แก้ไข ป.แพ่งฯ เรื่องค้ำประกันจำนอง 1 : คุ้มครองผู้ค้ำประกันและผู้จำนอง แต่เศรษฐกิจอาจพังครืน

เมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน 2557 พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่20) พ.ศ.2557 หรือ พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ แก้ไขเกี่ยวกับค้ำประกันและจำนอง ประกาศในราชกิจจานุเบกษา หลังสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ให้ความเห็นชอบเมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2557 
กฎหมายฉบับนี้นำเสนอโดยคณะกรรมการกฤษฎีกา ซึ่งริเริ่มปรึกษาหารือและยกร่างตั้งแต่เดือนมกราคม 2554 – กันยายน 2555 โดยสำนักพัฒนากฎหมาย ที่ประกอบด้วยตัวแทนกฤษฎีกาและผู้ทรงคุณวุฒิภายนอก เช่น ตัวแทนจากสถาบันการศึกษา, ตุลาการ, ภาคเอกชน รวมถึง ม.ร.ว.ปรีดียาธร เทวกุล ร่างกฎหมายฉบับนี้เคยถูกเสนอเข้าสู่การพิจารณาแล้วแต่ตกไปเนื่องจากการยุบสภาของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร แต่หลังการยึดอำนาจ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้นำร่างกฎหมายฉบับนี้มาพิจารณาใหม่อีกครั้ง 
สาระสำคัญ : คุ้มครองสิทธิผู้ค้ำประกัน แต่เศรษฐกิจอาจพังครืน
เนื้อหาสำคัญของร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ในเรื่องการค้ำประกันและจำนอง คือ การคุ้มครองสิทธิและให้ความเป็นธรรมแก่ผู้ค้ำประกันและผู้จำนองที่ต้องชำระหนี้แทนลูกหนี้ โดยทั่วไปในทางปฏิบัติ เจ้าหนี้ส่วนใหญ่ซึ่งเป็นธนาคาร สถาบันการเงิน หรือผู้ประกอบอาชีพให้กู้ยืม มักกำหนดข้อตกลงให้ผู้ค้ำประกันหรือผู้จำนองต้องรับผิดเสมือนเป็นลูกหนี้ เมื่อลูกหนี้ไม่ชำระหนี้ตามกำหนดเจ้าหนี้จำนวนมากเลือกที่จะฟ้องผู้ค้ำประกันหรือผู้จำนองแทนการฟ้องลูกหนี้โดยตรง ส่งผลให้ผู้ค้ำประกันหรือผู้จำนองต้องเดือดร้อนหรือล้มละลายจากหนี้ที่ตัวเองไม่ได้ก่อขึ้น 
อย่างไรก็ตามช่วงปลายปี 2557 ก่อนที่่กฎหมายฉบับนี้จะใช้บังคับอย่างเป็นทางการ ก็มีเสียงคัดค้านจากกลุ่มธุรกิจธนาคาร โดยข้อกังวลหลักคือกฎหมายฉบับนี้จะทำให้สถาบันการเงินพิจารณาสินเชื่อเข้มงวดมากขึ้น ทำให้ธนาคารในฐานะเจ้าหนี้มีความเสี่ยงมากขึ้น ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) และอาจส่งผลรุนแรงต่อภาพรวมการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย จนถึงขั้นทำให้ระบบเศรษฐกิจปั่นป่วนหรือพังครืนได้
เจ้าหนี้ต้องกำหนดรายละเอียดของหนี้และขอบเขตความรับผิดชอบของผู้ค้ำประกัน
ตามมาตรา 681 เดิม กำหนดว่า “การค้ำประกันครอบคลุมถึงหนี้ในอนาคตหรือหนี้มีเงื่อนไข จะประกันไว้เพื่อเหตุการณ์ซึ่งหนี้ นั้นอาจเป็นผลได้จริง ก็ประกันได้" หมายความว่า กฎหมายยอมรับให้ผู้ค้ำประกัน ตกลงเข้าค้ำประกันในหนี้ที่ยังไม่เกิดขึ้นจริง เช่น ลูกหนี้ตกลงกับเจ้าหนี้ว่า หากรัฐบาลรับประกันราคาข้าว ที่ 15,000 บาทต่อเกวียน ลูกหนี้จะชำระหนี้จำนวน 100,000 บาทภายในวันที่ 30 เมษายน 2558 เช่นนี้เป็นหนีในอนาคตที่ยังไม่เกิดขึ้น จะเกิดขึ้นต่อเมื่อเงื่อนไขเรื่องการรับประกันราคาข้าวเกิดขึ้นจริงก่อน
หากรัฐบาลประกาศรับประกันราคาข้าวที่ 15,000 บาทต่อเกวียนเมื่อใด ก็จึงถือว่ามีหนี้ต่อกันและมีหน้าที่ต้องชำรำหนี้เกิดขึ้น ซึ่งหากลูกหนี้ไม่ยอมชำระภายในกำหนดเวลา เจ้าหนี้ก็จะเรียกให้ผู้ค้ำประกันชำระแทนได้
ในทางปฏิบัติเจ้าหนี้จำนวนมากกลับใช้บทบัญญัติดังกล่าวเป็นช่องทางที่ทำให้การค้ำประกันเป็นการชำระหนี้อย่างไม่มีขอบเขตจำกัด โดยกำหนดเงื่อนไขในอนาคตที่ทำให้ผู้ค้ำประกันไม่มีโอกาสรู้ว่าจะต้องรับผิดในมูลหนี้ใดบ้างเป็นจำนวนเท่าไร เช่น กำหนดว่า หากรัฐบาลรับประกันราคาข้าวที่ 15,000 บาทต่อเกวียน ลูกหนี้จะชำระหนี้เป็นจำนวนเงินทั้งหมดที่ขายข้าวได้ เป็นต้น ซึ่งการกำหนดเช่นนี้อาจทำให้ผู้ค้ำประกันต้องรับภาระหนักกว่าที่จะสามารถคาดหมายได้ จึงมีการแก้ไขในมาตรา 681 ว่า 
            “หนี้ในอนาคตหรือหนี้มีเงื่อนไขจะ…ต้องระบุวัตถุประสงค์ในการก่อหนี้รายที่ค้ำประกัน ลักษณะของมูลหนี้ จำนวนเงินสูงสุดที่ค้ำประกันและระยะเวลาในการก่อหนี้ที่จะค้ำประกัน…สัญญาค้ำประกันต้องระบุไว้โดยชัดแจ้ง และผู้ค้ำประกันย่อมรับผิดเฉพาะหนี้หรือสัญญาที่ระบุไว้เท่านั้น”
ผู้ค้ำประกันไม่ต้องรับผิดอย่างเดียวกับลูกหนี้
จากเดิมผู้ค้ำประกันต้องรับผิดร่วมกับลูกหนี้ เมื่อลูกหนี้ผิดชำระหนี้ เจ้าหนี้จะบังคับให้ผู้ค้ำประกันชำระหนี้แทนลูกหนี้ได้ทันที ซึ่งไม่เป็นธรรมแก่ผู้ค้ำประกัน เพราะทำให้ผู้ค้ำประกันมีฐานะเป็นลูกหนี้ชั้นต้น ดังนั้น กฎหมายใหม่ มาตรา 681/1 จึงระบุให้ “ข้อตกลงใดที่กำหนดให้ผู้ค้ำประกันต้องรับผิดอย่างเดียวกับลูกหนี้ร่วม…ข้อตกลงนั้นเป็นโมฆะ”
ในประเด็นนี้มีความเห็นอีกมุมจาก บุญทักษ์ หวังเจริญ ประธานสมาคมธนาคารไทย ว่าจะส่งผลกระทบในวงกว้างทันที เนื่องจากปัจจุบันธนาคารพาณิชย์ และรัฐบาลเองถือเป็น ผู้ค้ำประกันรายใหญ่สุดของประเทศ ปัญหาที่จะเกิดขึ้นกับโครงการขนาดใหญ่ของรัฐบาล ตลอดจนรัฐวิสาหกิจของรัฐบาลที่มีฐานะการเงินไม่ดี เช่น การรถไฟแห่งประเทศไทย ก็จะไม่มีสถาบันการเงินไหนปล่อยสินเชื่อ ขณะที่ สมหมาย ภาษี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เห็นตรงกันและชี้ให้เห็นปัญหาว่า การแก้กฎหมายดังกล่าวมาจากการคิดว่าการค้ำประกันเงินกู้มีแต่บุคคลอย่างเดียว จนลืมว่าสถาบันการเงินก็เป็นผู้ค้ำประกันด้วย
หากลูกหนี้ผิดนัด เจ้าหนี้ต้องทำหนังสือบอกกล่าวผู้ค้ำประกันภายใน 60 วัน
จากกฎหมายเดิมที่มีหลักว่าหากลูกหนี้ผิดนัดเมื่อใดเจ้าหนี้สามารถที่จะเรียกให้ผู้ค้ำประกันชำระหนี้ได้ทันที แต่ในทางปฏิบัติไม่มีกระบวนการที่จะทำให้ผู้ค้ำประกันทราบว่าลูกหนี้ผิดนัดชำระหนี้ และเจ้าหนี้เองมักจะทอดเวลาไว้นานกว่าจะเรียกผู้ค้ำประกันมาชำระหนี้แทนลูกหนี้ ทำให้ดอกเบี้ยจากหนี้นั้นเพิ่มปริมาณขึ้น และผู้ค้ำประกันต้องรับผิดในหนี้สินบรรดาดอกเบี้ยและค่าสินไหมทดแทนซึ่งลูกหนี้ค้างชำระทั้งหมด 
ประเด็นนี้ถูกมองว่าเป็นเหตุให้ผู้ค้ำประกันไม่ได้รับความเป็นธรรม เพราะหากผู้คำ้ประกันได้ทราบทันทีที่ลูกหนี้ผิดนัดก็อาจเลือกเข้าชำระหนี้แทนทันทีได้ เพื่อจะได้ไม่ต้องแบกรับภาระจากดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นด้วย กฎหมายใหม่ จึงแก้ไขมาตรา 686 กำหนดให้
“เมื่อลูกหนี้ผิดนัด ให้เจ้าหนี้มีหนังสือบอกกล่าวไปยังผู้ค้ำประกันภายในหกสิบวัน…และไม่ว่ากรณีใดเจ้าหนี้จะเรียกให้ผู้ค้ำประกันชำระหนี้ก่อนที่หนังสือบอกกล่าวจะไปถึงมิได้…ในกรณีที่เจ้าหนี้มิได้มีหนังสือบอกกล่าวภายในกำหนดให้ผู้ค้ำประกันหลุดพ้นจากความรับผิดในดอกเบี้ยและค่าสินไหมทดแทน…ที่เกิดขึ้นภายหลังจากพ้นกำหนดระยะเวลา”
ในประเด็นนี้ ชุลีพร น่วมทนง รองเลขาธิการสมาคมธนาคารไทย กล่าวว่า หากลูกหนี้ผิดนัด เจ้าหนี้จะต้องแจ้งผู้ค้ำประกันภายใน 60 วัน จะสร้างความยุ่งยากให้กับเจ้าหนี้ในทางปฏิบัติ การปรับโครงสร้างหนี้ เช่น การลดหนี้ การขอหย่อนเวลา ต้องให้ผู้ค้ำประกันยินยอม ซึ่งหากผู้ค้ำประกันไม่ยินยอมก็จะเกิดปัญหา และท้ายที่สุดเจ้าหนี้ก็ต้องฟ้องถ้าจ่ายไม่ได้ มาตรการเหล่านี้ไม่เอื้อให้เกิดการปรับโครงสร้างหนี้ และจะกระทบต่อระบบเศรษฐกิจในภาพรวม
เจ้าหนี้ต้องกำหนดเวลาที่แน่นอน จะเขียนสัญญาให้ผู้ค้ำประกันยินยอมล่วงหน้าในการผ่อนเวลาไม่ได้
กฎหมายเดิมมีหลักว่าการผ่อนผันเวลาชำระหนี้ให้แก่ลูกหนี้ย่อมทำให้ผู้ค้ำประกันหลุดจากความรับผิด เว้นแต่ว่าผู้ค้ำประกันได้ให้ความยินยอมกับการผ่อนเวลานั้น ตัวอย่างเช่น หากตามกำหนดเดิมลูกหนี้ต้องชำระหนี้ภายในวันที่ 30 เมษายน 2558 แต่เมื่อใกล้ถึงกำหนดเจ้าหนี้เห็นใจลูกหนี้ จึงตกลงกันใหม่ให้ชำระภายในวันที่ 30 เมษายน 2559 โดยผู้ค้ำประกันไม่ได้ตกลงร่วมด้วย เช่นนี้ หากถึงกำหนดชำระในปี 2559 แล้วลูกหนี้ไม่ชำระเงิน เจ้าหนี้จะมาเรียกให้ผู้ค่ำประกันชำระหนี้แทนไม่ได้แล้ว
แต่ในทางปฏิบัติเจ้าหนี้ที่เป็นสถาบันการเงินอาจกำหนดไว้ในสัญญาเลยว่า ให้ผู้ค้ำประกันยินยอมล่วงหน้ากับการตกลงผ่อนเวลาชำระหนี้ ทำให้ผู้ค้ำประกันต้องรับภาระเกินสมควร จึงมีการแก้ไข มาตรา 700 ว่า
            “การค้ำประกันต้องกำหนดเวลาที่แน่นอน และหากเจ้าหนี้ยอมผ่อนเวลาให้แก่ลูกหนี้ ผู้ค้ำประกันย่อมหลุดจากความรับผิด เว้นแต่ผู้ค้ำประกันจะได้ตกลงด้วยในการผ่อนเวลานั้น ข้อตกลงที่ผู้ค้ำประกันทำไว้ล่วงหน้าก่อนเวลาอันมีผลยินยอมให้เจ้าหนี้ผ่อนเวลา ข้อตกลงนั้นใช้บังคับมิได้”
ผู้จำนองที่ต้องประกันหนี้บุคคลอื่นไม่ต้องรับผิดเกินราคาทรัพย์ที่จำนอง
ในการกู้ยืมเงินหลายครั้งลูกหนี้ไม่มีทรัพย์สินที่จะเอามาใช้เป็นประกัน จึงไปหยิบยืมเอาทรัพย์สินของคนอื่นมาเป็นประกันการชำระหนี้ ตัวอย่างเช่น นายก. จะกู้เงินธนาคาร โดยขอให้นายข. พี่ชาย นำที่ดินของนายข. มาจำนองเป็นประกันการกู้ยืมเงิน เช่นนี้หากนายก. ไม่ชำระหนี้ตามกำหนด ธนาคารก็อาจจะยึดที่ดินของนายข. ที่จำนองไว้ เพื่อชำระหนี้แทนได้
ในทางปฏิบัติเมื่อลูกหนี้ค้างชำระหนี้ เจ้าหนี้จะบังคับจำนองเอากับทรัพย์ของผู้จำนอง แต่หากเมื่อนำทรัพย์ที่จำนองออกขายแล้วได้ราคาไม่คุ้มกับจำนวนหนี้ที่ลูกหนี้ค้างชำระ เจ้าหนี้ก็จะบีบบังคับผู้จำนองให้ต้องรับผิดสำหรับหนี้ที่เหลืออยู่จนครบจำนวน
ประเด็นนี้ถูกมองว่าไม่เป็นธรรมกับผู้ที่นำทรัพย์สินของจนมาจำนองเพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ที่แท้จริง ในกฎหมายใหม่จึงเพิ่ม มาตรา 727/1 ว่า
       “เพื่อให้ผู้จำนองหนี้ที่บุคคลอื่นต้องชำระ (ลูกหนี้) ไม่ต้องรับผิดในหนี้ที่เกินราคาทรัพย์สินของตน โดยข้อตกลงใดที่มีผลให้ผู้จำนองรับผิดเกินจากนี้ ข้อตกลงนั้นเป็นโมฆะ”
ผู้จำนองมีสิทธิแจ้งให้เจ้าหนี้ขายทอดตลาดทรัพย์สิน โดยไม่ต้องฟ้องเป็นคดีต่อศาล
ในกฎหมายเดิมไม่มีบัญญัติให้ผู้จำนองขอบังคับจำนองได้จึงเกิดปัญหาว่าผู้รับจำนองบางครั้งก็เลือกจะไม่ดำเนินการบังคับคดีจำนองโดยเร็ว เพื่อหวังจะได้รับดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น กฎหมายใหม่จึงเพิ่มบทบัญญัติใหม่ ว่า
“มาตรา 729/1 ในเวลาใดๆ หลังจากหนี้ถึงกำหนดชำระหนี้…ผู้จำนองมีสิทธิแจ้งเป็นหนังสือไปยังผู้รับจำนองเพื่อให้ดำเนินการขายทอดตลอดทรัพย์สิน โดยไม่ต้องฟ้องร้องต่อศาล โดยผู้รับจำนองต้องดำเนินการภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้ง….หากผู้รับจำนองไม่ดำเนินการภายในระยะเวลาที่กำหนด ให้ผู้จำนองพ้นจากความรับผิดในดอกเบี้ยและค่าสินไหมทดแทนซึ่่งลูกหนี้ค้างชำระที่เกิดขึ้นภายหลังวันที่พ้นกำหนดเวลาดังกล่าว”                                            
ทั้งนี้เมื่อผู้รับจำนองขายทอดตลาดทรัพย์สินที่จำนองได้เงินจำนวนเท่าใด ผู้รับจำนองต้องจัดสรรชำระหนี้ให้เสร็จสิ้นไป ถ้ามีเงินเหลือก็ต้องสิ่งคืนให้แก่ผู้จำนอง
ในประเด็นนี้ กฤษฎา จีนะวิจารณะ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง อธิบายให้เห็นภาพว่าที่ผ่านมาหากทรัพย์สิน เช่น ที่ดินมีมูลค่า 100 ล้านบาท ติดจำนองเพียง 50 ล้านบาท แต่เนื่องจากคดีความเรื้อรังไป 5 ปี 10 ปี หรือ 15 ปี ทำให้มูลหนี้บวกกับดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นตามระยะเวลาคดีจาก 50 ล้านบาท เพิ่มเป็น 100 ล้านบาท หรือ 120 ล้านบาท ที่ดินที่เคยมีราคาสูงกว่ามูลหนี้ ก็กลับมีราคาน้อยกว่ามูลหนี้และดอกเบี้ยรวมกัน กฎหมายใหม่จึงปลดล็อกให้สามารถขายที่ดินได้ทันที และเมื่อขายที่ดินได้ 100 ล้านบาทใช้คืนเจ้าหนี้ 50 ล้านบาท เงินที่เหลืออีก 50 ล้านบาทต้องคืนให้แก่ผู้จำนอง
ไฟล์แนบ