ครก.112 แถลงโต้ประธานสภาฯ ม.112 เป็นเรื่องสิทธิเสรีภาพของปชช.

ครก.112 เตรียมส่งหนังสือโต้แย้งคำสั่งประธานรัฐสภา ชี้ม.112 เกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพ การเสนอแก้ไขกฎหมายหมิ่นกษัตริย์ฯ ไม่ใช่เปิดให้แสดงความเห็นตามอำเภอใจ แต่เพื่อรักษาสถานะกษัตริย์ พร้อมอุทธรณ์คำสั่ง ให้รัฐสภารับคำข้อเสนอเพื่อแก้ไขมาตรา 112 ของประชาชน

17 ก.พ. 56 เวลา 13.00 น. คณะรณรงค์แก้ไขมาตรา 112 (ครก.112) นำโดย ผศ.ดร.ยุกติ มุกดาวิจิตร อาจารย์คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และนายวาด รวี จากคณะนักเขียนแสงสำนึก แถลงข่าวเกี่ยวกับความเคลื่อนไหว กรณีรัฐสภาปัดตก ร่างพรบ.ฉบับแก้ไข ม.112 ณ ห้องประชุมอนุสรณ์สถาน 14 ตุลา

ทั้งนี้ หลังจากเมื่อวันที่ 29 พ.ค. 55 ครก.112 นำรายชื่อประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งรวม 30,383 คน ยื่นต่อประธานรัฐสภาเพื่อให้รัฐสภาพิจารณาร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ. … (ฉบับที่…) (ร่างแก้ไขมาตรา 112 ตามข้อเสนอคณะนิติราษฎร์) และต่อมาเมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 55 นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภามีคำสั่งไม่รับร่างกฎหมายฉบับนี้ไว้พิจารณา เพราะเห็นว่าไม่ใช่กฎหมายตามรัฐธรรมนูญ หมวด 3 ว่าด้วยสิทธิเสรีภาพของประชาชน หรือหมวด 5 ว่าด้วยแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ ประชาชนจึงไม่มีสิทธิเสนอ

ครก.112 จึงทำหนังสือคัดค้านคำสั่งไม่รับร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา ยื่นอุทธรณ์ต่อประธานรัฐสภาอย่างเป็นทางการ ในหนังสือลงวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2556  เพื่อให้ประธานรัฐสภาทบทวนคำสั่งแล้ววินิจฉัยใหม่ โดยแสดงเหตุผลหลายประการ

มาตรา 112 เกี่ยวข้องโดยตรงกับเรื่องสิทธิเสรีภาพของชนชาวไทย
ผศ.ดร.ยุกติ มุกดาวิจิตร กล่าวว่า ไม่ได้หมายความว่าเมื่อกฎหมายใดเกี่ยวข้องกับพระมหากษัตริย์แล้ว จะไม่เป็นเรื่องของสิทธิเสรีภาพของชนชาวไทย ทั้งนี้ ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ที่เสนอต่อประธานรัฐสภานั้น เป็นกฎหมายในหมวด 3 สิทธิและเสรีภาพของชนชาวไทย เพราะประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ใช้จำกัดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การกำหนดโทษจำคุกตั้งแต่ 3 ปี ถึง 15 ปี ก็เป็นการจำกัดสิทธิและเสรีภาพในชีวิตและร่างกาย

นอกจากนี้ ยังเห็นได้ว่า อัตราโทษของความผิดตามบทบัญญัติในมาตรา 112 ไม่ได้สัดส่วนกับการกระทำอันเป็นความผิด จึงขัดหรือแย้งกับหลักความพอสมควรแก่เหตุหรือหลักสัดส่วนซึ่งบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญฯ มาตรา 29 อีกทั้งในแง่การบังคับใช้ ก็ยังพบว่าคดีมาตรา 112 เป็นคดีที่ผู้ต้องหามีโอกาสได้รับการประกันตัวน้อยกว่าคดีอื่นๆ เป็นกฎหมายที่ถูกนำไปใช้กลั่นแกล้งทางการเมือง ไม่ได้นำกฎหมายไปใช้เพื่อปกป้องสถาบันกษัตริย์อย่างแท้จริง ครก.112 จึงเห็นว่าร่างแก้ไขมาตรา 112 น่าจะแก้ปัญหาได้ และมีเนื้อหาที่เข้ากับหมวด 3 แห่งรัฐธรรมนูญว่าด้วยสิทธิเสรีภาพของประชาชน

การแก้มาตรา 112 ไม่ใช่การแก้ไขเพื่อให้คนละเมิดกษัตริย์อย่างเสรี
ผศ.ดร.ยุกติ กล่าวว่า ที่ประธานรัฐสภาระบุเหตุผลว่าการแก้ไขกฎหมายจะทำให้เกิดการละเมิดสถาบันกษัตริย์นั้น ที่จริงแล้วร่างข้อเสนอแก้ไขมาตรา 112 ของครก. 112 ไม่ได้แปลว่าประชาชนจะละเมิดหรือวิพากษ์วิจารณ์กษัตริย์ได้โดยไม่มีความผิด การแก้มาตรา 112 ไม่ใช่การแก้ไขเพื่อให้คนละเมิดกษัตริย์อย่างเสรี

ครก.ชี้แจงเหตุผลในหนังสืออุทธรณ์ ระบุว่า การที่ประธานรัฐสภาให้เหตุผลว่า การแสดงความคิดเห็นของบุคคลตามรัฐธรรมนูญฯ มาตรา 45 ต้องอยู่ภายใต้มาตรา 8 รัฐธรรมนูญ ที่บัญญัติว่า องค์พระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ จึงเป็นหน้าที่ของรัฐในการป้องกันไม่ให้มีการกระทำอันเป็นการละเมิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ การกล่าวเช่นนี้มีปัญหาความไม่เชื่อมโยงกันของเหตุผล เพราะข้อเสนอแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญาครั้งนี้มิได้มีจุดมุ่งหมายเพื่อให้มีการแสดงความคิดเห็นล่วงละเมิดองค์พระมหากษัตริย์ได้อย่างเสรี แต่การแก้ไขปรับปรุงบทบัญญัติดังกล่าวนั้น ก็เพื่อให้สถาบันพระมหากษัตริย์ดำรงอยู่ได้โดยสอดคล้องกับหลักประชาธิปไตย

กระบวนการวินิจฉัยของประธานสภาไม่ชอบธรรม
ครก. 112 ยังเห็นว่า คำวินิจฉัยไม่รับเรื่องไว้พิจารณาของประธานรัฐสภาโดยมิได้เรียกผู้เสนอกฎหมายเข้าไปชี้แจงเหตุผลอย่างเต็มที่ เป็นการออกคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ตามมาตรา 30 แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539
นายวาด รวี จากคณะนักเขียนแสงสำนึก ในฐานะตัวแทนครก. 112 กล่าวว่า ทางครก. 112 ได้อุทธรณ์เพื่อให้ประธานสภาได้วินิจฉัยอีกครั้ง ถ้ายังยืนยันความเห็นเดิม ประธานรัฐสภาต้องดำเนินการให้ถูกต้องตามพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 ซึ่งหมายความว่า ประธานรัฐสภาต้องเรียกให้ตัวแทนผู้ยื่นหนังสือเข้าพบ และมีโอกาสโต้แย้งแสดงเหตุผลของตนเองอย่างเต็มที่ ก่อนที่จะปัดตกหนังสือของประชาชน

ทั้งนี้ ในหนังสือคัดค้านคำสั่งประธานรัฐสภาดังกล่าว ลงนามโดยผู้แทนการเข้าชื่อกฎหมาย ทั้ง 6 คน อันได้แก่ ศาสตราจารย์พิเศษ ดร. ชาญวิทย์ เกษตรศิริ, ศาสตราจารย์ ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์, รองศาสตราจารย์ ดร.พวงทอง ภวัครพันธุ์, รองศาสตราจารย์ ดร.วรเจตน์ ภาคีรัตน์, ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ยุกติ มุกดาวิจิตร, นายรวี สิริอิสระนันท์ (วาด รวี) ในท้ายหนังสืออุทธรณ์ คณะครก. 112 ยังเรียกร้องให้ประธานรัฐสภาเร่งนำร่างพระราชบัญญัติแก้ไขมาตรา 112 ให้สภาพิจารณาต่อไปโดยเร็ว

สำหรับกิจกรรมอื่นๆ ของครก. 112 หลังจากนี้ จะมีกิจกรรมทางวิชาการ ที่นำคำพิพากษาในคดีเกี่ยวกับมาตรา 112 มาวิเคราะห์ ซึ่งจะจัดขึ้นราวปลายเดือนมีนาคมนี้

ไฟล์แนบ