จันทจิรา เอี่ยมมยุรา : คุณค่าของเสรีภาพการชุมนุมอยู่ที่วุฒิภาวะของสังคม

ปลายปี 2555 และต้นปี 2556 มีคำพิพากษาที่น่าสนใจเกี่ยวข้องกับเสรีภาพในการชุมนุมออกมาหลายคดี เช่น คดีปีนสภาสนช. จำเลยเป็นนักเคลื่อนไหวสิบคนชุมนุมคัดค้านการออกกฎหมายของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เมื่อปลายปี 2550 ต่อมาศาลตัดสินให้จำเลยมีความผิดฐานชุมนุมมั่วสุมก่อความวุ่นวาย บุกรุกโดยใช้กำลังประทุษร้าย ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 215 และ 365 ให้รอลงอาญา คดีสลายการชุมนุมคัดค้านท่อก๊าซ ไทย-มาเลย์ กลุ่มผู้ชุมนุมคัดค้านการก่อสร้างท่อส่งก๊าซและโรงแยกก๊าซธรรมชาติ ไทย-มาเลเซีย ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจใช้กำลังเข้าสลายการชุมนุม ต่อมาผู้ชุมนุมฟ้องเรียกค่าเสียหาย ศาลปกครองสูงสุดตัดสินให้รัฐจ่าย 100,000 บาท คดีการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตร 7 ต.ค. 51 กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยชุมนุมเพื่อขับไล่รัฐบาล และถูกตำรวจสลายการชุมนุมด้วยแก๊สน้ำตา ต่อมา ผู้ชุมนุม 250 คนฟ้องเรียกค่าเสียหาย ศาลปกครองตัดสินให้รัฐจ่ายค่าเสียหายให้แก่ผู้ชุมนุมคิดเป็นราคาตามความเสียหายของแต่ละบุคคลไม่เท่ากัน
ผศ.ดร.จันทจิรา เอี่ยมมยุรา คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อธิบายความหมายและลักษณะของเสรีภาพการชุมนุม ถอดบทเรียนที่เห็นได้จากคำพิพากษาทั้งสาม ไว้ในงาน “ก้าวต่อไปเสรีภาพในการชุมนุม มองผ่านคำพิพากษา” เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2556 ที่ห้อง 222 คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ 
ผศ.ดร.จันทจิรา เอี่ยมมยุรา
ในเบื้องต้นเราทราบแล้วว่ารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย รัฐธรรมนูญของทุกประเทศ รวมทั้งหลักสากล คุ้มครองผู้ที่ใช้เสรีภาพในการชุมนุม แม้ว่าการชุมนุมนั้นจะรบกวนการใช้พื้นที่สาธารณะ ซึ่งโดยสภาพแล้วเป็นการไปรบกวนการใช้ประโยชน์หรือสิทธิของบุคคลที่สามอยู่ด้วย แต่อย่างไรก็ตาม หลักสากลเห็นความสำคัญของเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นจึงรับรองการใช้พื้นที่สาธารณะไว้ด้วย การชุมนุมในพื้นที่สาธารณะที่จะได้รับความคุ้มครอง มีหลักคือต้องชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ
ความหมายและลักษณะของการชุมนุม
“การชุมนุม” คือการที่คนตั้งแต่สองคนขึ้นไปมาชุมนุมกัน “การชุมนุมสาธารณะ” ต้องมีวัตถุประสงค์หรือจุดมุ่งหมายเดียวกันที่แน่นอนชัดเจน และคนที่มาชุมนุมต้องมีวัตถุประสงค์เดียวกันที่จะเรียกร้องหรือแสดงความคิดเห็น จึงจะทำให้การชุมนุมนั้นเป็นการกระทำร่วมกันของผู้ชุมนุมทั้งหมด
การกระทำใดที่จะถือว่าเป็นการกระทำของผู้ชุมนุมต้องเป็นเจตจำนง หรืออยู่ภายใต้วัตถุประสงค์ของคนที่มาชุมนุมกัน ดังนั้นการกระทำอะไรที่มีลักษณะเป็นส่วนตัวจึงไม่ถือว่าเป็นการกระทำของผู้ชุมนุม เช่น การก่อความรุนแรง การก่อความวุ่นวาย
ลักษณะของการชุมนุม ต้องมีระยะเวลาจำกัด แต่ไมได้แปลว่าต้องสิ้นสุดภายในกี่วัน การชุมนุมที่ยาวนานเป็นร้อยกว่าวันก็สามารถมีได้ การชุมนุมต้องมีการเตรียมการล่วงหน้า ผู้ที่ชุมนุมต้องมีการนัดหมาย นัดแนะ บอกถึงเจตจำนง และมาชุมนุมกันในเวลาที่นัดหมาย 
กิจกรรมในขณะชุมนุมที่จะถือว่าเป็นกิจกรรมร่วมกันต้องอยู่ในขอบเขตของวัตถุประสงค์ซึ่งได้แจ้งกันไว้ก่อน กิจกรรมที่อยู่ในขอบเขตของวัตถุประสงค์เท่านั้นจึงจะถือว่าเป็นกิจกรรมร่วมของผู้มาชุมนุม กรณีที่มีการปีนรั้วเข้าไปในรัฐสภาระหว่างการชุมนุมคัดค้านการออกกฎหมายของสนช. (ในคดีปีนสภาสนช.) เห็นว่าถ้าเป็นการกระทำที่อยู่ในวัตถุประสงค์คือการคัดค้านการตรากฎหมายที่ผู้ชุมนุมเห็นว่าไม่ชอบธรรมทั้งด้านกระบวนการและเนื้อหาที่ไม่เป็นประชาธิปไตย ถือว่ายังอยู่ในวัตถุประสงค์ของการชุมนุม และเป็นการกระทำที่ได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ
การชุมนุมต้องมีวัตถุประสงค์ที่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งจะทำให้การชุมนุมต่างจากความผิดฐานอั้งยี่หรือซ่องโจร การที่ไปคัดค้านว่าสนช.กำลังกระทำสิ่งที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญและระบอบประชาธิปไตยถือว่าเป็นวัตถุประสงค์ที่ชอบด้วยกฎหมาย 
ความหมายของการชุมนุม “โดยสงบ”
ความหมายของคำว่า “การชุมนุมโดยสงบ” ในที่นี้ต้องตีความอย่างกว้าง หมายความว่า การที่ผู้ชุมนุมไม่มีการใช้ความรุนแรงที่เกินกว่าเหตุ หรือเกินกว่าหลักสุจริต หรือหลักความได้สัดส่วน คำว่า “สงบ” รวมถึงการใช้เครื่องเสียงหรืออุปกรณ์กำเนิดเสียงด้วย แม้จะก่อความเดือดร้อนรำคาญให้กับผู้อยู่อาศัยหรือห้างร้านที่อยู่ใกล้บริเวณที่ชุมนุม ถ้าเป็นไปโดยสุจริตและได้สัดส่วนกับวัตถุประสงค์ของการชุมนุม ยังถือว่าเป็นการชุมนุมโดยสงบอยู่
ส่วนการชุมนุมที่ไม่ถือว่าเป็นไปโดยสงบนั้น เคยมีคำสั่งของศาลปกครองกลาง กรณีการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2551 วินิจฉัยไว้ว่าการชุมนุมของกลุ่มประชาชนมีการปิดล้อมประตูเพื่อไม่ให้สมาชิกสภาและสมาชิกวุฒิสภาเข้าไปในบริเวณสภา ฝ่ายผู้ชุมนุมใช้รั้วลวดหนาม ยางรถยนต์ราดน้ำมันขวางถนนเอาไว้ เป็นลักษณะทำให้ผู้อื่นหวาดกลัวว่าจะเกิดอันตรายแก่ชีวิต ร่างกาย เสรีภาพ จนไม่กล้าเข้าไปในสภา ซึ่งจากคำพิพากษานี้จะเห็นได้ว่าการชุมนุมโดยสงบต้องไม่มีลักษณะยุงยง ขู่เข็ญ หรือประกาศว่าจะก่ออันตรายต่อสาธารณชน ดังนั้นการชุมนุมครั้งนี้จึงไม่ใช่การชุมนุมโดยสงบอันจะได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญมาตรา 63 
แต่อย่างไรก็ตาม แม้การชุมนุมนั้นจะไม่ใช่การชุมนุมโดยสงบทำให้เจ้าหน้าที่ตำรวจมีอำนาจเข้าสลายการชุมนุม แต่ศาลก็กล่าวว่า อำนาจในการเข้าสลายการชุมนุมก็ต้องเป็นไปอย่างได้สัดส่วนด้วย หมายความว่าต้องกระทำการจากเบาไปสู่หนัก การที่ไม่มีประกาศว่าจะใช้มาตรการใดๆ ให้ผู้ชุมนุมทราบก่อนถือว่าเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายเช่นเดียวกัน
ความหมายของการชุมนุม “โดยปราศจากอาวุธ”
คำว่า “อาวุธ” มีความหมายสองประการตามประมวลกฎหมายอาญา คือ หนึ่ง สิ่งที่เป็นอาวุธโดยสภาพ เช่น มีด ปืน การชุมนุมในที่สาธารณะซึ่งทุกคนสามารถเข้าไปได้โดยไม่ต้องขออนุญาตมักจะพบอาวุธอยู่ในสถานที่ชุมนุมนั้นๆ เสมอ ในคดีการชุมนุมคัดค้านท่อก๊าซไทย-มาเลย์ ศาลปกครองสงขลาวินิจฉัยวางหลักการไว้ว่า กรณีนี้ผู้ชุมนุมมีปืน มีดสปาต้า และหนังสติ๊ก ซึ่งถือเป็นอาวุธโดยสภาพ แม้ในที่ชุมนุมนั้นจะมีอาวุธอยู่แต่เมื่อเทียบปริมาณอาวุธกับผู้ชุมนุมแล้วถือว่ามีจำนวนน้อย จึงเชื่อว่าเป็นเรื่องของเจตนาของบุคคลที่เป็นผู้พกพาอาวุธมาเอง เป็นการกระทำส่วนตัวไม่ถือว่าเป็นการระทำร่วมของผู้ชุมนุม 
สอง อาวุธโดยการใช้ คือ สิ่งที่โดยตัวมันเองไม่ใช่อาวุธ ไม่ได้มีไว้เพื่อทำอันตรายต่อบุคคล แต่ในสถานการณ์บางอย่างสิ่งเหล่านี้ก็อาจใช้เป็นอาวุธได้ ตัวอย่างเช่น ไม้คันธง กรรไกร ศาลปกครองสงขลาก็ให้ความเห็นไว้ในคดีเดียวกันว่า กรรไกร กับไม้คันธงนั้นไม่ใช่อาวุธโดยสภาพ แต่เมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าสลายการชุมนุม ผู้ชุมนุมถูกรบกวนจึงหยิบฉวยสิ่งที่อยู่ใกล้มือมาใช้ป้องกันตัวเอง เช่นนี้เป็นการกระทำเฉพาะตัวของผู้ชุมนุม ทั้งตอนที่นัดแนะมาชุมนุมก็ไม่ได้เจตนาให้เอาสิ่งเหล่านี้เป็นอาวุธ จึงไม่ใช่การชุมนุมที่มีเจตนามีอาวุธในการชุมนุม 
ขณะเดียวกันการมีอุปกรณ์บางอย่าง เช่น ไม้เบสบอล ไม้กอล์ฟ หน้ากากป้องกันควันพิษ โล่ที่ทำขึ้นมาเอง อุปกรณ์ที่มีไว้เพื่อป้องกันการบังคับใช้กฎหมายของเจ้าหน้าที่ตำรวจ หรืออุปกรณ์ป้องกันอาวุธ กฎหมายของเยอรมันถือว่าผิดกฎหมาย เป็นการชุมนุมที่มีอาวุธ เพราะศาลพิจารณาว่าการชุมนุมที่มีอุปกรณ์เหล่านี้ส่อให้เห็นว่ามีเจตนาจะใช้เพื่อตอบโต้เจ้าหน้าที่ตำรวจ แสดงว่าการชุมนุมมีแนวโน้มจะกระทบต่อความสงบเรียบร้อยหรือเป็นอันตรายต่อส่วนรวม รวมทั้งการชุมนุมที่มีการ์ด หรือหน่วยรักษาความปลอดภัยมากๆ ในที่ชุมนุมก็ถือเป็นการชุมนุมที่มีอาวุธเช่นกัน
เสรีภาพตาม “รัฐธรรมนูญ” vs “พระราชบัญญัติ” สังคมไทยชั่งน้ำหนักคุณค่าอย่างไร
การชุมนุมที่อยู่ในขอบเขต “สงบ” และ “ปราศจากอาวุธ” รัฐธรรมนูญคุ้มครองเสมอ เมื่อรัฐธรรมนูญให้ความคุ้มครอง ในบางกรณีที่การชุมนุมนั้นผิดกฎหมายของบ้านเมืองบ้าง เช่น พ.ร.บ.จราจร ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 215, 216 ความผิดฐานบุกรุกสถานที่ราชการ เรื่องนี้ท้าทายพัฒนาการทางวุฒิภาวะของสังคมที่จะเรียนรู้เสรีภาพในการชุมนุมซึ่งเป็นเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชน โดยเฉพาะคนเล็กคนน้อยที่ไม่มีความสามารถในการต่อรองกับผู้มีอำนาจ
เมื่อการชุมนุมนั้นเป็นเป็นช่องทาง หรือเป็นวิถีในการแสดงความคิดเห็นที่สำคัญของประชาชน ผู้ที่บังคับใช้กฎหมายโดยเฉพาะอย่างยิ่งองค์กรตุลาการจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องชั่งน้ำหนักคุณค่าของเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ กับคุณค่าที่กฎหมายระดับพระราชบัญญัติมุ่งคุ้มครอง และต้องสร้างความสมดุลว่าคุณค่าใดเป็นสิ่งที่จะต้องรักษาไว้มากกว่ากัน 
โดยธรรมชาติของเสรีภาพในการชุมนุม เป็นเสรีภาพที่จะสร้างความเดือดร้อนหรือรบกวนเสรีภาพของคนอื่นอยู่แล้ว ไม่มีการชุมนุมใดที่ต้องการผลหรือต้องการให้ข้อเรียกร้องประสบความเสร็จแล้วไม่รบกวนคนอื่น ในบางกรณีการชุมนุมนั้นจะทำลายหรือฝ่าฝืนกฎหมายบางอย่างด้วย สิ่งที่สังคมไทยยังต้องพัฒนาต่อไปคือการชั่งน้ำหนักของคุณค่า
ประเด็นในคดีสนช.
ถ้าการเข้าไปคัดค้านการตรากฎหมายของสนช. โดยบริบทของเรื่องมีน้ำหนักเพียงพอ ศาลควรพิจารณาคุณค่าในทางรัฐธรรมนูญมากกว่าคุณค่าของกฎหมายระดับพระราชบัญญัติ องค์กรตุลาการต้องพิจารณาให้มากถึงบริบทของการชุมนุม 
แต่ในบริบทของคดีปีนสภาสนช. ยังมีอีกปัญหาหนึ่งที่เป็นปัญหาใหญ่ของระบบกฎหมายไทย คือ การยอมรับอำนาจของการรัฐประหาร ในระบบกฎหมายของเรานักกฎหมายยังมีทัศนะที่ยอมรับอำนาจที่มาจากการรัฐประหารอยู่มาก ซึ่งสนช.ก็มาจากการแต่งตั้งของคณะรัฐประหาร และการพิจารณากฎหมายของสนช.ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญและไม่ชอบด้วยระบอบประชาธิปไตยอยู่หลายประการทั้งในเชิงรูปแบบและในเชิงเนื้อหา 
จำเลยในคดีปีนสภาสนช.ทั้งสิบคนแสดงออกชัดเจนว่าชุมนุมโดยมีวัตถุประสงค์อย่างไร และก็ชี้แจงด้วยพยานหลักฐานต่างๆ ว่าได้พยายามโต้แย้งความไม่ชอบธรรมของสนช. และผู้ชุมนุมเห็นว่ากฎหมายที่สนช.จะออกนั้นกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชนอย่างสำคัญในอนาคต และได้ใช้มาตรการต่างๆ เพื่อโต้แย้งคัดค้านแล้วแต่ทุกมาตรการไม่เป็นผล จึงเป็นเหตุให้ผู้ชุมนุมตัดสินใจกระทำการบางอย่างที่สุ่มเสี่ยงต่อการผิดกฎหมายอาญา คือการปีนรั้วรัฐสภาเข้าไป และเอาโซ่ไปล่ามประตูรั้วรัฐสภา
สิ่งนี้เป็นสิ่งที่ท้าทายวุฒิภาวะของสังคมไทยอย่างมาก นักกฎหมายต้องชั่งน้ำหนักว่าในบริบทของสังคมแต่ละช่วงเวลาเราต้องให้คุณค่ากับเรื่องอะไรมากกว่ากัน เพื่อให้สังคมไทยก้าวผ่านไปได้อย่างสันติ