‘โอนคดีสิ่งแวดล้อม’ ไปศาลแพ่ง หนุนความเป็นธรรมหรือสร้างภาระ?

13 สิงหาคม 2558 สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ผ่านร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง เกี่ยวกับการโอนคดีจากศาลชั้นต้นไปยังศาลแพ่ง การส่งคำคู่ความโดยระบบอิเล็กทรอนิกส์และการส่งคำคู่ความไปยังต่างประเทศ โดยมีมติเห็นสมควรประกาศใช้เป็นกฎหมาย ด้วยคะแนน 189 เสียง ไม่เห็นด้วย 1 เสียง และงดออกเสียง 5 เสียง โดยมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 9 ตุลาคม 2558 
กฎหมายฉบับนี้มีสาระสำคัญ คือกำหนดให้ประธานศาลอุทธรณ์มีอำนาจโอนคดีที่อาจกระทบต่อการอนุรักษ์หรือการบำรุงรักษาทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อม การคุ้มครองผู้บริโภค หรือประโยชน์สาธารณะอย่างอื่นที่สำคัญ จากศาลชั้นต้นไปยังศาลแพ่งและให้ศาลแพ่งที่รับคดีไว้พิจารณาพิพากษามีอำนาจดำเนินกระบวนพิจารณานอกเขตศาลได้
“คดีสิ่งแวดล้อม” ถือได้ว่าเป็นคดีที่สร้างผลกระทบต่อคนจำนวนมากและเป็นคดีที่มีความยุ่งยากซับซ้อน อีกทั้งยังมีลักษณะแตกต่างจากคดีแพ่งทั่วไป อย่างเช่น เรื่องการพิสูจน์พยานหลักฐานและผลความเสียหาย ด้วยเหตุนี้ ระบบวิธีพิจารณคดีที่มีประสิทธิภาพจึงเป็นสิ่งจำเป็น
‘ศาลแพ่ง’ กับการพิจารณาคดีสิ่งแวดล้อมในอดีต
สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 19 เมษายน 2554 ศาลยุติธรรมได้ออกประกาศคณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรม เรื่อง การจัดตั้งแผนกคดีสิ่งแวดล้อมในศาลแพ่ง  กำหนดให้มีการจัดตั้งแผนกคดีสิ่งแวดล้อมขึ้นในศาลแพ่งเพื่อพิจารณาพิพากษาคดีสิ่งแวดล้อม โดยเริ่มเปิดทำการจริงตั้งแต่วันที่ 25 พฤษภาคม 2554
มี “ศาลแพ่งรัชดา” แห่งเดียว ก็พิจารณาคดีได้ทั่วประเทศ
“มาตรา 6/1 คดีที่ยื่นฟ้องไว้ต่อศาลชั้นต้นซึ่งไม่ใช่ศาลแพ่ง… ให้ศาลแจ้งคู่ความทราบและทำความเห็นเสนอประธานศาลอุทธรณ์เพื่อมีคำสั่งให้โอนคดีนั้นไปยังศาลแพ่งได้ คำสั่งของประธานศาลอุทธรณ์ให้เป็นที่สุด”
ศาลแพ่งในที่นี้ หมายความถึง ศาลแพ่งที่ตั้งอยู่บนถนนรัชดาภิเษก กรุงเทพมหานคร โดย ‘แผนกคดีสิ่งแวดล้อม’ ที่ตั้งขึ้นตามประกาศคณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรมก็จัดตั้งขึ้นเฉพาะที่ศาลแพ่งรัชดานี้เท่านั้น ซึ่งถือเป็นการตั้งแผนกคดีสิ่งแวดล้อมขึ้นในศาลชั้นต้นเป็นแห่งแรก และปัจจุบันยังไม่มีการตั้งแผนกคดีสิ่งแวดล้อมในศาลชั้นต้นอื่นๆ เพิ่มเติม
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าแผนกคดีสิ่งแวดล้อมจะถูกตั้งขึ้นเฉพาะที่ศาลแพ่งในกรุงเทพ แต่ตามประกาศคณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรม ข้อ 3 ก็กำหนดให้แผนกคดีสิ่งแวดล้อมดังกล่าว มีเขตอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีสิ่งแวดล้อมทั้งที่เกิดขึ้นในเขตศาลแพ่งและคดีสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นนอกเขตศาลแพ่งได้ ซึ่งหมายความว่า แผนกคดีสิ่งแวดล้อมมีอำนาจพิจารณาคดีสิ่งแวดล้อมที่มูลเหตุเกิดขึ้นได้ทั่วราชอาณาจักร โดยผู้เสียหายหรือโจทก์ซึ่งอยู่ต่างจังหวัดต้องนำคดีมายื่นฟ้องที่ศาลแพ่งรัชดา
ไม่ใช่ทุกคดีที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมจะโอนไปศาลแพ่งได้
พ.ร.บ.ฉบับนี้กำหนดให้ประธานศาลอุทธรณ์มีอำนาจโอนคดีไปศาลแพ่งได้ ต้องเป็นไปตามเงื่อนไขและขั้นตอนที่กำหนดไว้ คือ เมื่อมีการยื่นฟ้องคดีต่อศาลจังหวัดหรือศาลแขวง ที่ไม่ใช่ศาลแพ่งแล้ว หากศาลเจ้าของสำนวนคดีนั้นพิจารณาแล้วเห็นว่า ผลของคดีดังกล่าวอาจกระทบต่อการอนุรักษ์หรือการบำรุงรักษาทรัพยากรธรรมชาติหรือสิ่งแวดล้อม และการโอนคดีไปยังศาลแพ่งจะทำให้การพิจารณาคดีมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ศาลก็สามารถแจ้งคู่ความและทำความเห็นเสนอประธานศาลอุทธรณ์เพื่อให้มีคำสั่งโอนคดีไปศาลแพ่งได้ โดยคำสั่งของประธานศาลอุทธรณ์ไม่ว่าจะให้โอนหรือไม่ให้โอนนั้นให้ถือเป็นที่สุด
อัมรินทร์ สายจันทร์ นักกฎหมายและเจ้าหน้าที่ฝ่ายงานวิชาการ มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLAW) ให้ความเห็นต่อประเด็นการโอนคดีไปศาลแพ่งว่า เนื่องจากที่ผ่านมานับตั้งแต่เปิดแผนกคดีสิ่งแวดล้อมในศาลแพ่ง อาจจะมีประชาชนมายื่นฟ้องคดีสิ่งแวดล้อมที่ศาลแพ่งโดยตรงไม่มากนัก อาจเพราะไม่ทราบเรื่องการตั้งแผนก หรือเพราะอยู่ต่างจังหวัดจึงไม่สะดวกในการมายื่นฟ้องที่กรุงเทพ การแก้ไข พ.ร.บ. ครั้งนี้ จึงเป็นความพยายามช่วยอำนวยความสะดวกในการฟ้องคดีสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นในเขตอำนาจศาลชั้นต้นอื่นที่ไม่ใช่ศาลแพ่งให้ถูกโอนเข้ามาสู่การพิจารณาของแผนกคดีสิ่งแวดล้อมในศาลแพ่ง ซึ่งน่าจะมีผู้พิพากษาและบุคลากรที่เชี่ยวชาญคดีสิ่งแวดล้อมมากกว่า
ศาลแพ่งที่รับโอนคดี ตรวจสอบพื้นที่นอกเขตศาลได้
นอกจากนี้ พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว ยังแก้ไขเพิ่มเติมเรื่องการดำเนินกระบวนพิจารณานอกเขตอำนาจศาลไว้ในมาตรา 5 ว่า ในคดีที่ศาลแพ่งรับโอนคดีมา ให้ศาลแพ่งมีอำนาจดำเนินกระบวนพิจารณาใดๆ นอกเขตศาลได้ตามที่เห็นสมควร
อัมรินทร์ กล่าวต่อเรื่องนี้ว่า โดยผลแล้วก็จะทำให้ศาลแพ่งสามารถตรวจสอบพื้นที่เกิดเหตุ ตรวจสอบทรัพย์สิน หรือบุคคลนอกเขตอำนาจศาลแพ่งได้สะดวกขึ้น อย่างเช่น การออกตรวจโรงงานในต่างจังหวัด ตรงนี้สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงของคดีสิ่งแวดล้อมที่รับโอนมา ซึ่งเป็นคดีที่เหตุเกิดขึ้นนอกเขตอำนาจศาลแพ่งหรือนอกกรุงเทพ ส่วนศาลแพ่งจะเห็นความจำเป็นและกระตือรือร้นในการดำเนินกระบวนพิจารณานอกเขตศาลหรือไม่ ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง
โอนคดีอาจเป็นทางออกหนึ่ง ของปัญหาการพิจารณาคดีสิ่งแวดล้อม?
อัมรินทร์กล่าวถึงการเปิดช่องให้มีการโอนคดีที่มีลักษณะเป็นคดีสิ่งแวดล้อม มายังแผนกคดีสิ่งแวดล้อมในศาลแพ่งว่ามีทั้งแง่ดีและแง่เสีย
“ในแง่หนึ่ง ก็คือทำให้คดีได้รับการพิจารณาโดยแผนกฯ ที่มีการจัดตั้งขึ้นและวางระบบรองรับคดีสิ่งแวดล้อมไว้โดยเฉพาะ ซึ่งคาดหมายได้ว่า จะมีผู้พิพากษาและบุคลากรของศาลที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญในการดำเนินการพิจารณาพิพากษาคดีสิ่งแวดล้อมมากกว่าศาลชั้นต้นอื่นที่ยังไม่มีการตั้งแผนกคดีสิ่งแวดล้อมโดยตรง อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้เป็นเพียงความคาดหมายที่ต้องพิสูจน์กันในทางความเป็นจริงอีกที แต่ในอีกแง่หนึ่ง การโอนคดีที่เกิดขึ้นในเขตอำนาจศาลอื่นหรือในต่างจังหวัดมาพิจารณายังศาลแพ่งซึ่งอยู่ในกรุงเทพ อาจเพิ่มภาระการเดินทางของคู่ความในการดำเนินกระบวนพิจารณาสืบพยานหรือยื่นส่งเอกสารต่างๆ ต่อศาลได้”
นอกจากนี้อัมรินทร์ยังระบุว่า แม้ศาลชั้นต้นอื่นจะไม่มีการตั้งแผนกคดีสิ่งแวดล้อมโดยตรง แต่หากได้รับพิจารณาคดีสิ่งแวดล้อมเอาไว้ ก็ต้องยึดถือปฏิบัติตามคำแนะนำของประธานศาลฎีกาเกี่ยวกับการดำเนินคดีสิ่งแวดล้อมด้วยอยู่แล้ว เพียงแต่อาจจะไม่มีผู้พิพากษาหรือบุคลากรที่เชี่ยวชาญคดีสิ่งแวดล้อมรองรับโดยตรง
ข้อสังเกต
คดีสิ่งแวดล้อม เลือกได้ไหม ขึ้นศาลไหนอุ่นใจกว่า
ในปัจจุบันการดำเนินการทางกฎหมายของคดีด้านสิ่งแวดล้อมยังมีความทับซ้อนกันอยู่ ไม่เป็นเอกภาพ และขาดความชัดเจนในเรื่องมาตรฐานของกฎหมาย เนื่องจากมีศาลหลายศาลดูแล เช่น กรณีพิพาทบางเรื่องเป็นเรื่องเดียวกัน แต่อาจมีส่วนทับซ้อนกันระหว่างคดีแพ่งและคดีปกครอง หรือทับซ้อนกันระหว่างคดีอาญากับคดีปกครอง
จันทิมา ธนาสว่างกุล อัยการผู้เชี่ยวชาญพิเศษ สำนักงานอัยการสูงสุด เคยแสดงข้อคิดเห็นต่อเรื่องดังกล่าวว่า   ในคดีอาญาอัยการจะพิจารณาคดีตามสำนวนของพนักงานสอบสวนที่มีเฉพาะเรื่องการรับโทษ ส่วนคดีแพ่งเป็นการพิจารณาความเสียหายตามตัวความ และสำหรับศาลปกครองเป็นการที่รัฐถูกฟ้องแล้วให้หน่วยงานรัฐส่งเอกสารที่เกี่ยวข้องมาพิจารณาคดีตามหลักฐานเอกสารนั้น แต่ในทางปฏิบัติจะพบว่า เรื่องเขตอำนาจศาลยังคงมีปัญหาอยู่มาก
จันทิมาเสนอแนะว่า ควรฟ้องศาลปกครองก่อนฟ้องศาลยุติธรรม เนื่องจากการพิจารณาคดีจะมีประสิทธิภาพมากกว่า และส่งผลไปยังศาลยุติธรรมภายหลัง อีกทั้งศาลปกครองยังสามารถพิสูจน์สิทธิได้ ในขณะที่คดีอาญาทำไม่ได้ เช่นเดียวกับ ไพโรจน์ มินเด็น ตุลาการศาลปกครอง ที่เห็นด้วยว่า คดีสิ่งแวดล้อมนั้นฟ้องศาลปกครองก่อนดีกว่า
กระบวนการพิจารณาคดีสิ่งแวดล้อม อาจแบ่งแยกได้ 3 รูปแบบ คือ 
1. การดำเนินคดีแพ่ง เป็นการฟ้องเรียกค่าเสียหายในชีวิต สุขภาพอนามัย หรือทรัพย์สินที่ได้รับผลกระทบจากการกระทำของจำเลย
2. การดำเนินคดีอาญา โดยจำเลยต้องมีโทษทางอาญา เช่น จำคุก กักขัง หรือปรับ รวมถึงความผิดตามพระราชบัญญัติเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมต่างๆ ที่มีบทลงโทษทางอาญา
3. การดำเนินคดีปกครอง ส่วนใหญ่เป็นการฟ้องหน่วยงานของรัฐหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ ที่มีการกระทำทางปกครองไปกระทบต่อสิทธิและหน้าที่ของประชาชน ประชาชนสามารถฟ้องต่อศาลปกครองเพื่อให้หน่วยงานของรัฐหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐหยุดการกระทำทางปกครอง หรือเพิกถอนคำสั่งทางปกครอง
จัดตั้ง ‘ศาลสิ่งแวดล้อม’ ทิศทางที่ดีขึ้นของกระบวนการยุติธรรมไทย?
ปัจจุบันมีการยกร่างกฎหมายเกี่ยวกับการดำเนินคดีสิ่งแวดล้อมจำนวน 2 ฉบับ คือ ร่าง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลสิ่งแวดล้อมและวิธีพิจารณาคดีสิ่งแวดล้อม พ.ศ. .. เสนอโดยสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) และร่าง พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีสิ่งแวดล้อม พ.ศ. .. ที่เสนอโดยสำนักงานศาลยุติธรรม ซึ่งอยู่ระหว่างนำเข้าสู่กระบวนการพิจารณาเพื่อตรากฎหมายของ สนช. โดยวัตถุประสงค์ของร่างกฎหมายทั้ง 2 ฉบับนี้ ต้องการปรับปรุงกระบวนการยุติธรรมด้านสิ่งแวดล้อมให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น และให้ความเป็นธรรมแก่สังคมได้อย่างแท้จริง
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากคดีสิ่งแวดล้อมเป็นคดีที่ส่งผลกระทบต่อสังคมในวงกว้าง และมีความเกี่ยวข้องกับหลายภาคส่วน การปรับปรุงระบบกระบวนการยุติธรรม จึงจำเป็นที่ต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นผู้พิพากษา นักวิชาการ หรือกลุ่มองค์กรเอกชน
นอกจากนี้สุนทรียา เหมือนพะวงศ์ ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลประจำกองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา เคยแสดงความเห็นต่อระบบกระบวนการยุติธรรมด้านสิ่งแวดล้อมว่า มีศาลอยู่หลายศาลที่ดูแลคดีนี้ ทำให้ระบบของคดีสิ่งแวดล้อมไม่เป็นเอกภาพ ส่งผลให้ปัญหาไม่ถูกแก้ไขอย่างเป็นระบบ ไม่มีบรรทัดฐาน ซึ่งข้อเสนอหนึ่งในการจัดระบบที่ดูจะได้รับการตอบรับมากที่สุดคือ การตั้ง ‘ศาลสิ่งแวดล้อม’ ขึ้นมาเป็นการเฉพาะ เพื่อให้เกิดมาตรฐานเดียวกันในเรื่องสิ่งแวดล้อม และนำไปสู่การพัฒนาต่อยอดอย่างแท้จริง
ไฟล์แนบ