ร่างกฎหมาย กสทช.ใหม่ เตรียมดึงคลื่นความถี่กลับสู่รัฐอีกครั้ง

ร่าง พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม (ฉบับที่ ..) พ.ศ…. หรือ ร่างแก้ไข พ.ร.บ.กสทช. เป็นหนึ่งใน "ชุดกฎหมายความมั่นคงดิจิทัล 10+3 ฉบับ" ที่คณะรัฐมนตรีอนุมติหลักการไปแล้ว เพื่อรองรับ “การพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล”
ร่างนี้เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมจาก พ.ร.บ. กสทช. ฉบับปัจจุบัน ที่เพิ่งประกาศใช้เมื่อปลายปี 2553 (และมีการแก้ไขหลังรัฐประหารตามประกาศ คสช.ฉบับที่ 80/2557) เหตุผลของการแก้ไข คือ การปรับบทบาทและภารกิจ “คณะกรรมการกิจการ กระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ” (กสทช.) และ กองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.) ให้สอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศ ที่จะมี “คณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม” เป็นหลักในการกำหนดทิศทางการขับเคลื่อนกิจการด้านดิจิทัลของประเทศ
โดยสาระสำคัญของร่างแก้ไข พ.ร.บ. กสทช. อาจแบ่งได้ 3 ประเด็นดังนี้

 

เปลี่ยน กสทช. อยู่ใต้การกำกับของรัฐ

 

หนึ่งในผลพวงหลังพลังชนชั้นกลางล้มเผด็จการ รสช. (คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ) ในเดือนพฤษภาคม 2535 นั่นคือรัฐธรรมนูญปี 2540 ที่กำหนดให้คลื่นความถี่ที่ใช้ในการส่งวิทยุกระจายเสียง วิทยุ โทรทัศน์ และวิทยุโทรคมนาคม เป็นทรัพยากรสื่อสารเพื่อประโยชน์สาธารณะ และให้มีการจัดตั้งองค์กรอิสระเพื่อทำหน้าที่จัดสรรคลื่นความถี่ และกำกับดูแลการประกอบกิจการด้านต่างๆ
การจัดตั้งองค์กรอิสระด้านการดูแลกิจการสื่อสารและคมนาคมต้องต่อสู้กันยาวนานอย่างทุลักทุเล จนกระทั่งในปี 2553 จึงผลักดันกฎหมาย กสทช. สำเร็จและในปี 2554 ก็จัดตั้งคณะกรรมการ กสทช. ชุดแรกขึ้นมา นับเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญของการปฏิรูปทรัพยากรสื่อสารสาธารณะให้ไปสู่การถือครองของกลุ่มประชาชนที่หลากหลาย หลังจากที่ถูกผูกขาดโดยระบอบราชการ (กองทัพ หน่วยงานราชการ และรัฐวิสาหกิจ) เป็นส่วนใหญ่มายาวนาน
อย่างไรก็ตาม ร่างแก้ไข พ.ร.บ. กสทช. ฉบับล่าสุด อาจทำให้ "ขบวนปฏิรูปสื่อ" ที่ใช้เวลากว่า 13 ปี ต้องสูญเปล่า เนื่องจาก ร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าวจะลดสถานะ กสทช. ให้อยู่ภายใต้คณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ตั้งขึ้นใหม่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของนายกรัฐมนตรี และมีข้าราชการเป็นองค์ประกอบหลักของคณะกรรมการ
หากร่างฉบับนี้ประกาศใช้ การจัดทำแผนแม่บทการบริหารคลื่นความถี่ของ กสทช. จะต้องเสนอต่อคณะกรรมการดิจิทัลฯ เพื่อให้ความเห็นชอบ (มาตรา 48) นั่นหมายความว่าหน้าที่ในการวางระเบียบและควบคุมกิจกรรมต่างๆ ของ กสทช. จะต้องถูกกำหนดจากรัฐบาลและส่วนราชการ 
และ กสทช.มีหน้าที่ดำเนินงานตามอำนาจหน้าที่ให้สอดคล้องกับนโยบายที่คณะรัฐมนตรีแถลงไว้ต่อรัฐสภา และนโยบายการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ตามที่คณะรัฐมนตรีเห็นชอบไว้ (มาตรา 74)
นอกจากนี้ร่างแก้ไข พ.ร.บ. กสทช. ยังกำหนดให้ผู้ประกอบการที่ได้รับอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ จาก กสทช. ต้องแจ้งไปยังคณะกรรมการดิจิทัลฯ รวมทั้งรายงานสรุปสถานภาพการลงทุนทรัพยากรที่ใช้ในการบริการในภาพรวม (มาตรา 45) ซึ่งเป็นการให้อำนาจคณะกรรมการดิจิทัลฯ กำหนดและควบคุมทิศทางการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลอย่างรวมศูนย์ โดยการปราศจากการมีส่วนร่วมของภาคส่วนที่หลากหลายในการพัฒนาเศรษฐกิจ    
เปิดช่องให้แจกคลื่นความถี่ให้ภาครัฐง่ายขึ้น
การเมืองนับจากรัฐธรรมนูญปี 2540 และการกำเนิด กสทช. เป็นการปฏิรูปทรัพยากรสื่อสารสาธารณะไปในทางกระจายการผูกขาดโดยรัฐส่วนกลางให้ไปสู่มือประชาชนมากยิ่งขึ้น ในทางกลับกันความพยายามปฏิรูปหลังรัฐประหาร 2557 เป็นการปฏิรูปทรัพยากรสื่อสารสาธารณะไปในทางที่เปิดโอกาสให้ระบอบราชการกลับมาแสวงหาผลประโยชน์จากทรัพยากรสื่อสารสาธารณะได้มากขึ้น
ในร่างแก้ไข พ.ร.บ. กสทช. มาตรา 41 วรรคสี่ ที่ว่า “การอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่…ต้องคำนึงถึงประโยชน์สูงสุด…ในด้านการศึกษา วัฒนธรรม ความมั่นคงของรัฐ และประโยชน์สาธารณะอื่น รวมทั้งการแข่งขันโดยเสรีอย่างเป็นธรรมและต้อง…กระจายการใช้ประโยชน์โดยทั่วถึงในกิจการด้านต่างๆ ซึ่งต้องจัดสรรให้เพียงพอสำหรับการจัดทำบริการสาธารณะของรัฐ” การเพิ่มส่วนหลังสุดเป็นการเปิดช่องให้ภาครัฐเข้ามาอ้างความจำเป็นในการนำคลื่นสาธารณะไปใช้ได้อย่างกว้างขวาง 
สมเกียรติ ตั้งกิจวาณิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เคยวิเคราะห์ว่าการจัดสรรคลื่นให้กับรัฐวิสาหกิจหรือให้กับหน่วยงานที่อ้างว่าใช้เพื่อความมั่นคง สุดท้ายหน่วยงานเหล่านี้มักจะปล่อยช่วงต่อให้เอกชนนำไปใช้เชิงพาณิชย์
และเพื่อให้สอดรับกับการจัดทำบริการสาธารณะของรัฐที่เพียงพอ ร่างแก้ไข พ.ร.บ. กสทช. จึงแก้ไขวิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่่นความถี่จากวิธีการประมูล มาเป็นการคัดเลือกจากคุณสมบัติ (beauty contest) (มาตรา 41 วรรคหกและวรรคเจ็ด) จึงมีความกังวลในประเด็นความยุติธรรมและความโปร่งใสจากหลายฝ่าย เช่น ซิคเว่ เบรคเก้ รักษาการประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ดีแทค ไม่เห็นด้วยกับการคัดเลือกโดยไม่ต้องใช้วิธีประมูล โดยระบุว่าการประมูลเป็นวิธีที่ดีที่สุดที่จะทำให้มั่นใจได้ว่าคลื่นความถี่ที่ถือว่าเป็นทรัพยากรจะถูกจัดสรรให้กับผู้ที่จะนำไปใช้ประโยชน์ได้สูงสุด นี่จึงเป็นหลักการที่ประเทศส่วนใหญ่เลือกใช้การประมูล  
ขณะที่ สมเกียรติ ตั้งกิจวาณิชย์ เห็นว่า “ยังไม่เห็นเหตุผลที่เป็นระบบชัดเจนว่าการประมูลทำให้ติดขัดอย่างไร ที่ผ่านมามีการคัดค้านจากกลุ่มที่ต่อต้านไม่ให้มีการประมูล แต่ยังไม่เคยเห็นเหตุผลที่ทำให้เชื่อได้จริงๆ ว่าการประมูลเป็นอุปสรรคในการจัดสรรคลื่นความถี่ หากไม่ประมูลจะเปิดช่องให้ใช้ดุลพินิจได้เยอะมากส่วนวิธีคัดเลือกอื่นที่นิยมใช้กันคือ คัดเลือกจากเงื่อนไขหรือบิวตี้คอนเทสต์ ซึ่งไม่น่าเหมาะกับประเทศไทย”
ย้ายกองทุนวิจัย กทปส. ไปอยู่กับคณะกรรมการดิจิทัล
ฟุตบอลโลก 2014 ที่บราซิล ทำให้แฟนบอลไทยมีความสุขกันอย่างถ้วนหน้า เมื่อ กสทช. ควักเงิน 427 ล้านบาท จากกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.) ซื้อลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดจากบริษัทอาร์เอส อินเตอร์เนชั่นแนล บรอดคาสติ้ง แอนด์ สปอร์ต แมเนจเมนท์ จำกัด แม้จะมีข้อท้วงติงถึงการใช้เงินผิดหลักเกณฑ์และวัตถุประสงค์ของกองทุน แต่เพื่อ "คืนความสุข" ให้กับประชาชนตามคำร้องขอของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เรื่องนี้จึงผ่านไปไม่ยากนัก
กองทุน กทปส. มีวัตถุประสงค์ เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการดำเนินการ เพื่อประโยชน์สาธารณะ เพื่อให้ประชาชนได้รับบริการอย่างทั่วถึง การวิจัยและพัฒนา การพัฒนาบุคลากร การคุ้มครองผู้บริโภค การจัดสรรเงินให้แก่กองทุนสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ รวมถึงการสนับสนุนด้านงบประมาณให้กระทรวงการคลัง โดยในช่วงเดือนกรกฎาคม 2557 กองทุนนี้มีเงินรวมประมาณ 12,000 ล้านบาท 
ในร่างแก้ไข พ.ร.บ.กสทช. เสนอให้ยกเลิกกองทุน กทปส. และให้โอนเงินและทรัพย์สินของกองทุนไปเป็นของกองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม 
ความน่าสนใจของกองทุนนี้อย่างหนึ่ง คือ หลังรัฐประหารมีการแก้ไข พ.ร.บ.กสทช. ในส่วนของกองทุน กทปส. ด้วยประกาศ คสช. ในสองประเด็นหลัก คือ เพิ่มวัตถุประสงค์ของกองทุนในการ “ส่งเสริมและสนับสนุนด้านงบประมาณให้กระทรวงการคลังสามารถยืมเงินกองทุนเพื่อนำไปใช้ในกิจการของรัฐเพื่อประโยชน์สาธารณะ” (มาตรา 52 (6)) และการแก้ไขคณะกรรมการบริหารกองทุน (มาตรา 54) โดยเพิ่มปลัดกระทรวงกลาโหม และตัดกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในด้านต่างๆ เช่น ด้านการคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคหรือส่งเสริมสิทธิเสรีภาพของประชาชน ด้านการคุ้มครองสิทธิของผู้ด้อยพิการและผู้ด้อยโอกาส เป็นต้น 
นอกจากนี้ ร่างแก้ไข พ.ร.บ.กสทช. ยังเสนอให้เงินค่าธรรมเนียมใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่และค่าธรรมเนียมใบอนุญาตประกอบกิจการต่างๆ เมื่อหักค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องในการกำกับดูแลแล้ว ให้นำส่งกองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมเป็นจำนวนร้อยละ 50 และที่เหลือให้ส่งเข้ากระทรวงการคลัง เพื่อเป็นรายได้ของรัฐส่วนกลาง ทั้งนี้หลังรัฐประหาร คสช. ก็ได้ออกประกาศแก้ไขในส่วนนี้ คือให้นำเงินจากการประมูลใบอนุญาตเพื่อประกอบกิจการธุรกิจส่งเข้ากระทรวงการคลัง (มาตรา 42) จากเดิมที่เงินรายได้ต้องส่งเข้ากองทุน กทปส. ทั้งหมด
ไฟล์แนบ