นักวิชาการ ถก “รัฐไม่ควรข่มขู่เสรีภาพทางวิชาการ”

จากกรณีที่สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (สำนักงาน กสทช.) พร้อมกับกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) จำนวน 4 ราย ยื่นฟ้องหมิ่นประมาท ดร.เดือนเด่น นิคมบริรักษ์ นักวิชาการทีดีอาร์ไอและสื่อมวลชน โดยการยื่นฟ้องครั้งนี้ กสทช. ถูกมองว่าในฐานะหน่วยงานของรัฐการกระทำที่เกิดขึ้นถือเป็นการปิดกั้นและคุกคามเสรีภาพทางวิชาการที่ไม่ควรจะเกิดขี้นในสังคมประชาธิปไตยที่การตรวจสอบหน่วยรัฐเป็นเรื่องสำคัญมาก
เมื่อ 12 ก.ย. 2556 ที่คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศูนย์ศึกษาเศรษฐศาสตร์การเมือง คณะเศรษฐศาสตร์ และศูนย์ศึกษานโยบายสื่อ จัดเสวนาหัวข้อ “คดีฟ้องร้องนักวิชาการกับบทบาทหน้าที่สาธารณะ” ในงานประกอบไปด้วยสื่อมวลชน และนักวิชาการหลายสาขา อาทิ นิติศาสตร์ รัฐศาสตร์ นิเทศศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ ฯลฯ เข้ามาร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยน
วงเสวนาเริ่มด้วยการแสดงความเห็นของนักวิชาการด้านกฎหมายอย่าง ศ.ดร. นันทวัฒน์ บรมานันท์ คณบดีคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดย ศ.ดร.นันทวัฒน์ กล่าวว่า ในสาขานิติศาสตร์ยังไม่พบว่ามีวิทยานิพนธ์เล่มไหนพูดถึงเสรีภาพทางวิชาการเลย ส่วนในรัฐธรรมนูญก็ระบุไว้อย่างกว้างมาก จนไม่สามารถบอกได้ว่าใครบ้างที่ได้รับความคุ้มครอง ทั้งๆ ที่เสรีภาพทางวิชาการได้รับการยอมรับมาอย่างยาวนานจนน่าจะกลายเป็นสิทธิมนุษยชนได้ แต่กลับยังไม่มีความชัดเจนและบอกไม่ได้ว่าเสรีภาพทางวิชาการคืออะไร อย่างไรดีการใช้เสรีภาพทางวิชาการก็ควรจะใช้อย่างระมัดระวัง พร้อมกับหน่วยรัฐเองก็ต้องใจกว้าง ถ้าหากนักวิชาการไม่เข้าใจหรือเข้าใจผิด หน่วยงานรัฐก็ควรชี้แจงหรือให้ข้อมูลที่ถูกต้องแก่เขา และไม่ควรเป็นปฏิปักษ์กับคนที่วิพากษ์วิจารณ์
ด้าน รศ.ดร.วีระ สมบูรณ์ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า บทบาทสาธารณะในทางวิชาการ ไม่ว่าจะมีสังกัดหรือไม่ มีหน้าที่ทำงานสาธารณะ ในกรณีที่ กทค. การฟ้องร้องจึงเป็นเพียงกลยุทธ์คุกคามการมีส่วนร่วมสาธารณะ การฟ้องร้องมีวัตถุประสงค์เพียงเพื่อเซ็นเซอร์ ขู่ให้เงียบ ผลลัพธ์จึงไม่ใช่การชนะคดี แต่สิ่งที่ต้องการคือความสำเร็จในพื้นที่สาธารณะ ซึ่งถ้ากลยุทธ์นี้ประสบความสำเร็จแล้วขยายออกไป จะทำให้คนเกิดอาการกลัวเมื่อต้องเข้าไปมีส่วนร่วมในพื้นที่สาธารณะ และการเปิดกว้างสำหรับข้อเท็จจริงจะถูกกันออกไป การถกเถียงในที่สาธารณะจะเป็นเรื่องน่ากลัว ทั้งที่จริง กทค.ควรจะต้องคุ้มครองส่งเสริมสิทธิเสรีภาพของประชาชน แต่ กทค.กลับทำในทางตรงกันข้าม
ทั้งนี้ รศ.ดร.วีระ ให้ข้อมูลเพิ่มว่า ในบางรัฐของสหรัฐอเมริกามีกฎหมายที่เรียกว่า “Anti-SLAPP Law” เพื่อการป้องกันการฟ้องร้องในประเด็นสาธารณะให้มากขึ้น โดยกฎหมายแบบนี้เรียกร้องให้การฟ้องร้องมีความละเอียดมากขึ้น กำหนดให้กระบวนการในศาลมีความรวดเร็ว และผู้ฟ้องคดีต้องออกค่าใช้จ่ายเอง
นอกจากนี้ยังมีนักวิชาการอีกหลายร่วมแสดงความคิดเห็น โดยทุกคนต่างมีความเห็นพ้องต้องกันว่า จากกรณี กทค. ฟ้องร้องนั้น เห็นว่าการกระทำของ กทค. เป็นการใช้อำนาจรัฐแบบอำนาจนิยม คือไม่มีการสื่อสาร ชี้แจง ให้ข้อมูลที่ถูกต้องแต่กับข่มขู่ด้วยการฟ้องร้องแทน ดังนั้นการให้หน่วยงานรัฐแบบนี้ทำหน้าที่ในการคุ้มครองผลประโยชน์ของประชาชนจึงเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วง เพราะการทำหน้าที่ตรวจสอบของนักวิชาการและสื่อมวลชนเป็นเรื่องที่ปกติและจำเป็นตามวิถีประชาธิปไตย