แอบดูเสรีภาพการชุมนุม ใน 6 ประเทศเอเชีย

การชุมนุมเป็นเสรีภาพขั้นพื้นฐานที่ได้รับการคุ้มครองโดยกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองรวมทั้งในรัฐธรรมนูญของหลายๆประเทศ แต่เนื่องจากการใช้เสรีภาพในการชุมนุม หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะสร้างผลกระทบให้กับผู้อื่น การชุมนุมจึงต้องอยู่ภายใต้กรอบของกฎหมาย เพื่อให้ผู้ที่ไม่เกี่ยวข้องกับการชุมนุมได้รับผลกระทบน้อยที่สุด 
ในบางประเทศ เช่น ประเทศฟิลิปปินส์ มีการบัญญัติกฎหมายเกี่ยวกับการชุมนุมขึ้นมาบังคับใช้เป็นการเฉพาะ ในบางประเทศ เช่น ประเทศไทย ยังไม่มีการบัญญัติกฎหมายการชุมนุมสาธารณะขึ้นมาบังคับใช้เป็นการเฉพาะ อย่างไรก็ตาม หากผู้ชุมนุมละเมิดกฎหมายอื่น เช่น กฎหมายการจราจร กฎหมายเครื่องเสียง กฎหมายคุ้มครองทรัพย์สินส่วนบุคคลหรือทรัพย์สินสาธารณะ ผู้ชุมนุมก็สามารถถูกดำเนินคดีได้
ไอลอว์มีโอกาสนั่งสนทนากับนักกิจกรรมที่คลุกคลีอยู่กับกลุ่มภาคประชาชนที่ใช้การชุมนุมเป็นเครื่องมือในการเรียกร้องความเป็นธรรม จากประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเอเชียใต้ 6 ประเทศ เกี่ยวกับสถานการณ์เสรีภาพในการชุมนุมในแต่ละประเทศ ซึ่งบางประเทศก็มีลักษณะการจำกัดเสรีภาพที่คล้ายคลึงกับประเทศไทยอย่างไม่น่าเชื่อ ขณะที่บางประเทศก็มีความแตกต่างไปอย่างน่าสนใจ 
เสรีภาพในการชุมนุมที่กัมพูชา: รัฐต้องจัด "สวนเสรีภาพ" ไว้ให้ใช้ชุมนุม
การชุมนุมของผู้สนับสนุนพรรคฝ่ายค้านที่สวนเสรีภาพ (Freedom Park) ในกรุงพนมเปญ (ไม่ทราบวันที่)
ภาพจากเฟซบุ๊กของ Cambodia National Rescue Party
Sar Mory นักสิทธิมนุษยชนจากกัมพูชาเล่าให้ฟังว่า แม้เสรีภาพในการชุมนุม ได้รับการคุ้มครองโดยรัฐธรรมนูญของกัมพูชา (ดูมาตรา 31 และ 37) แต่ในทางปฏิบัติ การจัดการชุมนุมกลับเต็มไปด้วยอุปสรรคและความเสี่ยง 
กัมพูชาประกาศใช้กฎหมายการชุมนุมสาธารณะครั้งแรกในปี 2534 ก่อนที่จะมีการประกาศใช้กฎหมายการชุมนุมสาธารณะฉบับใหม่ในปี 2552 ซึ่งกฎหมายกำหนดให้ผู้นำการชุมนุมทำหนังสือแจ้งการจัดการชุมนุมแก่ฝ่ายปกครองในท้องที่ที่จะจัดการชุมนุมล่วงหน้า โดยในคำร้องต้องชี้แจงจุดประสงค์ของการชุมนุม สถานที่ ระยะเวลาที่จะทำการชุมนุม รวมทั้งจำนวนคนหรือยานพาหนะที่ใช้ในการชุมนุม นอกจากนี้ก็ต้องแนบสำเนาบัตรประชาชนของแกนนำสามคนไปในคำร้องด้วย  
ตามหลักแล้ว การแจ้งการชุมนุมเป็นเพียงการแจ้งเพื่อทราบและเพื่อประสานงานให้เจ้าหน้าที่อำนวยความสะดวกแก่ผู้ชุมนุมและผู้ที่จะใช้เส้นทางสัญจรเท่านั้น แต่ในทางปฏิบัติ เจ้าหน้าที่มักห้ามไม่ให้จัดการชุมนุมในที่สาธารณะ โดยให้เหตุผลว่า การชุมนุมก่อให้เกิดความไม่สงบ ทำให้รถติด เป็นการกระทบสิทธิของผู้อื่น ซึ่งเจ้าหน้าที่มีดุลพินิจตามกฎหมายที่จะสั่งระงับการชุมนุมได้ หากเห็นว่าการชุมนุมอาจก่อให้เกิดอันตรายต่อความมั่นคงหรือต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน 
สิ่งที่น่าสนใจเกี่ยวกับกฎหมายการชุมนุมสาธารณะที่ Mory เล่าให้ฟัง คือ กฎหมายกำหนดให้รัฐจัดสรรพื้นที่เป็น "สวนเสรีภาพ หรือ Freedom Park" เพื่อให้ชาวกัมพูชาใช้จัดการชุมนุม รวมตัว หรือใช้เป็นพื้นที่ในการแสดงความคิดเห็นในเรื่องต่างๆ โดยปกติการจัดการชุมนุมสาธารณะในสวนเสรีภาพ จะทำได้ง่ายกว่าการชุมนุมในพื้นที่สาธารณะ  อย่างไรก็ตาม ซาร์ก็ตั้งข้อสังเกตว่า การจัดชุมนุมในสวน ซึ่งอยู่ห่างไกลจากศูนย์กลางของปัญหา เช่น หน่วยงานของรัฐที่เป็นเจ้าของโครงการพัฒนา หรือโรงงานอุตสาหกรรมที่กดค่าจ้างแรงงาน ก็ยากที่จะสามารถสร้างแรงกดดันที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีได้อย่างแท้จริง
เมื่อสอบถามถึงวิธีที่รัฐใช้จัดการกับผู้ชุมนุม  Sar เล่าด้วยสีหน้าและน้ำเสียงหดหู่ว่า ผู้ชุมนุมที่ออกมาต่อสู้ต้องเผชิญความเสี่ยงหลายรูปแบบ ทั้งเสี่ยงต่อการถูกดำเนินคดีและเสี่ยงต่อการตกเป็นเหยื่อของความรุนแรง ที่ผ่านมามีการสลายการชุมนุมหลายครั้ง มีการทุบตีผู้ชุมนุมด้วยกระบอง และกระบองไฟฟ้า มีการใช้แก๊สน้ำตา ใช้รถดับเพลิงฉีดน้ำใส่ผู้ชุมนุม นอกจากนี้บางครั้งก็มีการใช้หนังสติ๊กยิงลูกเหล็กใส่ผู้ชุมนุมด้วย สำหรับผู้ที่ใช้กำลังในการสลายการชุมนุม นอกจากตำรวจและทหารแล้ว ยังมีการใช้พนักงานรักษาความปลอดภัยเอกชนและกลุ่มนักเลงด้วย 
โดยรวมแล้ว สถานการณ์เสรีภาพในการชุมนุมของกัมพูชาดูจะอยู่ในสภาวะที่น่าหดหู่ แต่ Sar Moryก็เชื่อว่าความหวังยังมีอยู่ แม้ชาวกัมพูชาหลายคนจะยังหวาดกลัวและไม่กล้าแสดงออกด้วยการออกมาประท้วงบนท้องถนน แต่การชุมนุมประท้วงที่นำโดยพรรคฝ่ายค้านในปี 2013 ก็เป็นการชุมนุมที่มีคนมาร่วมเป็นจำนวนมาก ซึ่งอาจเป็นการส่งสัญญาณว่า ประชาชนชาวกัมพูชากำลังก้าวข้ามความกลัวแล้ว
เสรีภาพในการชุมนุมที่ฟิลิปปินส์: ไม่มีเสรีภาพในเขตเศรษฐกิจพิเศษ  
การชุมนุมและการเดินขบวนเนื่องในวันกรรมกรสากลในกรุงมะนิลา 1 พฤษภาคม 2555
ภาพจากเฟซบุ๊กของ อานนท์ ชวาลาวัณย์ 
Teresita Rosales Abana นักกิจกรรมชาวฟิลิปปินส์ ผู้คลุกคลีอยู่กับขบวนการแรงงาน และเคยถูกจับเพราะการชุมนุมหลายครั้งเล่าให้ฟังว่า แม้เสรีภาพในการชุมนุม จะได้การคุ้มครองในรัฐธรรมนูญ (ดูมาตรา 4 ของหมวด Bill of Rights) แต่ในทางปฏิบัติ เสรีภาพในการชุมนุมก็ถูกจำกัดได้ไม่ยากนัก เนื่องจากกฎหมายการชุมนุมสาธารณะ 2528 กำหนดให้แกนนำต้องทำหนังสือขออนุญาตฝ่ายปกครอง ในการจัดการชุมนุมในพื้นที่สาธารณะ ซึ่งฝ่ายปกครองอาจใช้ดุลพินิจไม่ให้จัดการชุมนุมได้ อย่างไรก็ตาม หากการชุมนุมจัดในพื้นที่ของเอกชนก็ไม่ต้องขออนุญาต  
Abana เล่าต่อไปว่า โดยทั่วไป การชุมนุมเพื่อเรียกร้องเรื่องเกี่ยวกับชีวิตความเป็นอยู่ เช่น การประท้วงเรื่องราคาน้ำมันหรือราคาของบริการสาธารณะ ทางการก็มักจะไม่ขัดขวาง แต่ก็จะอนุญาตให้ชุมนุมในบริเวณที่ไกลออกไปจากที่ทำการของรัฐบาล ซึ่งเป็นจุดศูนย์กลางของปัญหา โดยมีการใช้กำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจมาล้อมรอบสถานที่ของทางการ เพื่อไม่ใช้ผู้ชุมนุมเข้ามาใกล้ Abana ตั้งข้อสังเกตด้วยว่า ในแต่ละปี ระยะห่างระหว่างจุดที่ได้รับอนุญาตให้จัดการชุมนุมกับที่ทำการของรัฐดูจะขยายออกไปเรื่อยๆ 
แต่หากประเด็นในการชุมนุมเป็นประเด็นทางการเมืองหรือเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เช่น การชุมนุมประท้วงประธานาธิบดี บารัค โอบามา ในโอกาสเดินทางเยือนฟิลิปปินส์ ทางการก็ห้ามไม่ให้จัดการชุมนุม 
นอกจากการจำกัดเสรีภาพการชุมนุมโดยรัฐแล้ว ในฟิลิปปินส์ก็มีการจำกัดเสรีภาพในการชุมนุมโดยเอกชนด้วย ในเขตเศรษฐกิจพิเศษมีการห้ามไม่ให้คนงานชุมนุมเพื่อต่อรองหรือประท้วงนายจ้าง ในกรณีนี้ Abana เล่าว่า ทางการไม่ได้ออกกฎหมายห้าม แต่เมื่อคนงานทำการชุมนุม พนักงานรักษาความปลอดภัยเอกชนที่โรงงานจ้างมาก็จะเข้ามาจัดการกับผู้ชุมนุมโดยที่รัฐไม่ได้เข้ามาแทรกแซงหรือให้ความคุ้มครองผู้ชุมนุมแต่อย่างใด 
สำหรับลักษณะการจำกัดเสรีภาพหรือการคุกคามผู้ชุมนุมในฟิลิปปินส์ Abana เล่าว่า ในบางกรณี แกนนำที่ไม่ขออนุญาตจัดการชุมนุมจะถูกดำเนินคดี ขณะที่ทางบรรษัทก็ใช้การดำเนินคดีจัดการกับคนงานที่มาชุมนุมเช่นกัน อย่างไรก็ตาม ยังไม่ค่อยปรากฏการใช้กำลังสลายการชุมนุมขนานใหญ่   
Abana ปิดท้ายการพูดคุยด้วยการเล่าถึงเทคนิคที่น่าสนใจในการจัดการชุมนุม ว่า ในสมัยรัฐบาลประธานาธิบดี กลอเรีย มาคาปากัล อาร์โรโย รัฐบาลห้ามจัดการชุมนุม นักกิจกรรมทางสังคมจึงใช้วิธีจัดแฟรชม็อบแทนการชุมนุมขนาดใหญ่ โดยมีการนัดหมายผู้ชุมนุมที่พร้อมรับความเสี่ยงสามถึงสี่สิบคนมารวมตัวกันและทำกิจกรรมในเวลาอันรวดเร็วก่อนจะสลายตัวไป ทางกลุ่มผู้ชุมนุมยังติดต่อนักข่าวที่ไว้ใจได้มาปลอมตัวเป็นคนเดินผ่านไปผ่านมารอเก็บภาพอยู่บริเวณที่จัดกิจกรรมด้วยเพื่อให้มั่นใจว่า การชุมนุมที่เกิดขึ้นจะเป็นที่รับรู้ของสาธารณะในภายหลัง 
เสรีภาพในการชุมนุมที่สิงคโปร์: ลงทะเบียนจองที่ชุมนุมผ่านเว็บไซต์
การชุมนุมที่ Speaker Corner ในสวนสาธารณะ Hong Lim วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2556
ภาพโดย Steven Teo
รัฐธรรมนูญของสิงคโปร์ให้การคุ้มครองเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบของพลเมืองเอาไว้ใน หมวดที่ 4 ว่าด้วยเสรีภาพขั้นพื้นฐาน แต่ในทางปฏิบัติ การชุมนุมในที่สาธารณะเป็นสิ่งที่ยากจะทำได้   
Adrian Heok นักกิจกรรมชาวสิงคโปร์เล่าว่า สิงคโปร์มีกฎหมายการชุมนุมสาธารณะ ซึ่งกำหนดว่า การจัดชุมนุมในที่สาธารณะจะทำได้ก็ต่อเมื่อได้รับอนุญาตจากทางการเท่านั้น ซึ่งเท่าที่ตนเคยติดตามมา ทางการไม่เคยอนุญาตให้จัดการชุมนุมในที่สาธารณะเลย สถานที่เดียวที่ขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมหรือกลุ่มผลประโยชน์ต่างๆ จะใช้จัดการชุมนุมได้ มีเพียงบริเวณ Speakers' coner ซึ่งอยู่ในสวนสาธารณะ Hong Lim เท่านั้น ในอดีต การจัดชุมนุมในสวนต้องได้รับอนุญาตจากทางการเช่นเดียวกับการชุมนุมในที่สาธารณะอื่น แต่ในปัจจุบันไม่ต้องขออนุญาตแล้ว เพียงแต่ไปลงทะเบียนเพื่อจองการใช้สถานที่ในเว็บไซต์ของหน่วยงานที่กำกับดูแลสวนสาธารณะและอุทยานแห่งชาติก็สามารถจัดการชุมนุมได้เลย
แม้ว่าการชุมนุมสาธารณะใน Speakers' coner จะเป็นสิ่งที่ทำได้ แต่ก็มีข้อจำกัดมากมาย ด้วยความที่สวนสาธารณะมีพื้นที่จำกัด มีรั้วรอบขอบชิด จึงไม่สามารถรองรับผู้ชุมนุมได้มากนัก และเป็นสถานที่ปิด ยากที่จะสร้างแรงสะเทือนทางสังคมได้ นอกจากนี้ก็มีการห้ามทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ที่เกี่ยวกับไฟ เช่น การเผาหุ่นหรือเผาธงชาติด้วย เพราะกลัวว่าสนามหญ้าจะเสียหาย  
Heok ปิดท้ายบทสนทนาว่า แม้การชุมนุมสาธารณะจะถูกจำกัดโดยเจ้าหน้าที่รัฐ แต่นั่นก็ไม่ใช่สิ่งที่น่ากังวลที่สุด เพราะสิ่งที่น่ากลัวที่สุด คือทรรศนะคติของชาวสิงคโปร์ที่มีต่อเสรีภาพในการชุมนุม ชาวสิงคโปร์ส่วนใหญ่มองว่า การชุมนุมคือความวุ่นวาย และกระทบต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน พวกที่มาประท้วงก็คือพวกชอบสร้างปัญหา  ซึ่งเท่ากับว่า ชาวสิงคโปร์ไม่รู้สึกยินดียินร้ายกับการถูกจำกัดเสรีภาพ หรืออาจจะถึงขั้นไม่รู้สึกว่ากำลังถูกจำกัดเสรีภาพอยู่ 
อย่างไรก็ตาม Heok ยังมองโลกในแง่ดีว่า คนสิงคโปร์รุ่นใหม่ ดูจะมีความสนใจในประเด็นทางสังคมมากกว่าคนรุ่นเก่า และเชื่อว่าการชุมนุมที่สิงคโปร์แม้จะมีขนาดเล็ก แต่ก็สามารถใช้เป็นแหล่งเรียนรู้ประเด็นปัญหาต่างๆในสังคมได้
เสรีภาพในการชุมนุมที่อินเดีย: ใช้กฎหมายพิเศษควบคุมกลุ่มชาติพันธุ์
การชุมนุมของชาวนาในเมืองตรีนุวานันธปูรัม เมืองหลวงของรัฐเคราล่า วันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2554
ภาพโดย Johan Bichel Lindegaard 
อินเดียอาจได้รับการยอมรับว่าเป็น "ประเทศประชาธิปไตยที่ใหญ่ที่สุดในโลก" แต่เสียงสะท้อนจากนักสิทธิมนุษยชนชาวอินเดียสองท่านเกี่ยวกับเสรีภาพในการชุมนุม ก็ดูจะทำลายน้ำหนักของคำกล่าวข้างต้น 
รัฐธรรมนูญอินเดีย ให้การคุ้มครองเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบปราศจากอาวุธ ไว้ใน มาตรา 19 อย่างไรก็ตาม ก็มีการบัญญัติข้อยกเว้น ให้อำนาจรัฐในการจำกัดเสรีภาพในการชุมนุม ภายใต้บทบัญญัติของกฎหมาย และเพื่อรักษาอธิปไตย บูรณภาพแห่งรัฐ และความสงบเรียบร้อยของประชาชน ที่อินเดียไม่มีกฎหมายชุมนุมสาธารณะ แต่ก็มีการใช้กฎหมายอื่นมาควบคุมการชุมนุม เช่นกฎหมายอาญาในหมวดที่ 8 ซึ่งว่าด้วยความผิดต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน  
Teesta Setalvad นักสิทธิมนุษยชนชาวอินเดียพูดถึงเสรีภาพในการชุมนุมที่อินเดียว่า แม้การชุมนุมจะได้รับการคุ้มครองในกฎหมาย แต่ในทางปฏิบัติ เวลาที่มีการชุมนุม เจ้าหน้าที่ตำรวจมักหาช่องทางมาจำกัดการใช้เสรีภาพของประชาชน มีการใช้กฎหมายทั้งแพ่งและอาญามาฟ้องร้องผู้ชุมนุม รวมทั้งมีการดำเนินคดีด้วยข้อหายุยงปลุกปั่นให้ต่อต้านรัฐบาล (sedition) ซึ่งเป็นข้อหาที่มีความร้ายแรง ที่ผู้ถูกฟ้องมักถูกลิดรอนสิทธิการพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรม 
ประเด็นอ่อนไหวของสังคมอินเดีย ที่ผู้ประท้วงมีความเสี่ยงที่จะถูกทางการดำเนินคดี ได้แก่ ประเด็นความขัดแย้งในรัฐแคชเมียร์ และความขัดแย้งในภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 
Setalvad ตั้งข้อสังเกตเพิ่มเติมว่า ในหลายๆกรณี การจำกัดเสรีภาพในการชุมนุมก็มีลักษณะเป็นการเลือกปฏิบัติ เพราะการชุมนุมที่จัดโดยกลุ่มฝ่ายขวาหรือกลุ่มชาตินิยมฮินดู เจ้าหน้าที่มีแนวโน้มที่จะละเลยไม่ปฏิบัติหน้าที่ในการควบคุมผู้ชุมนุม แม้ว่าในหลายๆครั้ง ผู้ชุมนุมจะใช้ความรุนแรงก็ตาม   
Babloo Loitongbam นักสิทธิชาวอินเดียอีกคนหนึ่ง ซึ่งมาจากกลุ่มชาติพันธุ์ในภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือเล่าว่า ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เช่นในรัฐมณีปุระ (Manipur) ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีความขัดแย้งและมีการใช้กำลังอาวุธ มีการประกาศใช้กฎหมายพิเศษ  ที่ให้อำนาจทหารใช้กำลังหรือใช้อาวุธสังหาร กรณีที่บุคคลตั้งแต่ห้าคน มารวมตัวหรือชุมนุมในพื้นที่ที่มีการประกาศเป็นพื้นที่ควบคุมพิเศษ แต่ทั้งนี้ ก่อนการใช้กำลังจะต้องมีการแจ้งหรือยิงเตือนก่อน 
Loitongbam ตั้งข้อสังเกตด้วยว่าในสังคมประชาธิปไตย  กฎหมายพิเศษที่มีเนื้อหาเป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพของพลเมือง ควรจะเป็นกฎหมายที่บังคับใช้ในระยะเวลาอันจำกัด แต่กฎหมายพิเศษดังกล่าว กลับมีการบังคับใช้ในภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือรวมทั้งในรัฐมณีปุระมาอย่างยาวนาน           
เสรีภาพในการชุมนุมที่ศรีลังกา: เสรีภาพสองมาตรฐาน
 
การชุมนุมของญาติเหยื่อผู้ถูกบังคับสูญหายในเมืองจาฟนา เรียกร้องที่จะพบกับนายกรัฐมนตรีอังกฤษ (ไม่ทราบวันที่)
ภาพโดย Freddy Gamage
Freddy Gamage บรรณาธิการเว็บไซด์สื่อทางเลือกชาวศรีลังกา ผู้คลุกคลีอยู่กับนักกิจกรรมทางสังคมมาอย่างยาวนานเล่าให้ฟังว่า รัฐธรรมนูญศรีลังกาให้การคุ้มครองเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบใน มาตรา 14 (b) ซึ่งอยู่ในหมวดสิทธิขั้นพื้นฐาน ในส่วนของกฎหมายการชุมนุมสาธารณะ Gamage เล่าว่า ที่ศรีลังกาไม่มีกฎหมายดังกล่าวแต่อย่างใด 
อย่างไรก็ตามในทางปฏิบัติ เจ้าหน้าที่ตำรวจมักไปขอให้ศาลออกคำสั่งห้ามชุมนุม ผู้พิพากษาจำนวนหนึ่งที่มองว่าเสรีภาพในการชุมนุมเป็นเรื่องสำคัญจะไม่ยอมออกคำสั่งตามคำขอของเจ้าหน้าที่ตำรวจ แต่ส่วนใหญ่ศาลมักทำตามคำขอของเจ้าหน้าที่ตำรวจ 
Gamage เล่าต่อไปว่า การจำกัดเสรีภาพในการชุมนุม หลายครั้งเป็นการเลือกปฏิบัติ การชุมนุมในประเด็นที่รัฐบาล"ไม่ค่อยสบายใจ" เช่น เรื่องที่ชาวทมิฬซึ่งเป็นชนกลุมน้อยไม่ได้รับความเป็นธรรม มักถูกจำกัด แต่หากเป็นการชุมนุมในประเด็นที่ไม่ขัดแย้งกับรัฐบาล การชุมนุมก็สามารถทำได้โดยง่าย เคยมีกรณีที่ชาวพุทธไปจัดชุมนุมและให้พระสงฆ์ที่มีแนวคิดสุดโต่ง ไปปราศรัยปลุกระดมให้ชาวสิงหลต่อต้านชาวมุสลิมที่เมือง Aluthgama ซึ่งชาวมุสลิมเป็นประชากรส่วนใหญ่ ครั้งนั้นชาวมุสลิมในเมืองพยายามร้องขอให้ตำรวจระงับการชุมนุมเพราะกลัวว่าจะเกิดความรุนแรง แต่ทั้งตำรวจและศาลต่างปล่อยให้มีการชุมนุม สุดท้ายมวลชนชาวสิงหลก็ใช้ความรุนแรงกับชาวมุสลิม มีคนตายและมีการเผาทำลายบ้านของชาวมุสลิม 
เมื่อถามถึงพื้นที่อ่อนไหวหรือพื้นที่ห้ามชุมนุม Gamageระบุว่า บริเวณอาคารสำคัญ เช่น บริเวณอาคารรัฐสภา ไม่สามารถจัดการชุมนุมได้ อย่างไรก็ตาม ประเด็นสถานที่ก็มีการเลือกปฏิบัติเช่นเดียวกับประเด็นเรื่องการใช้คำสั่งศาลมาจำกัดเสรีภาพในการชุมนุม เพราะมวลชนกลุ่มที่สนับสนุนรัฐบาลเคยจัดการชุมนุมด้านนอกสนามบินนานาชาติมาแล้ว 
ในกรณีที่มีการสลายการชุมนุม เครื่องมือที่มักถูกนำมาใช้ ได้แก่ แก๊สน้ำตา กระบอง กระสุนยาง สำหรับกระสุนจริงมีใช้บ้างในบางกรณี นอกจากการใช้กำลังแล้ว ในหลายๆกรณี ทางการก็ดำเนินคดีกับผู้ชุมนุมที่ฝ่าฝืนคำสั่งห้ามชุมนุมของศาลด้วย แต่ความผิดดังกล่าวศาลมักลงโทษปรับเท่านั้น 
สิ่งที่ Gamage กังวลที่สุดเกี่ยวกับเสรีภาพในการชุมนุมของศรีลังกา ไม่ใช่การจำกัดเสรีภาพที่กระทำโดยรัฐ แต่เป็นกรณีที่รัฐให้การสนับสนุนทางลับหรือละเว้นการระงับเหตุ เมื่อมวลชนฝ่ายที่สนับสนุนรัฐบาลคุกคามผู้ที่ชุมนุมต่อต้านรัฐบาลหรือกลุ่มผู้ชุมนุมที่รัฐบาลมองว่าไม่น่าไว้วางใจ เช่น ชนกลุ่มน้อยชาวทมิฬหรือชาวมุสลิม เหตุที่วิธีการนี้น่ากลัวเป็นเพราะ รัฐสามารถที่จะปฏิเสธความรับผิดชอบต่อความรุนแรงได้อย่างง่ายดาย
แม้ว่าสถานการณ์เสรีภาพในการชุมนุมของศรีลังกาจะดูไม่สู้ดีนัก แต่Gamageก็ปิดท้ายการให้สัมภาษณ์อย่างมีความหวังว่า ชาวศรีลังกาจะยังคงใช้การประท้วงเป็นเครื่องมือต่อสู้กับความอยุติธรรมต่อไปและในอนาคตจะมีผู้ที่ก้าวข้ามความกลัวลงมาต่อสู้บนท้องถนนมากขึ้น
การชุมนุมในบังคลาเทศ: การประท้วงเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรม
การชุมนุม The Power of Silence ในกรุงดาการ์ วันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2556
ภาพโดย Damien Thorne
Sayeed Ahmad นักสิทธิมนุษยชนชาวบังคลาเทศเล่าว่า เสรีภาพในการชุมนุมได้รับการคุ้มครองโดย มาตรา 37 ของรัฐธรรมนูญ ที่บังคลาเทศไม่มีกฎหมายการชุมนุม ผู้จัดการชุมนุมไม่ต้องขออนุญาตทางการในการจัดการชุมนุม เพียงแต่ต้องแจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อทราบเท่านั้น 
การจำกัดเสรีภาพในการชุมนุมที่บังคลาเทศถือว่าไม่รุนแรงมากนัก เนื่องจากการประท้วงถือเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรม นอกจากนี้ รัฐบาลเองก็ใช้การชุมนุมเป็นเครื่องมือเช่นกัน เพราะพรรครัฐบาลก็มีมวลชนของตน อาจมีการขัดขวางหรือจำกัดการใช้เสรีภาพในการชุมนุมบ้าง หากประเด็นในการชุมนุมเป็นประเด็นที่อ่อนไหว เช่น การเรียกร้องสิทธิของกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศ หรือประเด็นที่อาจขัดต่อหลักศาสนาอิสลาม 
ถึงแม้ว่าสถานการณ์เสรีภาพในการชุมนุมของบังคลาเทศจะดูไม่เลวร้ายนัก แต่ Ahmad ก็เล่าว่าภายใต้ภาพที่ดูดีก็มีความน่ากังวลอยู่ การใช้เสรีภาพในการชุมนุมอาจไม่ถูกขัดขวางจากรัฐโดยตรง แต่พรรครัฐบาลก็มักสนับสนุนในทางลับ ให้กลุ่มมวลชนจัดตั้ังของตน ใช้ความรุนแรงกับผู้ชุมนุมที่มีจุดยืนตรงข้ามกับรัฐบาล 
นอกจากการใช้ความรุนแรงโดยอ้อมแล้ว รัฐก็มีวิธีทำลายความเข้มแข็งของผู้ชุมนุมอีกหลายทาง เช่น การส่งคนแฝงตัวเข้าไปในหมู่ผู้ชุมนุมแล้วก่อความวุ่นวายหรือใช้ความรุนแรงเพื่อสร้างความชอบธรรมให้เจ้าหน้าที่ใช้กำลังปราบ ในกรณีที่การชุมนุมเป็นการชุมนุมยืดเยื้อ เช่น การชุมนุมคัดค้านโครงการพัฒนาของรัฐ จะมีการส่งคนแฝงตัวเข้าไปสร้างความแตกแยกภายในกลุ่มผู้ชุมนุม  นอกจากนี้ก็มีการกันตัวแกนนำออกจากการชุมนุม โดยจับตัวในขณะที่เจรจากับเจ้าหน้าที่ แล้วนำตัวไปปล่อยในสถานที่ห่างไกลจากพื้นที่การชุมนุมด้วย
สำหรับแนวโน้มสถานการณ์เสรีภาพในการชุมนุมในอนาคต ถือว่ามีความน่ากังวล เพราะรัฐสภาบังคลาเทศ กำลังพยายามออกกฎหมาย เพื่อให้การนัดหยุดงานเป็นเรื่องผิดกฎหมาย ซึ่งจะทำให้พลังการต่อรองของผู้ใช้แรงงานลงไป
ความเหมือนและความต่าง
ในภาพรวมจะเห็นว่า ลักษณะการจำกัดเสรีภาพในประเทศทั้ง 6 มีความคล้ายคลึงกันอยู่มาก รัฐธรรมนูญของประเทศทั้งหกต่างให้การคุ้มครองเสรีภาพในการชุมนุม แต่การใช้เสรีภาพก็เป็นไปอย่างอยากลำบาก ในกรณีของสิงคโปร์หรือฟิลิปปินส์ กฎหมายกำหนดให้ต้องมีการขออนุญาตจากเจ้าหน้าที่ ซึ่งหากเจ้าหน้าที่ไม่อนุญาตก็จะชุมนุมไม่ได้ ในกรณีของกัมพูชา แม้ตามกฎหมาย ผู้ชุมนุมเพียงแต่ต้องการแจ้งเพื่อทราบ แต่กฎหมายก็เปิดช่องให้เจ้าหน้าที่สามารถใช้ดุลพินิจระงับการชุมนุมได้ 
การดำเนินคดีก็เป็นวิธีการที่หลายประเทศใช้เพื่อสร้างต้นทุนให้กับผู้ชุมนุม ในที่นี้ผู้ให้สัมภาษณ์ทั้งจากกัมพูชา ฟิลิปปินส์ อินเดีย และศรีลังกา ต่างเล่าเหมือนกันว่าการถูกดำเนินคดีเป็นความเสี่ยงที่ผู้ชุมนุมต้องแบกรับ สำหรับกรณีของอินเดีย น่าจะมีความร้ายแรงที่สุด เพราะกฎหมาย sedition ที่นำมาใช้ มีโทษร้ายแรงและเป็นกฎหมายที่ผู้ถูกดำเนินคดีมีความเสี่ยงที่จะถูกละเมิดสิทธิในการได้รับการพิจารณาคดีที่เป็นธรรม
นอกจากนี้แล้ว ในหลายๆประเทศ รัฐไม่ได้ใช้อำนาจตามกฎหมายในการจำกัดเสรีภาพโดยตรง แต่ใช้กลวิธีอื่นที่ขัดขวางการชุมนุม  เช่น ในกรณีของบังคลาเทศที่มีการส่งคนแทรกซึมเข้าไปกลุ่มผู้ชุมนุมแล้วสร้างเงื่อนไขในการใช้กำลัง หรือกรณีของฟิลิปปินส์และกัมพูชาที่รัฐปล่อยให้พนักงานรักษาความปลอดภัยเอกชนใช้กำลังทำร้ายผู้ชุมนุม รวมทั้งในกรณีของศรีลังกาที่มีการใช้มวลชนฝ่ายสนับสนุนรัฐบาลมาจัดการกับกลุ่มผู้ชุมนุมที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐ เป็นต้น
ดูเหมือนว่า สถานการณ์เสรีภาพในการชุมนุมของเพื่อนร่วมภูมิภาคของเราจะอยู่ในสภาวะมืดมน แม้ว่าทั้งหกประเทศจะมีวัฒนธรรมทางการเมืองที่ต่างกัน แต่รูปแบบที่ผู้มีอำนาจนำมาใช้จำกัดเสรีภาพก็ดูจะคล้ายๆกัน ราวกับว่าการชุมนุมคือของแสลงที่ผู้มีอำนาจไม่ว่าชาติใดภาษาใดต่างก็ไม่ชอบใจและหาทางกีดกั้น 
อย่างไรก็ตาม ผู้ให้สัมภาษณ์บางคนก็ยังคงมองโลกในแง่ดี Mory และ Gamage ต่างมีความหวังว่า ประชาชนในประเทศของเขา กำลังก้าวข้ามเส้นของความกลัวและกล้าที่จะใช้เสรีภาพในการชุมนุมมากขึ้น ขณะที่ Heok ฝากความหวังว่าคนรุ่นใหม่ที่มีความกล้าหาญในการแสดงออกมากขึ้นจะสามารถจุดประกายการเปลี่ยนแปลงและเปิดพื้นที่ของเสรีภาพในการชุมนุมให้กว้างขึ้นในอนาคต