เก็บตกกลุ่มแนวร่วม29มกราฯ ดันร่างรัฐธรรมนูญนิรโทษกรรม ของนิติราษฎร์

นับตั้งแต่การรัฐประหารปี2549เป็นต้นมาสังคมไทยเข้าสู่ภาวะขัดแย้ง ความแตกต่างในอุดมการณ์ทางการเมืองได้นำสู่การแบ่งสีและการชุมนุมทางการเมืองเพื่อแสดงพลังทั้งสนับสนุนและต่อต้านรัฐบาลอย่างต่อเนื่อง

ปี2552การชุมนุมใหญ่ของคนเสื้อแดงจบลงด้วยการสลายการชุมนุมทำให้มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตจำนวนไม่น้อย ปี2553 กลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ชุมนุมใหญ่เรียกร้องให้รัฐบาลของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะประกาศยุบสภา แต่ข้อเรียกร้องดังกล่าวไม่ได้รับการตอบสนองจนท้ายที่สุดรัฐบาลให้ทหารทำการ “ขอพื้นที่คืน” จนเกิดการปะทะและมีผู้บาดเจ็บล้มตายจำนวนมาก

นอกจากความขัดแย้งดังกล่าวจะทำให้มีผู้บาดเจ็บและผู้เสียชีวิตแล้วผู้ที่ได้รับผลกระทบอีกกลุ่มหนึ่งที่ไม่อาจละเลยได้คือผู้ที่ถูกจับกุมหรือถูกดำเนินคดีเนื่องจากการกระทำหรือการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง

นับตั้งแต่การรัฐประหาร 19กันยายน2549 คนจำนวนมากต้องสูญสิ้นอิสรภาพและถูกจองจำเพราะการกระทำทางการเมือง ผู้ได้รับผลกระทบอาจแบ่งออกเป็น3ประเภท 1.ผู้ที่ถูกจับกุมเพราะละเมิดกฎหมายพิเศษด้านความมั่นคง เช่น ชุมนุมฝ่าฝืน พ.ร.ก. ฉุกเฉิน, พ.ร.บ. ความมั่นคง เป็นต้น  2.ผู้ที่กระทำความผิดทางอาญาระหว่างการชุมนุม 3.ผู้ที่ไม่ได้เข้าร่วมชุมนุมแต่กระทำความผิดเพราะมีเหตุจูงใจทางการเมือง

การที่คนจำนวนมากถูกคุมขังเพราะการกระทำทางการเมืองทำให้เป็นการยากมากขึ้นที่จะผสานรอยร้าวในสังคม ทำให้กลุ่มต่างๆในสังคมทั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร อดีตผู้นำคณะรัฐประหาร นักวิชาการ และนักกิจกรรมทางสังคมเสนอให้ใช้มาตรการทางกฎหมายในการผสานรอยร้าวในสังคม

 

ที่มาภาพ แนวหน้า

13 มกราคม 2556 คณาจารย์กลุ่มนิติราษฎร์ ซึ่งเป็นกลุ่มอาจารย์จากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นำเสนอ “ร่างรัฐธรรมนูญว่าด้วยนิรโทษกรรมและการขจัดความขัดแย้ง” เนื้อหาหลักของร่างแบ่งเป็นสองส่วน ส่วนแรกคือการนิรโทษกรรมผู้มาร่วมชุมนุมในเขตพื้นที่ที่มีการบังคับใช้กฎหมายพิเศษด้านความมั่นคงนับตั้งแต่หลังการรัฐประหาร19กันยา2449จนถึงวันที่ 9พฤษภาคม2554ในทันที ผู้อยู่ในข่ายที่จะได้รับนิรโทษกรรมโดยทันทีจะต้องเป็นผู้กระทำความผิดลหุโทษตามประมวลกฎหมายอาญา ผู้กระทำความผิดอันมีโทษปรับสถานเดียวหรือผู้กระทำความผิดตามกฎหมายอื่นที่มีโทษจำคุกไม่เกิน2ปีเท่านั้น

ส่วนที่สอง คือการจัดตั้งคณะกรรมการขจัดความขัดแย้งขึ้นมาเพื่อเป็นผู้วินิฉัยนิรโทษกรรมผู้กระทำผิดรายอื่นๆ ที่ไม่อยู่ในข่ายจะได้รับการนิรโทษกรรมโดยทันที ผู้ที่อยู่ในข่ายจะได้รับการวินิจฉัยจะต้องเป็นผู้ที่เข้าร่วมชุมนุมในเขตพื้นที่ที่มีการบังคับใช้กฎหมายพิเศษด้านความมั่นคงแต่ไม่ได้รับการนิรโทษกรรมโดยทันที รวมถึงผู้ที่ไม่ได้เข้าร่วมการชุมนุมแต่การกระทำอันเป็นเหตุให้ถูกจับกุมมีเหตุจูงใจทางการเมืองและการกระทำอยู่ภายในช่วงเวลาที่ได้กล่าวไปข้างต้น

ประธานสภาผู้แทนราษฎรจะทำการแต่งตั้งกรรมการขจัดความขัดแย้งจำนวน5คน มีที่มาจากทั้งรัฐบาล สภาผู้แทนราษฎรและฝ่ายตุลาการโดยผู้แทนจากฝ่ายตุลาการสองคนจะต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา คำวินิจฉัยของคณะกรรมการดังกล่าวถือเป็นที่สุดและไม่สามารถนำไปร้องหรืออุทรณ์ต่อองค์คณะใดๆ ได้อีก ผู้ที่คณะกรรมการวินิจฉัยว่ากระทำผิดเพราะมีเหตุจูงใจทางการเมืองจะได้รับการนิรโทษกรรมในทันทีส่วนผู้ที่คณะกรรมการชี้ขาดว่าการกระทำไม่ได้มีเหตุจูงใจทางการเมืองก็ให้ดำเนินการตามกระบวนการยุติธรรมต่อไป

ดูรายละเอียด ร่างรัฐธรรมนูญว่าด้วยนิรโทษกรรมและการขจัดความขัดแย้ง ตามข้อเสนอคณะนิติราษฎร์ โดยคลิกที่นี่

29มกราคม2556 ประชาชนในนามกลุ่ม “แนวร่วม29มกราปล่อยนักโทษการเมือง” ซึ่งประกอบด้วยกลุ่มปฎิญญาหน้าศาลและคนเสื้อแดงกลุ่มต่างๆ หยิบเอาร่างของคณะนิติราษฎรขึ้นมาเดินมาผลักดัน โดย กลุ่ม 29 มการาฯ จัดกิจกรรมชุมนุมที่บริเวณลานพระบรมรูปทรงม้า เริ่มด้วยกิจกรรมวางพวงมาลัยบริเวณหมุดคณะราษฎร จากนั้นตั้งขบวนเดินไปยังหน้าทำเนียบรัฐบาล เพื่อยื่นร่างรัฐธรรมนูญว่าด้วยนิรโทษกรรมและการขจัดความขัดแย้งแก่นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีเพื่อให้รัฐบาลผลักดันร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้เข้าสู่รัฐสภาต่อไป โดยมีผู้เข้าร่วมกิจกรรมครั้งนี้หลายพันคน

เมื่อกลุ่มผู้ชุมนุมเดินมาถึงหน้าทำเนียบรัฐบาล ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี ได้รับมอบหมายให้เป็นตัวแทนออกมารับร่างกฎหมายจากตัวแทนผู้ชุมนุม และได้ขึ้นกล่าวชี้แจงกับผู้ชุมนุมบนรถโมบายว่า ตนจะเร่งนำร่างนี้ไปเสนอแก่คณะรัฐมนตรี

อย่างไรก็ดี ร.ต.อ.เฉลิม กล่าวว่าตนเป็นเพียงบุรุษไปรษณีย์ แต่การดำเนินการต้องเป็นเรื่องของคณะรัฐมนตรี
เบื้องต้นจะนำเข้าสู่การพิจารณาของกฤษฎีกาก่อนเข้าสู่กระบวนการอื่นๆ และจะเร่งรัดให้รวดเร็ว ถ้านายกรัฐมนตรีมีคำสั่งมา ตนจะจัดการให้ทันที

ในตอนหนึ่งระหว่างการชี้แจง ร้อยตำรวจเอกเฉลิมอยู่บำรุงได้กล่าวว่าไม่ควรเรียกนักโทษการเมืองว่านักโทษเพราะถ้าศาลยังไม่ตัดสินก็ไม่ใช่ผู้กระทำผิด ซึ่งคำพูดของรองนายกเรียกเสียงฮือฮาจากผู้ชุมนุม

เมื่อไม้หนึ่ง ก.กุนธีหนึ่งในแกนนำผู้ชุมนุมถาม ร.ต.อ.เฉลิม ว่า จะสามารถมาให้คำตอบกับผู้ชุมนุมภายในเวลา18นาฬิกาที่บริเวณหมุดคณะราษฎร์ได้หรือไม่ ร้อยตำรวจเอกเฉลิมก็ไม่ได้ตอบคำถาม เพียงแต่บอกว่าขึ้นอยู่กับคณะรัฐมนตรีจะมอบหมายให้ใครไป จากนั้นผู้ชุมนุมก็เคลื่อนขบวนออกจากหน้าทำเนียบรัฐบาลกลับไปยังเวทีที่ลานพระบรมรูปทรงม้า โดยเมื่อกลับมาถึงก็ได้มีการแสดงดนตรีและปราศรัยต่อไป จนถึงเวลา ….

แกนนำผู้ชุมนุมท่านหนึ่ง กล่าวว่า สาเหตุที่ต้องนำร่างไปยื่นให้ทางรัฐบาลเป็นเพราะดูจะเป็นแนวทางที่น่าจะทำให้ร่างกฎหมายนี้มีโอกาสได้เข้าสู่การพิจารณาและบังคับใช้มากที่สุด โดยจะไม่มีการล่ารายชื่อเพื่อเสนอกฏหมายอีกแล้วเพราะมีความเป็นไปได้สูงที่ร่างดังกล่าวจะถูกปฏิเสธเฉกเช่นที่เคยเกิดขึ้มมาก่อนกับกรณีเสนอร่างแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112  

แกนนำผู้ชุมนุมกล่าวด้วยว่า หากร่างรัฐธรรมนูญว่าด้วยนิรโทษกรรมและการขจัดความขัดแย้งผ่านการลงคะแนนเสียงในสภาผู้แทนราษฎรและบังคับใช้ เชื่อว่าจะเป็นประโยชน์แก่ผู้ที่ต้องคดีทางการเมืองทั้งฝ่ายเสื้อเหลืองและเสื้อแดงเพราะผู้ชุมนุมทั้งสองฝ่ายต่างติดคดีจากการชุมนุม เพียงแต่การดำเนินคดีกับฝ่ายเสื้อเหลืองมีความล่าช้าจึงไม่เป็นข่าวและทำให้ดูเหมือนว่าร่างกฎหมายนี้จะให้ประโยชน์แก่คนเสื้อแดงที่คดีกำลังเดินหน้าแต่เพียงฝ่ายเดียว

ทั้งนี้ ระหว่างการพูดคุยแกนนำท่านนี้ปฏิเสธที่จะตอบคำถามเกี่ยวกับผู้ที่ถูกคุมขังด้วยกฎหมายอาญามาตรา112โดยกล่าวว่าเป็นประเด็นที่มีความละเอียดอ่อนและหากมีการบรรจุรวมไปในร่างรัฐธรรมนูญอาจเป็นประเด็นที่ทำให้มีกระแสต้าน