เปิดงบประมาณกสทช. บริจาคเพื่อการกุศลสูงสุด – นักกม.เตือนระวังกม.ปปช.

5 พฤศจิกายน 2556 โครงการติดตามนโยบายสื่อและโทรคมนาคม หรือ NBTC Policy Watch นำเสนอรายงานในหัวข้อ “การใช้ทรัพยากรของหน่วยงานกำกับดูแล : กรณีศึกษาเปรียบเทียบระหว่างประเทศ” ที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย โดยดร.พรเทพ เบญญาอภิกุล อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นผู้นำเสนอ

ดร.พรเทพ กล่าวว่า กิจการโทรคมนาคมและกระจายเสียงของไทยมีมูลค่าประมาณ 3.5 แสนล้านบาท เปรียบเทียบกับมูลค่าธุรกิจการสื่อสารของอังกฤษซึ่งสูงกว่าเราประมาณ 8 เท่า ส่วนสหรัฐอเมริกาจะสูงกว่าเราประมาณ 40 เท่า โดยกสทช.ของไทยมีงบประมาณสำหรับการกำกับดูแลเกือบๆ 4,000 ล้านบาท ส่วนงบประมาณที่หน่วยงานกับกำกับดูแลของอังกฤษ คือ Ofcom หรือ ของอเมริกา คือ FCC ใช้ คือ 6,000 ล้านบาทและ 11,000 ล้านบาท ตามลำดับ ด้านจำนวนพนักงานพบว่า กสทช.ใช้พนักงาน 1,097 คน ซึ่งสูงกว่า Ofcom ที่ใช้ 735 คน ขณะที่ FCC ใช้ 1,685 คน

ดร.พรเทพ กล่าวว่า วัตถุประสงค์หลักของกสทช. ตามแผนแม่บท คือ การส่งเสริมการแข่งขังที่เสรีเป็นธรรม การจัดสรรคลื่น คุ้มครองผุ้บริโภค ส่งเสิรมสิทธิเสรีภาพในการสื่อสาร แต่การใช้จ่ายงบประมาณนั้นไม่ค่อยตอบวัตถุประสงค์ เพราะค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานที่สูงที่สุด คือ เงินบริจาคและการกุศล 245ล้านบาท ค่าใช้จ่ายเพื่อการเดินทางไปต่างประเทศ 206 ล้านบาท และค่าใช่จ่ายในการประชาสัมพันธ์ 114 ล้านบาท รวมสามรายการนี้มีมูลค่าร้อยละ 40ของค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานในปี 2555 ของกสทช.

 

 

ข้อสังเกตต่อเรื่องเงินบริจาคเพื่อการกุศลนั้น ดร.พรเทพ กล่าวว่า จริงๆ การบริจาคเพื่อการกุศลเป็นเรื่องที่ดี แต่เป็นเรื่องดีที่กสทช.ไม่ควรทำ เพราะกสทช.ไม่มีหน้าที่ใช้ทรัพยากรสาธารณะในการบริจาคเพื่อการกุศล แต่กลับใช้ไปในสัดส่วนที่สูงที่สุด กสทช.พึงระลึกไว้ว่างบประมาณดังกล่าวเป็นรายได้จากค่าธรรมเนี่ยมที่ควรใช้ประโยชน์ในการพัฒนากิจการโทรคมนาคมและการกระจายเสียงให้มีประสิทธิภาพ ถ้าหากกสทช.เห็นว่าทรัพยากรที่มีอยู่เพียงพอแล้วก็ควรจะคืนให้รัฐนำไปใช้เพื่อวัตถุประสงค์อื่นต่อไป ในขณะที่ Ofcom ของอังกฤษและ FCC ของสหรัฐอเมริกามีการใช้เงินบริจาคเพื่อการกุศลเท่ากับศูนย์ และ Ofcom ของอังกฤษยังมีข้อกำหนดว่าห้ามบริจาคเพื่อการกุศลโดยใช้ชื่อของ Ofcom แม้จะเป็นการบริจาคด้วยเงินส่วนตัวของพนักงานก็ไม่ได้

ข้อสังเกตต่อเรื่องค่าใช้จ่ายในการเดินทางนั้น ดร.พรเทพ กล่าวว่า ค่าใช้จ่ายในการเดินทางของกสทช.สูงจนน่าตกใจ ซึ่งสูงกว่าค่าเดินทางที่ Ofcom และFCC ใช้ซึ่งคือ 57 ล้านบาท และ 79 ล้านบาทตามลำดับ หากคิดเป็นสัดส่วน ค่าเดินทางของกสทช.คิดเป็นร้อยละ 16 ของค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานทั้งหมด ขณะที่ Ofcom และ FCC มีค่าเดินทางคิดเป็นร้อยละ 1.9 และ 1.6 ตามลำดับ สาเหตุสำคัญคือ กสทช. ตั้งงบประมาณค่าเดินทางและค่ารับรองไว้ค่อนข้างสูง โดยกรรมการแต่ละคนจะได้รับงบประมาณสำหรับการเดินทางในประเทศ คนละ 400,000 บาทและ สำหรับการเดินทางไปต่างประเทศคนละ 3,000,000 บาท

ขณะที่ Ofcom ของประเทศอังกฤษกำหนดให้ทุกคนเบิกค่าใช้จ่ายได้ตามจริง และมีข้อกำหนดว่าห้ามนั่งเครื่องบินชั้นหนึ่งไม่ว่าในกรณีใดๆ  มีรายละเอียดเปิดเผยสู่สาธารณะว่าคณะกรรมการแต่ละคนใช้เงินเท่าไรไปกับการเดินทางด้วยวิธีไหนและไปไหนบ้าง รวมถึงการได้รับของกำนันจากองค์กรและผู้คนหรือบริษัทต่างๆ มีการกำหนดว่าการรับรองทั้งในและนอกองค์กร ให้คณะกรรมการรับได้ไม่เกินครั้งละ 10 ปอนด์ และต้องรายงานต่อสาธารณะเสมอด้วย

ดร.พรเทพ กล่าวต่อว่า ผลงานของกสทช. ในปี 2555 ตามที่ระบุไว้ในรายงานประจำปีส่วนใหญ่เป็นการออกประกาศ ระเบียบ คำสั่ง 50 รายการ การจัดประชุมรับฟังความคิดเห็น46 รายการ และมีรายงานวิจัยภายในเพียง 7 ชิ้น ซึ่งพรเทพเห็นว่าควรจะมีมากกว่านี้

ในการนี้ ดร.พรเทพ มีข้อเสนอต่อการบริหารจัดการองค์กรของกสทช. ว่า KPI หรือตัวชี้วัดการปฏิบัติงานในปีแรกๆ นั้นเน้นที่จำนวนประกาศที่ออกมาได้หรือจำนวนครั้งของการจัดประชุม ซึ่งสำหรับปีแรกๆ การใช้ KPI เช่นนี้ก็เหมาะสมแล้ว แต่ KPI ในอนาคตควรจะต้องเปลี่ยนมาพิจารณาที่ประสิทธิภาพการบังคับใช้ประกาศ การแก้ไขปัญหาต่างๆ ว่าสำเร็จหรือไม่ โดยใช้เกณฑ์ประเมินจากคุณภาพ สำหรับการใช้จ่ายงบประมาณ กสทช.ควรจำแนกตามกลุ่มงาน ซึ่งจะช่วยสะท้อนให้เห็นการกระจายทรัพยากรไปยังกลุ่มงานต่างๆ และเปิดเผยการใช้จ่ายเงินตามกลุ่มงานต่างๆ เพื่อให้สาธารณะติดตามได้ว่าการใช้จ่ายงบประมาณเป็นไปเพื่อตอบวัตถุประสงค์และภารกิจขององค์กรแค่ไหน

 

ประเสริฐ อภิปุญญา คณะกรรมการติดตามประเมินผลงานการปฏิบัติงานกสทช. (ซุปเปอร์บอร์ด) กล่าวว่า คณะกรรมการติดตามประเมินผลงานการปฏิบัติงานกสทช. มีอำนาจตามมาตรา 70-73 ของ พ.ร.บ. กสทช. ปัจจุบันมีอยู่ 5 คน มีอำนาจในการขอข้อมูล หรือเชิญคนมาให้ข้อมูล แต่ไม่มีอำนาจในการลงโทษ

กสทช.เป็นองค์กรที่มีความแข็งแกร่งมาก เพราะมีทั้งอำนาจนิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการอยู่ในองค์กรเดียว กล่าวคือ มีอำนาจออกประกาศ ออกระเบียบ มีอำนาจการบริหารงบประมาณของตัวเอง และมีอำนาจตัดสินกรณีต่างๆ ที่เกิดขึ้นได้ ดังนั้น ธรรมาภิบาลในการเปิดเผยข้อมูลที่เหมาะสมนั้นเป็นสิ่งที่สำคัญมาก สิ่งที่ปัจจุบันยังทำได้ไม่ดี คือ การเปิดเผยรายงานการประชุม รายงานการจัดซื้อจัดจ้าง งานวิจัยที่จ้างหน่วยงานภายนอกทำ ค่าใช้จ่ายของอนุกรรมการ ฯลฯ ซึ่งปัจจุบันได้ทักท้วงไปแล้วแต่ยังไม่มีการตอบสนองใดๆ

นอกจากนี้ กสทช.ต้องมีธรรมาภิบาลอย่างหนึ่ง คือ ต้องพูดความจริง แต่หลายครั้งกสทช.ก็ชี้แจงต่อสาธารณะไม่ตรงกับความเป็นจริง เช่น ชี้แจงว่าเป็นการทำไปตามระเบียบ แต่พอกลับไปดูระเบียบก็ปรากฏว่าไม่ได้มีอำนาจอย่างนั้น หรือชี้แจงว่าเป็นการตรวจสอบของอนุกรรมการ แต่อนุกรรมการจริงๆ ก็ไม่ได้มีอำนาจ ทั้งนี้ ไม่รู้ว่าเป็นเพราะกฎหมายเขียนไว้ไม่ดี หรือคนไม่ปฏิบัติตามกฎหมายที่เขียนไว้ โดยพยายามถ่วงให้กระบวนการตรวจสอบทำได้ช้า เพราะไม่อยากถูกวิพากษ์วิจารณ์

ประเสริฐ เล่าว่า เนื่องจากมีผู้เจตนาดีส่งข้อมูลมาให้เรา ทำให้เราพบว่า ปัจจุบันมีอุปกรณ์ใช้สอยหลายอย่างราคาสูงกว่าความเป็นจริงมาก เช่น เคยเจอไอแพดเครื่องหนึ่งราคาเจ็ด 70,000 บาท แต่ก็ยังไม่รู้ว่ามีอะไรพิเศษถึงราคาขนาดนั้น เพราะขอข้อมูลไปแล้วแต่ยังไม่ได้ข้อมูลมา

ประเสริฐ กล่าวด้วยว่า ธรรมภิบาลไม่ใช่การเปิดเผยทุกเรื่อง เพราะถ้าเช่นนั้นก็จะไม่มีเวลาทำงานกัน แต่ข้อมูลที่กฎหมายกำหนดต้องเปิดเผย จะอ้างว่าไม่มีงบประมาณนั้นไม่ได้ เพราะปัจจุบัน กสทช.มีงบประมาณเพียงพอและได้พัฒนาระบบไอที และระบบสนับสนุนต่างๆ อย่างเป็นระบบแล้ว ถ้า กสทช.เปิดเผยข้อมูลเรียบร้อยแล้วก็จะได้ไม่ต้องไปตอบคำถามต่อสาธารณะมาก  

 

 

วรินทร์ เทียมจรัส อดีตสมาชิกวุฒิสภา กล่าวว่า ธรรมาภิบาลของกสทช. และรวมถึงธรรมาภิบาลของซุปเปอร์บอร์ดด้วย คือ ต้องปฏิบัติตามกฎหมายและประมวลจริยธรรม โดยไม่ทราบว่าปัจจุบันมีประมวลจริยธรรมหรือยัง เคยมีข่าวร่ำลือว่า ก่อนหน้ามีการสรรหาผู้มาดำรงตำแหน่ง มีการให้เงินแก่สมาชิกวุฒิสภาก่อน หรือกรณีการโฆษณาแฝง ซึ่งควรจะผิดประมวลจริยธรรม แต่ก็ยังทำกัน

วรินทร์ กล่าวถึงประเด็นการพยายามออกประกาศควบคุมเนื้อหาในสื่อโทรทัศน์และวิทยุว่า อำนาจของกสทช.นั้น จริงๆ มีอยู่อย่างเดียวคือการจัดสรรคลื่นความถี่ แต่ไม่รู้ด้วยความละโมบของใครจึงไปโอนอำนาจของกรมประชาสัมพันธ์ในการบริหารสถานีโทรทัศน์มาด้วย จนไปลิดรอนสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานในการประกอบวิชาชีพของประชาชน การออกประกาศของกสทช.นั้น มีลักษณะที่พิเศษมากคือมีอำนาจนิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ อยู่ในตัวเอง เหมือนกับคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ดังนั้นเวลาจะออกกฎอะไรต้องเรียกให้ผู้มีส่วนได้เสีย ทั้งผู้ประกอบการ และผู้บริโภคเข้ามาให้ความเห็นก่อนแล้วค่อยไปจัดทำร่างประกาศ ถ้าทำแบบนี้กสทช.ก็จะไม่โดนด่า

วรินทร์ กล่าวถึงประเด็นการฟ้องหมิ่นประมาทสื่อมวลชนและนักวิชาการว่า กสทช. หรือ กทค.ควรจะกลับไปทบทวนอีกครั้ง การอ้างว่าเป็นการฟ้องโดยส่วนตัวแล้วใช้ทรัพยากรกับบุคลากรของหน่วยงานเป็นคนทำ แบบนี้ปฏิเสธไม่ออกหรอกว่าเป็นการใช้หน่วยงานไปรังแกสื่อและนักวิชาการ รอยร้าวนี้จะเชื่อมไม่ได้ง่ายๆ แน่ เป็นสิ่งที่ผิดจริยธรรมและต้องถอย ซึ่งขอเตือนว่าถ้ามีคนเอาเรื่องนี้ไปร้องปปช. คดีแบบนี้ไม่มีอายุความจะดำเนินคดีเมื่อไรก็ได้

 

ประสงค์ เลิศรัตนวิสุทธิ์ ผู้อำนวยการบริหารสถาบันอิศรา กล่าวว่า ถ้านักข่าวที่ติดตามเรื่องกสทช.มุ่งมั่นที่จะทำให้เกิดความโปร่งใสในเรื่องงบประมาณนั้นไม่ยาก หากขอข้อมูลแล้วกสทช.ไม่ให้ ก็สามารถใช้สิทธิขอข้อมูล ตามพ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของทางราชการ ได้ ซึ่งเป็นข้อมูลที่ยังไงก็ต้องเปิดเผย ส่วนเรื่องการรับของตอบแทนนั้นตามกฎของคณะกรรมการปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ปปช.) ก็คือรับได้มูลค่าไม่เกิน 3,000 บาท แต่สำหรับกสทช.นั้น มีเจ้าหน้าที่บริษัทโทรศัพท์รายใหญ่หิ้วไอโฟนเครื่องละสองหมื่นกว่าบาทไปหย่อนไว้หน้าห้องของกรรมการทุกคน ก็ไม่รู้ว่าจนถึงตอนนี้มีใครส่งคืนไปแล้วบ้างหรือว่าหายไปไหน ตามกฎหมายของปปช.ฉบับแก้ไขใหม่กรณีเช่นนี้ถือว่าเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบด้วย

ประสงค์ กล่าวถึง กรณีประกาศควบคุมเนื้อหาในสื่อโทรทัศน์และวิทยุ ที่ออกตามมาตรา 37 ของพ.ร.บ.การประกอบกิจการกระจายเสียงฯ ปี 2551 ว่า การเขียนประกาศว่าสื่อต้องนำเสนอข้อมูลเชิงประจักษ์ เที่ยงตรง รอบคอบ เป็นธรรม ไม่มีใครไปชี้ถูกชี้ผิดได้ แถมยังให้อำนาจกสทช.ในการสั่งปิดสื่อได้ เป็นการจำกัดสิทธิที่ขยายอำนาจออกมาเกินขอบเขตซึ่งน่าจะขัดรัฐธรรมนูญ

ประสงค์ ให้ความเห็นว่า เมื่อดูจากธงที่กสทช.ตั้งไว้แล้ว หลังจากไปรับฟังความคิดเห็นมาก็แทบไม่มีตรงไหนแก้ไขเลย มีแต่การย้ายเนื้อหาในหมวดสองไปอยู่ในหมวดหนึ่ง คือ การทำให้ทุกอย่างเป็นเนื้อหาต้องห้ามทั้งหมด เท่ากับกสทช.ชุดนี้ใช้อำนาจตามอำเภอใจที่นึกจะควบคุมอะไรก็ได้ แสดงให้เห็นว่ากรรมการบางคนนั้นขาดคุณสมบัติที่จะเป็นกสทช. สะท้อนว่ากระบวนการสรรหาให้ได้มาซึ่งกสทช.มีปัญหา

ประสงค์ กล่าวต่อว่า กฎหมาย กสทช.ปัจจุบัน มีลักษณะแบบจับผิด มีการออกแบบให้รัดกุมโดยมีซุปเปอร์บอร์ด และมีการตรวจสอบแบบสุดๆ แล้ว แต่ก็ยังไม่ได้ผล ถ้าจะเขียนกฎหมายให้แก้ปัญหาก็มีแต่จะต้องเขียนกฎหมายให้ซับซ้อนขึ้นเรื่อยๆ จึงต้องอาศัยการสร้างแรงกดดันจากสื่อและองค์กรต่างๆ ให้กสทช.เปิดเผยข้อมูล หรือใช้ช่องทางตามกระบวนการกฎหมายกดดันจนเปิดเผยข้อมูลให้ได้

 

ไฟล์แนบ