พ.ร.บ.ส่งเสริมมรดกภูมิปัญญาฯ ‘คุ้มครอง’ หรือ ‘แช่แข็ง’ วัฒนธรรม ?

แม้ว่าร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษามรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม จะตัดบทลงโทษกรณีทำให้เกิดความเสียหายร้ายแรงต่อมรดกทางวัฒนธรรมออกไป แต่กฎหมายฉบับนี้ก็มีความน่ากังวลว่าจะตีความครอบคลุมสิ่งใดบ้าง เพราะคำว่าวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้มีความหมายกว้างและเป็นนามธรรมมาก

เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2558 สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีมติประกาศให้ ‘ร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษามรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม พ.ศ. …’ เป็นกฎหมาย โดยร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ ถือเป็นร่างที่ปรับปรุงจากฉบับ พ.ศ. 2556 ที่ใช้ชื่อเดิมว่า ‘ร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ พ.ศ. …’ ที่ได้รับเสียงวิพากษ์วิจารณ์ต่อมาตรการปกป้องคุ้มครอง “วัฒนธรรมอันจับต้องไม่ได้” ซึ่งทางคณะผู้ร่างฯ และรัฐบาลได้ตีความว่าเป็นการสร้างระบบการดูแลมรดกทางวัฒนธรรมที่ไม่ใช่ทางกายภาพ เพื่อให้เป็นไปตามเงื่อนไขที่ระบุให้รัฐภาคีขององค์การยูเนสโก (UNESCO) ต้องปฏิบัติตาม “อนุสัญญาเพื่อการปกป้องคุ้มครองมรดกวัฒนธรรมที่ไม่ใช่กายภาพ” ก่อน จึงจะสามารถเข้าร่วมเป็นภาคีได้
                             

ส่องร่างฯ เดิม ห้ามใช้มรดกทางวัฒนธรรมฯ หมิ่นเบื้องสูง-กระทบความมั่นคง มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี

ก่อนรู้จักร่างฯ ใหม่ ไอลอว์ขอย้อนไปเมื่อช่วงปี 2556 ถึงสาเหตุที่หลายฝ่ายออกมาแสดงความไม่เห็นด้วยต่อร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ สืบเนื่องมาจากการพยายามกำหนดหลักการสำคัญให้มีการขึ้นทะเบียนมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ กำหนดให้มีเงินอุดหนุนเพื่อการส่งเสริมและการอนุรักษ์วัฒนธรรม รวมไปถึงการกำหนดให้มีบทลงโทษหากมีการนำมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ที่ขึ้นทะเบียนแล้วเหล่านั้น ไปเผยแพร่ในทางที่จะกระทบต่อความมั่นคงของประเทศ ศาสนา สถาบันพระมหากษัตริย์ หรือขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน

สำหรับมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ที่มีสิทธิได้รับการขึ้นทะเบียน ต้องไม่มีลักษณะขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน กระทบกระเทือนต่อความมั่นคงของประเทศ และก่อให้เกิดความแตกแยกทางวัฒนธรรม

ส่วนคณะกรรมการคุ้มครองและส่งเสริมมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ ประกอบด้วย คณะกรรมการโดยตำแหน่ง 11 คน กรรมการผู้แทนชุมชน 6 คน ที่ได้รับการคัดเลือกจากชุมชนจาก 6 ภาคของประเทศไทย และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจำนวน 6 คน ซึ่งคณะรัฐมนตรีจะแต่งตั้งโดยพิจารณาจากผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญทางด้านศิลปวัฒนธรรมต่างๆ

ในมาตรา 40 การคุ้มครองมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ ยังระบุไว้ว่า ห้ามมิให้ผู้ใดนำมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ที่ขึ้นทะเบียนแล้วไปเผยแพร่เพื่อวัตถุประสงค์ในทางที่เป็นการหมิ่นประมาทสถาบันกษัตริย์ กระทบต่อศาสนา ความมั่นคงของประเทศ ขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือทำให้เกิดความเสื่อมเสียแก่มรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ทั้งหลาย

นอกจากนั้น ร่าง พ.ร.บ.ฯ ฉบับนี้ ยังกำหนดส่วน ‘บทลงโทษ’ ไว้อย่างชัดเจนคือผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 40 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 50,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ซึ่งการกำหนดบทลงโทษเช่นนี้ไว้ ได้สร้างความกังวลจนนำมาสู่การวิพากษ์วิจารณ์ และวงเสวนาว่าด้วยร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้อย่างกว้างขวางเป็นกระแสอยู่ในช่วงปี 2556 อยู่ระยะหนึ่ง ว่า ความนามธรรมของ พ.ร.บ. ฉบับนี้ อาจนำมาฟ้องร่วม หรือเป็นหนึ่งในกฎหมายที่อานุภาพสูงพอๆ กับกฎหมายอาญา มาตรา 112

เช่นที่ ยุกติ มุกดาวิจิตร อาจารย์คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้กล่าวไว้ในวารสารเมืองโบราณ ปีที่ 39 ฉบับที่ 4 (ตุลาคม – ธันวาคม 2556) เชิงตั้งคำถามกับรัฐบาลว่า “…ทุกวันนี้สถาบันกษัตริย์ ศาสนา และความมั่นคงของประเทศ ยังได้รับการคุ้มครองไม่เพียงพออีกหรืออย่างไร จึงต้องเอาการคุ้มครองวัฒนธรรมเข้าไปผูกพ่วงด้วย แล้วคิดว่ากฎหมายนี้จะช่วยปกป้องคุ้มครองสถาบันหลักๆ เหล่านั้นได้จริงหรือ”

นอกจากนั้นมีนักวิชาการจากอีกหลายฝ่าย แสดงความเห็นต่อการผลักดันและประกาศใช้ร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ ด้วยความกังวลว่า กฎหมายฉบับนี้จะทำให้เกิดการแบ่งแยกทางวัฒนธรรม ทำให้เกิดการจัดลำดับคุณค่าทางวัฒนธรรม รวมถึงการจำกัดที่นั่งในตำแหน่งคณะกรรมการร่างฯ หรือผู้มีส่วนร่วมต่อการกำกับดูแลมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้เหล่านี้ ให้มีตัวแทนชุมชน ที่มาจากกลุ่มของประชากรที่ตั้งถิ่นฐานและสืบทอดวัฒนธรรมร่วมกันมาโดยตลอด เพียง 6 คนเท่านั้น แต่กลับมีตัวแทนทางภาคการเมือง ข้าราชการ ตลอดจนผู้ทรงคุณวุฒิมากถึง 24 คน ซึ่งอาจจะไม่เป็นธรรมต่อชาวบ้านผู้มีวิถีชีวิตผูกโยงกับสายธารวัฒนธรรมเหล่านั้นมาทั้งชีวิต

เปิดร่างฯ ใหม่ ‘ตัดบทลงโทษ’ ออกหมด ตีความกว้าง-นามธรรม

ท่ามกลางการวิพากษ์วิจารณ์และกระแสสถานการณ์อันหลากหลาย ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ ถูกร่างขึ้นใหม่โดยปรับปรุงจากของเดิม โดยเปลี่ยนชื่อเป็น “พระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษามรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม พ.ศ. …” โดยมีหลักการเพื่อจะส่งเสริมและรักษามรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมตรงตามชื่อ โดยคณะผู้ร่างฯ ได้กล่าวว่า ภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมต่างๆ ของไทยนั้นได้รับการสร้างสรรค์ สั่งสม ปลูกฝั่ง และสืบทอดกันมาหลายยุคสมัย แต่ในปัจจุบันกลับได้รับผลกระทบจากความเปลี่ยนแปลงของสังคม มีการนำมรดกทางวัฒนธรรมไปใช้อย่างบิดเบือน ทำให้สูญเสียคุณค่า จึงจำเป็นจะต้องมี พ.ร.บ. ฉบับนี้ไว้เพื่อส่งเสริมดูแลมรดกทางวัฒนธรรมให้อยู่ยั่งยืนในประเทศไทยต่อไป

แต่ในร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ก็ได้บอกไว้ว่า “มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม” แม้จะเป็นการสืบทอดจากคนรุ่นหนึ่งมายังคนอีกรุ่นหนึ่ง แต่ก็อาจจะปรับเปลี่ยนเพื่อให้เข้ากับสภาพแวดล้อมของตน นอกจากนั้นใน มาตรา 4 ยังบัญญัติว่า มรดกทางภูมิปัญญาและวัฒนธรรมที่ได้รับการส่งเสริมตาม พ.ร.บ. ฉบับนี้ ต้องมีลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังต่อไปนี้

(1)    วรรณกรรมพื้นบ้านและภาษา
(2)    ศิลปะการแสดง
(3)    แนวปฏิบัติทางสังคม พิธีกรรม ประเพณี และเทศกาล
(4)    ความรู้และการปฏิบัติเกี่ยวกับธรรมชาติและจักรวาล
(5)    งานช่างฝีมือดั้งเดิม
(6)    การเล่นพื้นบ้าน กีฬาพื้นบ้าน และศิลปะการต่อสู้ป้องกันตัว
(7)    ลักษณะอื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวง

มีการเพิ่มลักษณะจากเดิม 5 ข้อ เป็น 7 ข้อ โดยเพิ่มข้อ (4) ความรู้และการปฏิบัติเกี่ยวกับธรรมชาติและจักรวาล และข้อ (6) การเล่นพื้นบ้าน กีฬาพื้นบ้าน และศิลปะการต่อสู้ป้องกันตัว เข้ามา

และจัดให้มีคณะกรรมการส่งเสริมและรักษามรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เป็นประธานกรรมการ มีกรรมการโดยตำแหน่ง จำนวน 11 คน และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งจากผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญทางมรดกวัฒนธรรมด้านต่างๆ จำนวน 8 คน หน้าที่ของคณะกรรมการฯ ชุดนี้จะมีลักษณะคล้ายเดิมคือ แต่จะเพิ่มเติมในส่วนของการสอดส่อง ดูแล คุ้มครอง ป้องกันมิให้มีการกระทำอันจะก่อให้เกิดความเสียหายต่อมรดกทางวัฒนธรรมดังกล่าว นอกจากนั้นแล้วยังมีหน้าที่ในการประกาศเกียรติคุณเพื่อยกย่องบุคคลหรือหน่วยงานที่ทำคุณประโยชน์ในการช่วยส่งเสริมมรดกทางวัฒนธรรมอีกด้วย

แต่ที่น่าสนใจคือ ร่างฯ ใหม่นี้ กลับตัดหมวดบทลงโทษทั้งหมดที่เคยมีอยู่ในร่างฯ ฉบับ พ.ศ. 2556 ออกไป และระบุไว้เพียงในมาตรา 23/1 ว่า หากมีการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงต่อมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่ขึ้นทะเบียนไว้แล้ว ให้คณะกรรมการฯ เสนอต่อรัฐมนตรีเพื่อระงับการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายดังกล่าว แต่หากมีความจำเป็นเร่งด่วน ก็ให้รัฐมนตรีมีอำนาจออกคำสั่งเพื่อระงับการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายนั้นๆ ได้ ซึ่งเท่ากับว่า หากมีผู้ทำการละเมิดต่อมรดกทางวัฒนธรรมต่างๆ ก็จะไม่มีการลงโทษต่อความผิดการละเมิดนั้นโดยตรง แต่จะเป็นการลงโทษหากได้รับคำสั่งให้ระงับการกระทำนั้นๆ แล้วไม่ปฏิบัติตาม ซึ่งถือเป็นการฝ่าฝืนคำสั่งของผู้มีอำนาจแทน

ไม่เพียงแต่ความพยายามจะเข้าจัดระเบียบ ควบคุม และแช่แข็งมรดกและวัฒนธรรมแบบไทยๆ เท่านั้น สิ่งที่น่าสนใจอย่างมากอีกประเด็นก็คือ หากร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ประกาศใช้แล้ว จะใช้ตีความครอบคลุมสิ่งใดได้บ้าง เพราะคำว่าวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ หรือมรดกทางวัฒนธรรมทั้งด้านกายภาพ ความคิด และชีวิตประจำวัน ย่อมสัมพันธ์กับสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่ร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ประกาศคุ้มครองไม่มากก็น้อย

ไฟล์แนบ