นปช.ระดมชื่อถอดถอนตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ฐานเบรกสภาแก้ไขรัฐธรรมนูญ

ตามที่รัฐสภาพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 ว่าด้วยที่มาของสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ หรือ สสร. ผ่านไปสองวาระแล้วและกำลังจะเข้าสู่วาระที่สาม โดยการพิจารณาครั้งนี้ มีร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ถูกนำมาพิจารณาพร้อมกันหลายฉบับซึ่งเสนอโดยพรรคการเมืองหลายพรรค และมีร่างสามฉบับที่เสนอโดยประชาชนเข้าชื่อกัน 50,000 ชื่อเพื่อเสนอให้รัฐสภาพิจารณาด้วย

เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2555 พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม ส.ว.สรรหา และคณะ ,นายวันธงชัย ชำนาญกิจ, นายวิรัตน์ กัลยาศิริ ส.ส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์, นายวรินทร์ เทียมจรัส และนายบวร ยสินทร และคณะ ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญแยกกันรวมห้าคำร้อง โดยอาศัยช่องทางตามรัฐธรรมนูญมาตรา 68 ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยและสั่งห้ามการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 291 เพราะเหตุว่าเป็นการกระทำเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศ โดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ
              “มาตรา 68 บุคคลจะใช้สิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญนี้ หรือเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้ มิได้
              ในกรณีที่บุคคลหรือพรรคการเมืองใดกระทำการตามวรรคหนึ่ง ผู้ทราบการกระทำดังกล่าวย่อมมีสิทธิเสนอเรื่องให้อัยการสูงสุดตรวจสอบข้อเท็จจริงและยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งการให้เลิกการกระทำดังกล่าว แต่ทั้งนี้ ไม่กระทบกระเทือนการดำเนินคดีอาญาต่อผู้กระทำการ ดังกล่าว
              ในกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งการให้พรรคการเมืองใดเลิกกระทำการตามวรรคสองศาลรัฐธรรมนูญอาจสั่งยุบพรรคการเมืองดังกล่าวได้
              ในกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรคการเมืองตามวรรคสาม ให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของหัวหน้าพรรคการเมืองและกรรมการบริหารของพรรคการเมืองที่ถูกยุบในขณะที่กระทำความผิดตามวรรคหนึ่งเป็นระยะเวลาห้าปีนับแต่วันที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งดังกล่าว”
ภายในวันเดียวกับที่ยื่นคำร้อง ศาลรัฐธรรมนูญ โดยตุลาการรัฐธรรมนูญทั้งเก้าท่าน ได้แก่ นายวสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ นายจรัญ ภักดีธนากุล นายจรูญ อินทจาร  นายเฉลิมพล เอกอุรุ  นายชัช ชลวร  นายนุรักษ์ มาประณีต  นายบุญส่ง กุลบุปผา นายสุพจน์ ไข่มุกด์ และนายอุดมศักดิ์ นิติมนตรี มีคำสั่งรับคำร้องดังกล่าวไว้พิจารณา โดยรวมทั้งห้าคำร้องไว้พิจารณาในคราวเดียวกัน พร้อมกับออกคำสั่งไปยังเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรแจ้งให้รัฐสภาระงับการดำเนินการเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญไว้ก่อนจนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัย
ที่มาภาพ ไทยอีนิวส์
หลังจากศาลรัฐธรรมนูญออกคำสั่งดังกล่าว มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากหลายฝ่าย ถึงความไม่ชอบธรรมของคำสั่งในครั้งนี้ ลักษณะที่มองว่าเป็นการใช้อำนาจตุลาการเข้ามาแทรกแซงอำนาจนิติบัญญัติ 
คณะนิติราษฎร์ออกแถลงการณ์ แสดงความเห็นทางวิชาการเกี่ยวกับคำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญครั้งนี้อยู่สามประเด็น ได้แก่
1. เหตุแห่งการเสนอคำร้องตามมาตรา 68 ต้องเป็นการกระทำของบุคคลหรือพรรคการเมือง แต่กรณีนี้เป็นการใช้อำนาจของรัฐสภาในฐานะองค์กรตามรัฐธรรมนูญผู้มีอำนาจแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ กรณีนี้จึงไม่ใช่การกระทำของ "บุคคล" หรือ "พรรคการเมือง" ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 68 ศาลรัฐธรรมนูญไม่อาจรับไว้พิจารณาได้
2. มาตรา 68 วรรคสอง กำหนดให้บุคคลมีสิทธิเสนอเรื่องให้อัยการสูงสุดตรวจสอบข้อเท็จจริงและยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย หมายความว่า บุคคลต้องเสนอเรื่องให้อัยการสูงสุดก่อน อัยการสูงสุดจึงเป็นผู้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ แต่กรณีนี้บุคคลธรรมดายื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเองโดยไม่ได้ยื่นให้อัยการสูงสุดก่อน ศาลรัฐธรรมนูญจึงไม่อาจรับไว้พิจารณาได้
3. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ไม่ได้ให้ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจกำหนดวิธีการชั่วคราวก่อนมีคำวินิจฉัย ศาลรัฐธรรมนูญไม่อาจก่อตั้งอำนาจกำหนดวิธีการชั่วคราวก่อนมีคำวินิจฉัยได้ด้วยตนเอง คำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญเช่นนี้จึงเป็นการเข้าแทรกแซงกระบวนการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญโดยไม่มีอำนาจกระทำได้
หลายฝ่ายมองว่าการออกคำสั่งของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญครั้งนี้ เป็นการตีความกฎหมายที่ผิดพลาดอย่างร้ายแรง ส่อว่าจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อกฎหมาย 
แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) เสนอและเรียกร้องให้ประชาชนใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 164 เข้าชื่อประชาชนสองหมื่นชื่อเพื่อเสนอให้วุฒิสภาลงมติถอดถอนตุลาการรัฐธรรมนูญทั้งเก้านายที่ออกคำสั่งดังกล่าว ออกจากตำแหน่ง อันเป็นกลไกที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญมาตรา 270
              “มาตรา 164 ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวนไม่น้อยกว่าสองหมื่นคน มีสิทธิเข้าชื่อ ร้องขอต่อประธานวุฒิสภาเพื่อให้วุฒิสภามีมติตามมาตรา 274 ให้ถอดถอนบุคคลตามมาตรา 270 ออกจากตำแหน่งได้
              คำร้องขอตามวรรคหนึ่งต้องระบุพฤติการณ์ที่กล่าวหาว่าผู้ดำรงตำแหน่งดังกล่าวกระทำความผิดเป็นข้อๆ ให้ชัดเจน
หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการที่ประชาชนจะเข้าชื่อร้องขอตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี
              มาตรา 270 สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา ประธานศาลฎีกา ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ประธานศาลปกครองสูงสุด หรืออัยการสูงสุด ผู้ใดมีพฤติการณ์ร่ำรวยผิดปกติ ส่อไปในทางทุจริตต่อหน้าที่ ส่อว่ากระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ส่อว่ากระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม ส่อว่าจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติแห่ง รัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย หรือฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง วุฒิสภา มีอำนาจถอดถอนผู้นั้นออกจากตำแหน่งได้
              บทบัญญัติวรรคหนึ่งให้ใช้บังคับกับผู้ดำรงตำแหน่งดังต่อไปนี้ด้วย คือ
              (1) ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ กรรมการการเลือกตั้ง ผู้ตรวจการแผ่นดิน และกรรมการ ตรวจเงินแผ่นดิน
              (2) ผู้พิพากษาหรือตุลาการ พนักงานอัยการ หรือผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูง ทั้งนี้ ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต”
ปัจจุบัน นปช.อยู่ระหว่างการรวบรวมรายชื่อ เพื่อถอดถอนตุลาการเก้านาย โดยเชิญชวนให้ประชาชนดาวน์โหลดแบบฟอร์ม ถ.๔ ตามเอกสารแนบ และกรอกข้อมูลให้ครบถ้วน พร้อมแนบสำเนาบัตรประชาชน หรือสำเนาบัตรประชาชนที่หมดอายุ หรือสำเนาบัตรอื่นที่มีรูปถ่ายและทางราชการออกให้ พร้อมเซ็นต์รับรองสำเนาถูกต้อง แล้วส่งเอกสารทั้งสองแผ่นมายัง ตู้ปณ.100 ปณศ.รองเมือง 10330
อ้างอิง
ไฟล์แนบ
You May Also Like
อ่าน

ส่องเล่มจบป.เอก สว. สมชาย แสวงการ พบคัดลอกงานคนอื่นหลายจุด

พบว่าดุษฎีนิพนธ์ของ สว. สมชาย แสวงการ มีการคัดลอกข้อความจากหลากหลายแห่ง ซึ่งในหลายจุดเป็นการคัดลอกและวางข้อความในผลงานตัวเอง เหมือนต้นทางทุกตัวอักษร
อ่าน

เป็น สว. เงินเดือนเท่าไหร่? ได้สวัสดิการ-สิทธิประโยชน์อะไรบ้าง?

สว. 2567 แม้ไม่มีอำนาจเลือกนายกฯ เหมือน สว. ชุดพิเศษ แต่มีอำนาจอื่นๆ เต็มมือ พร้อมกับเงินเดือนหลักแสน และสวัสดิการ สิทธิประโยชน์อีกเพียบ