เกิดอะไรขึ้นที่นามูล-ดูนสาด เมื่อสัมปทานปิโตรเลียมเคลื่อนเข้ามา ?

ภาพจากประชาไท
การจัดการทรัพยากรธรรมชาติกับสิทธิชุมชน เป็นปัญหาคลาสสิคที่ปรากฏในหลายพื้นที่ของประเทศไทย กรณีการต่อต้านการสำรวจปิโตรเลียมของบริษัท อพิโก้ (โคราช) จำกัด ในพื้นที่บ้านนามูล ต.ดูนสาด อ.กระนวน จ.ขอนแก่น เป็นกรณีล่าสุดที่สถานการณ์ในพื้นที่กำลังร้อนแรง
จุดเริ่มต้นที่ประเด็นนี้ถูกพูดถึงในสังคมออนไลน์ อาจมาจากภาพที่ชาวบ้านนอนขวางถนนไม่ให้รถขนเครื่องจักรสำหรับเจาะสำรวจผ่าน ภาพชาวบ้านนั่งกับพื้นและพนมมือไหว้ขอร้องเจ้าหน้าที่รัฐ ขออย่าให้บริษัท อพิโก้ (โคราช) จำกัด เข้ามาขุดสำรวจพื้นดินที่ตนเป็นเจ้าของ แต่นอกเหนือจากภาพเหล่านี้แล้ว สังคมทั่วไปรับรู้อะไรเกี่ยวกับสิ่งที่เกิดขึ้นที่นามูลบ้าง ซึ่งเราอาจทำความรู้จักกับปัญหานี้ โดยเริ่มจากการรู้จักสัมปทานปิโตรเลียมกันก่อน
สัมปทานปิโตรเลียมคืออะไร ?
ระบบสัมปทานปิโตรเลียม เป็นที่รัฐเจ้าของทรัพยากรไม่ต้องลงทุนและไม่ต้องรับผิดชอบความเสี่ยงเอง แต่ให้ผู้รับสัมปทานจะเป็นผู้ลงทุนเองทั้งหมดและรับความเสี่ยงแต่เพียงผู้เดียว หากบริษัทลงทุนไปแล้วไม่พบปิโตรเลียม หรือพบแต่ไม่สามารถผลิตในเชิงพาณิชย์ได้ บริษัทต้องคืนพื้นที่ดังกล่าวให้รัฐ แต่หากบริษัทพบแหล่งปิโตรเลียมและทำการผลิตก็ต้องเสียภาษี ซึ่งจะอัตราการเก็บคิดจากปริมาณการผลิตทั้งหมด และเมื่อประกอบการจนได้ผลกำไรแล้ว ก็จะต้องเสียภาษีรายได้ปิโตรเลียม ซึ่งในกรณีของไทยกำหนดไว้ร้อยละ 50 
สำหรับกรณีของนามูล-ดูนสาด บริษัท อพิโก้ (โคราช) จำกัด ได้รับสัมปทานขุดเจาะและสำรวจปิโตรเลียมหลุมเจาะดงมูล บี (DM-B) บนแปลงสัมปทาน L27/43 ซึ่งอยู่ในเขต ต.กุงเก่า อ.ท่าคันโท จ.กาฬสินธุ์ ตั้งแต่วันที่ 25 กันยายน 2546 พื้นที่ดังกล่าวอยู่ห่างจากบ้านนามูลประมาณ 1-2 กิโลเมตร บ้านนามูลจึงอยู่ในเขตพื้นที่รัศมี 5 กิโลเมตรที่ต้องศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม
ทั้งนี้ บริษัทฯ ได้รับสัมปทานในพื้นที่ดังกล่าวจนถึงปี 2560 หากการสำรวจก๊าซธรรมชาติครั้งนี้สามารถพัฒนาต่อในเชิงพาณิชย์ได้ ก็จะมีการต่ออายุสัมปทานสำหรับการพัฒนาปิโตรเลียมอีก 20 ปี 
   

++รู้จักขั้นตอนการให้สัมปทานปิโตรเลียม++ 

เริ่มจากกระทรวงพลังงานออกประกาศให้เอกชนยื่นขอสัมปทาน โดยเอกชนต้องมีคุณสมบัติเป็นบริษัทที่มีทุน เครื่องจักร เครื่องมือ และผู้เชี่ยวชาญเพียงพอที่จะทำการสํารวจ ผลิต ขาย และจําหน่ายปิโตรเลียม เอกชนที่สนใจต้องจัดทําหลักฐาน โครงการประกอบคําขอ และผลประโยชน์พิเศษ เช่น ทุนการศึกษา โบนัสลงนาม โบนัสการผลิต

หลังจากนั้นกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติจะคัดเลือกผู้รับสัมปทานจากคุณสมบัติ ความน่าเชื่อถือ ประสบการณ์ และความมั่นคงทางการเงินของผู้ยื่นขอสัมปทาน แล้วนําเสนอต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานเพื่อพิจารณา แล้วส่งต่อให้คณะรัฐมนตรีอนุมัติ รวมระยะเวลาตั้งแต่ยื่นขอสัมปทานจนกระทั่งได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีจะใช้เวลาประมาณ 4-6 เดือน

ความชอบธรรมของ “อพิโก้” ในสายตาชาวบ้าน
เลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์ ผู้ประสานงานกลุ่มนิเวศวัฒนธรรมศึกษา ด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งติดตามกรณีนามูล-ดูนสาดมานาน สรุปให้ฟังว่า ชาวบ้านออกมาเคลื่อนไหวคัดค้านด้วยหลายเหตุผล หลักๆ คือการเข้ามาของบริษัทไม่มีความชอบธรรม เช่น ในเรื่องการขนย้ายเครื่องจักรและอุปกรณ์สำรวจ ตามมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่ระบุว่า จะต้องแจ้งให้ชาวบ้านทราบล่วงหน้า 15 วัน แต่ทางราชการเอาหนังสือมาติดประกาศชั่วข้ามคืน คือติดประกาศวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2558 ว่า อนุญาตให้บริษัทขนเครื่องจักรเข้ามาตั้งแต่วันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2558 เป็นต้นไป การติดประกาศเพียงวันเดียวทำให้ชาวบ้านไม่ทราบเรื่อง อีกทั้งแจ้งเฉพาะหน่วยงานราชการ เช่น บ้านผู้ใหญ่บ้าน องค์การบริหารส่วนตำบล ซึ่งไม่ทั่วถึงกัน สุดท้ายแล้วเจ้าหน้าที่ก็ถอดประกาศที่ติดไว้ออกไป
นอกจากนี้ยังมีปัญหาเรื่องพื้นที่ บางส่วนของพื้นที่ขุดเจาะ บริษัทซื้อจากเจ้าของที่แท้จริง แต่มีบางส่วนเป็นที่สาธารณประโยชน์ ซึ่งยังไม่ได้รับความเห็นชอบหรือการอนุญาตใดๆ
เลิศศักดิ์เล่าอีกว่า “รัฐบาลบอกกับประชาชนว่าการขุดเจาะครั้งนี้เป็นเพียงการสำรวจเท่านั้น ยังไม่ได้ทำอะไร แต่ผมเห็นว่า แม้เป็นการสำรวจ แต่ก็จะนำมาซึ่งการผลิตปิโตรเลียมในอนาคต เพราะรัฐบาลให้สัญญาควบรวมทั้งการสำรวจและการผลิต ประกอบกับบริษัทได้สัมปทานตั้งแต่ปี 2546 จึงมีการสำรวจก่อนหน้านี้หลายครั้ง นานกว่า 5 ปี โดยใช้เทคนิคการบินสำรวจ ดังนั้น หลุมดงมูล บี จึงสำรวจมาลึกแล้ว และค่อนข้างแน่ชัดว่าหลุมดังกล่าวมีศักยภาพในการผลิต แต่บริษัทไม่บอกความจริง ชาวบ้านจึงสงสัยว่านี่ไม่ใช่การสำรวจ แต่เป็นการเตรียมที่จะผลิต”
“มีข้อสงสัยที่ไม่ได้รับคำตอบอีกมาก เช่น ความกังวลว่าพื้นที่ดังกล่าวจะสำรวจแบบใช้สารเคมี หากมีการระเบิดใต้ดิน อาจจะแพร่สารเคมีในน้ำ ส่งผลกระทบต่อน้ำที่ใช้ในการเกษตร การอุปโภคของชาวบ้าน”
 
 
จากงานวิจัยของ ดร.ไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ อาจารย์คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม และนักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อม ระบุว่า “ในอีสานปัญหาสัมปทานการขุดเจาะก๊าซที่เป็นเรื่องใหญ่ที่สุดคือ มีก๊าซไฮโดรเจนซัลไฟด์ หรือก๊าซไข่เน่า และแปลงสัมปทานส่วนมากอยู่บนพื้นที่เกษตรกรรมของชุมชน”
“ที่ชาวบ้านออกมาต่อต้าน เพราะเขาเห็นบทเรียนจากบ้านคำไผ่ จ.กาฬสินธุ์ และบ้านโนนสง่า จ.อุดรธานี จากการลงไปทำวิจัยพบว่า ชาวบ้านประมาณ 200 คน ป่วยด้วยก๊าซพิษไฮโดรเจนซัลไฟด์ ซึ่งก๊าซพิษนี้มีอันตรายมาก หากตกค้างในร่างกายเพียง 800 ppm ก็อาจทำให้เสียชีวิตได้ทันที ปรากฏว่ามีชาวบ้านที่ป่วยหนัก 6 รายที่ต้องเข้าโรงพยาบาล และอีก 200 รายที่เหลือเกิดอาการวิงเวียนศีรษะและทางเดินหายใจ”
“ถ้าหากมีการขุดเจาะจะทำให้ชุมชนนามูล-ดูนสาดที่อยู่ในระยะใกล้สุด 1-2 กิโลเมตร ได้รับผลกระทบทั้งเรื่องปัญหาสุขภาพและปัญหาสิ่งแวดล้อมรุนแรงพอๆ กับที่คำไผ่ ดังนั้น ชาวบ้านต้องได้รับรู้ผลกระทบเหล่านี้ และเข้าไปมีส่วนร่วมในการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ ผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือ EIA " 
ด้านสุทธิเกียรติ คชโส หรือ ปาล์ม เจ้าหน้าที่จากศูนย์กฎหมายสิทธิมนุษยชนเพื่อสังคม ภาคอีสาน ที่ติดตามเรื่องนี้มากว่า 2 ปี เล่าว่า การทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ว่า ตามปกติแล้วต้องทำ 2 รอบ รอบแรกเพื่อการสำรวจ ซึ่งทำเสร็จแล้วตั้งแต่วันที่ 16 พฤษภาคม 2557 และรอบที่สองเพื่อการผลิต ซึ่งอยู่ระหว่างดำเนินการ
“ที่ผ่านมา การทำรายงาน EIA มีจัดเวทีรับฟังความเห็น 3 ครั้ง การจัดเวทีแต่ละครั้งจะจัดที่จังหวัด อำเภอ หรือ อบต. ไม่ได้จัดที่บ้านนามูลโดยตรง คนที่ไปฟังก็เป็นผู้นำชุมชน ทางบริษัทฯ บอกว่า เขาจัดเวทีมา 7 ครั้งแล้ว มีชาวบ้านไปฟังครั้งละประมาณ 25 คน ทั้งๆ ที่ชาวบ้านทั้งตำบลมีประมาณ 8,000 คน”
“นอกจากการจัดเวทีแล้ว ทางบริษัทฯ ที่รับทำรายงาน EIA ยังใช้วิธีแจกของให้ชาวบ้าน 2 ครั้ง ครั้งแรกแจกถุงอุปกรณ์ตัดแต่งเล็บ คล้ายๆ ของชำร่วย โดยผู้รับของต้องเซ็นชื่อ หากไม่มารับ ก็จะเดินแจกตามบ้านโดยมีกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อบต. พาไป ถ้าไม่ออกมาเอา ก็จะวางไว้หน้าบ้าน บางคนผู้ใหญ่บ้านก็เขียนชื่อให้เอง ส่วนครั้งที่สองเป็นการแจกเสื้อ ทั้งหมดนี้ก็เพราะต้องการรายชื่อประกอบการทำ EIA”
“การทำ EIA เขาไม่ได้มาถามว่าเห็นด้วยหรือไม่ เขาแค่จะมาเอารายชื่อ ซึ่งตามหลักแล้วเขาต้องให้ข้อมูลที่รอบด้านว่าผลดี ผลเสียของโครงการคืออะไร แต่นี่เขาพูดแต่ด้านดีอย่างเดียว เรื่องผลกระทบเขาไม่พูด ไม่ตอบข้อสงสัย”
ทางออกที่ชาวบ้านพอจะทำได้
ปาล์มบอกอีกว่า ชาวบ้านพยายามหยุดยั้งการขุดเจาะสำรวจครั้งนี้หลายหนทาง ได้ส่งหนังสือร้องเรียนถึง 9 หน่วยงาน อาทิ ศาลปกครองกลาง ศาลปกครอง จังหวัดขอนแก่น ที่ว่าการอำเภอกระนวน โดยเริ่มส่งหนังสือตั้งแต่เดือนธันวาคม 2557 เพื่อขอให้ยกเลิกโครงการขุดเจาะหลุมดงมูล บี ให้ยกเลิกสัมปทานแปลงนี้ รวมถึงขอให้ศาลมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว เพื่อให้บริษัทชะลอการขนย้ายอุปกรณ์ขุดเจาะออกไปก่อนจนกว่าจะมีคำพิพากษา
ผลปรากฏว่า “ศาลยกคำร้องด้วยเหตุผลว่าในวันไต่สวนคำร้องยังไม่มีการขนย้ายอุปกรณ์ใดๆ”
ต่อมาวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2558 เมื่อมีการขนเครื่องจักรอุปกรณ์พร้อมจะขุดแล้ว ชาวบ้านจึงยื่นคำร้องต่อศาลปกครองอีกครั้ง แต่ศาลเห็นว่าเป็นเรื่องเดียวกันกับครั้งก่อน ซึ่งศาลได้ยกคำร้องไปแล้ว
นอกจากนี้ วันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2558 ชาวบ้านขอให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ลงมาตรวจสอบพื้นที่ เนื่องจากมีการคุกคามจากเจ้าหน้าที่รัฐและบริษัท ชาวบ้านไม่มีส่วนร่วมในเวทีรับฟังความเห็น รวมถึงมีการบังคับให้เซ็นชื่อ
กรรมการสิทธิฯ ตอบกลับมาว่า “คงให้ความเห็นทุกเรื่องไม่ได้ จึงพิจารณาได้เพียงประเด็นที่มีเจ้าหน้าที่รัฐเข้าไปทำการอุกอาจในพื้นที่”
ภาพจากประชาไท
 
 
สถานการณ์ปัจจุบันและการรับมือกับอนาคต
หลังการประชุมเวทีประชาสัมพันธ์โครงการเมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2558 มีข้อสรุปให้ตั้งคณะกรรมการไตรภาคี มีหน้าที่ตรวจสอบ ดูแล ติดตาม ประมวลผลการขุดเจาะสำรวจ โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่นเป็นผู้แต่งตั้งกรรมการประมาณ 55 คน ประกอบด้วยหน่วยงานรัฐที่รับผิดชอบ ตัวแทนบริษัท ตัวแทนชาวบ้าน ผู้ใหญ่บ้าน กำนัน ส่วนใหญ่เป็นฝ่ายสนับสนุนการเจาะสำรวจ และมีรองผู้อำนวยการกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) จ.ขอนแก่น เป็นดูแลการจัดงาน ล่าสุด มีผู้ถูกปลดออกจากคณะกรรมการ 2 คน ซึ่งสองคนนี้เป็นชาวบ้านที่ต่อต้าน
ขณะเดียวกันวันที่ 24 มีนาคม 2558 ที่จะถึงนี้ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ โดยคณะอนุกรรมการด้านสิทธิชุมชน จะลงพื้นที่เพื่อรับฟังข้อมูลที่่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยมีนักวิชาการ ตัวแทนจากสำนักงานนโยบายแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) และ กอ.รมน. เป็นผู้ให้ข้อมูล
 
ปาล์มกล่าวทิ้งท้ายว่า “สิ่งที่เราทำได้ตอนนี้คือ รณรงค์ให้ข้อมูลกับชาวบ้านให้มากที่สุด ให้คำปรึกษากับชาวบ้านเรื่องความเสี่ยงต่างๆ ว่าในสถานการณ์แบบนี้ อะไรที่ทำได้ อะไรที่เจ้าหน้าที่จับตาอยู่ เราก็แนะนำไป”