ภาคประชาชนรุมอัดระเบียบ คปก. เรื่องการสนับสนุนการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย

17 พฤษภาคม 2555 คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นให้ประชาชนพิจารณาร่างระเบียบคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการให้คำปรึกษาและสนับสนุนในการร่างกฎหมายของประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายร่างฉบับตัวอย่างขึ้น

เนื่องจากขณะนี้ ร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยการเข้าชื่อเสนอกฎหมายฉบับใหม่ อยู่ระหว่างการพิจารณาของรัฐสภา โดยมีประเด็นหนึ่งในร่างกฎหมายกำหนดไว้ว่าให้ประชาชนที่ต้องการผลักดันกฎหมายสามารถขอความช่วยเหลือหรือรับการสนับสนุนจากคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายได้ จึงเป็นเหตุให้คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายทำร่างระเบียบหลักเกณฑ์การให้คำปรึกษาและสนับสนุนการร่างกฎหมายขึ้น เพื่อเตรียมรับหากกฎหมายผ่านการพิจารณา จะได้มีระเบียบวิธีปฏิบัติที่เหมาะสมไว้รองรับ 
ในระเบียบฉบับนี้ วางหลักการเกี่ยวกับวิธีการที่ประชาชนจะขอคำปรึกษาหรือขอรับการสนับสนุนจากคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายได้หลายประเด็นที่น่าสนใจ เช่น แยกการขอความช่วยเหลือเป็นสองระดับคือ ขอคำปรึกษา และขอรับการสนับสนุน ซึ่งคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายกำหนดไว้ในร่างระเบียนว่า ให้การขอรับการสนับสนุนต้องขอโดยผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในสิบของจำนวนผู้เสนอกฎหมาย ต้องมีตัวแทน 2-5 คน กำหนดเงื่อนไขการยุติการสนับสนุนกรณีที่เห็นว่าสนับสนุนมาพอสมควรแล้ว และกำหนดกรอบวิธีการสนับสนุนอยู่ที่การให้คำแนะนำและการจัดหาวิทยากร (ดูรายละเอียดในร่างระเบียบฯ ตามไฟล์แนบ)
รุมอัด! ใช้ 1,000 ชื่อเพื่อขอรับการสนับสนุน มากเกินไป
"ข้อ ๙ ผู้มีสิทธิขอให้สนับสนุนในการร่างกฎหมาย
ให้สำนักงานสนับสนุนการร่างกฎหมายของประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง เมื่อมีประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในสิบของจำนวนประชาชนที่มีสิทธิเข้าชื่อเสนอกฎหมายยื่นคำขอต่อสำนักงาน"
วิโชคศักดิ์ รณรงค์ไพรี สมาคมสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทย ผู้ผลักดันร่างพ.ร.บ.การประมงและร่างพ.ร.บ.ส่งเสริมการจัดการทรัพยากรทะเลและชายฝั่ง ฉบับประชาชน กล่าวว่า การกำหนดให้คนหนึ่งพันชื่อเข้าชื่อกันเพื่อขอให้คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายสนับสนุน นั้นเป็นจำนวนที่มากเกินไป เพราะหากใครที่สามารถหารายชื่อได้หนึ่งพันชื่อคงมีความรู้ความเข้าใจพอสมควรแล้ว ไม่ต้องการการสนับสนุนจากคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายแล้ว 
วีรวิทย์ เธียรชัยนันท์ ประธานมูลนิธิเพื่อคนมีปัญหาสิทธิและสถานะบุคคล ผู้ผลักดัน ร่างพ.ร.บ.ผู้ลี้ภัย กล่าวว่า ไม่ควรจำกัดว่าคนที่จะมาขอคำปรึกษาต้องมีจำนวนหนึ่งในสิบ หรือหนึ่งพันคน โดยยกตัวอย่างว่าเมื่อต้องเริ่มผลักดันร่างพ.ร.บ.ผู้ลี้ภัยก็เริ่มต้นจากคนเพียงไม่กี่คน ซึ่งกว่าจะได้พันคนก็ต้องใช้เวลาพอสมควร
ดร.ภูมิ มูลศิลป์ ผู้ผลักดันร่างพ.ร.บ.เข้าชื่อเสนอกฎหมายฉบับมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ กล่าวว่า ไม่เห็นด้วยกับการกำหนดจำนวนผู้ขอรับการสนับสนุนจำนวนหนึ่งในสิบของผู้เสนอกฎหมาย เพราะเมื่อคิดเทียบกับกฎหมายการเข้าชื่อเสนอกฎหมายฉบับเดิม กำหนดให้มีผู้ริเริ่มในการเข้าชื่อเสนอกฎหมายเพียงหนึ่งร้อยคน ร้องขอให้คณะกรรมการการเลือกตั้งช่วยประชาชนในการล่าชื่อได้ ซึ่งหากต้องการช่วยเหลือภาคประชาชน ควรจะกำหนดจำนวนประชาชนน้อยกว่า 100 คน เพราะการขอรับการสนับสนุน เป็นเพียงการมาขอความช่วยเหลือเบื้องต้นเท่านั้น 
เสนอกรรมการปฏิรูปกฎหมายเข้ามาช่วยประชาชนจัดเวที-ทำงานวิชาการ
วิโชคศักดิ์ รณรงค์ไพรี กล่าวว่า การเริ่มต้นสร้างกฎหมายประชาชน หลังจากมีองค์ความรู้ที่จะนำมาเสนอเป็นกฎหมายแล้ว ต้องมีคณะทำงานซึ่งมีทั้งคนที่มีความรู้กฎหมาย คนที่ได้รับผลจากกฎหมายโดยตรง นักวิชาการ และเมื่อเริ่มต้นการระดมชื่อ ต้องมีร่างกฎหมายให้ประชาชนได้อ่าน มิใช่อ่านแค่สาระสำคัญ นอกจากนี้แล้ว ยังต้องมีกฎหมายฉบับย่อ ฉบับการ์ตูน เพื่อช่วยอธิบาย สิ่งที่ยากในการดำเนินงานคือการทำความเข้าใจกับประชาชน เวลารณรงค์นั้นต้องพูดกว่าร้อยเวที พูดเหมือนๆ เดิมให้คนฟังคราวละ 30-40 คน  จึงต้องการสนับสนุนด้านวิทยากร ให้ไปร่วมชี้แจงกฎหมาย และต้องการให้มีกรรมการปฏิรูปกฎหมายไปช่วยจัดเวทีให้ความรู้เกี่ยวกับการเข้าชื่อเสนอกฎหมายด้วย 
สุมิตรชัย หัตถสาร เลขาธิการกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) ภาคเหนือ กล่าวว่า ประชาชนคาดหวังอยากให้คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายมาเป็นเจ้าภาพร่วมเคลื่อนให้ข้อเสนอต่างๆ กลายเป็นกฎหมาย อยากให้สนับสนุนงานวิจัยที่เป็นงานภายใต้คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย ซึ่งมีฐานะมีความชอบธรรม และเป็นเรื่องที่อยู่ในอำนาจของคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายอยู่แล้ว
สำหรับกฎหมายที่ร่างเสร็จแล้วและประชาชนกำลังผลักดันกันอยู่ อาจจัดให้มีเวทีรับฟังความคิดเห็น ถ้าประชาชนจัดเอง คปก.ก็เข้าไปร่วม หรือไปจัดเวทีร่วมกัน ก็จะทำให้กฎหมายนี้มีความชอบธรรมมากขึ้น เพราะที่ผ่านมาคนที่ทำหน้าที่นี้คือคณะกรรมการกฤษฎีกาซึ่งไม่เคยทำงานเชื่อมโยงกับภาคประชาชนเลย
วิไลวรรณ แซ่เตีย คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย ผู้ผลักดันร่างพ.ร.บ.ประกันสังคม ฉบับบูรณาการแรงงาน กล่าวว่า จากประสบการณ์ที่เสนอ พ.ร.บ.ประกันสังคม เห็นว่าปัญหาในการร่างกฎหมายคือไม่รู้ว่าจะเขียนถ้อยคำในกฎหมายอย่างไร เป็นเรื่องที่ยากมาก จึงต้องการให้มีนักกฎหมายมานั่งคุยด้วยกันและคอยให้คำแนะนำ คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายน่าจะช่วยปรับถ้อยคำให้เหมาะสม ช่วยเหลือด้านงานวิจัย และในส่วนเวทีที่จะทำความเข้าใจกับคนที่จะนำความเข้าใจไปเผยแพร่ต่อ คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายควรสนับสนุนการจัดเวทีเพื่อแนะนำขั้นตอนการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย เป็นไปได้หรือไม่ที่คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายจะมีงบประมาณสนับสนุนค่าเอกสารสำหรับการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย
เสนอให้กรรมการปฏิรูปกฎหมายร่างกฎหมายให้ประชาชน ไม่ใช่เพียงแนะนำ
"ข้อ ๑๓ วิธีการสนับสนุนในการร่างกฎหมาย
(๑) แนะนำวิธีการร่างกฎหมาย
(๒) เข้าร่วมดำเนินการในการจัดทำร่างกฎหมาย
(๓) จัดหาวิทยากรให้คำแนะนำหรือเข้าร่วมในการจัดทำร่างกฎหมาย
(๔) รับมอบหรือเข้าร่วมในการชี้แจงกฎหมาย"
ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) กล่าวว่า ระเบียบนี้กำหนดหน้าที่ของคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายให้สนับสนุนเพียงแค่การแนะนำวิธีร่างกฎหมาย เข้าร่วม และจัดหาวิทยากรเท่านั้น แต่ยังมีกลุ่มคนเล็กๆ มากมายที่อยากเสนอความคิดออกมาให้เป็นกฎหมาย แต่ไม่รู้ว่าจะร่างกฎหมายอย่างไร จึงเสนอว่า คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายน่าจะสนับสนุนในระดับที่มากกว่าการให้คำแนะนำ แต่ให้คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายเข้ามาร่างกฎหมายให้ประชาชนที่ต้องการเลย
ทองคำ แก้วพรม สมาคมแพทย์แผนไทยแห่งประเทศไทย ผู้ผลักดันร่างพ.ร.บ.วิชาชีพแพทย์แผนไทย และร่าง พ.ร.บ.สมุนไพรแห่งชาติ กล่าวว่า คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายไม่ควรมีหน้าที่เพียงแค่ให้คำแนะนำอย่างเดียว น่าจะเป็นหน่วยงานที่สามารถยกร่างให้ประชาชนได้เลย โดยยกร่างให้ก่อนแล้วค่อยมาพูดคุยกันว่าตรงกับที่ประชาชนต้องการหรือไม่
คัดค้านประเด็นการสั่งยุติการสนับสนุน
"ข้อ ๑๔ การยุติการสนับสนุนในการร่างกฎหมายให้สำนักงาน หรือ กรรมการที่ได้รับมอบหมาย ยุติการสนับสนุนในการร่างกฎหมายเมื่อปรากฏเหตุอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้
(๑) ไม่สามารถติดต่อตัวแทนผู้ขอ 
(๒) ตัวแทนผู้ขอไม่มาพบตามกำหนดนัด หรือ
(๓) สำนักงานเห็นว่าได้ให้การสนับสนุนมาพอสมควรแล้ว หรือไม่มีความจำเป็นที่จะสนับสนุนต่อไป"
วิโชคศักดิ์ รณรงค์ไพรี กล่าวว่า ในร่างระเบียบนี้ให้อำนาจกับสำนักงานในการยุติเรื่องการให้คำปรึกษาได้เอง การกำหนดเช่นนี้ถือเป็นการให้อำนาจสำนักงานใหญ่กว่าคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย เขาเห็นว่าควรแก้ไขเรื่องการให้อำนาจแก่สำนักงานในประเด็นนี้ ด้าน แววดาว เขียวเกษม มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เห็นคล้องกันว่า การพิจารณาว่าจะยุติการสนับสนุนหรือไม่ยุติน่าจะเป็นอำนาจของคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย ไม่ใช่อำนาจของสำนักงาน 
ธนู แนบเนียน องค์การความร่วมมือเพื่อการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ อันดามัน กล่าวว่า การให้อำนาจยุติการให้คำปรึกษาเพียงเพราะไม่สามารถติดต่อตัวแทนได้นั้นเร็วเกินไป น่าจะไม่ดี หากติดต่อตัวแทนไม่ได้สำนักงานก็น่าจะใช้วิธีการลงพื้นที่ไปดูด้วยว่า ปัญหานั้นๆ ยังมีอยู่หรือไม่
เสนอให้มีกรอบเวลาทำงานของกรรมการปฏิรูปกฎหมายด้วย
"ข้อ ๙ ผู้มีสิทธิขอให้สนับสนุนในการร่างกฎหมาย
ให้สำนักงานสนับสนุนการร่างกฎหมายของประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง เมื่อมีประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในสิบของจำนวนประชาชนที่มีสิทธิเข้าชื่อเสนอกฎหมายยื่นคำขอต่อสำนักงาน
คำขอรับการสนับสนุนจะต้องระบุรายละเอียดเกี่ยวกับประชาชนที่ยื่นคำขอทุกราย และระบุว่าจะแต่งตั้งผู้ใดเป็นตัวแทนพร้อมรายละเอียดที่สามารถติดต่อตัวแทนได้
แบบคำขอ เอกสารประกอบคำขอ และวิธีการตรวจสอบความถูกต้องของคำขอให้เป็นไปตามที่สำนักงานกำหนด"
ดร.ภูมิ มูลศิลป์ กล่าวว่า ต้องการเห็นแบบฟอร์มคำขอและเอกสารประกอบคำขอ ว่าคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายต้องการข้อมูลอะไรบ้าง และอยากรู้ว่า คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายมีกรอบระยะเวลาพิจารณาเท่าไรว่าจะสนับสนุนเรื่องใดหรือไม่ เช่นเดียวกับที่ วีรวิทย์ เธียรชัยนันท์ เสนอว่า ระเบียบควรกำหนดระยะเวลาไว้ว่าสำนักงานมีหน้าที่ต้องตอบผู้ขอรับการสนับสนุนภายในเวลาเท่าไร หากกำหนดเพียงคำว่า “โดยเร็ว” ก็ถือว่ากำกวมเกินไป 
ศรีสุวรรณ จรรยา สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน กล่าวว่า ร่างระเบียบนี้มีการร่างระเบียบซ้อนระเบียบ หรือเงื่อนไขหลักเกณฑ์เพิ่มขึ้นไปอีก เช่น ในข้อ 5. เปิดช่องทางให้สำนักงานกำหนดรายละเอียดได้อีก คิดว่าขัดต่อเจตนารมณ์ของการมีคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย ซึ่งควรจะลดความเป็นหน่วยราชการให้มากที่สุด
ศรีสุวรรณ กล่าวต่อว่า เมื่อประชาชนมาขอคำปรึกษาแล้วก็ควรต้องมีกรอบให้ว่าจะได้อะไรกลับไปเมื่อไร เช่น จะต้องได้คำตอบภายใน 15 วัน การกำหนดแบบนี้เพื่อให้สำนักงานทำงานแบบตื่นตัวอยู่ตลอดเวลา และสำนักงานไม่ควรมีข้อกำหนดเรื่องการยุติการให้คำปรึกษา
ไฟล์แนบ