นักวิชาการชี้ ปัญหาข่มขืนต้องปรับตั้งแต่ฐานคิด เสนอแก้กฎหมายให้ “ยอมความไม่ได้”

จากโฆษณา Durex ที่บอกว่า “28% ของผู้หญิงที่ขัดขืน แต่สุดท้ายก็ยอม” ทำให้คนหลายกลุ่มไม่พอใจ เพราะตอกย้ำความเชื่อเกี่ยวกับท่าทีของผู้หญิงในเรื่องเพศที่เชื่อมโยงกับการข่มขืน การกระทำความรุนเเรงต่อเพศหญิง นำมาสู่เวที “จากบิกินี่ถึง Durex : ความรุนแรงซ้ำซ้อนภาคสอง” ณ ห้องราชา โรงแรมรัตนโกสินทร์ ในวันที่ 3 ตุลาคม 2557 จัดโดย สมาคมเพศวิถีศึกษา  แผนงานสร้างเสริมสุขภาวะทางเพศ  แผนงานสุขภาวะผู้หญิงและความเป็นธรรมทางเพศ  มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล  และมูลนิธิอัญจารี  
สุชาดา ทวีสิทธิ์ สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า รัฐไทยเป็นรัฐที่ล้มเหลวในการควบคุมความรุนแรงทางเพศ ล้มเหลวในการปกป้องสิทธิของผู้หญิง เพราะมีมายาคติมากมายในเรื่องเพศ ในนามของความหวังดีจากคนในสังคมกลับมีลักษณะของการตำหนิผู้หญิงควบคู่กันมาตลอด เช่น “ต้องระวังตัวนะ อย่าแต่งตัวโป๊นะ อย่าใส่บิกินี่นะ เดี๋ยวจะโดนข่มขืน” การพูดลักษณะนี้เป็นเหมือนความปรารถนาดีที่ไร้เดียงสา ทั้งยังซ้ำเติมและสร้างความชอบธรรมให้ผู้กระทำการข่มขืน จนกลายเป็นปัญหาใหญ่และฝังรากลึกในสังคมไทย
สุชาดา กล่าวต่ออีกว่า มายาคติเกี่ยวกับการข่มขืนในสังคมไทยมักมาคู่กับวาทกรรมการป้องกันการข่มขืน โดยผลักภาระทุกอย่างให้ผู้หญิงมีหน้าที่ปกป้องตัวเอง น่าเสียใจอย่างยิ่งที่วาทกรรมเหล่านี้เกิดขึ้นจากบุคคลสาธารณะ ผู้นำประเทศ ครูบาอาจารย์ การจะเเก้ไขความเข้าใจผิดเหล่านี้จะต้องใช้การศึกษาเป็นเครื่องมือ ที่ผ่านมาสังคมมุ่งเน้นสอนผู้หญิงมากกว่าชาย ควรเปลี่ยนเป็นสอนทั้งสองฝ่ายว่าความรุนเเรงทางเพศเป็นเรื่องที่ไม่อาจยอมรับได้ นอกจากนั้นต้องเปลี่ยนวิธีคิดของสังคมให้หยุดผลักภาระมาที่ผู้หญิง
วราภรณ์ แช่มสนิท ศูนย์สิทธิมนุษยชนศึกษาและการพัฒนาสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ให้ข้อมูลว่า สังคมไทยยังมีมายาคติเกี่ยวกับเรื่องการข่มขืนซึ่งต่างจากข้อเท็จจริงที่ปรากฏอยู่มาก เช่น ความเชื่อที่ว่าการข่มขืนมักเกิดจากคนแปลกหน้า แต่สถิติจากมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล ชี้ว่า การกระทำความรุนเเรงต่อเพศหญิงเกิดจากคนรู้จักถึง 49% นอกจากนี้ยังมีความเชื่อว่าการข่มขืนมักเกิดในที่เปลี่ยว ขณะที่จากสถิติชี้อีกว่า การข่มขืนจำนวนหนึ่งเกิดในที่ที่เราคิดว่าปลอดภัย นั่นคือบ้านของผู้ถูกกระทำ 23% รวมทั้ง ในโรงเรียน รถโดยสาร วัด 
วราภรณ์ กล่าวต่อว่า ความเชื่อว่า การข่มขืนเกิดจากผู้ชายที่มีปัญหาทางจิตนั้นเป็นเรื่องที่เข้าใจผิด เพราะจากสถิติเเสดงให้เห็นว่า 97% ของผู้ที่ทำความรุนเเรงทางเพศมักไม่ถูกดำเนินคดี ดังนั้นผู้ชายจึงเชื่อว่าเป็นเรื่องที่ทำได้เเละไม่ต้องรับโทษ การโทษว่าการเเต่งตัวล่อเเหลมของเพศหญิงเป็นสิ่งยั่วยุที่ก่อให้เกิดการข่มขืน เป็นการตอกย้ำว่าความรุนเเรงเกิดจากตัวเพศหญิงเอง หากจะเเก้ไขปัญหาก็ต้องให้การศึกษาว่าการใช้ความรุนเเรงทางเพศไม่ว่าจะเกิดจากเพศใดก็เป็นเรื่องที่ไม่สามารถยอมรับได้
ชเนตตี ทินนาม อาจารย์คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิต กล่าวว่า ในพื้นที่ของงานโฆษณาก็มีการผลิตซ้ำเรื่องการข่มขืนไม่น้อยไปกว่าพื้นที่ของข่าวหรือละคร แต่เรากลับตกอยู่ภายใต้ความเชื่อที่ว่า โฆษณาเป็นเพียงการประกอบสร้างถึงความงดงาม ไม่ได้มีอิทธิพลที่จะสามารถสร้างทัศนคติที่ไม่ดีให้แก่สังคม ทั้งที่ความจริงแล้วงานโฆษณามีผลกระทบต่อสังคมสูงกว่าสื่ออื่น เพราะงานโฆษณามีจุดประสงค์เพื่อเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภค เป้าหมายสูงสุดของงานโฆษณา คือ ความรู้สึกที่ยอมป็นทาสหรือความรู้สึกภักดีต่อแบรนด์สินค้า ทางออก คือ ควรกำหนดจรรยาบรรณโฆษณามาตรวจสอบ คุ้มครองความเป็นมนุษย์ของเพศหญิง
Calvin klen jeans ใช้วิธีการโฆษณาที่แสดงให้เห็นแบบจำลองของ gang rape
ซึ่งเป็นความพยายามที่จะทำให้เรื่องการข่มขืนไม่ใช่เรื่องซีเรียส
 
 
duncan quinn ใช้วิธีโฆษณาที่สื่อให้เห็นถึงการกระทำความรุนเเรงต่อเพศหญิง
 
 
เเม้เเต่เครื่องสำอาง sisley ซึ่งเป็นสินค้าสำหรับผู้หญิงเอง
กลับใช้วิธีลดทอนความเป็นมนุษย์ของผู้หญิงลง
จิตติมา ภาณุเตชะ ตัวเเทนมูลนิธิสร้างความเข้าใจเรื่องสุขภาพผู้หญิง  ชี้ให้เห็นว่า คำพูดกดทับเชิงขำขัน เช่น “หน้าตาไม่สวยแบบนี้หรอ จะโดนข่มขืน” แสดงให้เห็นว่า เราต่างก็เป็นค้อนที่ตอกย้ำมายาคติในเรื่องความรุนแรงเรื่องเพศ ฉะนั้นทุกคนจึงต้องทบทวนถึงสิ่งที่เราถูกสอนกันมา ควรเปิดให้มีการพูดคุย มีเวทีแสดงความเห็น สร้างบรรยากาศให้ผู้หญิงสะดวกใจที่จะพูดถึงความทุกข์ในเรื่องเพศ ไม่รู้สึกว่าสิ่งที่ตนถูกกระทำมีสาเหตุมาจากตนเอง
จะเด็จ เชาว์วิไล ผู้อำนวยการมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล กล่าวว่า จากกรณีต่างๆที่มูลนิธิฯได้เข้าไปช่วยเหลือ พบว่าหลายครั้งที่ผู้กระทำการข่มขืนเป็นผู้มีอำนาจ จะเกิดปัญหาเมื่อได้เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม เช่น ตำรวจมักบอกให้ไกล่เกลี่ยเพื่อยอมความ นอกจากนี้ มักมีการใช้คำพูดที่ทำร้ายผู้หญิง เช่น “แต่งตัวโป๊หรือเปล่า เดินในที่เปลี่ยนหรือเปล่า” สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นตลอดกระบวนการยุติธรรม ในบางครั้ง ครอบครัวของผู้ที่ถูกข่มขืนเองก็รู้สึกว่าฝ่ายของตนซึ่งที่ถูกกระทำจะเป็นฝ่ายที่เสียชื่อเสียง จึงอยากยอมความ ซึ่งถือเป็นการกระทำความรุนเเรงซ้ำซ้อนโดยบุคคลรอบข้าง
จะเด็จ กล่าวต่อว่า สิ่งที่ต้องเร่งแก้ไขคือเรื่องกฎหมาย ต้องแก้ไขไม่ให้มีการยอมความ เพราะการเปิดโอกาสให้มีการยอมความกันได้ทำให้ผู้หญิงเข้าถึงสิทธิได้ยาก และควรจะต้องระบุในกฎหมายให้มีการจัดหานักจิตยา หรือ นักสังคมสงเคราะห์เข้ามาช่วยเหลือผู้ถูกกระทำระหว่างที่อยู่ในกระบวนการดำเนินคดีตามกฏหมายด้วย นอกจากการแก้ไขกฎหมายแล้ว การปฏิรูปการศึกษาที่ยังอยู่ในกระแสก็ควรจะพูดเรื่องการเคารพสิทธิซึ่งกันและกัน เพราะเป็นสิ่งสำคัญที่เป็นตัวปลดแอกสังคมไทยจากวาทกรรมที่กดทับผู้หญิงเอาไว้ได้