วิจัยเฮทสปีชในสื่อ รับมือด้วยการกำกับดูแลกันเอง หากไม่ถึงขั้นยุยงให้ใช้ความรุนแรง

เนื้อหาที่สร้างความเกลียดชัง หรือเฮทสปีช (Hate Speech) ในสื่อ เป็นสิ่งที่นานาประเทศให้ความสำคัญกับการกำกับดูแลมาพอสมควร ในประวัติศาสตร์โลก การปลุกระดมให้เกิดความเกลียดชังก็ส่งผลกระทบอย่างมาก ตัวอย่างเช่น โฆษณาชวนเชื่อความเกลียด (hate propaganda) ของอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ ที่นำไปสู่การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์คนเชื้อสายยิวหลายล้านคน หรือกรณีที่วิทยุของรัฐบาลรวันดานำเสนอเนื้อหาที่สร้างความเกลียดชังชาวทุตซี จนในที่สุดก็มีการกวาดล้างฆ่าชาวทุตซีจำนวนกว่าครึ่งล้าน
สำหรับประเทศไทย เริ่มให้ความสนใจเรื่องเฮทสปีชเมื่อไม่นานมานี้ หลังจากวิกฤตทางการเมืองในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา และมีการใช้ประโยชน์จากสื่อเพื่อโฆษณาชวนเชื่อ ปลูกฝังความเกลียดชังระหว่างผู้ที่มีความเห็นและอุดมการณ์ทางการเมืองที่แตกต่างกัน
ศูนย์ศึกษานโยบายสื่อ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดงานรายงานผลแผนงานวิจัย เรื่อง “การกำกับดูแลสื่อที่เผยแพร่เนื้อหาที่สร้างความเกลียดชัง” ขึ้นที่โรงแรมมณเฑียร กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2556 เพื่อเสนอผลการศึกษาสถานการณ์สื่อที่เผยแพร่เนื้อหาที่สร้างความเกลียดชังและแนวทางกำกับดูแล โดยศึกษา สื่อออนไลน์ สื่อวิทยุโทรทัศน์ และสื่อสิ่งพิมพ์ 
เฮทสปีชในสื่อออนไลน์
เริ่มด้วยการรายงานผลโครงการวิจัย “การกำกับดูแลสื่อออนไลน์ที่เผยแพร่เนื้อหาสร้างความเกลียดชัง” นำเสนอโดย ผศ.ดร.พิรงรอง รามสูต หัวหน้าโครงการ รายงานผลจากการศึกษาสื่อออนไลน์ 3 รูปแบบ คือ กระดานสนทนาออนไลน์ ได้แก่ เว็บไซต์พันทิบ (pantip.com) และเว็บไซต์เอ็มไทย (mthai.com) เว็บไซต์เครือข่ายสังคมออนไลน์ ได้แก่ www.facebook.com และเว็บไซต์แบ่งปันคลิปวีดีโอ ได้แก่ เว็บไซต์ยูทูบ พบว่าการสื่อสารความเกลียดชังที่มีวัตถุประสงค์ มีแนวโน้มสร้างความเข้าใจที่ผิดหรือมีอคติต่อกลุ่มเป้าหมาย พบในสื่อออนไลน์ประเภทกระดานสนทนา และเครือข่ายสังคมออนไลน์มากที่สุด ขณะที่ในเว็บไซต์แบ่งปันคลิปวีดีโอ มีเนื้อหาที่ยั่วยุหรือทำให้เกิดความเกลียดชังหรือสบประมาทอย่างร้ายแรงต่อกลุ่มเป้าหมายมากที่สุด ส่วนกลุ่มเป้าหมายหรือฐานความเกลียดชังในเรื่องอุดมการณ์ทางการเมือง พบมากที่สุดในพื้นที่ออนไลน์ทั้ง 3 ประเภท และวิธีสื่อสารความเกลียดชังทั้งในระดับตั้งใจแบ่งแยก กีดกัน สร้างความเป็นเขา-เราต่อกลุ่มเป้าหมาย และยั่วยุให้ใช้ความรุนแรงต่อกลุ่มเป้าหมาย พบมากที่สุดในเครือข่ายสังคมออนไลน์ ส่วนการยั่วยุให้เกิดความเกลียดชังต่อกลุ่มเป้าหมาย พบมากในเว็บไซต์กระดานข่าว
ดร.พิรงรองกล่าวว่า การกำกับดูแลแรกเริ่มเน้นให้ผู้ใช้กำกับดูแลตัวเอง ต่อมาเมื่อเว็บไซต์พัฒนาจนเป็นลักษณะชุมชนออนไลน์ก็กำกับดูแลโดยชุมชนออนไลน์นั้นๆ จนในยุคของเว็บ 2.0 ที่ให้ผู้ใช้สามารถอ่านและเขียนเองได้ทำให้การกำกับดูแลมีความยุ่งยากมากขึ้นเพราะมีผู้ใช้จำนวนมหาศาล การกำกับดูแลจึงเป็นลักษณะกำกับหลังจากเนื้อหาออกมาแล้ว ไม่ใช่การเซ็นเซอร์ก่อนเผยแพร่ นอกจากนี้ การกำกับดูแลสำหรับเว็บ 2.0 จะมีทั้งที่เป็นแบบตอบสนองจริงๆ คือ แจ้งผู้ให้บริการและผู้บริการต้องมาดูแล (Notice and Takedown) การกำกับดูแลโดยผู้ใช้ที่เป็นมวลชน เช่น การรีพอร์ตในเฟซบุค การกำกับดูแลโดยมวลชนผู้ใช้ที่อยู่บนฐานของกฎหมาย และการกำหนดภาระความรับผิดของตัวกลาง
อย่างไรก็ตาม การกำกับดูแลเนื้อหาสำหรับเว็บ 2.0 ต้องพิจารณาปัจจัยสำคัญ 3 ปัจจัย คือ ระดับความเป็นพาณิชย์ ความเป็นสาธารณะ และความเป็นส่วนตัว เนื่องจากรูปแบบการกำกับดูแลที่เหมาะสมจะขึ้นอยู่กับปัจจัยเหล่านี้เป็นสำคัญ เช่น เว็บไซต์วิกิพีเดีย (Wikipedia) มีลักษณะเป็นสาธารณะสูงและลักษณะทางพาณิชย์ต่ำ การกำกับดูแลจึงเป็นไปในลักษณะกำกับดูแลตนเองของชุมชนผู้ใช้ ที่สามารถรายงานการละเมิด ขณะที่เว็บไซต์ยูทูบที่มีลักษณะแบ่งปันเนื้อหาแต่ไม่เป็นชุมชนเหมือนวิกิพีเดีย จึงไม่ค่อยปรากฏการณ์การกำกับดูแลโดยผู้ใช้ด้วยกันเองในระดับเดียวกัน แต่หากวีดีโอที่อัพโหลดไปละเมิดลิขสิทธิ์หรือสร้างความเดือดร้อนให้ใครแล้ว ก็จะใช้วิธีแจ้งให้ทราบแล้วเอาออก (Notice and Take Down)
ส่วนข้อเสนอการกำกับดูแลในงานวิจัยนี้ ในเอกสารประกอบ หัวข้อ “กรอบในการกำกับดูแลเนื้อหาและการสื่อสารผ่านสื่อออนไลน์ที่เป็นการสร้างความเกลียดชัง” หน้า 45 ระบุว่า การกำกับดูแลเนื้อหาที่สร้างความเกลียดชังซึ่งไม่มีจุดประสงค์ชัดเจน ระดับนี้ยังไม่น่าจะต้องกำกับดูแลโดยกฎหมาย และน่าจะยังได้รับการคุ้มครองภายใต้เสรีภาพการแสดงความคิดเห็น การกำกับดูแลตนเองควรเน้นไปที่ตัวผู้ใช้ผ่านการให้ความรู้เกี่ยวกับการสร้างความเกลียดชังออนไลน์ 
ส่วนเนื้อหาที่สร้างความเกลียดชังในระดับที่โน้มน้าวให้เกลียดชัง ควรเป็นการกำกับดูแลตนเอง โดยเน้นไปที่การกำกับดูแลผ่านตัวกลางในลักษณะที่เป็นการป้องกันไว้ก่อน ได้แก่ การสอดส่องและจับตาดู การกำหนดเงื่อนไขการให้บริการเพื่อสร้างความรับผิดชอบ การให้การศึกษาและเสริมอำนาจแก่ผู้ใช้ และการแสดงความโปร่งใสตรวจสอบได้ของผู้ให้บริการ 
สำหรับเนื้อหาในระดับที่โน้มน้าวหรือยุยงให้กระทำการที่อาจเป็นการใช้ความรุนแรงอันเนื่องมาจากความเกลียดชัง ควรใช้ทั้งการกำกับดูแลตนเอง คือ สอดส่องจับตาดูเช่นเดียวกับระดับที่สอง แต่เพิ่มเติมการปิดกั้นการเข้าถึงเนื้อหา การเอาเนื้อหาออก การกลั่นกรองเนื้อหาตามกรอบของกฎหมาย และนอกจากกำกับดูแลตนเองแล้ว ความรุนแรงของเนื้อหาที่สร้างความเกลียดชังในระดับนี้ต้องใช้กฎหมายมากำกับดูแลด้วย โดยมี 2 โมเดล คือ การบัญญัติกฎหมายขึ้นมาเป็นการเฉพาะ และการใช้กฎหมายที่มีอยู่
ผศ.ดร.พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ อาจารย์ภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ความเห็นต่องานวิจัยนี้ว่า น่าจะเพิ่มเติมนิยามของเฮทสปีชในมิติที่ผูกพันกับการตัดสินทางกฎหมายด้วย เพราะคำพิพากษาของศาลเป็นการให้ความหมายที่สำคัญ ตัวอย่างเช่น คำว่า ติชมโดยสุจริต ในคดีที่นายสนธิ ลิ้มทองกุล หมิ่นประมาทอดีตนายกรัฐมนตรี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ศาลก็ตัดสินออกมาว่าเป็นการติชมโดยสุจริต ซึ่งการให้นิยามขององค์กรตุลาการมีความสำคัญ เพราะเป็นการนำมาใช้จริง
ผศ.ดร.พิชญ์กล่าวว่า สิ่งที่อยากรู้เพิ่มเติมจากการอ่านงานวิจัยคือ สังคมไทยให้ความสำคัญกับอะไร หากในอเมริกาต้องการปกป้องคนพูด ในยุโรปต้องการปกป้องคนที่ถูกพูดถึง งานวิจัยนี้น่าจะฟันธงไปเลยว่า จากการศึกษาแล้ว ในประเทศไทยให้ความสำคัญกับใคร และเป้าหมายในการกำกับดูแลคือเพื่ออะไร งานวิจัยนี้ควรมีข้อเสนอออกมาว่าการกำกับดูแลต้องเป็นอย่างไร
ปรเมศวร์ มินศิริ ผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ sanook.com ให้ความเห็นว่า บริบทมีความสำคัญมากต่อเนื้อหา คำพูดเดียวกัน แต่ต่างคนพูด ต่างกาลเทศะก็ส่งผลกระทบที่ต่างกัน ส่วนเรื่องการกำกับดูแล หากไม่ถึงขนาดพูดเพื่อให้ไปทำร้ายคนอื่น ตนเห็นว่าก็ไม่ควรกำกับดูแลโดยกฎหมาย เพราะถ้ากำกับดูแลมากไปก็บีบผู้ประกอบการในประเทศมากเกินไป คนก็จะแห่ไปใช้ของต่างประเทศ ทำให้ผู้ประกอบการในประเทศค่อยๆ ตาย อะไรที่ไม่ถึงขนาดยุยงให้คนลุกขึ้นทำร้ายกันก็น่าจะเป็นการกำกับดูแลกันเองมากกว่า
เฮทสปีชในสื่อวิทยุโทรทัศน์
ในส่วนของสื่อวิทยุโทรทัศน์ซึ่งเป็นสื่อที่มีอิทธิพลมากเช่นเดียวกัน เนื่องจากเป็นสื่อที่เข้าถึงคนทุกกลุ่มได้อย่างกว้างขวาง และในช่วงที่ผ่านมา ท่ามกลางความขัดแย้งทางการเมืองก็เกิดสื่อวิทยุโทรทัศน์ทางเลือกใหม่มากมาย การเผยแพร่เนื้อหาที่สร้างความเกลียดชังก็มากขึ้นด้วยเช่นกัน
ชนัญสรา อรนพ ณ อยุธยา หัวหน้าโครงการงวิจัย “การกำกับดูแลสื่อวิทยุและโทรทัศน์ที่เผยแพร่เนื้อหาที่สร้างความเกลียดชัง” กล่าวว่า จากการศึกษาพบว่า ความร้ายแรงของเนื้อหาสร้างความเกลียดชังในระดับที่ยั่วยุให้เกิดความเกลียดชัง พบได้มากที่สุดในรายการข่าวทั้งสื่อกระแสหลักและสื่อทางเลือกใหม่ ส่วนความร้ายแรงในระดับยั่วยุให้ใช้ความรุนแรงทำร้ายกันพบบ้างในรายการข่าวสื่อทางเลือกใหม่ทั้งวิทยุชุมชนและโทรทัศน์ดาวเทียม ส่วนรายการบันเทิงทั้งในสื่อกระแสหลักและสื่อทางเลือกใหม่พบการแบ่งแยกแบบไม่ตั้งใจมากกว่า
การเผยแพร่เนื้อหาที่สร้างความเกลียดชังมักเกิดจากความไม่รู้ ความเข้าใจผิด และความเชื่อที่ผิด ซึ่งการกำกับดูแลโดยกฎหมายอาจไม่เพียงพอ แม้จะปิดหรือเซนเซอร์ไปก็ไม่ทำให้ความไม่รู้ ความเข้าใจและความเชื่อที่ผิดหายไป จึงต้องใช้วิธีการกำกับดูแลที่ผสมผสาน คือ สื่อที่เผยแพร่เนื้อหาสร้างความเกลียดชังในระดับต้น รัฐไม่ควรเข้าไปกำกับดูแลแต่ให้เป็นการกำกับดูแลกันเอง ส่วนเนื้อหาสร้างความเกลียดชังในระดับที่รุนแรง เหมาะสมกับการกำกับดูแลในรูปแบบบังคับใช้กฎหมายโดยองค์กรกำกับดูแลสื่อวิทยุและโทรทัศน์ ขณะเดียวกันก็มีการกำกับดูแลจากสังคมด้วยว่าสังคมจะมีมาตรการอย่างไรกับสื่อที่สร้างความเกลียดชัง นอกจากการกำกับดูแลแล้วยังมีสิ่งที่ช่วยให้การกำกับดูแลดีขึ้น ได้แก่ การส่งเสริมให้รู้เท่าทันสื่อ การส่งเสริมให้มีเสียงของประชาชนที่หลากหลายมากขึ้น การพัฒนาศักยภาพบุคคลในวิชาชีพสื่อ การตอบโต้เนื้อหาสร้างความเกลียดชังโดยวิธีการที่ไม่รุนแรง และการส่งเสริมบรรทัดฐานสังคม
ส่วนข้อเสนอการกำกับดูแล ชนัญสราเสนอว่า การกำกับดูแลโดยองค์กรกำกับดูแลสื่อวิทยุและโทรทัศน์ เป็นรูปแบบที่เหมาะสมสำหรับการกำกับดูแลเนื้อหาที่สร้างความเกลียดชังในระดับที่โน้มน้าวให้กระทำการรุนแรงต่อกลุ่มเป้าหมายอันเนื่องจากความเกลียดชัง โดยในปัจจุบัน กฎหมายทั้งในระดับประเทศและนานาชาติก็ครอบคลุมการกำกับดูแลเนื้อหาที่สร้างความเกลียดชังในระดับนี้อยู่แล้ว อย่างไรก็ตาม การพิจารณาความผิด ไม่ควรพิจารณาแต่เพียงเนื้อหา แต่ควรพิจารณาบริบทแวดล้อมของเนื้อหานั้นด้วย รวมถึงพิจารณาว่าการสื่อสารความเกลียดชังนั้นเชื่อมโยงไปสู่อันตรายจากความรุนแรงโดยพลันหรือไม่ ส่วนการกำกับดูแลกันเองโดยองค์กรสื่อและองค์กรวิชาชีพสื่อก็ดี สังคมยังไม่เชื่อมั่นต่อประสิทธิภาพการกำกับดูแลนัก อีกทั้งองค์กรวิชาชีพสื่อที่แม้จะมีจำนวนมากเกือบ 300 องค์กร แต่ส่วนใหญ่ก็ยังขาดมาตรฐานและไม่ผูกโยงกับอุดมการณ์การกำกับดูแลกันเอง นอกจากนี้ ก็ไม่มีแรงจูงใจที่ทำให้บางสื่อมาเข้าร่วมกับองค์กรวิชาชีพด้วย เช่น สื่อวิทยุท้องถิ่น เพราะเขาไม่คิดว่าตนเองเป็นสื่อ แต่เป็นกลุ่มๆ หนึ่งที่ใช้สื่อเป็นเครื่องมือในการแสดงออกของกลุ่มตนเองเท่านั้น
รศ.ดร.อุบลรัตน์ ศิริยุวศักดิ์ นักวิชาการด้านสื่อสารมวลชน แสดงความคิดเห็นและข้อกังวลต่องานวิจัยนี้ว่า การนิยามความหมายของเฮทสปีชในงานวิจัยนี้ค่อนข้างนิยามอย่างกว้างๆ ถ้านำมาใช้ในสังคมไทยอาจต้องเพิ่มเติม เฉพาะที่เกิดขึ้นจากความขัดแย้งทางการเมือง การปะทะกันทางความคิดที่นำไปสู่ความรุนแรง เพราะถ้านำเสนออย่างกว้างๆ แล้ว การเขียนการ์ตูนล้อเลียนที่ทำกันปกติในสื่อก็อาจเป็นเฮทสปีชได้ มันจะกลายเป็นการเหมารวม นิยามของเฮทสปีชก็จะมีความหมายกว้างว่าฟรีสปีช (Free Speech) ก็อาจะทำให้มีการเซ็นเซอร์มากขึ้น จึงควรเจาะจงไปว่า เป็นสื่อที่สร้างความเกลียดชังในบริบทใด อีกทั้งการวิพากษ์วิจารณ์ก็เป็นไปด้วยอารมณ์มากกว่าเหตุผล ในสหรัฐอเมริกาเขายกให้ศาลเป็นคนจัดการฟ้องร้องในเรื่องนี้ แต่ในสังคมไทยมองว่าการฟ้องร้องเป็นเรื่องยุ่งยาก นอกจากนี้การศึกษามุ่งไปในเนื้อหาที่สร้างความเกลียดชังอย่างเดียว ทำให้เกิดคำถามว่า แล้วความโกรธที่เกิดขึ้นชั่วคราวไม่นานก็หาย นับอยู่ในนิยามของเฮทสปีช หรือไม่
รศ.ดร.อุบลรัตน์ ยังแสดงความกังวลว่า ข้อค้นพบในงานวิจัยที่บอกว่า สื่อกระแสหลักมีการเผยแพร่เนื้อหาสร้างความเกลียดชังน้อยกว่า เหมือนเป็นการบอกว่าสื่อกระแสหลักเรียบร้อยกว่า อธิบายได้ว่าสื่อกระแสหลักอยู่ในจารีตมานาน ส่วนสื่อทางเลือกใหม่ก็ถูกตีความเป็นสื่อที่ใช้เฮทสปีช อยากให้เจาะจงให้ชัดมากขึ้น
 เพราะสื่อทางเลือกใหม่มีการแข่งขันกันสูงจึงต้องใช้วิธีสื่อสารที่เข้มข้น เร้าอารมณ์ เพื่อช่วงชิงพื้นที่ให้อยู่ได้ ท่ามกลางกระแสความขัดแย้งทางความคิด ข้อค้นพบดังกล่าวเหมือนเป็นการบอกว่าสื่อเล็กๆ เหล่านี้ควรถูกปิด หรือไม่ต้องให้ใบอนุญาตฯ
สมชัย สุวรรณบรรณ ผู้อำนวยการองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย ให้ความเห็นว่าในสังคมประชาธิปไตยไม่ควรมีสื่อที่มีการเมืองอยู่เบื้องหลัง เพราะจะเป็นการพูดอยู่ข้างเดียว และทำให้เกิดความแตกแยกในสังคม อย่างไรก็ควรมีพื้นที่ให้ความคิดเห็นที่แตกต่าง แต่สื่อที่ทำหน้าที่นี้ต้องมีความเป็นมืออาชีพ ซึ่งปัจจุบันทั้งสื่อกระแสหลักและสื่อทางเลือกใหม่ก็ไม่ได้ปฏิบัติตามมาตรฐานความเป็นมืออาชีพ เช่น พิธีกร หรือผู้สื่อข่าว ก็เสนอความคิดเห็นลงไปในสิ่งที่นำเสนอ ทั้งที่หน้าที่ควรจะนำเสนอเพียงข้อเท็จจริง จะเห็นแบบนี้ได้มากในทีวีดาวเทียม ที่พิธีกรเป็นผู้ออกความเห็นแล้วโน้มน้าวให้ผู้ชมเชื่อตาม ซึ่งผู้ชมมักเชื่อสื่อโทรทัศน์มากกว่าสื่ออื่น เพราะมีความเป็นทางการมากกว่า ส่วนการตีความมาตรา 37 ของกสทช. ในต่างประเทศ หน่วยงานรัฐไม่มีหน้าที่เป็นผู้พิพากษา แต่เป็นหน้าที่ของศาลในการพิจารณาตัดสิน ตนเห็นว่านอกจากกสทช.และองค์กรวิชาชีพสื่อแล้ว น่าจะมีฝ่ายอื่นอีกที่จะมาสร้างกลไกกำกับดูแล อย่างเช่น ไทยพีบีเอสมีสภาผู้ชมผู้ฟัง ซึ่งเป็นตัวแทนจากผู้ชมผู้ฟังทั่วประเทศ ทำหน้าที่ตรวจสอบและเสนอแนะ กลไกนี้น่าจะช่วยการกำกับดูแลให้รอบด้านมากขึ้น ดีกว่าให้กสทช.ใช้อำนาจตามมาตรา 37 อย่างเดียว
เฮทสปีชในสื่อสิ่งพิมพ์
สื่อสิ่งพิมพ์เป็นสื่อที่อาจไม่ได้แพร่หลายในวงกว้างเท่าสื่อออนไลน์และวิทยุโทรทัศน์ อย่างไรก็ตามสื่อสิ่งพิมพ์ก็เป็นสื่อที่สร้างความเปลี่ยนแปลงในประวัติศาสตร์มาอย่างยาวนาน และในกระแสความขัดแย้งทางการเมือง ก็เกิดสื่อสิ่งพิมพ์ที่เผยแพร่เนื้อหาที่สร้างความเกลียดชังไม่น้อย
ผศ.พิจิตรา สึคาโมโต้ หัวหน้าโครงการวิจัย “การกำกับดูแลสื่อสิ่งพิมพ์ที่เผยแพร่เนื้อหาสร้างความเกลียดชัง” กล่าวถึงผลการศึกษาจากตัวอย่างสื่อสิ่งพิมพ์ 3 กลุ่ม ได้แก่ หนังสือพิมพ์รายวัน วารสารสุดสัปดาห์ และนิตยสาร พบว่า เนื้อหาที่สร้างความเกลียดชังมีการนำเสนอในสัดส่วนที่สูง โดยกระจุกตัวอยู่ในสื่อทางเลือกที่มีเป้าหมายทางการเมืองชัดเจน ส่วนกลุ่มเป้าหมายที่ถูกโจมตีมากที่สุด ได้แก่ กลุ่มเป้าหมายที่มีความแตกต่างในอุดมการณ์ทางการเมืองและขั้วอำนาจทางการเมือง พบมากในกลุ่มหนังสือพิมพ์รายวันและกลุ่มสื่อทางเลือกรายสัปดาห์ ส่วนกลุ่มนิตยสารพบเนื้อหาที่สร้างความเกลียดชังที่เน้นเรื่องเพศสภาพและเพศวิถี เท่ากับเรื่องชนชาติ เชื้อชาติ ชาติพันธุ์ และถิ่นที่อยู่ โดยใช้ภาษาในลักษณะแฝงนัยหรือประชดประชันเสียดสี ส่วนสื่อสิ่งพิมพ์รายสัปดาห์มีการแทรกสัญลักษณ์เพื่อเป็นตัวแทนสะท้อนความขัดแย้งทางการเมือง ส่วนในระดับความรุนแรงของเนื้อหา พบว่า ในหนังสือพิมพ์รายวันและสื่อสิ่งพิมพ์รายสัปดาห์มักนำเสนอเนื้อหาที่สร้างความเกลียดชังในระดับยั่วยุให้เกิดความเกลียดชังต่อกลุ่มเป้าหมาย ขณะที่นิตยสารที่เล่นประเด็นสังคมส่วนใหญ่นำเสนอเนื้อหาที่สร้างความเกลียดชังในระดับแบ่งแยกอย่างไม่ตั้งใจที่จะให้เกิดความเป็นเรา-เขา
ผศ.พิจิตรานำเสนอแนวทางในการกำกับดูแลเนื้อหาว่า ต้องเริ่มจากการตกลงร่วมกันระหว่างบริษัทสื่อสิ่งพิมพ์โดยการทำสัตยาบันร่วมในเรื่องจรรยาบรรณวิชาชีพ และให้ทุกบริษัทเข้าร่วมเป็นสมาชิกในองค์กรกำกับดูแลกันเอง ทั้งนี้ต้องดึงทุกส่วนที่ไม่ใช่รัฐเข้ามามีส่วนร่วมกำกับดูแลเนื้อหาด้วย นอกจากนี้ จำเป็นต้องมีคณะกรรมการจากองค์กรวิชาชีพเพื่อเฝ้าระวังการเผยแพร่เฮทสปีชที่อาจนำไปสู่อาชญากรรมจากความเกลียดชัง (Hate Crime) ด้วย โดยเฝ้าระวังด้วยการขอความร่วมมือจากเพื่อนสมาชิกในการหยุดการกระตุ้นเร้าและเบี่ยงประเด็น พร้อมกับปรับทัศนคติของผู้รับสารไม่ให้ไปสู่อาชญากรรมจากความเกลียดชังได้
ศ.ดร.ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ อาจารย์สาขาการเมืองการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้ความเห็นต่องานวิจัยว่า ทุกอย่างที่อยู่ในงานสิ่งพิมพ์ ไม่มีอะไรที่เกิดจากความไม่ตั้งใจ เพราะมีกระบวนการบรรณาธิการคัดเลือกก่อนแล้ว จึงถือว่าทุกอย่างที่ปรากฏบนสิ่งพิมพ์นั้นตั้งใจ ดังนั้นการแบ่งระดับความรุนแรงของเนื้อหาที่สร้างความเกลียดชังที่ว่า แบ่งแยกอย่างไม่ตั้งใจ นั้นจึงไม่สมเหตุสมผลนัก 
ในส่วนของวิธีการวิจัย ศ.ดร.ชัยวัฒน์ กล่าวว่า มีข้อสงสัยเรื่องการแบ่งกลุ่มของสื่อสิ่งพิมพ์เป็นสามกลุ่ม ซึ่งไม่เห็นเกณฑ์ว่าเหตุใดจึงแบ่งอย่างนี้ และไม่เห็นเหตุผลการจับคู่สื่อสิ่งพิมพ์ที่นำมาศึกษา เช่น ไทยรัฐกับไทยโพสต์ หรือมติชนกับเอเอสทีวี หรือคู่สร้างคู่สมกับก็อสซิปสตาร์ สามารถทำได้ แต่ต้องอธิบายให้ได้ว่าจับกลุ่มอย่างนี้เพื่อบอกอะไร ส่วนปรากฏการณ์น้ำผึ้งหยดเดียว ตามที่ผู้วิจัยยกมา โมเดลคือเฮทสปีชสร้างอคติ แล้วฝังราก เมื่อมีอะไรมากระทบอีกก็เป็นน้ำผึ้งหยดเดียวนำไปสู่อาชญากรรมจากความเกลียดชัง เป็นแนวคิดจากทฤษฎีฟางเส้นสุดท้ายที่ว่าฟางเส้นสุดท้ายไม่ได้ทำให้อูฐหลังหัก แต่คือสิ่งที่บรรทุกไว้อยู่แล้ว ซึ่งไม่มีใครในโลกบอกได้ว่าฟางเส้นสุดท้ายคืออะไร ส่วนใหญ่ไม่มีเจตนาที่จะทำให้เป็นอย่างนั้น ฟางเส้นสุดท้ายหรือน้ำผึ้งหยดเดียวเป็นสิ่งสำคัญมาก แต่ตอบไม่ได้ว่าคืออะไร เฮทสปีชอาจเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เกิดอาชญากรรม แต่ไม่ได้หมายความว่าเฮทสปีชจะนำไปสู่อาชญการรมทั้งหมด
เทพชัย หย่อง บรรณาธิการบริหารเครือเนชั่น ให้ความเห็นว่า การเลือกสื่อสิ่งพิมพ์มาศึกษาโดยใช้สื่อที่มีจุดยืนทางการเมืองชัดเจนอย่างวอยซ์ออฟทักษิณ (Voice of Taksin) หรือ เอเอสทีวีผู้จัดการ จะไม่ให้ผลการพบเฮทสปีชสูงในสื่อทั้งสองนี้ได้อย่างไร ซึ่งผลการศึกษาอาจทำให้ไม่สะท้อนภาพใหญ่ของเฮทสปีชในสื่อสิ่งพิมพ์ไทยจริงๆ เพราะสื่อทั้งสองหัวนี้มีจุดยืนชัดเจนว่าเกิดมาเพื่ออะไร จึงไม่น่านำมาศึกษาแบบเดียวกับไทยรัฐหรือไทยโพสต์ ถ้าเลือกสื่อไม่เลือกข้างที่มีฐานคนอ่านเป็นคนทั่วๆ ไป อาจจะสะท้อนความจริงได้มากกว่านี้ ซึ่งจะนำไปสู่ข้อเสนอในการกำกับดูแลกันเองที่น่าจะปฏิบัติได้จริงกว่านี้ ส่วนการศึกษาจากการสนทนากลุ่ม กลุ่มตัวอย่างนั้นอ่านสื่อเหล่านี้มากแค่ไหน มีวิจารณญาณมากพอที่จะไม่โน้มเอียงไปตามการนำเสนอของสื่อหรือไม่ นอกจากนี้ การนำเสนอเนื้อหาที่ทำให้เกิดความเกลียดชัง เป็นนโยบายของสื่อนั้นๆ หรือไม่ เพราะถ้าเป็นนโยบายของสื่อนั้นๆ แล้ว จะกำกับดูแลอย่างไรคงไม่เป็นผล