23-30 สค.นี้ อดีตคนงานไทรอัมพ์ขึ้นศาล เป็นจำเลยคดีชุมนุมโดยไม่สงบ

ในปี 2552 หลังคนงานไทรอัมพ์ออกมาชุมนุมเพื่อจะยื่นหนังสือต่อนายกฯ ร้องเรียนการถูกเลิกจ้าง แต่กลับถูกตำรวจเปิดเครื่อง LRAD หรือเครื่องส่งเสียงรบกวนระยะไกลใส่ ส่งผลให้บางส่วนมีอาการวิงเวียน บ้างถึงขั้นแก้วหูอักเสบ ต่อมาแกนนำผู้ชุมนุมถูกฟ้องคดีฐานชุมนุมโดยไม่สงบ การสืบพยานจะมีขึ้นครั้งแรกวันที่ 23 สิงหาคมนี้

เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2555 สหภาพแรงงานไทรอัมพ์ จัดเสวนาหัวข้อ “สิทธิการชุมนุมของกรรมกรต่อกรณีคนงานไทรอัมพ์” ณ ห้องประชุมอนุสรณ์สถาน 14 ตุลาฯ เพื่อพูดคุยในประเด็นสิทธิการชุมนุม การใช้กฎหมายโดยรัฐ และคดีความที่คนงานไทรอัมพ์ชุมนุมและถูกเจ้าหน้าที่รัฐดำเนินคดี

คดีดังกล่าวสืบเนื่องจากการชุมนุมของคนงานสหภาพแรงงานไทรอัมพ์เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2552 บริเวณหน้ารัฐสภาเพื่อติดตามการดำเนินงานของรัฐบาลเกี่ยวกับการแก้ปัญหาการถูกเลิกจ้าง โดยในวันดังกล่าวเจ้าหน้าที่ตำรวจนำเครื่อง LRAD (Long Range Acoustic Device) หรือเครื่องส่งเสียงรบกวนระยะไกล ซึ่งเป็นอุปกรณ์ส่งเสียงรบกวนประสาทสัมผัสทางการได้ยินมาใช้เพื่อสลายการชุมนุม และต่อมามีการดำเนินคดีกับผู้นำการชุมนุมสามคน คือ นางสาวบุญรอด สายวงศ์, นายสุนทร บุญยอด และนางสาวจิตรา คชเดช ในข้อหามั่วสุมกันก่อการวุ่นวายในบ้านเมือง ตามประมาณกฎหมายอาญามาตรา 215 และ 216 (ว่าด้วยการชุมนุมมั่วสุมตั้งแต่สิบคนขึ้นไป) โดยคดีนี้นัดสืบพยานที่ศาลอาญา ในวันที่ 23-24 และ 28-30 สิงหาคม 2555

 

จิตรา คชเดช เจ้าหน้าที่สหภาพแรงงานไทรอัมพ์ และหนึ่งในผู้ถูกฟ้อง กล่าวว่า กรณีนี้เริ่มจากช่วงเดือนมิถุนายน 2552 มีข่าวลือหนาหูว่าบริษัท บอดี้ แฟชั่น ซึ่งเป็นบริษัทผลิตชุดชั้นในไทรอัมพ์ จะเลิกจ้างคนงานครั้งใหญ่ สหภาพแรงงานจึงสอบถามไปหลายรอบแต่บริษัทก็ไม่ยอมรับ และเมื่อไปค้นในอินเทอร์เน็ตก็พบว่าบริษัทนี้อยู่ในความเสี่ยงที่จะต้องเลิกจ้างคนงาน ต่อมา บริษัทก็ประกาศว่า วันที่ 26-27 มิถุนายน 2552 เป็นวันหยุดโดยได้รับค่าจ้างตามปกติ จากนั้นนายจ้างก็รับสารภาพว่าจะมีการเลิกจ้างจริง

จิตรา เล่าว่า สหภาพแรงงานเห็นว่าการเลิกจ้างครั้งนี้ขัดต่อข้อบังคับการจ้างปี 2542 ที่กำหนดว่าการเลิกจ้างต้องแจ้งล่วงหน้า 60 วัน ต้องจ่ายค่าชดเชยมากกว่าที่กฎหมายกำหนด และต้องปรึกษาสหภาพแรงงานก่อน ต่อมาเวลาตีหนึ่งของวันที่ 27 นายจ้างส่งข้อความประกาศผ่านมือถือลูกจ้างทุกคนว่าเป็นวันหยุดแต่ได้รับค่าจ้างตามปกติ รถรับส่งคนงานไม่ได้มาส่งที่โรงงานแต่ไปส่งที่ไบเทคบางนา และที่นั่นทุกคนจะได้รับซองว่าใครจะได้ทำงานต่อ และใครจะถูกเลิกจ้าง วันนั้นเกิดความวุ่นวายสหภาพแรงงานจึงนัดชุมนุมที่หน้าโรงงานและเรียกร้องให้บริษัทรับคนงานกลับเข้าทำงานและปฏิบัติตามข้อบังคับแรงงาน แต่นายจ้างบอกว่าการเลิกจ้างจะมีผลเมื่อพ้นวันที่ 27 สิงหาคม 2552 เข้าข่าย 60 วัน ถูกต้องตามข้อบังคับแล้ว ซึ่งคนงานไม่ต้องมาทำงานแต่จะได้รับค่าจ้างจนถึงวันดังกล่าว และเนื่องจากเป็นการปรับโครงสร้างขนาดใหญ่จึงไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยมากกว่าที่กฎหมายกำหนด

จิตราเล่าต่อว่า วันที่ 6 สิงหาคม 2552 สหภาพแรงงานจึงไปยื่นหนังสือต่อนายกรัฐมนตรี อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เรียกร้องให้บริษัทรับลูกจ้างกลับเข้าทำงาน ให้ปฏิบัติตามพ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ และให้รัฐบาลหามาตรการช่วยเหลือลูกจ้างที่ถูกกรมบังคับคดีอายัดค่าจ้าง ต่อมาในวันที่ 27 สิงหาคมซึ่งเป็นวันที่ถูกเลิกจ้างจริงๆ สหภาพแรงงานก็เดินทางไปทวงถามความคืบหน้าที่ทำเนียบรัฐบาลอีกครั้ง แต่รัฐบาลกลับกล่าวหาว่า สหภาพฯ ตั้งใจเดินทางไปใกล้กับเวลาที่กลุ่มคนเสื้อแดงนัดชุมนุมกันในวันที่ 30 สิงหาคม

ถัดจากทำเนียบรัฐบาล ทางสหภาพแรงงานไทรอัมพ์ก็เดินทางต่อไปยังรัฐสภา จิตราเล่าว่าเมื่อไปถึงก็เห็นเครื่อง LRAD ตั้งอยู่ ตอนแรกนึกว่าเป็นเครื่องถ่ายทอดสด ทางสหภาพประสานงานว่าจะขอยื่นหนังสือกับนายกรัฐมนตรีและได้รับการแจ้งว่านายกฯจะไม่ออกมา สักพักตำรวจก็เดินเข้าไปในรัฐสภา แล้วทดลองใช้เครื่อง LRAD ซึ่งมีหน้าตาคล้ายกับลำโพงที่นำมาใช้ในการสื่อสารแต่จะมีเสียงหอนเหมือนเวลาไมโครโฟนหอน

จิตราเล่าต่อว่า วันนั้นกำลังจะได้ยื่นหนังสือกับวิทยา บูรณะศิริ ซึ่งเป็นประธานวิปฯ ฝ่ายค้าน แต่การประสานงานไม่ค่อยรู้เรื่องเพราะตำรวจเปิดเครื่องเสียงรบกวนการพูดคุยตลอด ทางสหภาพจึงหันลำโพงของผู้ชุมนุมเข้าสภาเพื่อบอกว่า ช่วยปรับเครื่องเสียงของคุณหน่อย โดยที่ไม่รู้ว่าขณะนั้นเครื่อง LRAD ทำงานแล้ว และมารู้ทีหลังว่า เครื่องที่ใช้กับผู้ชุมนุมนั้นเป็นเครื่อง LRAD เป็นอาวุธใช้ในสงครามเพื่อไปทำลายหู มีผู้ชุมนุมที่มีปัญหาหูชั้นกลางอักเสบ และคนงานส่วนใหญ่อ่อนเพลียมาก หลังจากนั้น 2-3 วันไปไหนไม่ได้เลยต้องนอนพักอย่างเดียว และต่อมาแกนนำก็โดนหมายจับ โดยมีอ.พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ อ.สุดา รังกุพันธ์ และส.ส.สุชาติ ลายน้ำเงิน ช่วยประกันตัวให้ และอัยการก็สั่งฟ้องด้วยข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 215, 216 และ มาตรา 108 พ.ร.บ.จราจรทางบก แต่เนื่องจากเกิน 1 ปี ความผิดตามพ.ร.บ.จราจรจึงขาดอายุความ

จิตรา ยืนยันว่าวันที่ชุมนุมวันนั้นไม่มีการก่อความวุ่นวาย และอยากทราบเหมือนกันว่าอะไรคือความวุ่นวายในความหมายที่ตนถูกฟ้อง

เครื่อง LRAD จัดเป็นอาวุธ บ้างเรียกว่าปืนใหญ่คลื่นเสียง คิดค้นขึ้นสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง เครื่องนี้จะส่งคลื่นเสียงความถี่สูง มีศักยภาพที่ทำให้แก้วหูแตก (ภาพเครื่องที่นำมาใช้งานกับกลุ่มผู้ชุมนุมที่ฉายในงาน)

ผศ.ดร.จันทจิรา เอี่ยมมยุรา อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า กรณีการฟ้องคดีการชุมนุมของสหภาพแรงงานไทรอัมพ์นั้น หากเป็นการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธจะไม่มีทางเป็นความผิดตามมาตรานี้ได้ เพราะฉะนั้นคดีนี้ เจ้าหน้าที่ตำรวจไม่ควรดำเนินคดี และพนักงานอัยการไม่ควรสั่งฟ้องเลยด้วยซ้ำ

อย่างไรก็ตาม การถูกดำเนินคดีครั้งนี้ไม่ใช่แค่เรื่องระหว่างลูกจ้างกับนายจ้าง แต่เป็นการสู้กับระบบกฎหมายของประเทศนี้ เพราะระบบกฎหมายของไทยสร้างทัศนะคติว่าคนงานไม่มีความรู้และมักจะก่อปัญหาเสมอ สังเกตได้จากทั้งกฎหมายที่เกี่ยวกับการส่งเสริมการลงทุน ทัศนะของบุคลากรในกระบวนการยุติธรรม ทำให้แรงงานไม่ได้สู้กับนายจ้างเท่านั้น แต่สู้กับระบบที่ไม่ได้เอื้อให้กับคนงาน

ผศ.ดร.จันทจิรา กล่าวว่า สำหรับประมวลกฎหมายอาญามาตรา 215 และ 216 นั้น จะเป็นความผิดตามมาตรานี้ได้ก็ต่อเมื่อการชุมนุมนั้นเป็นการชุมนุมที่มีวัตถุประสงค์ไม่ชอบด้วยกฎหมายก่อน เช่น ชุมนุมกันว่าจะไปปล้น จะไปเผาบ้านคน แต่หากเป็นการชุมนุมเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ปัญหาปากท้อง หรือเรียกร้องทางการเมือง เป็นการชุมนุมที่มีวัตถุประสงค์ที่ชอบด้วยกฎหมาย จึงไม่เข้าลักษณะการ “มั่วสุม” หากเป็นการชุมนุมตามปกติ ใช้เครื่องเสียงตามปกติ ก็ไม่อาจเป็นการก่อให้เกิดการวุ่นวายได้

ผศ.ดร.จันทจิรากล่าวว่า การชุมนุมเป็นส่วนหนึ่งและเป็นรูปแบบของการแสดงความคิดเห็น หากการชุมนุมนั้นเป็นไปโดยสงบปราศจากอาวุธ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 63 (เสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ) ซึ่งคำว่า โดยสงบนั้นไม่ได้แปลว่า เรียบร้อย แต่คำว่า โดยสงบ รวมไปถึงการใช้เครื่องเสียง การลงไปเดินบนถนน การเดินบนทางเท้า แม้จะเป็นการรบกวนคนอื่น แต่ก็เป็นการใช้เสรีภาพที่รัฐธรรมนูญรับรองอยู่ หากใช้สิทธินี้โดยสุจริต

นอกจากนี้ คำว่าโดยสงบ ก็ไม่ได้แปลว่าจะไม่ไปหน้าทำเนียบ หรือ หน้ารัฐสภา ถ้าเรื่องที่ต้องชุมนุมต้องเจรจากับผู้ออกกฎหมาย สถานที่ชุมนุมก็ต้องเป็นหน้ารัฐสภา ดังนั้นการดูว่าการชุมนุมเป็นไปโดยสงบหรือไม่ต้องดูเรื่องวัตถุประสงค์ของการชุมนุม ข้อเรียกร้องของการชุมนุม ต่อสถานที่และเวลาในการชุมนุม แม้ว่าจะรบกวนบุคคลที่ไม่ได้เห็นพ้องกับการชุมนุมอยู่ด้วย

ผศ.ดร.จันทรจิราย้ำว่า เสรีภาพการชุมนุมเป็นเสรีภาพระดับรัฐธรรมนูญ และเป็นเสรีภาพที่สอดคล้องกับเสรีภาพในการรวมตัวเป็นสหภาพแรงงาน การนัดหยุดงาน การชุมนุมเพื่อต่อรองกับนายจ้าง ดังนั้น จะต้องผูกพันทุกองค์กรของรัฐ รวมทั้งศาลด้วย ตามมาตรา 27 ของรัฐธรรมนูญ (สิทธิเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญรับรองโดยชัดแจ้งย่อมได้รับความคุ้มครองผูกพันรัฐสภา รัฐมนตรี ศาล และองค์กรตามรัฐธรรมนูญ) เราสามารถกล่าวอ้างสิทธินี้ต่อศาล ต่อรัฐสภา ต่อกระทรวง ทบวง กรม ทั้งหมดได้

สำหรับประเด็นว่าการชุมนุมใดถือว่ามีอาวุธหรือไม่ ผศ.ดร.จันทจิรา กล่าวว่า การชุมนุมสมัยใหม่ที่ต้องการเรียกร้องความสนใจจากสังคมจำเป็นต้องมีอุปกรณ์ เช่น ธง เสาธง ป้าย รถรา หากอุปกรณ์เหล่านี้อธิบายได้ว่าใช้เพื่อการชุมนุมถือว่าเป็นการใช้เสรีภาพโดยสุจริต คำว่า “อาวุธ” มีทั้งอาวุธโดยสภาพซึ่งใครมองก็รู้ว่าเป็นอาวุธ และสิ่งที่ไม่ใช่อาวุธโดยสภาพ แต่เมื่อเจ้าหน้าที่ใช้กำลังเข้าสลายการชุมนุมผู้ชุมนุมก็นำมาใช้ต่อต้านเจ้าหน้าที่ เพราะเมื่อถูกรบกวนอะไรที่อยู่ใกล้มือก็จะใช้เป็นอาวุธซึ่งศาลถือว่าอาวุธชนิดหลังนี้ไม่ทำให้การชุมนุมนั้นถือว่า เป็นการชุมนุมโดยมีอาวุธ

ทั้งนี้ โดยหลักทั่วไป การชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธนั้นไม่ต้องขออนุญาต มาตรา 108 ของพ.ร.บ.การจราจรทางบก ที่กล่าวว่าต้องขออนุญาตพนักงานจราจรก่อนนั้น ต้องหลีกทางให้กับเสรีภาพในการชุมนุมตามรัฐธรรมนูญ ผู้ชุมนุมควรจะแจ้งให้พนักงานจราจรทราบก่อนเพื่ออำนวยความสะดวกเท่านั้น แต่หากไม่ได้แจ้งเพราะเป็นการจัดการชุมนุมโดยรีบด่วน หากเป็นการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธก็ยังเป็นการชุมนุมโดยชอบด้วยกฎหมาย เจ้าหน้าที่ตำรวจจะสลายการชุมนุมไม่ได้

ศราวุฒิ ประทุมราช นักสิทธิมนุษยชน กล่าวว่า การชุมนุมในประเทศไทยนั้น ผู้ชุมนุมต้องการแค่แสดงให้รู้ว่าพวกเขาเกิดความเดือดร้อนจริงและบางครั้งไม่มีทางออกทางอื่นนอกจากต้องปิดถนน แต่รัฐไม่ยอมแม้แต่ออกมารับหนังสือ เขาตั้งคำถามว่า ระหว่างการใช้รถใช้ถนน กับเรื่องปากท้องอย่างการถูกเลิกจ้าง เราจะจัดความสัมพันธ์ให้แต่ละฝ่ายได้สิทธิเสรีภาพเสมอกันได้อย่างไร เขาเห็นว่า ผู้ใช้รถใช้ถนนต้องสละเสรีภาพของตัวเองชั่วคราวเพื่อให้ผู้ที่เดือดร้อนได้ใช้เสรีภาพในการเรียกร้องให้รัฐมาแก้ไขปัญหา ดีกว่ามาบอกว่าเมื่อปิดถนนทุกครั้งต้องสลายการชุมนุม

ศราวุฒิ กล่าวว่า สิทธิในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ เขียนอยู่ทั้งในประเทศไทยและกฎหมายระหว่างประเทศอยู่แล้ว หากรัฐไหนลงนามรับในกฎหมายระหว่างประเทศแล้วต้องรับหลักการนั้นเข้ามาเป็นกฎหมายภายใน และสิทธิในการชุมนุมเป็นส่วนหนึ่งของเสรีภาพการแสดงความคิดเห็น แต่ประเทศไทยมักมองการชุมนุมเป็นเรื่องการก่อกวน ก่อความวุ่นวาย ซึ่งจริงๆแล้ว กฎหมายอาญา มาตรา 215, 216 เจตนารมณ์จะใช้กับกลุ่มคนที่ตั้งใจจะก่อความวุ่นวาย เช่น กลุ่มอั้งยี่ ซ่องโจร รวมหัวกันทำผิดกฎหมาย หรือก่อการกบฏ แต่การรวมตัวในการชุมนุมสาธารณะเพื่อใช้เสรีภาพการแสดงความคิดเห็นไม่น่าจะเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา

ชาลี ลอยสูง คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย กล่าวว่า คนงานที่จะเรียกร้องสิทธิของตัวเองต้องเกาะกลุ่มกัน แต่นายจ้างอาจจะไม่ให้ตามข้อเรียกร้อง การชุมนุมจึงเป็นอาวุธหนึ่งสำหรับการสร้างพลัง และอำนาจในการต่อรอง สมัยก่อนการชุมนุมเริ่มต้นจากการชุมนุมในสถานประกอบการซึ่งคนงานจะมีพลังมาก แต่ต่อมานายจ้างเริ่มรู้ก็จะไล่ไม่ให้ชุมนุมในโรงงาน การต่อสู้ข้างนอกกำลังของคนงานจึงลดลง เพราะต้องมีค่าใช่จ่ายเพิ่มสำหรับสิ่งอำนวยความสะดวกในการชุมนุม

ชาลีกล่าวว่า ต่อมากลุ่มแรงงานจึงเปลี่ยนวิธีการเป็นการเรียกร้องต่อผู้มีอำนาจในประเทศ เช่น ไปชุมนุมหน้าทำเนียบรัฐบาล หรือกระทรวงแรงงาน เพราะคนงานต้องหาที่พึ่ง ต้องหาคนกลางที่มีอำนาจไปกดดันกับนายจ้าง ซึ่งเราไม่ได้ตั้งใจจะทำให้สังคมเดือดร้อน ไม่เคยทำลายทรัพย์สิน เพียงแต่ถ้ามากันมากๆ ก็อาจทำให้รถติด อาจต้องไปเดินบนถนน ซึ่งตนคิดว่าเป็นเรื่องปกติ ไม่ใช่สิ่งที่ผิด

ชาลีกล่าวด้วยว่า การนำเครื่อง LRAD มาใช้ในกรณีนี้ หลังจากที่ซื้อมาใหม่ๆ เหมือนเป็นการเอาเครื่องมือมาทดลองใช้มากกว่าการตั้งใจจะควบคุมการชุมนุม ทั้งที่การใช้เครื่องมืออะไรต้องมีการเตือนก่อน ต้องพูดคุยกันก่อนว่าถ้าหากไม่ปฏิบัติตามคำสั่งอะไร จะใช้เครื่องมืออะไร แต่กรณีนี้ไม่มีการพูดคุยกันก่อน เพียงแค่ชุมนุมอยู่ 2-3 ชั่วโมงก็เอาเครื่องมือออกมาใช้เลย