ฝ่าวิกฤติชายแดนไทยเขมร : ชำแหละเส้นเขตแดน ความเข้าใจประวัติศาตร์ไทย

วันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2554 ที่ห้องประชุม มาลัยหุวนันต์ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีการจัดงาน “รัฐศาสตร์ภาคประชาชน ครั้งที่ 1”ภายใต้หัวข้อ “ฝ่าวิกฤติชายแดนไทยเขมร” ท่ามกลางข่าวการปะทะกันเป็นระยะๆ บริเวณชายแดนไทยกัมพูชา รอบปราสาทเขาพระวิหาร จ.ศรีษะเกษ

วิทยากร ผู้เข้าร่วมเสวนาได้แก่ รศ.ดร.สุรชาติ บำรุงสุข ศ.ดร. ธงชัย วินิจจะกูล และมี อ.พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ เป็นผู้ดำเนินรายการ

 

 

รศ. ดร.สุรชาติ บำรุงสุข :

ฝรั่งเศสบุกอินโดจีน ทำสามสนธิสัญญา หนึ่งแผนที่
คนในห้องนี้ส่วนใหญ่เรียนประวัติศาสตร์ผ่านวิชา สปช. ไม่ได้เรียนประวัติศาสตร์จริงๆ ความทรงจำเกี่ยวกับยุครัชกาลที่ 4-5 เราเหลือน้อยมาก วิชาสปช.พูดผิวเผินมากเรื่องการเสียดินแดน ซึ่ง เรียนแล้วได้เห็นหรือสร้างความรู้ความเข้าใจมากขึ้นเกี่ยวกับสยามสมัยเผชิญลัทธิอาณานิคมหรือไม่

ผมคิดว่า กระบวนการกล่อมเกลาไม่ได้สร้างให้เราเข้าใจบางเรื่อง และบางเรื่องที่เราไม่เข้าใจเมื่อโตขึ้นมาก็ไม่รู้ คนไทยในยุคหลังลืมไปแล้วว่า ปราสาทเขาพระวิหาร ถูกตัดสินแล้วโดยศาลโลก คนในยุคหลังจำนวนมากยังคิดว่าเขาพระวิหารเป็นของไทย

ฝรั่งเศสเข้าสู่ภูมิภาคเราประมาณ ค.ศ. 1859 ทางไซ่ง่อน ในพื้นที่หลายส่วนที่ฝรั่งเศสเข้าไป ต้องปะทะกับคนที่มีอำนาจในท้องถิ่น ซึ่งสมัยนั้นมีเจ้าพ่อใหญ่ คือ หงสาวดี ฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง และลุ่มน้ำเจ้าพระยา พอช่วงต้นรัตนโกสินทร์ อิทธิพลของหงสาวดี และฝั่งลาวหายไป เหลือแต่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา เมื่อฝรั่งเศสเข้ามาในภูมิภาค ติดอำนาจของสยาม ทำให้ไม่สามารถเข้าไปเอาผลประโยชน์ได้เท่าที่ต้องการ จึงเกิดวิกฤติการณ์ รศ.112 วิกฤติการณ์ปากน้ำ และเกิดสนธิสัญญาปี ค.ศ.1893 เราเสียฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง หลวงพระบาง เวียงจันทร์

เมื่อฝรั่งเศสไปยึดเมืองจันทร์ (จันทบุรี-iLaw) แล้วก็ไปยึดเมืองตราด ความเข้าใจเดิมของฝรั่งเศสคือ เมืองตราดเป็นคนกัมพูชา แต่เมื่อไปปกครองแล้วจึงรู้ว่า คนตราดเป็นคนสยาม ทำให้ฝรั่งเศสเห็นปัญหาว่าเราไม่มีเส้นเขตแดนที่บ่งบอกจุดสิ้นสุดอธิปไตยของรัฐ จึงมาพูดเรื่องเขตแดนกันในสนธิสัญญาปี ค.ศ.1904 ผลพวงคือเราต้องมีเส้นเขตแดน เพื่อให้รู้ว่าเมื่อไรฝรั่งเศสรุกดินแดนสยาม และเมื่อไรสยามรุกดินแดนฝรั่งเศส

ในปี ค.ศ.1907 มีสนธิสัญญาที่สำคัญมากอีกฉบับหนึ่ง รัชกาลที่ 5 ตัดสินใจแลกดินแดน ด่านซ้าย ตราด เกาะส่วนในของเกาะกูด และแหลมสิงห์ แลกกับ พระตะบอง เสียมราฐ ศรีโสภณ เพื่อยุติปัญหากับฝรั่งเศส แต่เมื่อตกลงแล้วมีเรื่องใหญ่ตามมาคือต้องปักปัน เพราะไม่รู้ว่าเขตอิทธิพลของสยามและฝรั่งเศสอยู่ตรงไหน จึงมีการทำแผนที่แนบท้ายสนธิสัญญา

ความเข้าใจที่ผิดในสังคมปัจจุบัน
สามอนุสัญญากับหนึ่งแผนที่ ผมมีคำถาม คำถามข้อหนึ่ง ตกลงท่านรับไหม? สัญญาและอนุสัญญาเหล่านี้ เพราะพระมหากษัตริย์ได้ให้สัตยาบันแล้ว ข้อหนึ่งของสนธิสัญญา ค.ศ.1904 บอกว่าเส้นเขตแดนให้ใช้สันปันน้ำ และข้อสามบอกว่าให้คณะกรรมการเป็นผู้ปักปัน ท่านยอมรับไหมว่าการปักปันเกิดจากคณะกรรมการผสม

ข้อถกเถียงตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2551 ที่ว่าการปักปันเป็นการปักปันเอกเทศนั้นไม่จริง เพราะจริงๆ แล้วเกิดจากคณะกรรมการผสมตามสนธิสัญญา ค.ศ.1907 เราไม่ควรเรียนแผนที่ว่า แผนที่แบนา แต่ต้องเรียกว่าแผนที่ เดชอุมดม-แบนา ซึ่งเป็นชื่อของกรรมการทั้งสองฝ่าย ถ้าใช้ชื่อนี้จะทำให้เกิดจินตนาการว่าเกิดจากคณะกรรมการผสม

ข้อสอง เรารับหรือไม่รับแผนที่นี้ เมื่อแผนที่ตีพิมพ์เสร็จในปี ค.ศ.1908 รัฐบาลสยามร้องขอให้ฝรั่งเศสตีพิมพ์เพิ่มอีก 50 ชุด ส่งกลับกรุงเทพ 44 ชุด เพราะฉะนั้นคำขอตีพิมพ์จากรัฐบาลสยามที่กรุงเทพฯ ถือเป็นผลผูกมัดว่ารัฐบาลสยามนั้นยอมรับเส้นเขตแดนแล้ว อันนี้คือแผนที่ที่เรียกว่าแผนที่ 1 ต่อ 200,000 มีคนบอกว่ารัฐบาลรับบางระวางและไม่รับบางระวาง เป็นไปไม่ได้ ถ้ารับต้องรับแนวเส้นเขตแดนทั้งหมด

มีคนชอบพูดถึงเอกสารลับ และแผนที่ลับ ผมว่าเราสร้างจิตนาการแบบหนังสายลับตะวันตกไม่ได้ ความตกลงระหว่างสยามกับฝรั่งเศสไม่ใช่ดาวินซี่โค้ด เพราะสยามต้องการความชัดเจน ดังนั้นจึงต้องทำทุกอย่างในที่เปิด ความตกลงลับมีในเรื่องความสัมพันธ์ของอังกฤษกับฝรั่งเศส แต่ไม่ใช่เรื่องเขตแดน

การสงวนสิทธิในคำพิพากษาที่เราทำไว้ว่าจะขอนำเรื่องนี้ขึ้นไปพิจารณาคดีใหม่  ต้องถามว่ามีการสงวนสิทธิที่ไหนบ้างที่คงอยู่ตลอดไปชั่วฟ้าดินสลาย โดยหลักการสงวนสิทธิถือหลักคือ 10 ปี หากไม่ใช้สิทธิก็จะหมดไป ประเด็นใหญ่คือการสงวนสิทธิแปลว่าต้องใช้สิทธิที่สงวนด้วย และหากจะใช้สิทธิได้ต้องมีหลักฐานใหม่ที่มีผลเปลี่ยนแปลงคำพิพากษาของศาล จึงน่าจะถือว่าเรื่องการสงวนสิทธิยุติไปแล้วตั้งแต่ปี พ.ศ. 2515 เพราะสิบปี ตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2505-2515 เราไม่เคยมีหลักฐานใหม่ที่จะแสดงต่อศาล

เราทำความตกลงที่เป็นบันทึกช่วยจำ หรือ เอ็มโอยู ปี 43 คือกรอบที่ตกลงว่าถ้าในอนาคตเกิดปัญหาข้อพิพาท ข้อตกลงที่จะใช้เป็นบรรทัดฐานจะยืนอยู่บนสนธิสัญญา ค.ศ. 1893 1904 1907 และแผนที่ประกอบ เพราะฉะนั้นไม่ว่าเลิกหรือไม่เลิก เอ็มโอยู 43 สัญญาก็ยังคงอยู่ไม่ได้หายไปไหน และโดยหลักระหว่างประเทศ รัฐไม่มีอำนาจยกเลิกความตกลงใดๆ โดยเอกเทศโดยรัฐคู่สัญญาไม่ได้ยินยอมด้วย เราทำอย่างนั้นไม่ได้ ไม่งั้นจะเสียความน่าเชื่อถือ

แผนที่ 1 ต่อ 50,000 ที่ถูกอ้างบ่อยมาก เป็นแผนที่ที่กองทัพสหรัฐ ทำไว้ช่วงสงครามเวียดนาม เป็นแผนที่ทหาร หรือแผนที่ยุทธการ ไม่ใช่แผนที่ที่ใช้ปักปันเขตแดน โดยพื้นฐานแล้วไม่สามารถนำมาใช้เป็นข้ออ้างในการทำความตกลงระหว่างประเทศ หรือในศาลระหว่างประเทศ และแผนที่นี้ไม่เคยได้สัตยาบันจากฝ่ายใดทั้งสิ้น

พื้นที่ทับซ้อน คือ แนวเส้นเขตแดนที่เกิดจากเส้นลากของคณะกรรมการปักปันปี ค.ศ.1907 ตามอนุสัญญา ค.ศ.1904 ข้อหนึ่งถือว่าเส้นเขตแดนคือสันปันน้ำ และข้อสามบอกว่าถือตามที่คณะกรรมการปักปัน ซึ่งศาลโลกถือตามข้อสามเพราะฉะนั้น รอยเหลื่อมระหว่างเส้นเขตแดนสันปันน้ำ กับเส้นเขตแดนของคณะกรรมการผสมที่ล้ำสันปันน้ำเข้ามาด้านใน ส่วนนี้คือพื้นที่ทับซ้อน นั่นหมายความว่าเราต้องทำใจพอสมควร ความโชคดีในปี พ.ศ.2505 คือกัมพูชาไม่ได้ฟ้องให้ศาลชี้เส้นเขตแดน ฟ้องแค่ตัวเขาพระวิหาร ถ้าหากฟ้องให้ชี้เส้นเขตแดน เรายุ่งกว่านี้ จึงดีกว่าหากเราปล่อยให้ตรงนั้นเป็นพื้นที่ทับซ้อน

ศาลโลกตัดสินแล้ว และรัฐบาลจอมพลสฤษฎิ์ขีดเส้นไว้แล้ว
ปัญหามีในปี พ.ศ. 2502 เกิดการก่อตั้งประเทศใหญ่สามประเทศ คือ เวียดนาม ลาว กัมพูชา เมื่อตกลงกันไม่ได้ก็ไปขึ้นศาลโลก ตกลงศาลโลกตัดสินแล้ว ในวันที่ 15 มิถุนายน ลงความเห็นว่าปราสาทพระวิหารอยู่ใต้อำนาจอธิปไตยของกัมพูชา ถ้าไม่ยอมรับ ตกลงคำตัดสินนี้คืออะไร? เมื่อ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2505 รัฐบาลที่กรุงเทพไม่พูดเลยว่าศาลโลกตัดสิน จนถึงถึง 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2505 จมพลสฤษฎิ์ จึงออกมายอมรับ ช่องว่างเกือบครึ่งเดือน ผมคิดว่ามีความพยายามหาทางยื้อ ไม่ยอมรับมติศาลโลก แต่คำตอบชัดคือต้องรับเพราะมีพันธะกับยูเอ็น และเมื่อเรายอมรับแล้วเราต้องทำงานกลับไปที่ยูเอ็นว่าเราดำเนินการอย่างไรบ้าง

ในที่สุด มติ ครม.สมัยจอมพลสฤษฎิ์ ปี 2505 ได้ลากเส้นกำกับ เวิ้งพื้นที่ตรงนั้นคือเส้นเขตแดนที่ปักไว้ เพื่อทำรายงานส่งยูเอ็น จริงๆ เวิ้งตรงนั้นเราตัดเรียบร้อยแล้ว แต่คนรุ่นปัจจุบันที่สะพานมัฆวานเชื่อว่า กัมพูชาได้แต่ตัวปราสาทแม้แต่พื้นที่ใต้ตัวปราสาทก็เป็นของไทย จนมีบางคนพูดว่าเปรียบได้กับกัมพูชาลืมมือถือไว้บนโต๊ะในไทย มือถือเป็นของกัมพูชา แต่โต๊ะและพื้นที่เป็นของไทย ผมคิดว่าทฤษฎีนี้ใช้ไม่ได้เพราะเป็นเรื่องของสังหาริมทรัพย์กับอสังหาริมทรัพย์

ทั้งหมดนี้ถ้าทำใจไม่ได้ ก็เหลือทางเดียวคือไปรบที่ภูมิซรอล เท่ากับ ไม่รับสนธิสัญญา ปี ค.ศ. 1893 1904 1907 ไม่รับแผนที่ ไม่รับคำพิพากษาศาลโลก ไม่รับการสิ้นสุดของการสงวนสิทธิ ผมเชื่อว่า รัฐบาลแต่ละยุคดำเนินการอย่างละมุนละม่อมที่สุดเพื่อไม่ให้ปัญหาขยายตัวเป็นปัญหาใหญ่ จนต้องถูกกำหนดจากเงื่อนไขภายนอก หรือกลับเข้าสู่เวทีระหว่างประเทศเหมือนในปี พ.ศ. 2505 อีกครั้งหนึ่ง

อย่าเอาอดีต ไปตัดสินปัจจุบัน
ปัญหาจินตนาการของยุคสมัยเป็นเรื่องใหญ่ ปัญหาสังคมไทยเกิดจากการใช้จินตนาการร่วมสมัยไปตัดสินอดีต เช่น ปัญหาเรื่องการเสียกรุง

ผมตั้งคำถามว่า จริงหรือไม่ ที่มีสงครามไทยรบพม่า คำถามที่สอง ประเทศไทยถือกำเนิดขึ้นเป็นประเทศเมื่อไร
ตามความหมายของรัฐสมัยใหม่ คือ เมื่อ ค.ศ.1909 ประเทศไทยเกิดเมื่อเราปักปันเขตแดนทางภาคใต้กับอังกฤษ
อีกมุมหนึ่ง พม่าก็เกิดเป็นประเทศหลังจากเป็นเอกราชจากอังกฤษ ก่อนหน้านั้น สงครามถูกเรียกว่า สงครามระหว่างเจ้ากรุงหงสาวดี กับเจ้ากรุงศรีอยุธยา ไม่เคยมีคอนเซปต์เรื่องเอกราช หรืออธิปไตยเหนือดินแดน เพราะความเป็นรัฐยังไม่เกิด ผมคิดว่า พระเนรศวรไม่ได้ประกาศเอกราช แต่ประกาศเปลี่ยนสถานะระหว่างกรุงศรีอยุธยา กับกรุงหงสาวดี

อย่าเอาภพเดิม อย่าเอาอดีตไปกำหนดผลประโยชน์ของชาติในยุคปัจจุบัน ท่านต้องตัดสินปัจจุบันด้วยปัจจุบัน

เส้นเขตแดนกำลังจะลดความสำคัญลง กับอาเซียน 2015
กัมพูชาเป็นญาติผู้ใหญ่ทางวัฒนธรรมของสยาม สยามเป็นเพียงฉบับถ่ายสำเนาชุดย่อของกัมพูชา เห็นได้จาก อยุธยามีอำเภอนครหลวง แต่อำเภอนครหลวงอยู่นอกตัวเกาะอยุธยา กษัตริย์กรุงศรีอยุธยาสร้างนครหลวงตามจินตนาการนครวัด นครธม ตามวัฒนธรรมของขะแมร์

วันนี้ไปที่วัดพระแก้ว รัชกาลที่ 4 จำลองนครวัดไว้ในวัดพระแก้ว สภาพทางวัฒนธรรมอย่างนี้มีความทับซ้อนกัน เส้นเขตแดนเป็นเส้นแบ่งอธิปไตยของรัฐจริง แต่ในชีวิตของผู้คนมีโจทย์ที่ต้องคิดต่อ ถ้าอีก 4 ปีอาเซียน 2015 เกิดเราจะคล้ายกับอียู คือเส้นเขตแดนจะลดความสำคัญลง

เมื่อเส้นเขตแดนไมมีความสำคัญ ตลาดแรงงานจะเปลี่ยนหมด ปัญหาแรงงานข้ามชาติจะหมดไปโดยอัตโนมัติ

เสนอ เปลี่ยนพื้นที่ความขัดแย้งเป็นพื้นที่พัฒนาร่วม
ประเด็นที่ผมเสนอในปี 2551 คือ เปลี่ยนพื้นที่ความขัดแย้งเป็นพื้นที่พัฒนาร่วม เปลี่ยนสนามรบเป็นสนามการค้า

ผมมี 5 ทางเลือกถ้าจะไม่รบ หนึ่งคือ ไปศาลด้วยเอกสารเดิมยังเชื่อว่าจะชนะได้อยู่ไหม สองคือ เจรจาแบบพหุภาคี เราพูดตลอดว่าไม่เอา เพราะอดีตไทยต้องคืนดินแดนจากการเจรจา เราไม่อยากเดินในเกมส์นั้น สาม เรายืนกระต่ายขาเดียวว่าขอเป็นทวิภาคี มีมติยูเอ็นเอสซีที่ระบุให้เป็นพหุภาคี สุดท้าย คือ ไม่รบ เพราะพื้นที่ตัดสินไม่ได้ ทางออกคือ เปลี่ยนพื้นที่ความขัดแย้งเป็นพื้นที่พัฒนาร่วม เช่น พื้นที่เจดีเอ ภาคใต้ หรือพื้นที่ทับซ้อนไทยมาเลเซีย เราเปลี่ยนโดยไม่ตกลงว่าเป็นเขตอธิปไตยของใคร ไม่ถกเถียงเรื่องอธิปไตยในพื้นที่ทับซ้อน แล้วร่วมฉลองมรดกโลกร่วมกับพี่น้องในพนมเปญ

ถ้าหันมาพัฒนาร่วมกัน เส้นทางท่องเที่ยวใหญ่จะเกิดขึ้นในภูมิภาค นครวัด นครธม เขาพระวิหาร พิมาย เมืองตราด หรือวกกลับ ผ่านปากเซ เข้าไปในลาวภาคใต้ เราจะได้พื้นที่ท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมที่ใหญ่มาก
 

 

                                     

                                 สุรชาติ  บำรุงสุข                                             ธงชัย  วินิจจะกูล

ศ.ดร. ธงชัย วินิจจะกูล :
มี 4 ประเด็นใหญ่ๆ เป็นสาเหตุของความขัดแย้งที่ปะทุขึ้นมา

หนึ่ง คือ อุดมการณ์ชาตินิยมไทย หรือ ลัทธิความเชื่อ ชาตินิยมไทยแยกไม่ออกจากอุดมการณ์การเสียดินแดน สอง คือ ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับการตีเส้นเขตแดน และเรื่องที่เป็นความเข้าใจผิดในสังคมไทยเกี่ยวกับสันปันน้ำ  สาม อ.สุรชาติพูดไปแล้ว คือ จุดหลักเกี่ยวกับเรื่องเขตแดนทั้งหลาย ประเด็นที่สี่ ถึงที่สุดความขัดแย้งวันนี้ไม่ใช่เรื่องเขตแดน คือเรื่องการเมืองไทย

“There is an elephant in the room” มีเรื่องใหญ่มาก เหมือนช้างทั้งตัวอยู่ในห้องแต่เราแกล้งมองไม่เห็น ตราบใดที่เราไม่ตระหนักว่ามีช้างอยู่ในห้องและจะจัดการอย่างไรกับช้างตัวนั้น เราก็จะรบกันอีกไม่รู้จบ

เราไม่เคยเสียดินแดน เพราะเราเพิ่งมีแนวคิดอธิปไตยเหนือดินแดน
เรื่องที่หนึ่ง อุดมการณ์ชาตินิยม  เราเกิดมาโตมากับความคิดว่าเราเสียดินแดนทั้งนั้น แล้วจู่ๆ ก็มีคนมาบอกว่าเราไม่เคยเสียดินแดน ผมจึงเป็นฝ่ายต้องเผชิญกับการหาหลักฐานมาอธิบายเพื่อบอกว่าเราไม่เคยเสีย เพราะมันขัดกับความเชื่อที่เรามีมาก่อน ผมบอกว่าเราไม่เคยเสียดินแดน ทั้งหมดเป็นความเชื่อทางประวัติศาสตร์ที่สังคมไทยเชื่อมานาน และยากที่จะสลัดออก

เราเรียนมาแต่เด็กว่าไทยเป็นชาติที่น่าภูมิใจไม่เคยตกเป็นเมืองขึ้นของใครมีเอกราชมาตลอด แต่มันมีอีกด้านหนึ่งที่อยู่คู่กันมาตลอด คือ เราถูกรังแกให้เราเสียดินแดนอยู่ตลอดเวลา อุดมการณ์ชาตินิยมไทยและความเป็นไทย เกิดมาจากการถูกรังแก ลัทธิเสียดินแดนเป็นส่วนหนึ่งที่ค้ำจุนความเป็นไทยไว้

ความเจ็บปวดของการเสียดินแดนเป็นความเจ็บปวดของเจ้ากรุงเทพ สมัยนั้นหมายถึงการเสียพระเกียรติยศไม่ได้หมายถึงการเสียตัวดินแดนนั้น เพราะดินแดนมันไปๆ มาๆ ดินแดนจุดที่จะเสียไปมาพร้อมกับการเกิดขึ้นของรัฐสมัยใหม่ เมื่อต้นศตวรรษที่ยี่สิบ ถึงเกิดระบบอธิปไตยหรือดินแดน และในยุโรประบบนี้ก่อให้เกิดการทะเลาะเบาะแว้งเรื่องดินแดนตลอดมาจนถึงหลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง และยุติหลังสงครามโลกครั้งที่สองจึงลงตัว เป็นเวลา สองร้อยกว่าปี ก่อนหน้านี้ก็แย่งกันไปแย่งกันมา การได้มาหรือเสียไปของดินแดนเป็นเรื่องปกติที่ชนชั้นนำสมัยรัชกาลที่ 5 ก็รู้ว่าเป็นอย่างนี้ ไม่ใช่เสียสิ่งที่เป็นของเราแต่ผู้เดียว

แต่เรากลับไปใช้ทัศนะปัจจุบันที่คิดเรื่องอำนาจอธิปไตยเหนือดินแดน ว่า เป็นสิ่งที่มาช้านาน ซึ่งจริงๆ มันแค่ร้อยกว่าปีเอง แต่ก่อนเป็นระบบเมืองหลวงกับเมืองขึ้น หรือพูดกันว่า เป็นรัฐแบบเจ้าพ่อ มันไม่ได้ตายตัวด้วยอธิปไตยเหนือดินแดน มันขึ้นอยู่กับความสามารถของเจ้าพ่อ แต่ละคน แต่ละยุค การเสียอยุธยาก็ไม่ได้ทำให้อยุธยากลายเป็นอาณานิคมกับหงสาวดีเหมือนที่คิดกันตามระบบปัจจุบันได้ ถ้าวาดแผนที่ก็ไม่สามารถระบายอยุธยาเป็นสีเดียวกับหงสาวดีได้ เพราะไม่ใช่ความสัมพันธ์แบบปัจจุบัน เมื่อไทยเข้มแข็งขึ้นมาเราก็หลุดจากการเป็นเมืองขึ้นเท่านั้นเอง

เมืองขึ้นสำคัญๆ ก่อนศตวรรษที่ 20 สมัยนั้น ล้วนเป็นเมืองขึ้น ขึ้นต่อเมืองใหญ่เกินหนึ่งแห่งทั้งนั้น มีเมืองขึ้นที่ไหนบ้างจ่ายบรรณาการสยามแต่ที่เดียว ในความรู้ของผม คือ ไม่มี โดยมากเมืองขึ้นจะจ่ายส่วยเกินหนึ่งทางตลอดเวลา เค้าต้องทำเพื่อปกป้องตัวเอง แต่เมืองขึ้นเหล่านั้นเรามักจะบอกว่าเราเสียดินแดน มันตัดสินไม่ได้เรื่องอธิปไตยเพราะมันคนละระบบกัน

เราเชื่อแผนที่สุโขทัยที่เราเคยเรียน เป็นแผนที่ที่เขียนขึ้นภายหลัง โดยที่ไม่ยอมรับความจริงว่าประเทศราชเหล่านั้นไม่ได้ขึ้นต่อสยามแต่ผู้เดียว สมัยนั้นจะทำแผนที่แบบนั้นไม่ได้เพราะขึ้นต่อคนอื่นเค้าด้วย หรือต้องบอกว่าเป็นดินแดนซ้อนทับ และนอกจาก 4.6 ตารางเมตร ในทางลัทธิความเชื่อของเรามีดินแดนซ้อนทับเต็มไปหมดที่เราเชื่อว่าเป็นของเรา ด้วยเราเอาความคิดร้อยปีหลัง ไปแทนความเข้าใจระบบรัฐสมัยโบราณหมด การเสียดินแดนสิบสี่ครั้งนั้นจึงเหลวไหลไร้สาระ อยู่บนความเชื่อทางประวัติศาสตร์ที่ผิดๆ และผมเชื่อว่าอีกร้อยปีก็จะเชื่ออย่างนั้น

ยากเหลือเกินที่จะทำให้คนเชื่อว่าเป็นเรื่องไร้สาระ แต่ว่าความคิดนี้มีอิทธิพลอย่างมหาศาล

เขตแดนมีปัญหาทุกจุด ถ้าจะรบก็ต้องรบรอบประเทศไทย
การตีเส้นเขตแดน ปัญหาเส้นเขตแดนทุกวันนี้เป็นมรดกของยุคอาณานิคม ถูกต้องร้อยเปอร์เซ็นต์
ชาติไทยทั้งชาติ คือ มรดกของยุคอาณานิคมครับ ชาติไทยทั้งชาติมีเส้นเขตแดนเพราะเป็นมรดกของยุคอาณานิคมครับ ถ้าเราจะทิ้งมรดกเฉพาะเส้นเขตแดนบริเวณเขาพระวิหาร มีเหตุผลอะไรเราจะไม่ทิ้งเส้นเขตแดนของไทยทั้งประเทศล่ะครับ และมรดกที่เรียกว่าประเทศไทย

เส้นเขตแดนที่เป็นมรดกของยุคอาณานิคม รอบประเทศไทยมีปัญหาทุกพรมแดน หากจะรบกันสามารถรบกันได้แทบทุกจุดกับเพื่อนบ้านทุกประเทศรอบประเทศไทย ถ้าใช้วิธีปัจจุบันคืออยากจะรบกัน ได้รบรอบประเทศไทยเลย เพราะพรมแดนที่ยุคอาณานิคมทิ้งไว้ เพราะพรมแดนที่ยุคอาณานิคมทิ้งไว้มันเข้ากันไม่ได้กับความสัมพันธ์ยุคโบราณ มันไม่ลงตัว

ยกตัวอย่าง มีเยอะแยะที่ใช้แม่น้ำเป็นเส้นพรมแดน สมัยก่อนคนวัฒนธรรมเดียวกันอยู่สองฟากแม่น้ำทั้งนั้น เค้าไม่ได้อยู่ฟากเดียว เส้นเขตแดนทั้งหลายที่เอาแม่น้ำเป็นเส้นเขตแดน คุณตัดกลางชุมชนที่เค้ามีวัฒนธรรมเดียวกัน
เค้าข้ามไปข้ามมจนถึงปัจจุบัน บางครั้งก็มีวีซ่าบางครั้งก็ไม่มี เพราะเค้าเป็นเครือญาติกัน

ร่องน้ำลึก สันปันน้ำ เปลี่ยนตลอดเวลา ใช้เป็นเส้นเขตแดนไม่ได้
เส้นเขตแดนที่คิดว่าใช้สภาพภูมิศาสตร์แล้วจะหมดปัญหา ถามว่าสภาพภูมิศาสตร์มันเปลี่ยนได้ไหม ร่องน้ำลึก สันปันน้ำ เปลี่ยนโดยธรรมชาติอยู่ตลอดเวลา น้ำที่ไหลลงจากเทือกเขาไหลจากจุดไหนไหลไปไกลที่สุด นั่นคือสันปันน้ำ ถามว่าเปลี่ยนไหม

ยกตัวอย่าง บ้านร่มเกล้า ทหารไทยตายร้อยหกสิบคน ลาวตายสามร้อยกว่าคน มันเป็นเรื่องน่าเศร้า แม่น้ำเหลืองที่ใช้เป็นเส้นพรมแดน ช่วงที่มีปัญหากันคือช่วงที่ไหลลงจากสันปันน้ำภูเมี่ยง สนธิสัญญาปี พ.ศ2507 บอกเอาแม่น้ำเหลืองเป็นเส้นพรมแดน เดินไปตีเส้นปี พ.ศ. 2508 ปรากฏว่าตรงนั้นแม่น้ำเหลืองแยกเป็นสองสาย เหลืองใหญ่กับเหลืองน้อย สายหนึ่งกลายเป็นว่าไหลลงมาจากภูสอยดาว

ไม่มีที่ไหนในโลกบอกว่าสันปันน้ำเป็นเส้นแดนที่สิ้นสุด เพราะสันปันน้ำเปลี่ยนได้ ทุกที่ที่บอกว่าให้ใช้สันปันน้ำต้องตามมาด้วยแผนที่ทุกแห่ง ถ้าไม่ตามแปลว่าเขตแดนยังไม่ยุติ ไม่ว่าแผนที่จะดีจะชั่วอย่างไรตีเส้นแล้วอย่างไรก็ต้องอย่างนั้น เพราะสันปันน้ำที่ระบุในสัญญาไม่ใช่ตัวบอกเส้นเขตแดน

สมัยก่อนดินแดนไม่ได้น่าหวงแหนทุกตารางนิ้ว เค้ายกให้เพื่อไมตรี ดอนทรายแม่น้ำโขง งอกๆ หดๆ เร็วกว่าสันปันน้ำ ถ้าเกิดเราไม่อยากรบทำไมไม่ปล่อยเรื่องนี้ให้เป็นเรื่องเทคนิค

วิกฤติไทยกัมพูชาเป็นอาการของโรคที่เกิดจากการเมืองไทย
เราพูดกันมาสองชั่วโมงกว่าราวกับว่าปัญหาพรมแดนเกิดเพราะพรมแดนไม่ชัด ทุกคนรู้อยู่ว่าปัญหาที่เกิดขึ้นเกิดเพราะการเมืองไทย ถ้าหากความสัมพันธ์เรากับเพื่อนบ้านดี ก็จะเกิดพื้นที่พัฒนาร่วมเต็มไปหมดเช่นพรมแดนมาเลเซีย ถ้าอาณาจักรสองแห่งเป็นมิตรต่อกัน เค้าเรียกว่าเป็นทางเงินทางทอง

วิกฤติการณ์ อย่าง ปัญหากัมพูชา เป็นโรค หรือเป็นอาการของปัญหาอื่น ในที่นี้คือ อาการของโรคที่เกิดจาการเมืองไทย เป็นโรคอันเกิดจากสองปัจจัยที่ขัดแย้งกัน หนึ่ง คือ เศรษฐกิจไทยในชนบทมันเปลี่ยนไปมากแล้ว แต่ชนชั้นนำไทยไม่เข้าใจว่ามันเปลี่ยนแล้ว หลักง่ายๆ เมื่อระบบเศรษฐกิจสังคมเปลี่ยน การเมืองก็ต้องเปลี่ยน ต้องปรับตัวให้สอดคล้องกับกลุ่มชนชั้นกลุ่มผลประโยชน์ที่เปลี่ยนแปลงไป

ปัญหาใหญ่คือระบบเศรษฐกิจสังคมมันเปลี่ยนไปแล้ว ในชนบทเค้ารู้แล้วว่าระบบการเลือตั้งนั้นดีสำหรับเค้า แน่นอนไม่มีระบบการเมืองที่ดีที่สุดสะอาดที่สุด ใครคิดว่าจะแสวงหาระบบการเมืองที่ดีที่สุด คือ สะอาดที่สุด ผมว่าคนนั้นโง่ อเมริกาก็มีพวกคอรรัปชั่น มีพวกนักการเมืองสามานย์เต็มไปหมด ระบบประชาธิปไตยการเลือกตั้งไม่ใช่ระบบที่ดีใสสะอาดที่สุด แต่เป็นระบบที่สะท้อนผลประโยชน์ที่ต่างกัน และนำมาแลกกันในกระบวนการที่ตกลงได้อย่างสันติ

ระบบการเมืองถูกทำลายเพราะฝ่ายเจ้าเกิดความหวดกลัวนักการเมือง ปัญหาที่กำลังเป็นปัญหาคอขาดบาดตายของฝ่ายเจ้า กลายมาเป็นปัญหาของประเทศไทย ปัญหาของคนไม่กี่คนฉุกกระชากลากถูทั้งประเทศลงไปได้ นี่คือช้างตัวเบ้อเริ่มที่เป็นเหตุของหลายๆ ปัญหารวมทั้งปัญหากัมพูชาด้วย เราต้องแก้ปัญหากัมพูชาไปพร้อมกับการมองว่าปัญหาเหล่านี้เกี่ยวข้องกัน ปัญหาใหญ่คือช้างในห้องนี้ยังไม่รู้จะหาทางเอาช้างกลับไปที่สวนสัตว์ยังไง
 
ปัญหาการเมืองไม่สามารถแก้ได้ด้วยกันย้อนเวลากลับ ไม่มีทางให้ระบบสังคมเศรษฐกิจในชนบทกลับไปเป็นเหมือนสิบยี่สิบปีก่อนได้ มีทางออกทางเดียวเท่านั้นคือ ต้องปรับระบบการเมือง ถ้าปัญหาของฝ่ายเจ้ากระทบระบบการเมืองทั้งหมดต้องแก้ปัญหาที่ฝ่ายเจ้า อย่าให้มายุ่งกระทบกระเทือนระบบการเมืองที่ชาวบ้านประชาชนทั่วไปต้องการ

อ.พิชญ์ พงศ์สวัสดิ์ :

ประวัติศาตร์ต้องเรียนเรื่องไทยรบเขมร
ประวัติศาสตร์สงครามเราให้ความสำคัญกับไทยรบพม่าตลอดเวลา ทั้งๆ ที่ถ้าดูจริงๆ ไทยพม่ารบกันไม่นาน ช่วงก่อนสงครามกรุงแตกครั้งที่หนึ่งไม่นาน และหายไปร้อยกว่าปี มารบกันอีกทีระหว่างปลายกรุงศรีอยุธยาและต้นรัตนโกสิทนทร์ แต่ที่สำคัญคือ ไทยรบเขมร ไทยรบกับลาว ไทยล้านนา ไทยปัตตานี ถ้าเราไม่เห็นเราจะไม่เข้าใจตัวตนของเรา ว่า เรามีตัวตนอยู่ได้โดยการใช้วิธีการสร้างอำนาจเหนือกว่าอาณาจักรเหล่านั้น ความยิ่งใหญ่ของอยุธยาและรัตนโกสินทร์ยืนอยู่ได้บนการทำให้เขมรอ่อนแอ

วิธีคิดที่เรามองเขมร เป็นวิธีคิดแบบพยายามพัฒนาตัวเราให้เป็นมหาอำนาจ วิธีคิดคือ ทวิภาคีมันเสร็จเราแน่ คิดทุกอย่างว่าเมื่อเรามีอำนาจแล้วเราจะกำหนดอะไรก็ได้ พวกนี้อยู่ในกำมือเรา เรามีกำลัง เราจะเอาอะไรให้เป็นผลประโยชน์แห่งชาติก็ทำได้ เราจะจัดการพวกนี้เมื่อไรก็ได้ โดยที่ไม่ได้ดูว่าในทางระหว่างประเทศเราอ่อน คิดแต่รถถัง เครื่องบินเราควรชนะ เปรียบเสมือนเล่นเกมส์คอมพิวเตอร์ คุณจะเล่นเกมส์ warcraft อย่างเดียวไม่ได้คุณเล่นไม่ครบ มันมี statecraft มี diplomacy

ระบบพรมแดนยืดหยุ่นตามโอกาสทางเศรษฐกิจในพื้นที่
ระบบพรมแดนสมัยใหม่ที่ว่ามีพรมแดนเส้นเดียวไม่จริง ทุกที่มีระยะยืดหยุ่นหมด ต่อให้มีข้อตกลงว่ามีเส้นแดน ในหลักปฏิบัติจริงทุกที่ไม่เคยใช้ฝาร่วม ทุกที่มีเส้นสองเส้นเสมอ นึกถึงไทยพม่า ต้องผ่านประตูสองประตู การข้ามแดนต้องแสตมป์ทางนึงและเดินออกไปแสตมป์อีกทางหนึ่ง ต่อให้คุณหมกมุ่นเรื่องเส้นแดนขนาดไหน ปฏิบัติการจริงต้องอยู่บนพื้นฐานความยืดหยุ่นในพื้นที่  

คนไทยชอบเรียกว่า no man’s land (บริเวณที่ยังไม่มีใครจับจอง-iLaw) ซึ่งมันไม่จริง ดูอย่างตรงโรงเกลือ เขมรร่นที่ปั๊มให้ลึกเข้าไปหน่อยเพื่อตั้งบ่อนได้ บ่อนอยู่ในแดนเขมร แต่ยังไม่ต้องปั๊ม เพราะถ้าปั๊มมันเสียตังค์ ระบบพรมแดนมันไม่ใช่แค่ที่กรุงเทพมองออกไป ระบบพรมแดนมันใช้ แต่มันยืดหยุ่น ในพื้นที่มันคือโอกาสทางเศรษฐกิจ ไม่ใช่ชาวบ้านไม่รู้ แต่เค้าจะปฏิบัติการอย่างไรในพื้นที่