลี่ยนแปลงหรือยุติยกเลิกต่อนโยบาย โครงการพัฒนาขนาดใหญ่และการบังคับใช้กฎหมายที่เอื้อประโยชน์ต่อรัฐและทุนต่อพื้นที่/ประเด็น/กรณีปัญหาที่พวกเขาทำงานเฝ้าติดตามอยู่

รวมทั้งจะทำให้เกิดช่องทางใหม่ที่ลัดและพิเศษ  ถือว่าเป็นหน้าต่างแห่งโอกาสในการเชื่อมประสานกับผู้ขึ้นมามีอำนาจจากรัฐประหารเพื่อนำเสนอและให้ยุติปัญหาจากนโยบาย โครงการพัฒนาขนาดใหญ่และการบังคับใช้กฎหมายที่เอื้อประโยชน์ต่อรัฐและทุนในพื้นที่/ประเด็น/กรณีปัญหาที่พวกเขาทำงานเฝ้าติดตามอยู่  

ตรงจุดนี้เอง  มีความเปลี่ยนแปลงที่น่าสนใจเกิดขึ้น  เนื่องจากว่าพวกที่อยู่ส่วนบนหรือมีบทบาทชี้นำในขบวนประชาชนกลับสามารถสร้างกระบวนการเรียนรู้เกี่ยวกับความสัมพันธ์ของอำนาจ กลไกและการเอื้อประโยชน์ต่อกันทางการเมือง-ราชการ-ทุนอย่างจริงจังให้กับขบวนประชาชนได้  จนสามารถชี้นำ เกณฑ์และทำความเข้าใจกับมวลชนในพื้นที่/ประเด็น/กรณีปัญหาต่าง ๆ ที่พวกเขาเหล่านั้นทำงานเฝ้าติดตามอยู่ให้เข้าร่วม (หรือถ้าไม่สามารถเข้าร่วมได้ก็คล้อยตามเห็นด้วยและมีบทบาทสนับสนุนอยู่ในพื้นที่) กับการชุมนุมเพื่อสนับสนุนและเชื้อเชิญให้ทหารออกมาทำการรัฐประหารขับไล่รัฐบาลประชาธิปไตยจากการเลือกตั้งออกไป  ในรัฐประหารทั้งสองครั้งล่าสุด
 

                  

แต่สิ่งที่ได้กลับไม่คุ้มเสีย  รัฐประหารไม่เพียงแค่ ‘ไม่ปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง’  และทำลายการเมืองในส่วนของอำนาจฝ่ายบริหาร นิติบัญญัติและตุลาการตามที่ขบวนประชาชนคาดหวังต้องการ  แต่มันยังได้ทำลายการเมืองของขบวนประชาชนที่อยู่นอกระบบเลือกตั้ง/รัฐสภา  ซึ่งเป็นประชาธิปไตยทางตรงและการเมืองบนท้องถนนเสียจนย่อยยับด้วยการออกคำสั่งที่มีสถานะเป็นกฎหมายกดขี่คนยากคนจนและคนเล็กคนน้อยในสังคมหนักข้อเสียยิ่งกว่ารัฐบาลประชาธิปไตยจากการเลือกตั้งจะสามารถกระทำได้  เช่น  การออกคำสั่ง คสช. ที่ ๖๔/๒๕๕๗,  ๖๖/๒๕๕๗  และ ๔/๒๕๕๘ [1] เพื่อบังคับใช้แผนแม่บทป่าไม้ฯ [2] ในการทวงคืนผืนป่าโดยอ้างการอนุรักษ์พื้นที่ป่าต้นน้ำลำธารขึ้นมาบังหน้าด้วยการเผา ทำลาย ตัด โค่นพืชผลการเกษตร  ยึดที่ดินคืนและจับกุมดำเนินคดีโทษฐานบุกรุกทำลายป่าและจับจองที่ดินทำกินเฉพาะกับประชาชนคนเล็กคนน้อยซึ่งเป็นเกษตรกรรายย่อยเสียเป็นส่วนใหญ่  แต่ละเลยที่จะปฏิบัติกับผู้มีที่ดินรายใหญ่ในกรณีเดียวกันแบบเดียวกัน

การประกาศใช้กฎหมายห้ามชุมนุม  หรือพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. ๒๕๕๘  ที่ห้ามการชุมนุมแทบทุกกิจกรรมเคลื่อนไหวของขบวนประชาชน  จนไร้ซึ่งเสรีภาพและสิทธิในการแสดงความคิดเห็นและการมีส่วนร่วมกับรัฐในการกำหนดนโยบายและพัฒนาบ้านเมือง

การเข้าไปข่มขู่ คุกคาม เรียกไปปรับทัศนคติ ฟ้องคดี จับกุมคุมขังและสั่งห้ามประชาชนในพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศให้หยุดเคลื่อนไหวต่อต้านนโยบาย โครงการพัฒนาขนาดใหญ่ของรัฐและเอกชนและการบังคับใช้กฎหมายที่เอื้อประโยชน์ต่อรัฐและทุน   

การออกคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ ๓/๒๕๕๙  และ ๔/๒๕๕๙ [3] ที่ให้ยกเว้นการบังคับใช้กฎหมายผังเมืองในเขตเศรษฐกิจพิเศษและในโรงงานอุตสาหกรรมบางประเภท  และคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ ๙/๒๕๕๙ [4] เพื่อยกเว้นโครงการด้านคมนาคมขนส่ง  โรงไฟฟ้าถ่านหิน  การสร้างเขื่อนและชลประทาน  ฯลฯ  สามารถจัดหาผู้รับเหมาเอกชนเพื่อดำเนินโครงการหรือกิจการได้โดยไม่ต้องรอให้ EIA ได้รับความเห็นชอบเสียก่อน

ล่าสุดออกคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ ๑๓/๒๕๕๙  เรื่อง การป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดบางประการที่เป็นภยันตรายต่อความสงบเรียบร้อยหรือบ่อนทำลายระบบเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ  ลงวันที่ ๒๙ มีนาคม ๒๕๕๙  ที่ขยายอำนาจของทหารขึ้นมาเป็นองค์กรมาเฟียโดยแต่งตั้งให้เป็นเจ้าพนักงานป้องกันและปราบปรามแทนตำรวจ  และกำหนดกระบวนการในการป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดอาญาขึ้นใหม่ที่มีลักษณะพิเศษหรือเกินไปกว่ากฎหมายอาญากำหนดให้กระทำได้  โดยมีอำนาจเรียกรายงานตัว จับกุม ตรวจค้น ควบคุมตัวและยึดหรืออายัดทรัพย์ของประชาชนโดยตรงได้  ซึ่งคงส่งผลโดยตรงต่อการกวาดจับประชาชนที่ต่อต้านคัดค้านนโยบาย โครงการพัฒนาขนาดใหญ่และการบังคับใช้กฎหมายที่เอื้อประโยชน์ต่อรัฐและทุนด้วยอย่างแน่นอน  เป็นต้น

 

                

ภาวะของการหนีเสือปะจรเข้เช่นนี้  ก่อให้เกิดคำถามในทางเสื่อมและความขัดแย้งร้าวลึกในขบวนประชาชนว่า  ทำไมขบวนประชาชนไม่ยืนหยัด เคียงข้าง ต่อสู้เพื่อ (แต่กลับอยู่ขั้วตรงข้ามหรือเป็นปฏิปักษ์กับ) ประชาธิปไตย ?  

อะไรเป็นเหตุปัจจัยให้ขบวนประชาชนทำการสนับสนุนรัฐประหาร ?

ทำไมขบวนประชาชนถึงไม่ต่อสู้เคียงบ่าเคียงไหล่ไปกับขบวนการประชาธิปไตย  หรือต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งประชาธิปไตย  ขับไล่รัฐประหาร  แต่กลับต่อสู้เคียงบ่าเคียงไหล่ไปกับขบวนการชาตินิยม  นิยมอำนาจทหารและอนุรักษ์นิยมเพื่อขับไล่ประชาธิปไตยแทน ?

เหตุที่ต้องถามเช่นนี้ก็เพราะว่าขบวนประชาชนได้ประสบพบเจอกับความเลวทรามในรูปแบบและวิธีการที่ไม่ต่างกันระหว่างรัฐบงกัาลประชาธิปไตยจากการเลือกตั้บรัฐประหาร  แต่ทำไมขบวนประชาชนถึงสามารถสร้างกระบวนการเรียนรู้อย่างจริงจังเกี่ยวกับความเลวร้ายของความสัมพันธ์ทางอำนาจ กลไกและการเอื้อประโยชน์ต่อกันทางการเมือง-ราชการ-ทุนจนสามารถเข้าร่วม (หรือถ้าไม่สามารถเข้าร่วมได้ก็คล้อยตามเห็นด้วยและมีบทบาทสนับสนุนอยู่ในพื้นที่) กับการชุมนุมเพื่อขับไล่รัฐบาลทักษิณและรัฐบาลยิ่งลักษณ์จนนำมาสู่การรัฐประหารเมื่อวันที่ ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙  และ ๒๒ พฤษภาคม ๒๕๕๗  ตามลำดับ  ได้

แต่ทำไมกับความเลวทรามยิ่งกว่าหลายเท่าที่เกิดขึ้นจากรัฐประหารถึงไม่สามารถสร้างกระบวนการเรียนรู้อย่างจริงจังในขบวนประชาชนเกี่ยวกับด้านที่เลวร้ายของความสัมพันธ์ของอำนาจ กลไกและการเอื้อประโยชน์ต่อกันของรัฐประหาร-ราชการ-ทุนเพื่อขับไล่รัฐบาลเผด็จการทหาร คสช. ได้

และหากมีคำถามตอบโต้ในเชิงหลบเลี่ยงว่า  ขบวนประชาชนเป็นขบวนการเคลื่อนไหวที่มีพลังหรือศักยภาพพอต่อการต่อต้านรัฐประหารจริงหรือ ?  คำตอบที่ตรงไปตรงมาที่สุดก็คือ  ไม่ควรกังวลในสิ่งนั้น  ภารกิจของขบวนประชาชนมีแต่การเผยความจริงให้ปรากฎ  ก็ในเมื่อความคิดต่อการเข้าร่วมขับไล่รัฐบาลทักษิณและยิ่งลักษณ์ล้วนมาจากความคิดเห็นที่เห็นว่าอำนาจทางการเมืองที่แข็งแกร่งของรัฐบาลทั้งสองสามารถผลักดันนโยบาย โครงการพัฒนาและการบังคับใช้กฎหมายที่เข้าข้างรัฐและทุนเสียจนทำให้ประชาชนไม่มีพื้นที่ทางการเมือง สังคมและเศรษฐกิจในการมีส่วนร่วมพัฒนาบ้านเมืองร่วมกับภาคส่วนอื่น ๆ  และเห็นร่องรอยการทุจริตคอร์รัปชั่นเต็มไปหมด  ก็จงคิดกับรัฐบาลเผด็จการทหาร คสช. ให้เหมือนกัน  หรือพูดให้ตรงกว่านั้นก็คือ  จงคิดกับรัฐบาลเผด็จการทหาร คสช. ให้มากกว่าอีกหลายเท่าจากที่คิดกับรัฐบาลทักษิณและยิ่งลักษณ์  เพราะอำนาจจากรัฐประหารในยุคเผด็จการทหาร คสช. นั้นรุนแรง  แข็งกร้าว  กดขี่  ข่มเหง  คุกคาม  ปิดกั้นเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น  การชุมนุมและการมีส่วนร่วมของประชาชนต่อนโยบาย โครงการพัฒนาและการบังคับใช้กฎหมายเพื่อเอื้อประโยชน์ต่อรัฐและทุนมากยิ่งกว่า  

ดังนั้น จงให้ความรู้กับขบวนประชาชนเพื่อประกาศท่าทีให้ชัดเจนต่อการต่อต้านรัฐประหารให้เหมือนกับที่ให้ความรู้แก่ขบวนประชาชนในการออกมาขับไล่รัฐบาลทักษิณและยิ่งลักษณ์นั่นแหละ 

 

__________________________________

 

[1] หมายถึง  คำสั่ง คสช. ที่ ๖๔/๒๕๕๗ เรื่อง การปราบปรามและหยุดยั้งการบุกรุกทำลายทรัพยากรป่าไม้  ลงวันที่ ๑๔ มิถุนายน ๒๕๕๗  คำสั่ง คสช. ที่ ๖๗/๒๕๕๗ เรื่อง เพิ่มเติมหน่วยงานสำหรับการปราบปราม หยุดยั้งการบุกรุกทำลายทรัพยากรป่าไม้และนโยบายการปฏิบัติงานเป็นการชั่วคราวในสภาวการณ์ปัจจุบัน  ลงวันที่ ๑๗ มิถุนายน ๒๕๕๗  และคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ ๔/๒๕๕๘ เรื่อง มาตรการเพิ่มประสิทธิภาพในการบังคับใช้กฎหมายที่คุ้มครองประโยชน์สาธารณะและประชาชนโดยส่วนรวม  ลงวันที่ ๘ เมษายน ๒๕๕๘

 

[2] แผนแม่บทป่าไม้ฯ  หรือชื่อเต็มว่า  ‘แผนแม่บทการแก้ไขปัญหาการทำลายทรัพยากรป่าไม้ การบุกรุกที่ดินของรัฐและการจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน พ.ศ. ๒๕๕๗’  จัดทำโดยกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร  และกระทรวงทรัพยากรธรรชาติและสิ่งแวดล้อม,  พ.ศ. ๒๕๕๗

 

[3] หมายถึง  คำสั่งหัวหน้าหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ ๓/๒๕๕๙  เรื่อง การยกเว้นการใช้บังคับกฎหมายว่าด้วยการผังเมืองและกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคารในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ  ลงวันที่ ๒๐ มกราคม ๒๕๕๙  และคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ ๔/๒๕๕๙  เรื่อง การยกเว้นการใช้บังคับกฎกระทรวงให้ใช้บังคับผังเมืองรวมสำหรับการประกอบกิจการบางประเภท  ลงวันที่ ๒๐ มกราคม ๒๕๕๙

 

[4] หมายถึง  คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ ๙/๒๕๕๙  เรื่อง การแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม  ลงวันที่ ๗ มีนาคม ๒๕๕๙