นักสิทธิกังวล เลื่อนตัดสินคดีผู้ดูแลเว็บ ยืดเวลาความกลัว

30 เมษายน 2555 ศาลนัดอ่านคำพิพากษาในดคีที่จีรนุช เปรมชัยพร ผู้อำนวยการเว็บไซต์ประชาไท ถูกฟ้องฐานเป็นผู้ให้บริการจงใจสนับสนุนหรือยินยอมให้มีข้อความผิดกฎหมายในเว็บไซต์ของตน ตามมาตรา 15 ของพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 แต่ศาลแจ้งว่าเนื่องจากเอกสารในคดีนี้มีจำนวนมากศาลจึงขอเลื่อนวันอ่านคำพิพากษาออกไปเป็นวันที่ 30 พฤษภาคม 2555 แทน 

สมาพันธ์ผู้สื่อข่าวในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือ ซีป้า (Southeast Asia Press Alliance – SEAPA) เดินหน้าจัดงานแถลงข่าวเกี่ยวกับคดีนี้ ที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทย (Foreign Correspondents’ Club of Thailand–FCCT) โดยมีตัวแทนจากสถานทูต องค์กรพัฒนาเอกชน สื่อมวลชน และผู้ที่สนใจเข้าร่วมเสวนาราวสามสิบคน 
ที่มาภาพ ประชาไท
จีรนุช เปรมชัยพร ผู้อำนวยการเว็บไซต์ประชาไทและจำเลยในคดี กล่าวความรู้สึกของตนว่า เตรียมใจรับสถานการณ์ไว้หลายรูปแบบ แต่ไม่คาดคิดว่าศาลจะเลื่อนนัดการอ่านคำพิพากษาออกไป โดยส่วนตัวแล้ว ไม่รู้สึกสบายใจ แม้จะรับเหตุผลที่ศาลขอเวลาพิจารณาเอกสารเพิ่มเติมได้ เนื่องจากในวันสุดท้ายของการสืบพยาน ศาลกล่าวรับรองการไต่สวนคดีอย่างเป็นธรรม และจะมอบโอกาสในการต่อสู้คดีอย่างถึงที่สุด
กายาทรี เวนกิทสวารัน ผู้อำนวยการซีป้า กล่าวว่า คดีประชาไทมีประเด็นสำคัญเพราะเป็นเรื่องบทบาทความรับผิดของตัวกลางซึ่งเกี่ยวข้องกับเรื่องสิทธิเสรีภาพการแสดงความคิดเห็น การเลื่อนวันอ่านคำพิพากษาออกไปนั้นเป็นสิ่งที่ไม่คาดฝัน แต่หวังว่าการตัดสินใจของศาลจะเป็นผลเชิงบวกต่อคดี
ศิลป์ฟ้า ตันศราวุธ ตัวแทนจากองค์กรรณรงค์เพื่อเสรีภาพสื่อในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ Southeast Media Defense กล่าวว่า คดีที่เป็นหมุดหมายนี้ เมื่อถูกตัดสินแล้ว จะมีผลอันน่ากลัว (chilling effects) ต่อแวดวงผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตไทย ถ้าผลการตัดสินออกมาว่าผิดจริง ผู้ให้บริการทางอินเทอร์เน็ต ต้องเฝ้าเว็บไซต์ของตัวเองวินาทีต่อวินาที ไม่ใช่ต่อชั่วโมง ไม่ว่าข้อความนั้นจะขึ้นมากี่วินาทีหรือกี่นาที ก็จำเป็นต้องลบมันออกให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้
สุนัย ผาสุก องค์กรฮิวแมนไรท์วอทช์ (Human Rights Watch – HRW) เห็นว่า คดีประชาไทไม่ควรดำเนินคดีแต่แรก การเลื่อนกำหนดอ่านคำพิพากษาของคดียิ่งสร้างบรรยากาศความกลัวให้ตัวกลาง อย่างไรก็ตามในระยะเวลาหนึ่งเดือนที่ศาลขอพิจารณาเอกสารเพิ่มเติมนั้น หวังเป็นอย่างยิ่งว่า ศาลจะนำข้อเสนอแนะของผู้ตรวจการพิเศษแห่งสหประชาชาติด้านสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น (Special Rapporteur on the promotion and protection of the right to freedom of opinion and expression– Mr. Frank La Rue) และสำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (OHCHR) ซึ่งไม่สนับสนุนการเอาผิดตัวกลางจากการโพสต์ข้อความซึ่งตนไม่ได้เป็นผู้เขียนมาร่วมพิจารณาด้วย 
อาทิตย์ สุริยะวงศ์กุล เครือข่ายพลเมืองเน็ต (Thai Netizen Network – TNN) กล่าวถึงเจตนารมณ์ของพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ 2550 ว่ามีขึ้นเพื่อป้องกันการทำลายระเบียบสาธารณะ ระบบสาธารณูปโภคและความมั่นคงแห่งชาติ ดังนั้น อาชญากรรมคอมพิวเตอร์ตามความหมายนี้จึงเป็นคดีที่ยอมความไม่ได้ ทั้งนี้ ข้อมูลที่นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์แล้วเป็นความผิดนั้น หมายถึงการเข้ารหัส อันเป็นภาษาที่มนุษย์ไม่สามารถเข้าใจได้ แต่สถิติคดีสามปีที่ผ่านมากลับพบว่า พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ 2550 ถูกตีความใช้ดำเนินคดีคู่กับกฎหมายอาญาฐานหมิ่นประมาท ซึ่งการตีความดังกล่าวขัดกับวัตถุประสงค์ที่แท้จริงของกฎหมายที่มุ่งปราบปรามการกระทำที่บ่อนทำลายสาธารณสมบัติแห่งชาติ 
ช่วงท้ายของงาน ผู้ร่วมเสวนาร่วมกันแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการมีหลักปฏิบัติของตัวกลางในการจัดการกับข้อความที่ไม่เหมาะสมว่า กระทรวงไอซีทีควรสร้างระบบแจ้งเตือนและนำข้อความลง (Notice and Take-down System) โดยแจ้งเตือนตัวกลางเป็นลายลักษณ์อักษรและกำหนดช่วงเวลาในการนำข้อความลงอย่างเหมาะสม