ก่อนท้องฟ้าจะสดใส: แม้จะใช้กฎหมายสั่งห้ามชุมนุมกันแบบผิดๆ แต่ก็ห้ามเราเคลื่อนไหว-พูด-คิด ไม่ได้

เดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ตำรวจและทหาร อ้างอิงและบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวกับการชุมนุมทั้งสามฉบับอย่างผิดเพี้ยน ทับซ้อนกัน จนสร้างความสับสนวุ่นวายไปหมด หวังหยุดการเคลื่อนไหวเรื่องต่างๆ ของภาคประชาชน แต่วิธีการนี้ไม่อาจบรรลุผลได้ง่ายนักตราบเท่าที่ภาคประชาชนไทยยังเข้มแข็งพอ และสังคมพร้อมสนับสนุนไปด้วยกัน
ในภาวะปัจจุบัน เหมือนจะมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการห้ามจัดการชุมนุมอยู่ถึง 3 ฉบับ (ในกรณีที่เราเรียกประกาศคสช.ว่ากฎหมาย)
1. ประกาศคสช. ฉบับที่ 7/2557 เรื่องห้ามชุมนุมทางการเมืองเกิน 5 คน มีผลบังคับใช้ 22 พฤษภาคม 2557
2. คำสั่งหัวหน้าคสช. ฉบับที่ 3/2558 ข้อ 12 ออกโดยอาศัยอำนาจมาตรา 44 มีผลบังคับใช้ 1 เมษายน 2558
3. พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 มีผลบังคับใช้ 13 สิงหาคม 2558
โดยหลักแล้ว เมื่อกฎหมายหลายฉบับมีหลักการเรื่องเดียวกัน หากกฎหมายที่ออกมาทีหลังมีเนื้อหาแตกต่างกับกฎหมายที่ใช้อยู่ก่อน การประกาศใช้ฉบับใหม่เท่ากับยกเลิกฉบับเก่าโดยอัตโนมัติ ดังนั้น ประกาศคสช.ฉบับที่ 7/2558 และ คำสั่งหัวหน้าคสช. ฉบับที่ 3/2558 ข้อ 12 ต้องไม่มีผลบังคับใช้แล้ว ซึ่งระหว่างที่ประเด็นนี้ยังควรถกเถียงกันให้ชัดในวงการนิติศาสตร์ เจ้าหน้าที่รัฐก็เริ่มบังคับใช้กฎหมายทั้งหลายไปพร้อมๆ กัน
16 กุมภาพันธ์ 2559 ชาวบ้านกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด อ.วังสะพุง จ.เลย ประมาณ 150 คน มาเฝ้ารอการประชุมของอบต.เขาหลวง เพื่อคัดค้านเรื่องการต่ออายุการทำเหมืองแร่ทองคำ แต่ถูกตำรวจทหารยกกำลังพลหลายร้อยนายมาควบคุมสถานการณ์ และอ้างว่าได้ไปขออำนาจศาลแพ่งให้สั่งเลิกการชุมนุมแล้ว ดังนั้นให้ผู้ชุมนุมออกจากพื้นที่ภายใน 30 นาที
เท่าที่มีการบันทึกไว้ เหตุการณ์นี้เป็นครั้งแรก ที่เจ้าหน้าที่ได้ร้องขอไปยังศาลแพ่งเพื่อสั่งให้เลิกการชุมนุม ข้อน่าสนใจ คือ เจ้าหน้าที่รีบไปร้องขอต่อศาลแพ่งในเวลาอันรวดเร็ว ก่อนที่ชาวบ้านจะได้เรียกร้องสิ่งที่ต้องการเสียด้วยซ้ำ ทั้งที่ตามพ.ร.บ.ชุมนุมมสาธารณะ กำหนดว่า ในกรณีที่ไม่ได้แจ้งการชุมนุมล่วงหน้า ประชาชนมีสิทธิจะขอผ่อนผัน และกฎหมายก็มีเจตนารมณ์ให้เจ้าหน้าที่อำนวยความสะดวกและสร้างสมดุลระหว่างสิทธิของผู้ชุมนุมกับประชาชนทั่วไป
แต่ในกรณีนี้ เจ้าหน้าที่มองข้ามเจตนารมณ์ที่ต้องให้ความสำคัญกับผู้ใช้สิทธิชุมนุม แต่รีบร้อนขอหมายศาลสั่งให้เลิกชุมนุมทันที ทั้งที่ชาวบ้านไม่ได้ต้องการชุมนุมยืดเยื้อเพื่อสร้างความเดือดร้อนต่อผู้อื่นจนเกินจำเป็น เพราะการชุมนุมชาวบ้านของชาวบ้านก็สิ้นสุดลงทันทีเมื่อ อบต.เขาหลวง รับฟังเสียงคัดค้าน การบังคับใช้กฎหมายอย่างรวบรัดไม่คำนึงถึงเจตนารมณ์เช่นนี้ ทำให้พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ กลายเป็นเครื่องมือปิดกั้นชาวบ้านไม่ให้เคลื่อนไหวในเรื่องสิทธิชุมชนและความเดือดร้อนของพวกตัวเอง หาใช่การสร้างสมดุลอย่างที่กฎหมายต้องการ
24 กุมภาพันธ์ 2559 สน.นางเลิ้ง สั่ง “ไม่อนุญาต” ให้มีการชุมนุม ตามที่เครือข่ายประชาชนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนแจ้งว่าจะชุมนุมคัดค้านประกาศคสช.เรื่องการงดเว้นผังเมือง โดยให้เหตุผลว่าการชุมนุมเพื่อเรียกร้องให้ยกเลิกกฎหมายเป็นการกระทำที่ขัดต่อการบริหารราชการแผ่นดิน จึงถือเป็นการชุมนุมทางการเมือง ขัดต่อประกาศคสช. ฉบับที่ 7/2557
ทั้งที่กรณีนี้เครือข่ายฯ แจ้งการชุมนุมถูกต้องตามพ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ สน.นางเลิ้งจึงมีหน้าที่พิจารณาเงื่อนไขตามพ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะเท่านั้น สน.นางเลิ้งมีอำนาจเพียงแจ้งให้แก้ไขรายละเอียดการชุมนุมให้เหมาะสมแต่ไม่มีอำนาจสั่งไม่อนุญาต เพราะตามพ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะกำหนดเพียงให้ผู้ชุมนุม “แจ้งให้ทราบ” แต่ไม่ได้ให้ผู้ชุมนุม “ขออนุญาต” หากมีการชุมนุมที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายต้องเป็นอำนาจศาลแพ่งเท่านั้นที่จะสั่งให้เลิกการชุมนุมได้
กรณีนี้สน.นางเลิ้งใช้กฎหมายสับสนถึงสามระดับ คือ 1. สน.นางเลิ้ง สั่งไม่อนุญาตโดยไม่มีอำนาจ  2. สน.นางเลิ้ง ตีความว่าการชุมนุมคัดค้านกฎหมายถือเป็นการชุมนุมทางการเมือง ซึ่งเป็นการขยายขอบเขตของการชุมนุมทางการเมืองให้กว้างขวางครอบคลุมแทบทุกอย่าง 3. สน.นางเลิ้ง นำประกาศคสช. ฉบับที่ 7/2557 มาใช้เป็นเงื่อนไขพิจารณาทั้งที่หน้าที่การพิจารณาพ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะไม่ได้เขียนเงื่อนไขไว้เช่นนั้น
26 กุมภาพันธ์ 2559 สะมะแอ เจะมูดอ นายกสมาคมสมาพันธ์ประมงพื้นบ้าน เข้ารับทราบข้อกล่าวหาที่สน.นางเลิ้ง ฐานชุมนุมโดยไม่แจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจล่วงหน้า จากการมายื่นหนังสือที่กระทรวงเกษตรฯ เรียกร้องให้แก้ไขพ.ร.ก.ประมง มาตรา 34 ซึ่งกรณีนี้สน.นางเลิ้งก็ตีความ “การชุมนุมสาธารณะ” ให้ขยายกว้างไปถึงการรวมตัวกันมายื่นหนังสือเรียกร้องด้วย
ล่าสุด กรณีที่ไอลอว์เป็นผู้ได้รับผลกระทบเสียเอง เมื่อเครือข่ายเว็บไซต์ประชามติ ซึ่งเกิดจากการรวมตัวกันของสถาบันวิชาการและสื่อทางเลือกหลายๆ แห่ง กำหนดจัดกิจกรรมเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญสองกิจกรรม คือ งานเสวนาสาธารณะหัวข้อ “รัฐธรรมนูญใหม่ เอาไงดีจ๊ะ?” และ งานประกวดการนำเสนอ PetchaKucha 20×20 หัวข้อ “รัฐธรรมนูญ” ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2559 แต่สถานีตำรวจนครบาลปทุมวันและกรมทหารม้าที่ 1 รักษาพระองค์ แจ้งมายังหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานครว่า กิจกรรมนี้อาจเข้าข่ายการชุมนุมทางการเมือง ขัดต่อคำสั่งหัวหน้าคสช. ฉบับที่ 3/2558 จึงจำเป็นต้องขออนุญาตก่อน หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร จึงยกเลิกการใช้พื้นที่ ทำให้กิจกรรมทั้งสองมีอุปสรรค ต้องย้ายสถานที่จัดงานอย่างเร่งด่วน
กรณีนี้ก็เป็นการตีความขยายขอบเขตคำว่า “การชุมนุมทางการเมือง” อีกเช่นกัน จนครอบคลุมถึงการจัดงานเสวนาพูดคุย ซึ่งทางเครือข่ายเว็บไซต์ประชามติเห็นว่า ทั้งสองกิจกรรมไม่เข้าข่ายการชุมนุมทางการเมือง เพราะคนที่มาร่วมงานล้วนมีความคิดเห็นและมุมมองแตกต่างหลากหลายที่จะมาแลกเปลี่ยนกัน ไม่ใช่การมารวมตัวเพื่อเรียกร้องสิ่งหนึ่งสิ่งใดร่วมกัน
นอกจากนี้ ในเดือนกุมภาพันธ์ ยังมีกิจกรรมอื่นๆ เกี่ยวกับรัฐธรรมนูญที่ถูกปิดกั้นอีก ดูที่ http://freedom.ilaw.or.th/BanConstitutionalseminar
การใช้กฎหมายที่สับสนเช่นนี้ทำให้ประชาชนผู้อยู่ใต้กฎหมายไม่อาจเข้าใจได้ว่าขอบเขตของสิทธิเสรีภาพในสภาวะเช่นนี้มีอยู่อย่างไร การชุมนุมแต่ละครั้งจะต้องอยู่ภายใต้กรอบกติกาฉบับใดบ้าง และความหมายของคำใหญ่ๆ อย่าง “การชุมนุมสาธารณะ” “การชุมนุมทางการเมือง” ในวันข้างหน้าจะถูกขยายออกไปได้ไกลอีกสักแค่ไหน
เมื่อกฎหมาย “เข้าใจไม่ได้” ก็หา “ความมั่นคง” ในเสรีภาพได้ยากมาก
แต่อุปสรรคของการทำกิจกรรมเพื่อหาช่องทางแสดงออกลักษณะนี้ ไม่อาจหยุดยั้งการใช้เสรีภาพของประชาชนได้ง่ายดายนัก
ขณะที่ เครือข่ายเว็บไซต์ประชามติ ออกแถลงการณ์ขอยึดมั่นในเสรีภาพการแสดงออกและการมีส่วนร่วมของประชาชน ยืนยันเดินหน้าทำกิจกรรมต่อไป เครือข่ายประชาชนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ก็ยื่นอุทธรณ์คำสั่ง “ไม่อนุญาตให้ชุมนุม” และยังเดินหน้าเคลื่อนไหวคัดค้านประกาศยกเว้นผังเมืองต่อไป ด้านสะมะแอ ผู้ต้องหาฐานชุมนุมโดยไม่แจ้ง ก็ยืนยันปฏิเสธข้อกล่าวหาและขอสู้คดีโดยระบุว่า คดีพ.ร.บ.ชุมนุมฯ คดีนี้นับเป็นคดีแรกๆ จึงหวังสู้คดีเพื่อวางบรรทัดฐานให้กับคดีที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต
แม้ว่าเจ้าหน้าที่รัฐจะพยายามปิดกั้นขนาดไหน แต่หากปัญหาความเดือดร้อนยังมีอยู่จริง โดยธรรมชาติแล้วประชาชนก็ยังต้องคิด ต้องคุยกันในเรื่องเหล่านั้น และต้องดิ้นรนหาพื้นที่แสดงออกให้มากที่สุดเท่าที่จะหาได้ หากประชาชนไม่หวั่นเกรงต่อการตีความและบังคับใช้กฎหมายอย่างกว้างขวาง และไม่หวาดกลัวต่อกระบวนการยุติธรรมที่กำลังถูกใช้เป็นเครื่องมือละเมิดเสรีภาพ การปิดกั้นก็ไม่อาจเกิดผลจริงในทางปฏิบัติได้
ในความเป็นจริง คดีความและการขัดขวางต่างๆ ย่อมเพิ่มต้นทุนให้กับการเคลื่อนไหวในระยะยาว ช่วงเวลานี้จึงอาจเป็นบททดสอบที่ดีว่าขบวนการเคลื่อนไหวของสังคมไทยเติบโตและเข้มแข็งมากพอที่จะต่อสู้กับอุปสรรคต่างๆ ได้หรือยัง
ขณะที่ฝ่ายภาครัฐที่ใช้กฎหมายแบบผิดๆ เอง ก็ย่อมต้องจ่ายต้นทุนด้านความชอบธรรม ไปด้วยไม่แพ้กัน
ช่วงเวลานี้จึงอาจเป็นบททดสอบอีกอย่างหนึ่งต่อสังคมไทยด้วย ถ้าคนในสังคมพร้อมที่จะร่วมกันเรียนรู้วิธีการใช้อำนาจที่เกิดขึ้น ช่วยกันสนับสนุนเพิ่มต้นทุนทางสังคมให้กับฝ่ายประชาชนที่กำลังถูกบีบพื้นที่ในการแสดงออก กล้าประณามสิ่งที่เห็นว่าไม่ชอบธรรมในยามที่จำเป็น จนภาครัฐต้องจ่ายต้นทุนสำหรับการปิดกั้นเสรีภาพเป็นราคาแพงกว่าที่จะยอมเสียได้
เราก็มีความหวังจะผ่านวันเวลาเหล่านี้ไปได้อย่างคุ้มค่าและไม่นานเกินไป
หมายเหตุ ก่อนท้องฟ้าจะสดใส ทำหน้าที่คล้ายบทบรรณาธิการ ที่แสดงจุดยืนของทีมงานไอลอว์ ในฐานะคนทำงานติดตามประเด็นต่างๆ ชิ้นนี้เป็นชิ้นที่สองเขียนและเผยแพร่ต่อสาธารณะ