ป.ป.ช.ขอแก้กฎหมาย คดีคอร์รัปชั่นมีโทษประหาร-ไม่มีอายุความ

การคอร์รัปชั่นถูกมองว่าเป็นความล้มเหลวของการเมืองแบบประชาธิปไตยไทยมาอย่างยาวนาน การรัฐประหารรอบล่าสุดของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็เป็นผลของมวลชนจำนวนหนึ่งที่ต้องการเห็นสังคมไทยใสสะอาดปราศจากคอร์รัปชั่น ในช่วงระยะเวลาของการปฏิรูปประเทศภายใต้การควบคุมของทหาร การกำจัดการคอร์รัปชั่นจึงเป็นวาระที่สำคัญที่จะต้องแก้ไขอย่างเป็นรูปธรรมให้ได้ 
คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช. องค์กรอิสระผู้รับผิดชอบการปราบปรามการคอร์รัปชั่นโดยตรง จึงเสนอแก้ไขกฎหมายของตัวเอง คือ ร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. เพื่อปรับปรุงมาตรการในการส่งเสริมการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ให้มีประสิทธิภาพเหมาะสมและสอดคล้องกับสภาพปัจจุบัน ให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.)พิจารณา
ให้ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินหนี้สิน
ในมาตรา 35 จากเดิมที่กำหนดให้ ตำแหน่งที่ต้องยื่นแสดงทรัพย์สินและหนี้สินมีเพียงนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา ในร่างใหม่ ป.ป.ช. เสนอให้เพิ่ม “ข้าราชการการเมืองอื่นตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการการเมือง ผู้บริหารส่วนท้องถิ่น รองผู้บริหารท้องถิ่น และผู้ช่วยผู้บริหารส่วนท้องถิ่น” เข้าไปด้วย 
ประเด็นนี้ มีความเห็นจากนายทนงศักดิ์ ทวีทอง สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ(สปช.) และนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด(อบจ.)สุราษฎร์ธานี ว่า “หากจะให้ประกาศบัญชีทรัพย์สินหนี้สินด้วย พวกเราท้องถิ่นก็ไม่ขัดข้อง ไม่มีปัญหา แต่ความเห็นผมว่าไม่ควรให้มีความเหลื่อมล้ำ…ทุกคนต้องเปิดเผยหมด…ผู้ว่าราชการจังหวัด อธิบดีทั้งหลาย หัวหน้าส่วนราชการ เพราะนายก อบจ. ก็เทียบได้กับหัวหน้าส่วนราชการ เปิดก็ต้องเปิดให้หมด องค์กรอิสระด้วย”  
ส่วนนายเกรียงไกร ภูมิเหล่าแจ้ง สปช.ด้านการปกครองท้องถิ่น สำทับว่า “ไม่มีองค์กรไหนตรวจสอบองค์กรอิสระก็ควรจะต้องทำ หรือตั้งองค์กรขึ้นมาตรวจสอบองค์กรอิสระด้วย จะเป็นเรื่องดีมาก ต่างฝ่ายต่างตรวจสอบซึ่งกันและกัน คนได้ประโยชน์ก็คือประชาชน” 
เพิ่มอำนาจ ป.ป.ช. ให้มีจับผู้ต้องสงสัยได้
การเพิ่มอำนาจของ ป.ป.ช. ในมาตรา 74 จากเดิมหากผู้ถูกกล่าวหาไม่ไปรายงานตัวตามกำหนด ให้ ป.ป.ช.แจ้งต่อพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจจัดการให้ได้ตัวผู้ถูกกล่าวหา เพื่อส่งให้อัยการสูงสุดหรือป.ป.ช.ดำเนินคดี แต่ในร่างใหม่กำหนดให้ป.ป.ช.ยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อให้ออกหมายจับ และให้มีอำนาจตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาเช่นเดียวกับพนักงานสอบสวน
นายสรรเสริญ พลเจียก เลขาธิการ ป.ป.ช กล่าวว่า กรณีที่ไม่ยอมไปรายงานตัวตามที่กำหนด และถูกศาลออกหมายจับแล้ว จากเดิมที่ ป.ป.ช.ต้องประสานให้ตำรวจเป็นผู้จับกุมให้ เพราะที่ผ่านมาเวลามีผู้ถูกกล่าวหาหลบหนีคดี ป.ป.ช.จะมีเจ้าหน้าที่คอยติดตามตัว บางครั้งรู้ว่าหลบหนีไปอยู่ที่ไหน แต่ไม่มีอำนาจจับกุม ต้องประสานตำรวจเป็นผู้จับ ทำให้บางครั้งผู้ถูกกล่าวหาหลบหนีไปได้อีก จึงต้องเพิ่มอำนาจให้สามารถจับตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษได้
ขณะที่นายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า “ที่ประชุมมีข้อสังเกตและความเป็นห่วง ไม่ต้องการให้กฎหมายฉบับนี้ กระทบต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชน โดยเฉพาะมาตราที่เกี่ยวกับอำนาจที่เพิ่มขึ้นของ ป.ป.ช. การเรียกพยานมาสืบสวนสอบสวน” 
ขานรับ กปปส.! คดีทุจริตคอร์รัปชั่นไม่มีอายุความ ถ้าจะหนีต้องหนีตลอดชีวิต
จากเดิมการดำเนินคดีอาญาทุกประเภท รวมทั้งคดีทุจริตคอร์รัปชั่น ต้องอยู่ภายใต้ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 98 กล่าวคือ หากศาลมีคำพิพากษาแล้วจำเลยหลบหนี ไม่มารับโทษ เมื่อพ้นกำหนดอายุความจะลงโทษผู้นั้นไม่ได้อีก ทั้งนี้อายุความสูงสุดคือ 20 ปีขึ้นอยู่กับจำนวนโทษที่ศาลตัดสิน 
กรณีที่อยู่ในความสนใจ คือ กรณีของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ที่ถูกศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองตัดสินให้ลงโทษจำคุก 2 ปี ในคดีที่ดินรัชดา แต่อยู่ระหว่างการหลบหนี ซึ่งอายุความในคดีนี้คือ 10 ปี หากภายในสิบปี พ.ต.ท.ทักษิณ ไม่ถูกนำตัวมาลงโทษ ก็เป็นอันขาดอายุความจะนำตัวมาลงโทษไม่ได้อีก
ในร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. จึงเพิ่มเติมมาตรา 74/1 ว่า “เมื่อได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษจำเลยถ้าจำเลยหลบหนีไปในระหว่างต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษ มิให้นำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายอาญามาตรา 98 มาบังคับใช้” หมายความว่าหลักการเรื่องอายุความกรณีที่ศาลพิพากษาแล้วและจำเลยหลบหนี จะไม่นำมาใช้กับคดีทุจริตคอร์รัปชั่นด้วย ไม่ว่าจะหลบหนีไปนานเท่าใด หากภายหลังจับตัวได้ก็ยังสามารถลงโทษบุคคลนั้นได้อยู่
นายสรรเสริญ พลเจียก กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า “เรื่องการให้หยุดนับอายุความในระหว่างที่ผู้ถูกกล่าวหาหรือจำเลยหลบหนีระหว่างถูกดำเนินคดี จะไม่ให้นับเวลาที่หลบหนีรวมเป็นส่วนหนึ่งของอายุความ เพราะที่ผ่านมามักมีปัญหาผู้ถูกกล่าวหาหลบหนีคดีระหว่างนำตัวไปส่งฟ้องคดี รอจนกว่าคดีหมดอายุความแล้วค่อยกลับมาใหม่ จึงต้องแก้กฎหมายใหม่ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น หลังจากนี้หากใครคิดจะหนีคดี ก็ต้องหนีไปตลอดชีวิต” 
คอร์รัปชั่นมีโทษประหารชีวิต
ในร่างกฎหมายฉบับใหม่ ป.ป.ช.เพิ่ม มาตรา 123/2 กำหนดว่า "ผู้ใดเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ เจ้าหน้าที่ของรัฐบาลต่างประเทศ เจ้าหน้าที่ขององค์การระหว่างประเทศ เรียกรับ หรือยอมจะรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใด..โดยมิชอบ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงยี่สิบปี หรือจำคุกตลอดชีวิต และปรับตั้งแต่หนึ่งแสนถึงสี่แสนบาท หรือประหารชีวิต” ขณะที่การกำหนดโทษในกฎหมายเดิมมีเพียง มาตรา 123/1 “ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี หรือปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสองแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”  
ตัดสิทธิทางการเมืองตลอดไป
การตัดสิทธิทางการเมือง ในมาตรา 34 เดิมกำหนดให้กรณีผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่จงใจไม่ยื่นบัญชีแสดงทรัพย์สินและหนี้สินภายในระยะเวลาที่กำหนด หรือยื่นเอกสารที่เป็นเท็จ ป.ป.ช.สามารถเสนอเรื่องให้ศาลวินิจฉัยชี้ขาดหากศาลวินิจฉัยว่ามีความผิด ผู้นั้นต้องพ้นจากตำแหน่งและห้ามดำรงตำแหน่งทางการเมืองเป็นเวลาห้าปี ขณะที่ร่างกฎหมายใหม่ ป.ป.ช.เสนอให้ “ห้ามดำรงตำแหน่งทางการเมืองและเจ้าหน้าที่ของรัฐอีกโดยไม่มีระยะเวลากำหนด”
นายสรรเสริญ พลเจียก ให้เหตุผลที่ต้องตัดสิทธิทางการเมืองอย่างไม่มีกำหนดว่า “เพื่อที่จะบังคับให้กฎหมายมีความศักดิ์สิทธิ์มากขึ้น ไม่ใช่ว่าพอพ้น 5 ปีไปแล้วก็กลับมาดำรงตำแหน่งใหม่ จึงต้องห้ามมิให้กลับมาดำรงตำแหน่งได้อีก”
ขณะที่นายยุทธนา ทัพเจริญ โฆษก วิป สนช. กล่าวว่า “มีวิป สนช.บางคน ตั้งข้อสังเกตถึงบทลงโทษกรณีการไม่ยื่นหรือปกปิดบัญชีทรัพย์สิน จะต้องถูกตัดสิทธิทางการเมืองตลอดชีวิตเป็นโทษที่หนักเกินไป ดังนั้น เพื่อความรอบคอบ ที่ประชุมวิป สนช. จึงมีมติให้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ จำนวน 30 คน ประกอบด้วย ตัวแทน สนช. 20 คน และตัวแทนรัฐบาล 10 คน มาพิจารณาศึกษาร่างกฎหมายดังกล่าวภายใน 30 วัน ก่อนที่จะส่งให้ที่ประชุมสนช.พิจารณาต่อไป”
ไฟล์แนบ