การทรมาน: ชดเชย แต่ไม่ป้องกัน

ปรีชาญา เลิศวิเศษปัญญา
โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw)
"This is a day on which we pay our respects to those who have endured the unimaginable. This is an occasion for the world to speak up against the unspeakable. It is long overdue that a day be dedicated to remembering and supporting the many victims and survivors of torture around the world."
— Former United Nations Secretary-General Kofi Annan
วันที่ 26 มิถุนายนของทุกปี ถูกกำหนดให้เป็นวันช่วยเหลือเหยื่อจากการทรมานสากล เพื่อต่อต้านการทรมาน และช่วยเหลือเหยื่อจากทั่วมุมโลก เนื่องจากการทรมานไม่ใช่เป็นเพียงการทำร้ายร่างกายเท่านั้น หากแต่เป็นการกระทำอย่างใดๆ โดยเจ้าหน้าที่รัฐที่อันส่งผลกระทบต่อบุคลิกลักษณะของบุคคล (personality) โดยทิ้งร่องรอยความเสียหายไว้ ไม่ว่าทางกายหรือจิตใจ ญาติของเหยื่อจากการทรมานมักต้องเผชิญกับอารมณ์ที่แปรปรวนและสภาพจิตใจที่ไม่มั่นคง ตัวเหยื่อเองจะมีอาการของโรคซึมเศร้า หดหู่ ขาดความพึงพอใจ เบื่ออาหาร อ่อนเพลียและขาดพลัง รู้สึกไร้ค่า มีความคิดฆ่าตัวตายหรือพยายามฆ่าตัวตาย การรู้สึกเหมือนตกอยู่ในเหตุการณ์ร้ายแรงนั้นอีก อีกหลายๆ ราย รู้สึกโกรธแค้นต่อเจ้าหน้าที่รัฐ ไม่เชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมเนื่องจากผู้กระทำความผิดไม่เคยได้รับโทษ
ประเทศไทยยังไม่มีฐานความผิดที่มารองรับต่อการกระทำทรมาน มีหลายองค์กรพยายามผลักดันให้แก้ไขกฎหมาย ซึ่งประเด็นที่ต้องตระหนักคือ จะเขียนนิยามคำว่า “การทรมาน” อย่างไรเพื่อให้บังคับใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ไม่เขียนฐานความผิดไว้แคบจนไม่ครอบคลุมการทรมานบางประเภท หรือไม่เขียนนิยามไว้กว้างจนรวมการกระทำอื่นที่ไม่ได้ร้ายแรงถึงขนาดการทรมานเข้าไปอยู่ในนิยามด้วย
ทั้งนี้ นิยามของการทรมานต้องสอดคลองกับกฎหมายระหว่างประเทศซึ่งไทยร่วมลงนามไว้ การทรมานต้องมีลักษณะพิเศษที่แยกออกมาจากความผิดอาญาอื่นๆ อย่างชัดเจน โดยองค์ประกอบหลักสองประการที่ต้องมี คือ ผู้กระทำมีเจตนาพิเศษ และผลของการกระทำนั้นก่อให้เกิดความเสียหายต่อร่างกายหรือจิตใจอย่างสาหัส ซึ่งคำว่า “จิตใจ” ในที่นี้ไม่ได้หมายถึงความรู้สึกของเหยื่อ หากแต่หมายถึงการทำงานของสมองที่อาจผิดปกติไป โดยการจะวินิจฉัยว่าผลที่เหยื่อได้รับนั้นสาหัสหรือไม่ ต้องพิจารณาจากหลายๆ ปัจจัยประกอบกัน เช่น ระยะเวลาของการกระทำ เพศ อายุ และภาวะทางสุขภาพของเหยื่อเอง 
การทรมานในประเทศไทย
การทำร้ายร่างกายซึ่งอาจนำไปสู่การทรมาน มักเป็นวิธีที่เจ้าหน้าที่นำมาใช้เพื่อบังคับให้ผู้ถูกควบคุมตัวสารภาพหรือให้ข้อมูล วิธีการที่พบบ่อย เช่น การทำให้ขาดอากาศหายใจโดยการใช้ถุงดำครอบที่ศีรษะ บีบคอ กดทับด้วยหมอน กดหัวลงในน้ำ เชือกรัดคอ เตะ ต่อย ทุบ ตีที่ท้อง ตีด้วยไม้ที่ห่อด้วยผ้า จับศีรษะโขกกับกำแพง ซึ่งการกระทำเหล่านี้ อาจทิ้งร่องรอยบาดแผลให้เห็นอย่างชัดเจนตามร่างกาย 
หรือในบางกรณี เจ้าหน้าที่อาจจะใช้วิธีการที่ไม่ทิ้งร่องรอยอะไรไว้เลย เช่น อยู่ในห้องที่มีอุณหภูมิต่ำหรือสูง หรือที่สว่างหรือมืดตลอดเวลา การข่มขู่ว่าจะทำร้ายผู้ที่ถูกควบคุมตัวและบุคคลในครอบครัว การให้ดื่มและฉีดสารบางอย่างเข้าสู่ร่างกาย ทำให้ไม่รู้สึกตัวหรือสูญเสียการควบคุมตัว ซึ่งสิ่งเหล่านี้ คือ การกระทำที่อาจเข้าข่ายเป็นการทรมานได้หากส่งผลกระทบต่อจิตใจของเหยื่อในระยะยาว 
ปัจจุบัน เรื่องร้องเรียนการทรมานส่วนใหญ่จะมาจากพื้นที่ที่อยู่ภายใต้การบังคับใช้ของกฎหมายพิเศษ เช่น พระราชบัญญัติกฎอัยการศึก (กฎอัยการศึก) และพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน (พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ) ที่ให้อำนาจเจ้าหน้าที่รัฐควบคุมตัวผู้ต้องสงสัยเพื่อซักถาม โดยไม่มีมาตรการที่มีประสิทธิภาพที่จะตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายของการควบคุมตัว
จริงอยู่ที่กฎหมายไทยมีช่องทางตามมาตรา 90 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ที่ให้บุคคลมีสิทธิร้องต่อศาลเพื่อไต่สวนการควบคุมตัว ถ้าผู้ควบคุมตัวพิสูจน์ไม่ได้ว่าเป็นการควบคุมตัวที่ชอบด้วยกฎหมาย ศาลมีอำนาจสั่งให้ปล่อยตัวได้ทันที ที่ผ่านมาศาลเคยมีคำสั่งให้ปล่อยโดยเห็นว่าเป็นการควบคุมตัวที่เกินความจำเป็น เนื่องจากไม่มีการซักถามผู้ถูกควบคุมระหว่างคุมขัง แต่ส่วนใหญ่ เจ้าหน้าที่จะปล่อยตัวผู้ถูกควบคุมก่อนที่มีการไต่สวน และศาลเองมักไม่ได้ติดใจที่จะไต่สวนว่าเป็นการควบคุมตัวที่ไม่ชอบจริงหรือไม่ 
ภาพจาก mendhakภาพห้องทรมาน จากเรือนจำตวลสเลง ที่พนมเปญ ประเทศกัมพูชา 
แท่งโลหะที่เห็นวางอยู่บนเตียงไว้ใช้บิดแขน ขา หรือหักนิ้ว ส่วนกล่องที่เห็นอยู่กลางเตียงนั้น คือแบตเตอรี่ที่ใช้จี้ไฟฟ้าแก่ผู้ถูกควบคุมตัว
การเยียวยาและป้องกัน
ที่ผ่านมาถือว่ามีการเยียวยาเหยื่อหรือญาติของเหยื่อที่ได้รับผลกระทบเป็นตัวเงินแล้ว โดยฝ่ายตุลาการและฝ่ายปกครอง แต่ยังไม่ถือว่าเป็นการเยียวยาที่มีประสิทธิภาพ เพราะการเยียวยาที่แท้จริงจะต้องรวมถึงการชดใช้คืนเพื่อให้กลับคืนสู่สภาพเดิม การฟื้นฟูสภาพดูแลรักษาร่างกายกายและจิตใจ สิทธิที่จะได้เข้าถึงความจริง และที่สำคัญ การประกันว่าการทรมานจะไม่เกิดซ้ำอีก สิ่งหนึ่งที่รัฐทำได้ คือ การดำเนินการป้องกันทั้งก่อนและหลังความผิดเกิด
การป้องกันการทรมานโดยรัฐ อาจทำได้โดยกำหนดมาตรการต่างๆ เช่น การกำหนดให้ผู้ถูกควบคุมตัวมีสิทธิในการพบทนาย สิทธิในการพบญาติ การตรวจสุขภาพ มีการตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายของการควบคุมตัวโดยองค์กรอิสระอื่น แต่ข้อเท็จจริงที่เป็นอยู่ ไม่ใช่ทุกกรณีที่ผู้ถูกควบคุมตัวจะได้รับสิทธิเหล่านั้น และภายใต้การบังคับใช้กฎหมายพิเศษ สิทธิ ขั้นพื้นฐานเหล่านั้นก็ถูกยกเว้นไป
สิ่งที่อาจทำได้เพิ่มเติมเพื่อเป็นกลไกป้องกันการทรมาน คือ การกำหนดมาตรการทางกฎหมายที่ใช้ป้องกันไม่ให้เจ้าหน้าที่รัฐกระทำผิดซ้ำอีก เช่น ทำให้กลไกการร้องเรียนมีประสิทธิภาพ ต้องมีการดำเนินการสืบสวนสอบสวน การเก็บและศึกษาข้อมูลการทรมานที่เคยเกิดขึ้น การตั้งข้อหา การดำเนินคดี และการลงโทษผู้กระทำความผิด
แม้ภายใต้กฎหมายพิเศษ มีถ้อยคำที่ให้นัยยะว่า เจ้าหน้าที่ไม่ต้องรับผิดต่อการปฏิบัติหน้าที่เช่น มาตรา 16 แห่งกฎอัยการศึกกล่าวว่า “ความเสียหายที่เกิดขึ้นอย่างหนึ่งอย่างใด…. จะร้องขอค่าเสียหายหรือค่าปรับอย่างหนึ่งอย่างใดแก่เจ้าหน้าที่ทหารไม่ได้เลย” หรือ มาตรา 17 แห่ง พ.ร.ก. ฉุกเฉินที่เขียนไว้ว่า “พนักงานเจ้าหน้าที่และผู้มีอำนาจหน้าที่เช่นเดียวกับพนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชกำหนดนี้ไม่ต้องรับผิดในทางแพ่ง ทางอาญา หรือทางวินัย…” 
แต่ในคดีแดงหมายเลขที่ 235/2554 ศาลปกครองสงขลาระบุว่า มาตรา 16 บัญญัติคุ้มครองการดำเนินการของเจ้าหน้าที่ตามมาตรา 8-15 ที่ให้อำนาจเจ้าหน้าที่ เช่น ตรวจค้น เกณฑ์พล ยึด ขับไส เคอร์ฟิว ห้ามชุมนุม ห้ามใช่สื่อ ฯลฯ แต่ไม่ได้ครอบคลุมการใช้อำนาจตามมาตรา 15 ทวิ ในอันที่จะกักตัวบุคคลไว้เพื่อซักถาม เมื่อเจ้าหน้าที่ใช้อำนาจตามมาตรา 15 ทวิและกระทำการอันไม่ชอบด้วยกฎหมาย กรณีจึงไม่ได้รับการยกเว้นความรับผิด
นอกจากนี้ ในคดีแดงหมายเลขแดงที่ 14/2555 ศาลปกครองสงขลาได้ย้ำเรื่องการยกเว้นความรับผิดตามมาตรา 16 ไว้ว่า “บทบัญญัติดังกล่าวเพียงคุ้มครองเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารที่ได้ใช้อำนาจไปโดยชอบด้วยกฎหมายเท่านั้น มิได้หมายความว่า หากเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารได้ใช้อำนาจไปโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายและเป็นการละเมิดต่อบุคคลอื่นแล้วจะไม่ต้องรับผิดแต่อย่างใดไม่” 
พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ  ก็มี มาตรา 17 ซึ่งเป็นบทคุ้มครองเจ้าหน้าที่เช่นกัน แม้ไม่เคยมีตัวอย่างการตีความโดยศาลไว้อย่างชัดเจน แต่น่าจะพิจารณาไปในทางเดียวกัน เนื่องจากเป็นเรื่องการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่รัฐ และตอนท้ายของมาตรา 17 กำหนดให้ไม่ต้องรับผิดเฉพาะ “เป็นการกระทำที่สุจริต ไม่เลือกปฏิบัติ และไม่เกินสมควรแก่เหตุหรือไม่เกินกว่ากรณีจำเป็น…”  ดังนั้น หากเจ้าหน้าที่ทรมานผู้ที่ถูกควบคุมตัว การควบคุมตัวดังกล่าวย่อมเป็นการควบคุมตัวที่ไม่ชอบ และเจ้าหน้าที่ผู้นั้นต้องรับผิดทั้งในทางแพ่งและทางอาญา จะอ้างว่าผู้เสียหายไม่สิทธิฟ้องคดีไม่ได้ 
หลายภาคส่วนพยายามแก้กฎหมายเพื่อทำให้การทรมานเป็นความผิดอาญา ฝ่ายหนึ่งที่กำลังเดินหน้าเพื่อยกร่างกฎหมายนี้ คือ คณะอนุกรรมาธิการ ในคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร ร่างกฎหมายดังกล่าวอยู่ในระหว่างการแก้ไขปรับปรุง 
ข้อเสนอจากหลายส่วน เห็นว่า การเขียนฐานความผิดการทรมานลงในกฎหมายไทย ทำได้สองทางเลือก คือ การแก้ประมวลกฎหมายอาญา และ การร่างเป็นพระราชบัญญัติ โดยฝ่ายที่เห็นว่าควรแก้ประมวลกฎหมายอาญา เห็นว่าจะทำให้การบังคับใช้กฎหมายสะดวกขึ้น และถ้าหากร่างเป็น พ.ร.บ. การทรมานแยกออกมาต่างหากแล้ว อาจเป็นกฎหมายที่เกี่ยวกับการเงิน เนื่องจากมีข้อเสนอให้ตั้งคณะกรรมการอิสระ ซึ่งจะทำให้สภาพิจารณาผ่านกฎหมายยากขึ้น ฝ่ายที่เห็นว่าควรมี พ.ร.บ. การทรมาน แยกออกมาต่างหากเห็นว่า การแก้กฎหมายจะครอบคลุมและสอดคล้องกับกฎหมายระหว่างประเทศมากกว่า 
อย่างไรก็ดี นอกจากข้อถกเถียงเรื่องรูปแบบการแก้ไขกฎหมายแล้ว สิ่งต้องควรคำนึงคือ จะป้องกันการทรมานอย่างไร
การต่อต้านการทรมานและการเยียวยาเหยื่ออย่างมีประสิทธิภาพเป็นหน้าที่โดยตรงของรัฐที่ต้องดำเนินการ เมื่อมีการทรมานเกิดขึ้นแล้ว ความเสียหายไม่ได้หยุดที่ตัวเหยื่อหรือครอบครัวของเหยื่อเท่านั้น แต่เป็นความเสียหายต่อรัฐด้วย การที่รัฐใช้อำนาจที่มีอยู่โดยไม่ชอบ จะทำลายความไว้วางใจที่ประชาชนมีต่อระบบกฎหมายที่ใช้ปกครอง เมื่อความไว้วางใจไม่มีอยู่แล้ว ประชาชนย่อมหันไปพึ่งกลไกนอกระบบอย่างอื่นที่ไม่อยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐ และไม่ใช่เรื่องง่ายที่รัฐจะเรียกความเชื่อมั่นจากประชาชนกลับมาเหมือนเดิม