iLaw ขอสรุปผลงาน สนช. ปี 2557

สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ถูกแต่งตั้งขึ้นโดยคณะรัฐประหาร เพื่อมาทำหน้าที่พิจารณาออกกฎหมาย แต่งตั้ง, สรรหา หรือถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งสำคัญ และตรวจสอบการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐ แทนสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) และ วุฒิสภา (ส.ว.) การทำงานของสนช.จึงย่อมตั้งอยู่บนคำถามด้านความชอบธรรมของที่มา และความเป็นอิสระในการลงมติ ผลงานอันเป็นที่ประจักษ์เท่านั้นที่จะเป็นเครื่องพิสูจน์ว่าสมาชิกสนช.ทำหน้าที่อย่างเต็มที่เพื่อผลประโยชน์ของประชาชน หรือ เป็นเพียง "ตรายาง" ในการดำเนินนโยบายของคณะรัฐประหารเท่านั้น 
ผลงานในปี 2557 ตลอดระยะเวลาประมาณ 5 เดือน ของ สนช. มีการพิจารณาร่างกฎหมายถึง 97 ฉบับ มีการลงมติผ่านกฎหมายแล้ว 47 ฉบับ โดยมีสมาชิกเข้าร่วมประชุมเฉลี่ย 176 คนต่อครั้ง จากจำนวนสมาชิกทั้งหมด 220 คน สนช.เห็นชอบข้อตกลงระหว่างประเทศ 5 ฉบับ พิจารณาแต่งตั้งบุคคลให้ดำรงตำแหน่ง 3 คน และพิจารณาเรื่องถอดถอนบุคคลออกจาตำแหน่ง 4 เรื่อง ขณะที่นอกสภาภาคประชาชนก็พยายามส่งเสียงเรียกร้องต่างๆ ให้ดังเข้ามาข้างใน
ช่วงเดือนแรกของการทำงาน สนช.ได้ทำเรื่องที่สำคัญสามเรื่องเพื่อเป็นเป็นจุดเริ่มต้นของการบริหารราชการแผ่นดินให้สามารถดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง เริ่มตั้งแต่ 8 สิงหาคม 2557 ที่เปิดการประชุม สนช. ครั้งแรกเพื่อเลือกประธาน และรองประธาน สนช. จากนั้นวันที่ 18 สิงหาคม 2557 สนช. พิจารณาร่างกฎหมายฉบับแรก คือ ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ. 2558 ต่อเนื่องถึงการลงมติเลือกนายกรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในวันที่ 21 สิงหาคม 2557
หลังวันปีใหม่ 2 มกราคม 2558 พรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช. แถลงผลงานการทำงานของ สนช. ในรอบปี 2557  โดยสรุปว่า การพิจารณากฎหมายที่ผ่านมาสามารถสร้างประโยชน์ต่อประชาชน ประชาชนได้รับการคุ้มครองสิทธิ เสรีภาพ สำหรับการเข้าประชุมสภาก็เป็นที่่น่าพอใจ สมาชิกที่ลาประชุมมีไม่มาก หากมีการลาก็ต้องอธิบายอย่างละเอียดว่าลาไปปฏิบัติภารกิจอะไร โดยสื่อและสังคมสามารถตรวจสอบได้
NLA summary
ความเคลื่อนไหวในสภา: การพิจารณากฎหมาย
วันที่ 28 สิงหาคม 2557 สนช.พิจารณาร่างกฎหมายฉบับแรก คือ ร่าง พ.ร.บ.ถวายความปลอดภัยฯ 
วันที่ 19 ธันวาคม 2557 วันสุดท้ายที่พิจารณา คือ ร่าง พ.ร.บ.ทวงถามหนี้ 
ตลอดระยะเวลา 5 เดือน มีการประชุม 33 ครั้ง เป็นพิจารณากฎหมาย 24 ครั้ง ซึ่ง สนช.พิจารณาร่างกฎหมายไปจำนวน 97 ฉบับ มีร่างที่ผ่านการประชุมทั้งสามวาระ และมีมติเห็นชอบประกาศใช้เป็นกฎหมาย (ผ่านวาระสาม) จำนวน 48 ฉบับ 
คิดเฉลี่ยแล้วพิจารณากฎหมายวาระที่หนึ่งได้ครั้งละ 4 ฉบับ และในวาระที่สามได้ครั้งละ 2 ฉบับ
โดย สนช. สามารถ พิจารณากฎหมายได้มากที่สุด 10 ฉบับ ต่อวัน จำนวน 1 ครั้ง 
รองลงมาพิจารณากฎหมายได้ 8 ฉบับ ต่อวัน จำนวน 3 ครั้ง 
มีร่างกฎหมาย 9 ฉบับ ที่ผ่านการพิจารณา โดยชั้นกรรมาธิการไม่มีการแก้ไขเลย  เช่น ร่าง พ.ร.บ.การขนส่งทางบก, ร่าง พ.ร.บ.สถานพยาบาลสัตว์, ร่าง พ.ร.บ.ศุลกากร ฯลฯ   
ร่างกฎหมายที่ใช้เวลาพิจารณาเร็วที่สุด คือ ร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร  (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 63) และ ร่าง พ.ร.บ.กองอาสารักษาดินแดน ซึ่งใช้เวลาวันเดียวผ่านสามวาระรวด โดยในวาระที่สอง เป็นการตั้งสนช.ทั้งสภาเป็นกรรมาธิการร่วมกัน ขณะที่ ร่างกฎหมายที่ใช้เวลาพิจารณานานที่สุด คือ ร่าง พ.ร.บ.ทวงถามหนี้ ใช้เวลารวม 113 วัน
ในระยะเวลา 5 เดือนของ สนช. ออกกฎหมายประมาณ 10 ฉบับ ต่อเดือน แม้ว่าการพิจารณากฎหมายที่รวดเร็วนั้นจะเป็นข้อดี แต่หากกฎหมายนั้นขาดการพิจารณาที่รอบคอบและรับฟังความคิดเห็นที่หลากหลาย ในอีกแง่หนึ่งก็น่ากังวลว่าการพิจารณาจะคำนึงถึงผู้มีส่วนได้เสียและผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นครบทุกด้านหรือไม่  
จำนวนองค์ประชุม
รัฐธรรมนูญ (ชั่วคราว) ปี 2557 กำหนดให้ สนช. มีจำนวนไม่เกิน 220 คน โดยการประชุมแต่ละครั้งต้องมีองค์ประชุมไม่น้อยกว่าครึ่งหนึ่งของสมาชิก สนช.ที่มีอยู่ คือ ต้องมีสมาชิกเข้าร่วมประชุมอย่างน้อย 110 ในทุกวาระการประชุม หากมีสมาชิกเข้าร่วมไม่ถึงการประชุมจะดำเนินไปไม่ได้ ในปี 2557 มีการประชุมพิจารณาร่างกฎหมายทั้งหมด 116 รอบ (นับจากการพิจารณาร่างกฎหมายทุกฉบับในวาระที่หนึ่งและสาม) จำนวนองค์ประชุมโดยเฉลี่ย 176 คน ต่อ การประชุม 1 ครั้ง ทั้งนี้เพื่อให้ภาพที่ชัดขึ้น อาจแบ่งจำนวนองค์ประชุมแต่ละครั้ง ดังนี้
องค์ประชุมตั้งแต่ 131 – 140 คน มี  1 ครั้ง                          องค์ประชุมตั้งแต่ 181 – 190 คน มี 34 ครั้ง
องค์ประชุมตั้งแต่ 141 – 150 คน มี  5 ครั้ง                          องค์ประชุมตั้งแต่ 191 – 200 คน มี 17 ครั้ง
องค์ประชุมตั้งแต่ 151 – 160 คน มี 10 ครั้ง                         องค์ประชุมตั้งแต่ 201 – 210 คน มี 10 ครั้ง
องค์ประชุมตั้งแต่ 161 – 170 คน มี   6 ครั้ง                         องค์ประชุมตั้งแต่ 211 – 220 คน มี   1 ครั้ง
องค์ประชุมตั้งแต่ 171 – 180 คน มี 32 ครั้ง
โดย ร่างกฎหมายที่มีองค์ประชุมมากสุด คือ ร่าง พ.ร.บ.กำหนดวิทยฐานะผู้สำเร็จวิชาการทหาร ในขั้นรับหลักการ วาระที่หนึ่ง มีผู้มาประชุม 211คน ส่วนร่างกฎหมายที่มีองค์ประชุมน้อยสุด คือ ร่าง พ.ร.บ.รถยนต์ ในขั้นรับหลักการ วาระที่หนึ่ง มีผู้มาประชุม 139 คน
สนช.ถูกกล่าวหาว่าเป็นสภา "ตรายาง" สำหรับการออกกฎหมาย คือ มีทำหน้าที่อนุมัติอย่างเดียว และในความเป็นจริงร่างกฎหมายที่เข้าสู่ สนช.ทุกฉบับยังไม่มีร่างกฎหมายใดฃตกไปแม้แต่ฉบับเดียว จากการลงมติประกาศใช้กฎหมาย 48 ฉบับ มีร่างกฎหมายซึ่งที่ประชุมใหญ่สนช. ลงมติเห็นชอบอย่างเป็นเอกฉันท์ ไม่มีคะแนนคัดค้านเลย 36 ฉบับ
ขณะที่มีร่างกฎหมายที่มีผู้ลงคะแนนไม่เห็นชอบเกิน 10 เสียง 3 ฉบับ คือ ร่าง พ.ร.บ.เวนคืนอสังหาริมทรัพย์ เพื่อสร้างทางพิเศษสายเชื่อมระหว่างถนนวงแหวนอุตสาหกรรมกับทางพิเศษสายบางพลี-สุขสวัสดิ์ ในท้องที่ อ.พระประแดง จ.สมุทรปราการ มีจำนวน 32 เสียง, ร่าง พ.ร.บ.สถาบันวิทยาลัยชุมนุม มีจำนวน 12 เสียง และ ร่าง พ.ร.บ.ภาษีการรับมรดก มีจำนวน 16 เสียง โดยทั้งหมดเป็นการลงคะแนนในขั้นตอนการรับหลักการวาระที่หนึ่งเท่านั้น
นอกจากร่าง พ.ร.บ.ทั่วไปแล้ว สนช. ยังเห็นชอบกฎหมายหรือข้อตกลงระหว่างประเทศ จำนวน 5 ฉบับ ประกอบด้วย
ความเคลื่อนไหวในสภา: แต่งตั้ง-ถอดถอน
นับตั้งแต่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เข้ามาทำหน้าที่เป็นฝ่ายนิติบัญญัติแทนสภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา หน้าที่สำคัญอย่างหนึ่งของ สนช. ที่สังคมจับตามอง คือ การแต่งตั้งบุคคล และการถอดถอนบุคคลออกจากตำแหน่ง ซึ่งตลอดทั้งปี 2557 มีการแต่งตั้ง ถอดถอนที่น่าสนใจดังนี้
2 ตุลาคม 2557 ที่ประชุม สนช. มีมติเลือกเมธี ครองแก้ว อดีตกรรมการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และปรีชา ชวลิตธำรง อดีตตุลาการศาลปกครองสูงสุด เป็นกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม (ก.ต.) ผู้ทรงคุณวุฒิ โดยมีการประชุมลับประมาณ 1 ชั่วโมงก่อนลงมติ ทั้งนี้ มีผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อให้ สนช.เลือกเป็น ก.ต.มี 4 คน จากผู้เข้ารับการสรรหาทั้งหมด 17 คน
ต่อมาวันที่ 1 พฤศจิกายน 2557 กลุ่มทนายความ 18 คน ยื่นหนังสือ คัดค้านการแต่งตั้งเมธี เนื่องจากถูกฟ้องเป็นจำเลยในคดีอาญาหลายคดี  จึงมีคุณสมบัติต้องห้าม ด้าน ดิเรก อิงคนินันท์ ประธานศาลฎีกา ได้ทำหนังสือถึง สนช. ให้พิจารณาเรื่องนี้ด้วย อย่างไรก็ตาม เมธี ชี้แจงว่า ทนายความที่มายื่นหนังสือคัดค้านตน เป็นกลุ่มทนายความของบุคคลที่ตนเคยชี้มูลความผิดสมัยที่ตนเป็น ป.ป.ช. แล้วทนายความกลุ่มนี้ก็ได้ฟ้อง ป.ป.ช. กลับทั้งคณะ จะเห็นได้ว่าไม่ใช่คดีเฉพาะตัว ซึ่งคดีเหล่านั้นยังไม่มีคดีใดที่ศาลตัดสินให้เป็นความผิด 
จากนั้นมีกระแสจากหลายฝ่ายเรียกร้องให้ กล้านรงค์ จันทิก ในฐานะประธานกรรมาธิการเสนอรายชื่อลาออกเพื่อแสดงความรับผิดชอบ อีกทั้งกลุ่มทนาย 18 คนยังได้ตั้งข้อสังเกตว่า กล้านรงค์มีความสนิทสนมกับ เมธี เพราะเป็น ป.ป.ช. ร่วมกันมานาน แต่กล้าณรงค์ก็ยืนยันว่าตนบริสุทธิ์ และจะไม่ลาออก  
บทสรุปของเรื่องนี้คือ วิปฯ สนช. เห็นควรให้ประธาน สนช. ทำหนังสือถึงประธานศาลฎีกาเพื่อชี้แจงว่า คณะกรรมาธิการฯ พิจารณาคุณสมบัติละเอียดรอบคอบแล้ว และเห็นว่านายเมธีไม่มีคุณสมบัติต้องห้าม
22 ตุลาคม 2557 ที่ประชุม สนช. เห็นชอบให้ พล.อ.วิทวัส รชตะนันทน์ อดีตรองปลัดกระทรวงกลาโหม ดำรงตำแหน่งผู้ตรวจการแผ่นดิน ด้วยคะแนนเห็นด้วย 170 ไม่เห็นด้วย 3 งดออกเสียง 4 ทั้งนี้ พล.อ.วิทวัส รชตะนันทน์ เข้าดำรงตำแหน่งผู้ตรวจการแผ่นดินแทน นายพรเพชร วิชิตชลชัย ที่ได้ลาออกจากตำแหน่งผู้ตรวจการแผ่นดินเมื่อวันที่ 1 กันยายน 2557 เพื่อเข้ารับตำแหน่งประธาน สนช.
ในวันเดียวกันนั้น สนช. เห็นชอบให้ ดิสทัต โหตระกิตย์ รองเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา เป็น เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา โดย วัลลภ ตังคณานุรักษ์ สมาชิก สนช. เสนอว่าไม่ต้องตั้งคณะกรรมาธิการตรวจสอบประวัติ และความประพฤติ เนื่องจากเห็นว่า ดิสทัตเป็น สนช. เห็นผลงานกันอยู่แล้ว ที่ประชุมไม่มีใครคัดค้าน และมีมติเห็นด้วย 174 งดออกเสียง 4 เสียง เป็นการลงคะแนนลับ
4 ธันวาคม 2557 ที่ประชุม สนช. ไม่เห็นชอบให้ ม.ล.ฤทธิเทพ เทวกุล ดำรงตำแหน่งเป็นผู้ตรวจการแผ่นดิน ตามที่คณะกรรมการสรรหาฯ เสนอ ด้วยคะแนน 86  ต่อ 76 เสียง และงดออกเสียง 20 เสียง ถือเป็นครั้งแรกที่ สนช. ไม่ให้ความเห็นชอบในการแต่งบุคคลในองค์กรตามรัฐธรรมนูญ เมื่อ สนช. ไม่ให้ความเห็นชอบจึงได้ส่งเรื่องนี้ให้คณะกรรมการสรรหาฯ ทบทวนอีกครั้ง ปรากฏว่า คณะกรรมการสรรหาฯ มีมติยืนยันตามมติเดิมด้วยคะแนนไม่เป็นเอกฉันท์ให้ ม.ล.ฤทธิเทพ เป็นผู้ตรวจการแผ่นดิน ดังนั้น จึงต้องเริ่มกระบวนการสรรหาใหม่
สำหรับม.ล.ฤทธิเทพ ปัจจุบันเป็นผู้พิพากษาอาวุโสในศาลฎีกา และเป็นอดีตผู้พิพากษาเสียงข้างน้อย จากมติ 8 ต่อ 1 ในคดียึดทรัพย์ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี 7.6 หมื่นล้าน
การถอดถอน
พรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช. กล่าวสรุปว่า การถอดถอนบุคคลออกจากตําแหน่ง ปี 2557 ที่ผ่านมา มีจำนวน 4 เรื่อง ได้แก่  1.การถอดถอนนิคม ไวรัชพานิช อดีตประธานวุฒิสภา 2.การถอดถอนสมศักดิ์  เกียรติสุรนนท์ อดีตประธานรัฐสภา 3.การถอดถอนยิ่งลักษณ์  ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และ 4.การถอดถอนสมาชิกวุฒิสภา จำนวน 38 ราย
โดยวันที่ 6 พฤศจิกายน 2557 สนช. พิจารณารายงานและสำนวนการไต่สวนข้อเท็จจริงของ ป.ป.ช.ที่กล่าวหานิคมและสมศักดิ์ ดำเนินการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2550 เกี่ยวกับที่มา ส.ว. ว่าเป็นการกระทำที่ส่อจงใจใช้อำนาจหน้าขัดรัฐธรรมนูญปี 2550 หรือไม่ ซึ่งใช้เวลาประชุมลับกว่า 3 ชั่วโมง และลงมติลับ ในประเด็นว่า ความผิดของทั้งสองคนอยู่ในอำนาจการพิจาณาของ สนช. หรือไม่ ผลปรากฏว่าที่ประชุมมีมติรับเรื่องไว้พิจารณา 87 เสียง ต่อ 75 เสียง และงดออกเสียง 15 เสียง จากผู้เข้าประชุมทั้งสิ้น 177 คน ซึ่งนับว่าเป็นเรื่องผิดปกติ เพราะที่ผ่านมาแนวโน้มการลงมติของสมาชิก สนช. มักจะเป็นไปในทางเดียวกันทั้งหมด แต่ครั้งนี้คะแนนของผู้ที่เห็นด้วยกับไม่เห็นด้วยมีความใกล้เคียงกันมาก
โดยในที่ประชุมมีความเห็นแตกออกเป็น 2 แนวทาง คือ สนช. มีอำนาจรับเรื่องถอดถอน เพราะกฎหมาย ป.ป.ช.ยังคงอยู่ โดยอ้างมาตรา 58 และ 64 ขณะที่อีกฝ่ายหนึ่งมองว่า สนช. ไม่มีอำนาจถอดถอน เพราะฐานความผิดได้สิ้นสุดไปตามรัฐธรรมนูญปี 2550 ที่ถูกยกเลิกไปแล้ว ส่วนบรรยากาศการอภิปรายในที่ประชุมลับ มีผู้ลุกขึ้นอภิปราย 24 คน ส่วนใหญ่เป็นกลุ่ม 40 ส.ว. และนักกฎหมาย โดยสนับสนุนให้รับเรื่องไว้พิจารณา
มติที่ออกมาถือว่าผิดคาดพอสมควร เพราะก่อนหน้านี้ สนช. ส่วนใหญ่ซึ่งเป็นสายทหารเห็นว่าไม่ควรรับเรื่องไว้พิจารณา แต่ในวันลงมติมีผู้ขาดประชุมถึง 30 คน ส่วนใหญ่เป็น สนช. สายทหาร โดยให้เหตุผลว่าติดภารกิจทอดกฐินของกองทัพ อย่างไรก็ตาม หลายฝ่ายวิเคราะห์ว่า ถึงที่สุดแล้วมติที่จะถอดถอนนิคมและสมศักดิ์ออกจากตำแหน่งคงเป็นไปได้ยาก เพราะต้องอาศัยคะแนน 3 ใน 5 ของ สนช. ทั้งหมด หรือ 132 เสียงขึ้นไป แต่คะแนนที่ให้รับเรื่องไว้พิจารณามีเพียง 87 เสียงเท่านั้น
ด้านการถอดถอน ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ออกจากตำแหน่ง กรณีไม่ระงับยับยั้ง ปล่อยให้เกิดความเสียหายในโครงการจำนำข้าวนั้น ปีที่ผ่านมามีการเลื่อนพิจารณาจากวันที่ 12 พฤศจิกายน 2557 เป็นวันที่ 28 พฤศจิกายน 2557 ด้วยมติ 167 เสียง ต่อ 16 เสียง งดออกสียง 7 และกำหนดให้มีการแถลงเปิดคดีในวันที่ 9 มกราคม 2558
ความเคลื่อนไหวของภาคประชาชน
การเสนอร่างกฎหมายในปัจจุบันมาจากหน่วยงานราชการเป็นหลัก และมีโอกาสน้อยที่ภาคประชาชนผู้มีส่วนได้เสียจะมีส่วนร่วมในการเสนอแนะแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายที่อาจส่งกระทบต่อพวกเขาในอนาคต ส่งผลให้ร่างกฎหมายหลายฉบับขาดความชอบธรรม ซึ่งในรอบปีที่ผ่านมามีการเคลื่อนไหวของภาคประชาชนเพื่อเรียกร้องให้แก้ไขหรือยับยั้ง รวมทั้งสนับสนุนการร่างกฎหมายบางฉบับ ดังนี้
 
ตุลาการ และคนรักสัตว์ พอใจกฎหมายใหม่
10 กันยายน 2557 ก่อน สนช.จะพิจารณา ร่าง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง มีตุลาการศาลปกครอง จำนวน 101 คน ยื่นหนังสือต่อ พรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช. ให้ชะลอร่างกฎหมายดังกล่าว เนื่องจากยังไม่เคยเปิดรับฟังความคิดเห็นจากตุลาการศาลปกครองมาก่อน 
โดยประเด็นสำคัญที่ตุลาการศาลปกครอง 101 คน ไม่เห็นด้วย คือหาก ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ประกาศใช้จะส่งผลให้คณะกรรมการตุลาการศาลปกครอง (ก.ศป.) ที่กำลังดำรงตำแหน่งอยู่ต้องถูกยกเลิกไปเพื่อสรรหาใหม่ ในวาระที่สอง ขั้นกรรมาธิการ สนช.จึงเปิดให้ตุลาการฝ่ายที่เห็นต่างและสนับสนุนร่างดังกล่าวเข้าเป็น กมธ.ร่วมเพื่อพิจารณากฎหมาย  สุดท้ายจึงมีมติเห็นชอบในวาระสาม หลังการอภิปรายกว่า 2 ชั่วโมงในสภา ซึ่งได้ข้อสรุปว่าให้แก้ไขให้ ก.ศป.เดิมอยู่จนครบวาระแล้วจึงเลือกใหม่   
29 ตุลาคม 2257 ก่อนหน้าการพิจารณา ร่าง พ.ร.บ.ป้องกันและการทารุณกรรมสัตว์ กลุ่มภาคประชาชนคนรักสัตว์ นำโดย ชลลดา เมฆราตรี ประธานมูลนิธิเดอะวอยช์ และดาราพิธีกรชื่อดัง นำ รายชื่อประชาชนจำนวน 114,000 คน พร้อมข้อเสนอ 20 ข้อห้ามในการป้องกันทารุณกรรมสัตว์ อย่างไรก็ตามในชั้น กรรมาธิการได้มีการพิจารณาให้ข้อห้ามเหล่านี้บางส่วนให้อยู่ในนิยามการทารุณกรรมสัตว์ ไม่ได้มีการบัญญัติเป็นข้อๆ ตามข้อเสนอของกลุ่มคนรักสัตว์
สุดท้ายเมื่อ สนช.ผ่านร่างกฎหมายดังกล่าว แล้วกลุ่มภาคประชาชนคนรักสัตว์ จึงออกแถลงการณ์ว่า "กฎหมายมีการปรับปรุงแก้ไขในหลายมาตราให้ดีขึ้นกว่าร่างเดิมมากรวมถึงนิยามสัตว์ที่สามารถครอบคลุมสัตว์ป่าที่ใช้ในการจัดแสดงและที่อยู่ในธรรมชาติ รวมทั้งการค้าสุนัข … แม้ทั้ง 20 ข้อ จะไม่ได้รับการบรรจุไว้ในกฎหมาย แต่ก็ได้เขียนเป็นข้อสังเกตในการออกกฎหมายลูกต่อไป การต่อสู้ของพวกเราไม่ได้สูญเปล่า" ปัจจุบันร่างนี้ประกาศใช้เป็นกฎหมายแล้ว และเป็นที่ชื่นชนของคนรักสัตว์อย่างมาก  
คนชายฝั่งเห็นต่างๆ ร่างกฎหมายประมง
2 กันยายน 2557 ทวีศักดิ์ ไตรรัตน์ ตัวแทนเครือข่ายชุมชนชายฝั่ง ยื่นหนังสือต่อ พีระศักดิ์ พอจิตร รองประธาน สนช. คนที่สอง เพื่อขอให้ดำเนินการผลักดัน ร่าง พ.ร.บ. ส่งเสริมการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และ ร่าง พ.ร.บ.การประมง โดยทางเครือข่ายเห็นว่าร่างกฎหมายทั้ง 2 ฉบับ เป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการบริหารจัดการและอนุรักษ์ฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง รวมทั้งทรัพยากรประมง
ในด้านตรงข้าม 19 ธันวาคม 2557 สมาคมสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทย ยื่นหนังสือต่อ สนช. เนื่องจากไม่เห็นด้วยที่เร่งออกร่าง พ.ร.บ.การประมง ฉบับใหม่ ที่กีดกันชาวประมงขนาดเล็ก รวมทั้งไม่ให้ความสำคัญกับรับฟังความเห็นและการมีส่วนร่วมของชาวประมงพื้นบ้าน
ภาคประชาชนขอทบทวนร่างกฎหมายแร่ รอสภาจากประชาชนพิจารณา
เครือข่ายประชาชนผู้เป็นเจ้าของแร่ประเทศไทย และองค์กรเครือข่าย
ออกแถลงการณ์ให้รัฐบาลชะลอการเสนอร่าง พ.ร.บ.แร่ ต่อ สนช.
 
21 ตุลาคม 2557 หลังที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติในหลักการร่าง พ.ร.บ.แร่ ก็เกิดการคัดค้านจากภาคประชาชนหลายกลุ่ม ปฏิกิริยาแรกๆ คือวันที่ 29 ตุลาคม 2557 วันเพ็ญ พรมรังสรร ตัวแทนชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากการทำเหมืองแร่ทองคำ จ.พิจิตร พิษณุโลก สระบุรี ลพบุรี และเพชรบูรณ์ ยื่นหนังสือต่อ นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติว่า ร่างกฎหมายฉบับนี้ละเมิดสิทธิประชาชน 
ต่อมาวันที่ 4 ธันวาคม 2557 เครือข่ายประชาชนผู้เป็นเจ้าของแร่ประเทศไทย และองค์กรเครือข่าย ออกแถลงการณ์ให้รัฐบาลชะลอการเสนอร่างกฎหมายฉบับนี้ต่อ สนช. เพื่อรอรัฐบาลที่มาจากประชาชน และให้ทบทวนร่างใหม่โดยนำความเห็นของภาคประชาชนไปประกอบการพิจารณา 
ความเคลื่อนไหวอื่นๆ ในปี 2557
10 ตุลาคม 2557 เครือข่ายผู้หญิงภาคประชาชน ยื่นจดหมายเปิดผนึกต่อ สุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธาน สนช. คัดค้าน ร่าง พ.ร.บ.ความเท่าเทียมกันทางเพศ เนื่องจาก พ.ร.บ.ดังกล่าวมีหลายมาตราที่ไม่สอดคล้องกับสาระสำคัญและหลักการในอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ หรือ CEDAW ซึ่งไทยเป็นประเทศภาคี 
30 ตุลาคม 2557 เครือข่ายประกันสังคมเพื่อคนทำงาน 14 องค์กร ได้รวมตัวเพื่อยื่นหนังสือต่อ สุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธาน สนช. เรียกร้องชะลอลงมติรับหลักการ ร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคม เนื่องจากผู้ที่เกี่ยวข้องกับประกันสังคมส่วนใหญ่ยังไม่มีส่วนร่วมในการพิจารณา เสนอแนะต่อร่างกฎหมายฉบับนี้ อย่างไรก็ตาม สุรชัย ได้ต่อรองให้ผู้มาค้ดค้านเสนอตัวแทนเข้าไปมีส่วนแก้ไขในชั้นกรรมาธิการ สุดท้ายแล้วมี มนัส โกศล และตัวแทนแรงงานอีก 6 คน เข้าไปเป็นกรรมาธิการ
เครือข่ายประกันสังคมเพื่อคนทำงาน 14 องค์กร แถลงข่าวคัดค้านการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคม
เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2557
17 พฤศจิกายน 2557 หลัง สนช.รับหลักการ ร่าง พ.ร.บ. วิชาชีพเภสัชกรรม กลุ่มเภสัชกรฯ นำโดย ผศ.ภก. ไกรสร ชัยโรจน์การญจนา อาจารย์คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต นำรายชื่อสมาชิกสภาเภสัชกรจำนวน 1,633 คน ยื่นหนังสือต่อสภาเภสัชกรรม เพื่อคัดค้าน ร่างกฎหมายดังกล่าว เนื่องจากว่ายังไม่ได้ผ่านการมีส่วนร่วมของสมาชิกในการทำประชามติ และยังมีหลายประเด็นที่ต้องคัดค้านเพราะไม่มีความเป็นธรรม
25 พฤศจิกายน 2557 สุนทร รักษ์รงค์ ผู้ประสานงานแนวร่วมกู้ชีพชาวสวนยาง ยื่นหนังสือต่อ อำนวย ปะติเส รมช.เกษตรและสหกรณ์ ขอให้ถอนร่าง พ.ร.บ.การยางแห่งประเทศไทยออกจาก สนช.  เพราะ ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ไม่ครอบคลุมถึงคนกรีดยาง และชาวสวนยางที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์ ทั้งที่คนเหล่านี้จ่ายเงินสงเคราะห์ปลูกยางพารา (cess) มาตลอด
29 กันยายน 2557 เครือข่ายวิชาชีพเภสัชกรรมนำโดย รศ.ภก.วงศ์วิวัฒน์ ทัศนียกุล ประธานศูนย์ประสานงานการศึกษาเภสัชศาสตร์แห่งประเทศไทย (ศ.ศ.ภ.ท.) นหนังสือพร้อมรายชื่อผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับร่าง พ.ร.บ.ยา ฉบับใหม่ ประมาณ 1 หมื่นรายชื่อ ต่อ ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เพราะว่าบางประเด็นในร่างกฎหมายยาไม่เป็นไปตามหลักสากล ประชาชนมีความเสี่ยงต่อความไม่ปลอดภัยจากการใช้ยา และไม่สามารถคุ้มครองผู้บริโภคได้ 
25 พฤศจิกายน 2557 ปริญญา บุญฤทธิ์ฤทัยกุล ผู้อำนวยการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย เข้าพบ สนช. เพื่อหารือเกี่ยวกับร่าง พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ เนื่องจากเนื้อหาบางมาตราลิดรอนสิทธิเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบของประชาชน และไม่เป็นไปตามมาตรฐานกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ
นอกจากนี้ ยังมีร่างกฎหมายอีกหลายฉบับที่แม้ไม่มีการเคลื่อนไหวที่ชัดเจน แต่ก็เป็นประเด็นถกเถียงในสังคม เช่น ร่าง พ.ร.บ.การทวงถามหนี้, ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ หรือ พ.ร.บ.อุ้มบุญ, และ ร่าง พ.ร.บ. คนไร้ที่พึ่ง เป็นต้น
แนวโน้มการทำงานของ สนช. ในปี 2558
สำหรับเรื่องที่น่าติดตามและเป็นที่สนใจของสังคมในปี 2558 เริ่มตั้งแต่ต้นปี คือ การถอดถอน นิคม-สมศักดิ์-ยิ่งลักษณ์ ว่าจะออกมาเป็นอย่างไร ซึ่งทั้งสามกรณี สนช. ต้องใช้มติ 132 เสียงขึ้นไป จึงจะถอดถอนออกจากตำแหน่งได้ และจะทำให้ทั้งสามคนต้องเว้นวรรคทางการเมืองเป็นเวลา 5 ปี โดย สนช. กำหนดวันลงมติเป็นวันที่ 23 มกราคม 2558 นี้
อีกเรื่องหนึ่งที่ต้องจับตาคือ การถอดถอนอดีตสมาชิกวุฒิสภาชุดที่แล้ว 38 คน ที่ถูก ป.ป.ช. ชี้มูลกรณีร่วมกันลงมติให้ความเห็นชอบร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเรื่องที่มาของ ส.ว. โดยประธาน สนช. เปิดเผยว่า ได้บรรจุระเบียบวาระการพิจารณาเรื่องนี้เข้าที่ประชุม สนช. แล้ว จากนั้นก็จะนัดประชุม สนช. เพื่อกำหนดวันแถลงเปิดคดีด้วยวาจาต่อไป นอกจากนี้ ยังมีอีกหนึ่งเรื่องที่จะเข้ามาใหม่คือ คำร้อง ป.ป.ช. เรื่องการถอดถอนอดีต ส.ส.กว่า 200 คนจากกรณีลงมติแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยมิชอบประเด็นที่มา ส.ว.
ในงานด้านอื่นๆ ปี 2557 สนช. มีโครงการ “สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติพบประชาชน”  เพื่อให้ประชาชนทราบถึงบทบาทหน้าที่ของ สนช. และรับฟังข้อเสนอจากประชาชน โดยเริ่มที่ภาคอีสาน คือ จ.มุกดาหาร และ จ.บึงกาฬ เพราะเป็นพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ ทั้งนี้ ควรกล่าวด้วยว่าในการลงประชามติรัฐธรรมนูญปี 2550 พื้นที่ จ.มุกดาหาร มีประชาชนลงมติไม่เห็นชอบรับรัฐธรรมนูญกว่า 75% และรวมทั้งภาคอีสานกว่า 65% ส่วนการลงพื้นที่ปี 2558 จะไปที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 
สำหรับการพิจารณาร่างกฎหมาย หลังจากปี 2557 ร่างกฎหมายที่พิจารณาส่วนใหญ่จะเป็นร่างกฎหมายที่ค้างการพิจารณาจากสภาผู้แทนราษฏรชุดก่อน ส่วนในปี 2558 ประธาน สนช. กล่าวว่า ปีนี้รัฐบาลจะเสนอกฎหมายที่ตรงต่อนโยบายของรัฐบาลมากขึ้น ซึ่งคาดว่าจะมีร่างกฎหมายอีก 163 ฉบับ เข้าสู่การพิจารณาของ สนช.
สอดคล้องกับมติคณะรัฐมนตรี ในช่วงต้นของการมี สนช. ที่ให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (สคก.) ภายใต้การกำกับดูแลของรองนายกรัฐมนตรี วิษณุ เครืองาม ประสานทุกส่วนราชการเพื่อจัดทำแผนการเสนอร่างกฎหมายในระยะ 1 ปี โดยให้ทุกส่วนราชการเร่งเสนอกฎหมายจำเป็นเร่งด่วนโดยเร็ว
นอกจากร่างกฎหมายที่มาจากคณะรัฐมนตรี ยังมีร่างที่อาจเสนอโดยสมาชิกสนช. และในปี 2558 สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) จะเสนอร่างกฎหมายที่เกี่ยวกับการปฏิรูปให้ สนช. พิจารณาอีกด้วย  จึงมีแนวโน้มว่าในปีนี้ จะมีการร่างและออกกฎหมายและจำนวนมหาศาล ยังคงต้องเกาะติดร่างกฎหมายที่จ่อจะเข้าและจ่อจะออก สนช.ว่าจะมีทิศทางอย่างไร โดยเฉพาะกฎหมายที่มีเนื้อหากระทบต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชน เช่น ร่างพ.ร.บ.แร่, ร่างพ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ หรือ ร่างพ.ร.บ.ประกันสังคม ฯลฯ