ตัดน้ำ ไฟ สื่อสาร ธุรกรรม ทบทวนอำนาจพ.ร.ก.ฉุกเฉิน

โดย ยิ่งชีพ อัชฌานนท์

 

รัฐบาลสั่งการให้ทหารปิดล้อมพื้นที่การชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดงบริเวณแยกราชประสงค์ ตามยุทธการ “กระชับวงล้อม” สั่งตัดกระแสไฟฟ้า น้ำประปา ตัดสัญญาณโทรศัพท์ในบริเวณนั้น สั่งหยุดการขนส่งมวลชนทั้งรถไฟฟ้า รถใต้ดิน เรือ ห้ามไม่ให้ผู้ใดเข้าเขตพื้นที่ไปสมทบกับกลุ่มผู้ชุมนุม ห้ามนำอาหาร น้ำ อุปกรณ์ใดๆเข้าไปให้แก่ผู้ชมนุมด้วย

เนื่องจากรัฐบาลประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง ในเขตกรุงเทพมหานคร และอีกยี่สิบจังหวัด รัฐบาลจึงมีอำนาจเพิ่มขึ้นตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน (...ฉุกเฉิน) เพื่อจัดการกับการชุมนุม แต่ก็ไม่ใช่ว่ากฎหมายฉุกเฉินจะให้อำนาจเจ้าหน้าที่รัฐกระทำได้ทุกอย่าง จึงต้องมาพิจารณากันให้ละเอียดว่าอะไรที่ทำได้ อะไรที่ทำไม่ได้

และการพิจารณาว่ารัฐบาลมีอำนาจตามกฎหมายที่จะกระทำการเหล่านี้ได้หรือไม่ จะอาศัยเหตุการณ์บ้านเมืองเฉพาะหน้าตีความกฎหมายไปในทางที่ให้อำนาจแก่เจ้าหน้าที่ของรัฐ คงจะไม่เป็นผลดีต่อระบบกฎหมายในระยะยาว การตีความ การบังคับใช้กฎหมายยังคงต้องยึดหลักการทางนิติศาสตร์ให้เข้มแข็ง และเจ้าหน้าที่รัฐต้องใช้อำนาจให้ถูกต้องภายใต้ “กรอบ” ของกฎหมายอย่างแท้จริง

การตัดอาหาร ตัดน้ำ

การตัดอาหาร ตัดน้ำ ไม่ให้ลำเลียงเข้าไปยังกลุ่มผู้ชุมนุมนั้น พ...ฉุกเฉินมาตรา 11(3) เขียนไว้ว่า “เจ้าหน้าที่มีอำนาจออกคำสั่งยึดเครื่องอุปโภคบริโภค หรือวัตถุอื่นใด ในกรณีที่มีเหตุอันควรสงสัยว่า ได้ใช้หรือจะใช้สิ่งนั้น เพื่อการกระทำการหรือสนับสนุนการกระทำให้เกิดเหตุสถานการณ์ฉุกเฉิน”  ดังนั้น การที่เจ้าหน้าที่ยึดเสบียงอาหาร ข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ ที่แน่ชัดว่าจะขนส่งไปยังสถานที่ชุมนุม จึงอ้างบทบัญญัตินี้ได้ แต่บทบัญญัตินี้เป็นการให้อำนาจในการ “ยึด” สิ่งของบางประการ ไม่ได้ให้อำนาจโดยตรงในการปิดล้อม ในลักษณะปิดล้อมเพื่อไม่ให้ผู้ชุมนุมได้รับอาหาร น้ำ เครื่องอุปโภคบริโภคที่จำเป็นตามหลักมนุษยธรรมเลย แม้การชุมนุมจะมีความผิดตามกฎหมาย แต่หากกระทำในลักษณะดังกล่าว ซึ่งเล็งเห็นได้ว่าจะก่อให้เกิดผลกระทบต่อร่างกาย สุขภาพอนามัยของประชาชนโดยตรง ก็อาจจะเลยจากขอบอำนาจที่มาตราดังกล่าวให้ไว้ได้

การตัดโทรศัพท์

เรื่องการตัดโทรศัพท์นั้น หากพิจารณามาตรา 11(5) จะเห็นว่า บทบัญญัติดังกล่าวให้เจ้าหน้าที่มีอำนาจสั่งระงับการติดต่อสื่อสาร เพื่อป้องกันหรือระงับเหตุการณ์ฉุกเฉินได้ โดยจะเห็นว่าใน (5) นั้น มีการเขียนไว้ก่อนด้วยว่า เจ้าหน้าที่มีอำนาจตรวจสอบจดหมาย หนังสือโทรเลข โทรศัพท์ ดังนั้น เหล่านี้จึงเป็นตัวอย่างของรูปแบบการสื่อสารตามความหมายของ (5) โทรศัพท์จึงน่าจะอยู่ในความหมายของประเภทการติดต่อสื่อสารที่เจ้าหน้าที่สามารถสั่งระงับได้

ต่เนื่องจาก มาตรา 11(5) ในตอนต้นเขียนไว้ว่า “เจ้าหน้าที่มีอำนาจออกคำสั่งตรวจสอบจดหมาย หนังสือ สิ่งพิมพ์ โทรเลข โทรศัพท์ หรือการสื่อสารด้วยวิธีการอื่นใด” ซึ่งเป็นลักษณะการให้อำนาจเข้าตรวจสอบเป็นรายๆ ไปเพื่อป้องกันหรือระงับเหตุการณ์โดยตรง และเมื่อใช้คำว่า “ตลอดจนการสั่งระงับหรือยับยั้งการติดต่อหรือการสื่อสารใด” คำว่า “ตลอดจน” ย่อมหมายถึงเป็นส่วนขยายความถึงสิ่งที่มีลักษณะใกล้เคียงกับส่วนที่กล่าวมาก่อนหน้านี้ ดังนั้น อำนาจในการสั่งระงับการสื่อสารจึงต้องตีความให้สอดคล้องกับลักษณะการเขียนกฎหมายใน (5) ทั้งหมดด้วย กล่าวคือ ต้องเป็นการสั่งระงับเป็นรายๆ หรือเฉพาะกรณีเพื่อป้องกันหรือระงับเหตุการณ์โดยตรง เช่นเดียวกับลักษณะการเข้าตรวขสอบการสื่อสารนั่นเอง

แต่สิ่งที่รัฐบาลได้กระทำคือการตัดสัญญาณโทรศัพท์ในบริเวณนั้นทั้งหมด ไม่ได้กระทำแต่เฉพาะรายที่เกี่ยวข้องกับการก่อเหตุร้าย ไม่ได้กระทำแต่เฉพาะกับผู้ที่มาชุมนุม โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อรัฐบาลได้อ้างว่า มีกองกำลังติดอาวุธไม่ทราบฝ่าย เป็นผู้ก่อเหตุร้ายแฝงตัวอยู่ในกลุ่มผู้ชุมนุม รัฐบาลจึงจำเป็นต้องจัดการกับกลุ่มบุคคลเหล่านั้นโดยตรง การตัดสัญญาณโทรศัพท์ของบุคคลเหล่านั้นในกรณีที่จะใช้โทรศัพท์เพื่อก่อความไม่สงบย่อมมีอำนาจทำได้แน่นอน ตามมาตรา 11(5) แต่การออกคำสั่งตัดสัญญาณโทรศัพท์เป็นการทั่วไป ส่งผลกระทบต่อผู้คนโดยรอบทั้งที่เกี่ยวข้องและไม่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ ไม่ว่าจะใช้โทรศัพท์เพื่อการใด ผู้เขียนเห็นว่า บทกฎหมายมาตราดังกล่าวไม่ได้ให้อำนาจเช่นนั้นไว้

 

 

การตัดน้ำประปา การตัดไฟฟ้า

การตัดน้ำประปา ไฟฟ้า ไม่ให้ส่งไปถึงยังกลุ่มผู้ชุมนุม และการสั่งห้ามบุคคลธรรมดา 93 คน และ 13 นิติบุคคล ไม่ให้ทำธุรกรรมทางการเงิน ไม่มีบทบัญญัติใดให้อำนาจแก่เจ้าหน้าที่รัฐโดยตรง จึงต้องพิจารณามาตรา 11(6) ที่ได้ให้อำนาจเจ้าหน้าที่ “ประกาศห้ามมิให้กระทำการใด ๆ หรือสั่งให้กระทำการใด ๆ เท่าที่จำเป็นแก่การรักษาความมั่นคง…” เรียกได้เป็นบทบัญญัติที่เขียนให้อำนาจไว้อย่างกว้างๆ สำหรับกรณีอื่นๆ ที่ไม่ได้เขียนไว้เป็นการเฉพาะ แต่พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน เป็นกฎหมายที่จำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชน การตีความจึงต้องตีความให้แคบ และเคร่งครัดที่สุด จะตีความว่ามาตรา 11(6) นั้นให้อำนาจเจ้าหน้าที่รัฐกระทำการได้ทุกอย่างเลยคงไม่ถูกต้อง

ซึ่งหากจะพิจารณาว่า อำนาจของเจ้าหน้าที่ตามมาตรา 11(6) นั้น สามารถมีคำสั่งในเรื่องอะไรได้บ้าง ก็ควรต้องพิจารณาอำนาจที่กำหนดไว้อย่างชัดเจนแล้วใน วงเล็บอื่นๆ ประกอบกัน เพื่อให้เห็นเจตนารมณ์ของการให้อำนาจแก่เจ้าหน้าที่รัฐตามกฎหมายนี้ และอำนาจประกาศห้ามมิให้กระทำการใดๆ ตามมาตรา 11(6) ก็น่าจะมีลักษณะที่คล้ายกันหรืออยู่ในระดับเดียวกันกับอำนาจอื่นๆ ที่กำหนดไว้ชัดเจนอยู่แล้วนั้น แต่ต้องไม่ใช่เรื่องเดียวกับที่กำหนดไว้แล้ว เพราะหากเป็นเรื่องเดียวกันก็ต้องพิจารณาตามอนุมาตรานั้นๆ โดยเฉพาะจะมาอาศัย มาตรา 11(6) อีกไม่ได้

จะเห็นว่า อำนาจตามอนุมาตราอื่น เช่น อำนาจในการจับกุม และควบคุมตัว เรียกบุคคลมารายงานตัว ยึดอาวุธยึดสิ่งของ ตรวจค้น รื้อถอนสิ่งปลูกสร้าง ให้หรือมิให้ผู้ใดออกไปนอกราชอาณาจักร ฯลฯ เหล่านี้เป็นอำนาจที่ใช้ในลักษณะป้องกันหรือระงับยับยั้งเหตุการณ์ร้ายที่กำลังมีเข้ามาเฉพาะหน้าและต้องจัดการอย่างเร่งด่วน ซึ่งเป็นหลักการของกฎหมายในสถานการณ์ฉุกเฉินที่ต้องการให้เจ้าหน้าที่มีอำนาจกระทำการใดๆ เพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นเฉพาะหน้าให้สำเร็จไปก่อนให้ได้

สำหรับกรณีการตัดน้ำ ตัดไฟนั้น เป็นลักษณะที่รัฐบาลใช้วิธีการกดดันกลุ่มผู้ชุมนุมแบบระยะยาวให้อ่อนกำลังลง ซึ่งนอกจากจะกระทบต่อร่างกาย สุขภาพอนามัย อันเป็นสิทธิมนุษยชนที่สำคัญแล้ว ผู้เขียนเห็นว่า ไม่ใช่การใช้อำนาจในลักษณะป้องกันหรือระงับยับยั้งเหตุการณ์ร้ายที่กำลังมีเข้ามาเฉพาะหน้า ไม่สอดคล้องกับเจตนารมณ์และหลักการของกฎหมายดังกล่าว จึงไม่น่าจะเป็นการกระทำที่อยู่ในความมุ่งหมายของมาตรา 11(6) และเมื่อกฎหมายไม่ได้เขียนให้อำนาจไว้อย่างชัดแจ้ง การจะตีความมาตรา 11(6) ให้ขยายออกมาในทางที่เพิ่มอำนาจให้รัฐเป็นปฏิปักษ์กับสิทธิเสรีภาพของประชาชนย่อมไม่สามารถทำได้ 

การสั่งห้ามทำธุรกรรมทางการเงิน

ส่วนกรณีการสั่งห้ามทำธุรกรรมทางการเงินนั้น ถ้าหากว่ามีบุคคลใดทำธุรกรรมทางการเงินเพื่อสนับสนุนกลุ่มผู้ชุมนุม หรือกลุ่ม “กองกำลังติดอาวุธไม่ทราบฝ่าย” ที่รัฐบาลกล่าวอ้างถึง หรือแม้เพียงมีข้อสงสัยตามสมควร เพื่อยับยั้งเหตุร้ายเป็นการเร่งด่วน รัฐบาลย่อมมีอำนาจ “ตัดท่อน้ำเลี้ยง” ของกลุ่มบุคคลเหล่านั้นได้ โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 11(6) นี่เอง 

แต่การที่รัฐบาลสั่งห้ามทำธุรกรรมทางการเงิน ทุกอย่าง ทุกประเภท ในทุกบัญชีธนาคาร ของ 106 บุคคล อย่างไม่มีกำหนดเวลาสิ้นสุดนั้น เป็นการกระทำในลักษณะหว่านแห เพราะย่อมไม่ใช่ทุกคน ไม่ใช่ทุกบัญชีธนาคารที่เป็นท่อน้ำเลี้ยงให้กับเหตุการณ์ความไม่สงบ คำสั่งนี้ทำให้บุคคลจำนวนหนึ่งที่ไม่เกี่ยวข้องด้วย ไม่สามารถเบิกเงินจากธนาคารแม้แต่เพื่อการกินการใช้ในชีวิตประจำวันของตัวเองและครอบครัวได้เลย ทั้งนี้ในมาตรา 11(6) กำหนดไว้ด้วยว่าต้องเป็นการกระทำ “เท่าที่จำเป็นแก่การรักษาความมั่นคงของรัฐ ความปลอดภัยของประเทศ หรือความปลอดภัยของประชาชน” ดังนั้น คำสั่งห้ามทำธุรกรรมทางการเงินในส่วนที่กระทบต่อบุคคลที่ไม่ได้เกี่ยวข้องหรือไม่น่าจะเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ร้ายที่เกิดขึ้น ย่อมไม่ใช่การกระทำ “เท่าที่จำเป็น” เพื่อความมั่นคงของประเทศ และรัฐบาลย่อมไม่มีอำนาจตามเงื่อนไขของมาตรา 11(6) ดังที่กล่าวมาแล้ว

ในส่วนของบุคคลที่เกี่ยวข้องหรืออาจจะเข้ามาเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ร้ายนั้น หากรัฐบาลมีหลักฐานตามสมควรที่ทำให้เชื่อได้ว่า การทำธุรกรรมทางการเงินของพวกเขาอาจจะนำไปสนับสนุนให้เกิดเหตุร้ายได้ รัฐบาลย่อมมีอำนาจตามมาตรา 11(6) สั่งห้ามการทำธุรกรรมดังกล่าวได้อย่างแน่นอน ทั้งนี้ รัฐบาลต้องสร้างความชอบธรรมให้กับตัวเอง โดยการแสดงให้ปรากฏต่อสาธารณะด้วย ว่ามีข้อมูลหลักฐานเหล่านั้นอยู่ หรือมีความเป็นไปได้อื่นอย่างใด ซึ่งรัฐบาลก็มีอำนาจตามมาตรา 11(2) สามารถเรียกเอกสารทางการเงินที่เกี่ยวข้องมาได้โดยง่ายอยู่แล้ว หากไม่สามารถแสดงถึงข้อมูลเหล่านี้ได้แล้ว เท่ากับว่าคำสั่งห้ามทำธุรกรรมทางการเงินไม่อยู่ในขอบเขต “เท่าที่จำเป็น” แก่การรักษาความมั่นคงแห่งชาติ ความปลอดภัยของประเทศและประชาชน รัฐบาลย่อมไม่มีอำนาจตามกฎหมายที่จะออกคำสั่งนี้ได้  

ส่งท้าย

อย่างไรก็ดี รัฐบาลได้สั่งการทั้งหมดนั้นไปแล้ว และความเสียหายต่อสิทธิเสรีภาพ ของประชาชนเกิดขึ้นแล้ว โดยที่ไม่สามารถฟ้องร้องเอาความผิดกับเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือฟ้องขอให้ยกเลิกเพิกถอนคำสั่งดังกล่าวได้ เพราะพ...ฉุกเฉินมีมาตรา 16 และมาตรา 17 ตัดอำนาจการตรวจสอบโดยศาลอยู่ ทั้งนี้ผู้เขียนก็มิได้คาดหวังว่าใน สถานการณ์ที่สับสนวุ่นวายดังที่ผ่านมา รัฐบาลจะยกเลิกคำสั่งเหล่านี้เพื่อเห็นแก่ความชอบด้วยกฎหมายและสิทธิมนุษยชน หวังเพียงที่จะสื่อสารว่า การประกาศใช้ พ...ฉุกเฉิน ไม่ได้หมายความว่ากฎหมายให้อำนาจเจ้า หน้าที่ของรัฐกระทำได้ทุกสิ่งทุกอย่าง การกระทำทั้งหลายยังคงต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขของหลักพอสมควรแก่เหตุ และหลักการตามบทบัญญัติของ พ...ฉุกเฉินนี้เอง และสาธารณชนที่เฝ้าดูเหตุการณ์ก็ไม่ควรปล่อยให้รัฐกระทำอะไรก็ได้ ด้วยเหตุผลที่ว่า “เป็นอำนาจตาม พ...ฉุกเฉิน”

 

 

 ตัวบทกฎหมาย พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548
           มาตรา ๙ ในกรณีที่มีความจำเป็นเพื่อแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินให้ยุติลงได้โดยเร็ว หรือป้องกันมิให้เกิดเหตุการณ์ร้ายแรงมากขึ้น ให้นายกรัฐมนตรีมีอำนาจออกข้อกำหนด ดังต่อไปนี้
          (๑) ห้ามมิให้บุคคลใดออกนอกเคหสถานภายในระยะเวลาที่กำหนด เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ หรือเป็นบุคคลซึ่งได้รับยกเว้น
          (๒) ห้ามมิให้มีการชุมนุมหรือมั่วสุมกัน ณ ที่ใด ๆ หรือกระทำการใดอันเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย
          (๓) ห้ามการเสนอข่าว การจำหน่าย หรือทำให้แพร่หลายซึ่งหนังสือ สิ่งพิมพ์ หรือสื่ออื่นใดที่มีข้อความอันอาจทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัวหรือเจตนาบิดเบือนข้อมูลข่าวสารทำให้เกิดความเข้าใจผิดในสถานการณ์ฉุกเฉินจนกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ หรือความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ทั้งในเขตพื้นที่ที่ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินหรือทั่วราชอาณาจักร
           (๔) ห้ามการใช้เส้นทางคมนาคมหรือการใช้ยานพาหนะ หรือกำหนดเงื่อนไขการใช้เส้นทางคมนาคมหรือการใช้ยานพาหนะ
           (๕) ห้ามการใช้อาคาร หรือเข้าไปหรืออยู่ในสถานที่ใด ๆ
           (๖) ให้อพยพประชาชนออกจากพื้นที่ที่กำหนดเพื่อความปลอดภัยของประชาชนดังกล่าว หรือห้ามผู้ใดเข้าไปในพื้นที่ที่กำหนด
           ข้อกำหนดตามวรรคหนึ่ง จะกำหนดเงื่อนเวลาในการปฏิบัติตามข้อกำหนดหรือเงื่อนไขในการปฏิบัติงานของพนักงานเจ้าหน้าที่ หรือมอบหมายให้พนักงานเจ้าหน้าที่กำหนดพื้นที่และรายละเอียดอื่นเพิ่มเติม เพื่อมิให้มีการปฏิบัติที่ก่อให้เกิดความเดือดร้อนแก่ประชาชนเกินสมควรแก่เหตุก็ได้

            มาตรา ๑๑ ในกรณีที่สถานการณ์ฉุกเฉินมีการก่อการร้าย การใช้กำลังประทุษร้ายต่อชีวิต ร่างกาย หรือทรัพย์สิน หรือมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่ามีการกระทำที่มีความรุนแรงกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ ความปลอดภัยในชีวิตหรือทรัพย์สินของรัฐหรือบุคคล และมีความจำเป็นที่จะต้องเร่งแก้ไขปัญหาให้ยุติได้อย่างมีประสิทธิภาพและทันท่วงที ให้นายกรัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีมีอำนาจประกาศให้สถานการณ์ฉุกเฉินนั้นเป็นสถานการณ์ที่มีความร้ายแรง และให้นำความในมาตรา ๕ และมาตรา ๖ วรรคสอง มาใช้บังคับโดยอนุโลม
          เมื่อมีประกาศตามวรรคหนึ่งแล้ว นอกจากอำนาจตามมาตรา ๗ มาตรา ๘ มาตรา ๙ และมาตรา ๑๐ ให้นายกรัฐมนตรีมีอำนาจดังต่อไปนี้ด้วย
          (๑) ประกาศให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจจับกุมและควบคุมตัวบุคคลที่สงสัยว่าจะเป็นผู้ร่วมกระทำการให้เกิดสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือเป็นผู้ใช้ ผู้โฆษณา ผู้สนับสนุนการกระทำเช่นว่านั้น หรือปกปิดข้อมูลเกี่ยวกับการกระทำให้เกิดสถานการณ์ฉุกเฉิน ทั้งนี้ เท่าที่มีเหตุจำเป็นเพื่อป้องกันมิให้บุคคลนั้นกระทำการหรือร่วมมือกระทำการใด ๆ อันจะทำให้เกิดเหตุการณ์ร้ายแรง หรือเพื่อให้เกิดความร่วมมือในการระงับเหตุการณ์ร้ายแรง
          (๒) ประกาศให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจออกคำสั่งเรียกให้บุคคลใดมารายงานตัวต่อพนักงานเจ้าหน้าที่หรือมาให้ถ้อยคำหรือส่งมอบเอกสารหรือหลักฐานใดที่เกี่ยวเนื่องกับสถานการณ์ฉุกเฉิน
          (๓) ประกาศให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจออกคำสั่งยึดหรืออายัดอาวุธ สินค้า เครื่องอุปโภคบริโภค เคมีภัณฑ์ หรือวัตถุอื่นใด ในกรณีที่มีเหตุอันควรสงสัยว่า ได้ใช้หรือจะใช้สิ่งนั้น เพื่อการกระทำการหรือสนับสนุนการกระทำให้เกิดเหตุสถานการณ์ฉุกเฉิน
          (๔) ประกาศให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจออกคำสั่งตรวจค้น รื้อ ถอน หรือทำลายซึ่งอาคาร สิ่งปลูกสร้าง หรือสิ่งกีดขวาง ตามความจำเป็นในการปฏิบัติหน้าที่เพื่อระงับเหตุการณ์ร้ายแรงให้ยุติโดยเร็วและหากปล่อยเนิ่นช้าจะทำให้ไม่อาจระงับเหตุการณ์ได้ทันท่วงที
          (๕) ประกาศให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจออกคำสั่งตรวจสอบจดหมาย หนังสือ สิ่งพิมพ์ โทรเลข โทรศัพท์ หรือการสื่อสารด้วยวิธีการอื่นใด ตลอดจนการสั่งระงับหรือยับยั้งการติดต่อหรือการสื่อสารใด เพื่อป้องกันหรือระงับเหตุการณ์ร้ายแรง โดยต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในกฎหมายว่าด้วยการสอบสวนคดีพิเศษโดยอนุโลม
          (๖) ประกาศห้ามมิให้กระทำการใด ๆ หรือสั่งให้กระทำการใด ๆ เท่าที่จำเป็นแก่การรักษาความมั่นคงของรัฐ ความปลอดภัยของประเทศ หรือความปลอดภัยของประชาชน
          (๗) ประกาศให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจออกคำสั่งห้ามมิให้ผู้ใดออกไปนอกราชอาณาจักร เมื่อมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าการออกไปนอกราชอาณาจักรจะเป็นการกระทบกระเทือนต่อความมั่นคงของรัฐหรือความปลอดภัยของประเทศ
          (๘) ประกาศให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจสั่งการให้คนต่างด้าวออกไปนอกราชอาณาจักร ในกรณีที่มีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าเป็นผู้สนับสนุนการกระทำให้เกิดสถานการณ์ฉุกเฉิน ทั้งนี้ โดยให้นำกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมืองมาใช้บังคับโดยอนุโลม
          (๙) ประกาศให้การซื้อ ขาย ใช้ หรือมีไว้ในครอบครองซึ่งอาวุธ สินค้า เวชภัณฑ์ เครื่องอุปโภคบริโภค เคมีภัณฑ์ หรือวัสดุอุปกรณ์อย่างหนึ่งอย่างใดซึ่งอาจใช้ในการก่อความไม่สงบหรือก่อการร้ายต้องรายงานหรือได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่หรือปฏิบัติตามเงื่อนไขที่นายกรัฐมนตรีกำหนด
          (๑๐) ออกคำสั่งให้ใช้กำลังทหารเพื่อช่วยเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองหรือตำรวจระงับเหตุการณ์ร้ายแรง หรือควบคุมสถานการณ์ให้เกิดความสงบโดยด่วน ทั้งนี้ ในการปฏิบัติหน้าที่ของทหารให้มีอำนาจหน้าที่เช่นเดียวกับอำนาจหน้าที่ของพนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชกำหนดนี้ โดยการใช้อำนาจหน้าที่ของฝ่ายทหารจะทำได้ในกรณีใดได้เพียงใดให้เป็นไปตามเงื่อนไขและเงื่อนเวลาที่นายกรัฐมนตรีกำหนด แต่ต้องไม่เกินกว่ากรณีที่มีการใช้กฎอัยการศึก
          เมื่อเหตุการณ์ร้ายแรงตามวรรคหนึ่งยุติลงแล้ว ให้นายกรัฐมนตรีประกาศยกเลิกประกาศตามมาตรานี้โดยเร็ว

 

 

ไฟล์แนบ