#ส่องประชามติ: เมื่อการอำนวยความสะดวกของรัฐไปไม่ถึงคนทุกกลุ่ม

ปฏิเสธไม่ได้ว่า ในการออกเสียงประชามติวันที่ 7 สิงหาคม 2559 ที่มีผู้มาใช้สิทธิจำนวน 27,623,126 คน จากจำนวนทั้งหมด 50,585,118 คนนั้น มีคนจำนวนหนึ่งที่เข้าไม่ถึงการอำนวยความสะดวกของรัฐ ไม่ว่าจะเป็นการขอใช้สิทธิลงประชามตินอกเขต หรือการเข้าถึงเอกสารเนื้อหาเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะกลุ่มคนพิการ ผู้สูงอายุ กลุ่มชาติพันธุ์ลัวะ ปกาเกอะญอ และกลุ่มคนมลายู จังหวัดยะลา เป็นต้น

ถ้าจะฟันธงว่าภาครัฐไม่อำนวยความสะดวกประชาชนเลยก็ออกจะใจร้ายเกินไป เพราะภาครัฐเองก็มีความพยายามที่จะอำนวยความสะดวกให้กับประชาชนอยู่หลายอย่าง เช่น การจัดหน่วยออกเสียงประชามติทั่วประเทศจำนวน 22 แห่ง และจัดพิมพ์ร่างรัฐธรรมนูญอักษรเบรลล์ เพื่อรองรับการใช้สิทธิของกลุ่มคนพิการและยังจัดเจ้าหน้าที่ประจำหน่วยฯ คอยอำนวยความสะดวกสำหรับคนพิการทางร่างกายที่ต้องใช้วีลแชร์ โดยข้อเท็จจริงชุดนี้มี สมชาย เจริญอำนวยสุข อธิบดีกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ (พก.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เป็นผู้ยืนยัน

มิใช่แค่นั้น ธนิศร์ ศรีประเทศ รองเลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ด้านกิจการบริหารกลาง ได้ชี้แจงและย้ำถึงการจัดยานพาหนะเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้มีสิทธิออกเสียงประชามติโดยหน่วยงานของรัฐว่า สามารถทำได้ตามมาตรา 62 วรรค 2 ในกรณีพื้นที่ดังกล่าวมีความยากลำบากในการเดินทาง และเป็นการอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้พิการ ทุพพลภาพ หรือผู้สูงอายุ โดยหน่วยงานดังกล่าวจะจัดได้ต้องร้องขอเท่านั้น และกรรมการประจำเขตต้องอนุญาต และการดำเนินการต้องทำด้วยความระมัดระวังไม่ให้เป็นการจูงใจ หรือควบคุมผู้มีสิทธิออกเสียงไปออกเสียงอย่างใดอย่างหนึ่ง มิฉะนั้นจะมีโทษจำคุก 1-5 ปี ปรับตั้งแต่ 20,000-100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ หรือศาลอาจเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 5 ปี

ธนิศร์ยังกล่าวถึงการอำนวยความสะดวกผู้พิการทางสายตาว่า กกต.มีการจัดพิมพ์ร่างรัฐธรรมนูญฉบับอักษรเบรลล์ จำนวน 500 ฉบับ และมีการแจกจ่ายไปทั้งหมดแล้ว 48 องค์กร เช่น โรงเรียนการศึกษาคนพิการตาบอดซ้ำซ้อน จังหวัดลพบุรี โรงเรียนการศึกษาคนตาบอด อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย เป็นต้น รวมทั้งมีการจัดทำบัตรภาพที่มีคำถามเห็นชอบ ไม่เห็นชอบ และคำถามพ่วงไว้สำหรับอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ใช้สิทธิ ขณะเดียวกันได้จัดหน่วยออกเสียงพิเศษให้แก่ผู้สูงอายุ คือ บ้านบางแค 1 และ 2

ทั้งนี้ทั้งนั้น การอำนวยความสะดวกดังกล่าวเป็นไปตามประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้ง เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการออกเสียงประชามติ ณ ที่ออกเสียงสําหรับคนพิการหรือทุพพลภาพ หรือผู้สูงอายุ แต่ทว่าจากการติดตามและพูดคุยกับกลุ่มต่างๆ ที่ต้องการการอำนวยความสะดวกจากรัฐ ทำให้เราพบข้อเท็จจริงจำนวนหนึ่งว่า การอำนวยความสะดวกจากรัฐยังไม่เป็นที่น่าพอใจและบางปัญหาเป็นสิ่งที่กลุ่มคนเหล่านี้ต้องแบกภาระมาโดยตลอด

ถึงแม้จะมีการจัดหน่วยออกเสียงประชามติสำหรับคนพิการทั่วประเทศ 22 แห่ง แต่ก็มีเสียงสะท้อนปัญหาจากกลุ่มคนพิการจำนวนหนึ่งว่า การจัดหน่วยออกเสียงประชามติสำหรับคนพิการเป็นการริเริ่มของ กกต. ที่ดี ที่จัดให้มีหน่วยพิเศษสำหรับคนพิการ แต่ก็ยังมีข้อควรปรับปรุงในครั้งต่อไป เนื่องจากมีการกำหนดเงื่อนไขว่า ถ้าจะจัดหน่วยออกเสียงสำหรับคนพิการหรือผู้สูงอายุนั้น ต้องมีบุคคลมาลงทะเบียนไว้ไม่น้อยกว่า 100 คน  อีกทั้งการอำนวยความสะดวกด้านสถานที่ มีบางหน่วยอยู่ชั้นสองชั้นสามของตึก บางหน่วยมีขั้นบันได หรือแม้แต่ด้านการรับ-ส่งกลุ่มคนพิการ ไม่มีรถรับ-ส่ง คนพิการต้องพึ่งพาญาติพี่น้องเอง  ศุภวัฒน์ สมาชิกเครือข่ายผู้พิการ กล่าว

ศุภวัฒน์เสนอแนะในครั้งต่อไปว่า หากมีการทำงานครั้งต่อไป การจัดหน่วยออกเสียงพิเศษ ไม่ควรทำงานกับสมาคมเครือข่ายคนพิการเพียงอย่างเดียว เพราะสมาคมก็จะมีแต่บัญชีรายชื่อสำหรับคนพิการที่ลงทะเบียนเป็นคนพิการเท่านั้น กกต.ต้องทำงานในระดับท้องถิ่น ลงไปดูในระดับพื้นที่ ลงไปประชาสัมพันธ์เป็นข้อๆ ติดต่ออะไร กับใคร อย่างไร เพื่อดูว่า คนในพื้นที่นั้นๆ มีจำนวนคนพิการที่มีสิทธิแต่ไม่ลงทะเบียนเป็นคนพิการเท่าไหร่ เพื่อให้ทุกคนได้ข้อมูลเท่ากัน และคนพิการสามารถไปบอกต่อข้อมูล ตลอดจนรัฐสามารถอำนวยความสะดวกในการเดินทางจัดเป็นหน่วยออกเสียงย่อย เช่น เป็นตำบล อำเภอ ได้ 

ในส่วนของการอำนวยความสะดวกสำหรับคนพิการ ในบริบทที่เป็นจริงนั้น นลัทพร ไกรฤกษ์ ผู้สื่อข่าวประชาไท ได้เล่าว่า ตอนที่ไปใช้สิทธิลงประชามติในเขตที่ตนมีสิทธิ ไม่มีเจ้าหน้าที่ประจำหน่วยคอยอำนวยความสะดวกให้คนพิการทางร่างกายที่ต้องใช้วีลแชร์  

“ไม่เห็นจำเป็นให้เราไปลงทะเบียนคนพิการ มันไม่ใช่ สมมติว่า เราพิการที่ไหน ก็จะมีชื่อเราอยู่ในฐานข้อมูล เขาต้องมีข้อมูล ที่เป็นอะไรบ้าง จึงไม่จำเป็นต้องลงทะเบียนต้องการความช่วยเหลือพิเศษ” นลัทพรกล่าว

ทั้งนี้ ปัญหาของผู้มีสิทธิออกเสียงประชามติก็ไม่ได้จำกัดอยู่ที่ความแตกต่างทางร่างกายที่ไม่เท่ากัน แต่ยังรวมไปถึงความแตกต่างทางภาษาอีกด้วย

กิตติศักดิ์ ปัตตานี ผู้อำนวยการศูนย์บูรณาการคนหนุ่มสาวเพื่อศักยภาพชุมนุมชน (YICE) ผู้ที่ทำงานกับนักศึกษา เยาวชน และภาคประชาสังคม ที่สามจังหวัดชายแดนใต้ เล่าให้ฟังถึงสถานการณ์ที่คนมลายูบางส่วนเข้าไม่ถึงร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับลงประชามติ 2559 ที่ผ่านมาว่า คนรอบตัวที่เป็นมลายู ไม่มีความเข้าใจร่างรัฐธรรมนูญฉบับลงประชามติที่ผ่านมา พวกเขารู้แค่ว่า ไม่มีความชอบธรรม เพราะร่างดังกล่าวไม่ได้เกิดขึ้นมาบนฐานที่ประชาชนออกแบบ

ขณะที่ รุสลัน อาแซ กลุ่มคนมลายู จังหวัดยะลา คือ ผู้ที่อ่านร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับลงประชามติ เขาก็พบปัญหาว่า เขาอ่านร่างดังกล่าวแล้วบางส่วนเขาก็ไม่เข้าใจ เพราะเขาแปลร่างดังกล่าวไม่ออก และกังวลใจว่า อาจจะตีความร่างผิดไปจากเนื้อความที่ กกต.ต้องการจะสื่อ เพราะร่างนี้เป็นภาษาไทย ไม่ใช่ภาษามลายู

ไม่ค่อยจะมีคนมาชี้แจง น่าจะมีการแจก พิมพ์ ใบปลิว อย่างน้อยให้มีภาษามลายู เผื่อชาวบ้านเค้าไม่อ่านภาษาไทย บางทีชาวบ้านเข้าใจตามภาษาเค้า เค้าดูจากข่าว เข้าใจผิวเผิน ไม่ได้เข้าใจลึก” รุสลันกล่าว

รุสลันยังเพิ่มเติมถึงอุปสรรคที่เกิดขึ้นในพื้นที่บางส่วนของยะลาอีกว่า แม้ว่ากลุ่มคนมลายู จังหวัดยะลา ติดตามข่าว แต่บริเวณพื้นที่ดังกล่าวก็ไม่มีคลื่นสัญญาณที่ชัดเจน เวลาจะเล่นอินเทอร์เน็ต ต้องออกจากหมู่บ้านมาที่ตลาดสด ประมาณ 10 กิโลเมตร ถึงจะมีคลื่นสัญญาณในการติดตามข่าวสาร ข้อมูล ผ่านเฟซบุ๊กและไลน์กลุ่ม

นอกจากผู้ใช้ภาษามลายูแล้ว ยังมีกลุ่มอื่นๆ อีกด้วยที่ประสบปัญหาการเข้าถึงเนื้อหาเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับลงประชามติ ปัญหาที่มีนั้นก็ไม่ต่างจากของคนเมือง ที่รัฐไม่มีการส่งเสริม สนับสนุน เปิดโอกาสให้มีพื้นที่ทำความเข้าใจและตัดสินใจเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญอย่างเพียงพอ 

ธนารักษ์ สมฤทธิ์ อาสาสมัครนักสิทธิมนุษยชน รุ่น 11 ศูนย์พิทักษ์และฟื้นฟูสิทธิชุมชนท้องถิ่น บอกเล่าว่า จากการรับฟังข้อมูลของคนทำงานในแต่ละพื้นที่ที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มชาติพันธุ์ซึ่งไม่ได้ใช้ภาษาไทยเป็นภาษาหลักในชีวิตประจำวัน พบว่า โดยส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล ทำให้เกิดความยากลำบากในการเข้าถึงเนื้อหาเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญที่รัฐจัดให้มีด้วย เช่น ไม่ได้รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับเต็ม หรือได้รับแต่ก็มีไม่เพียงพอ และเมื่อไม่มีโอกาสทำความเข้าใจอย่างมากพอ เมื่อใกล้วันประชามติ การตัดสินใจนั้นจึงอยู่กับผู้นำในหมู่บ้านที่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์เหมือนกัน เนื่องจากมีความน่าเชื่อถือซึ่งเป็นไปตามวัฒนธรรมดั้งเดิม เป็นผู้ที่มีโอกาสได้รับข้อมูลจากรัฐมากกว่าคนอื่น เช่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน

วรวุธ ตามี่ ชาติพันธุ์ลีซู (ลีซอ) เจ้าหน้าที่ภาคสนาม ศูนย์พิทักษ์และฟื้นฟูสิทธิชุมชนท้องถิ่น ได้เล่าถึงปัญหาการเข้าถึงเนื้อหาเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับลงประชามติว่า “ข้อมูลข่าวสารเรื่องเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญไปไม่ถึงมือชาวบ้านชนเผ่าทุกราย ส่วนใหญ่กลุ่มที่เข้าถึงคือ กลุ่มกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน กำนัน ผู้ใหญ่บ้านจะตีความได้ทุกมาตรา แล้วอธิบายให้กับพี่น้องชนเผ่าลูกบ้านที่อยู่ในความปกครองดูแล ได้แค่ไหน อย่างไร” 

ในส่วนของความรู้ความเข้าใจก่อนลงประชามติ บริบทในพื้นที่ก่อนลงประชามติ ที่บ้านดอยล้าน ตำบลวาวี จังหวัดเชียงราย ผู้มีสิทธิลงคะแนนเสียงหรือลงประชามติมีจำนวน 3 ร้อยกว่าโดยประมาณ ส่วนใหญ่คนในพื้นที่ได้เพียงจุลสารที่เป็นเล่มเล็ก ที่มีความเห็นเพิ่มเติมของ กรธ. และ กกต. หลังคาละเล่มพร้อมกับรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งเท่านั้น ตอนเช้าๆ ของบ้านดอยล้านจะมีป้อหลวงหรือผู้ใหญ่บ้าน ประกาศเสียงตามสายว่า ให้ไปลงทะเบียนผู้ยากไร้ที่มีรายได้ไม่เกินหนึ่งแสนบาท ที่บ้านป้อหลวง เพื่อรัฐบาลใหม่ช่วยเหลือ หากประชามติผ่าน  

ผู้นำไม่ค่อยประชาสัมพันธ์ มีส่วนน้อยที่อ่านไทยได้ ส่วนมากกลุ่มวัยรุ่นอ่านไทยได้ ส่วนคนเฒ่าคนแก่ต้องให้เราอ่านให้ฟัง หรือพวกเราเผ่าลีซอ จะดูข่าวสารที่ทีวี” มูหล่า ชาติพันธุ์ลีซอ (ลีซู) อาศัยอยู่ที่บ้านดอยล้าน กล่าว

แม้ว่าภาครัฐจะมีความมุ่งมั่นจัดการออกเสียงประชามติให้บรรลุเป้าหมาย คือ ประชาชนได้รับการอำนวยความสะดวกในการลงประชามติ แต่ในเชิงปฏิบัติก็มีกลุ่มคนบางส่วนที่ไม่ได้รับเจตนารมณ์ของเป้าหมายนั้นอย่างทั่วถึง หมายความว่า การแจกจ่ายร่างรัฐธรรมนูญ และการประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อวิดีโอ แผ่นพับการออกเสียงประชามติ ไม่สามารถบรรลุเป้าหมายที่จะให้ประชาชนมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญอย่างดีก่อนจะไปลงประชามติ

You May Also Like
อ่าน

เศรษฐาแถลง ประชามติ 3 ครั้งสู่รัฐธรรมนูญใหม่ “ห้ามแตะหมวดทั่วไป-หมวดพระมหากษัตริย์” ย้ำพร้อมแก้ พ.ร.บ.ประชามติ

23 เมษายน 2567 เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ระบุว่ารัฐบาลมีความเห็นสอดคล้องกับข้อสรุปของคณะกรรมการประชามติ ที่เห็นว่าควรมีการทำประชามติสู่รัฐธรรมนูญใหม่ทั้งสิ้นสามครั้ง ไม่แตะหมวดทั่วไปและหมวดพระมหากษัตริย์ และเน้นย้ำว่าควรมีการแก้ไข พ.ร.บ. ประชามติ ควบคู่กันไปด้วย
อ่าน

ศาลรธน. ไม่รับคำร้อง ปมรัฐสภาถามเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ทำประชามติกี่ครั้ง ทำตอนไหน

17 เมษายน 2567 ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเไม่รับคำร้องที่รัฐสภาขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยปัญหาอำนาจหน้าที่ของรัฐสภาว่า รัฐสภาจะมีอำนาจในการพิจารณาแก้รัฐธรรมนูญได้เลยหรือต้องทำประชามติก่อน