ศาลรัฐธรรมนูญตีตก พ.ร.ก.ยื้อกฎหมายป้องกันทรมานและอุ้มหาย ตำรวจต้องบันทึกภาพวิดีโอตอนจับและคุมตัว

18 พฤษภาคม 2566 ศาลรัฐธรรมนูญมีมติแปดต่อหนึ่ง ให้พระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 พ.ศ. 2566 ขัดรัฐธรรมนูญ โดยการอ้างเหตุความไม่พร้อมด้านงบประมาณและบุคลากร ไม่เข้าเงื่อนไขในการออก พ.ร.ก. ทำให้กฎหมายจากฝ่ายบริหารสุดท้ายของรัฐบาลประยุทธ์หลังการเลือกตั้ง 2562 ที่ต้องการยื้อข้อบังคับให้เจ้าหน้าที่ตำรวจต้องบันทึกภาพและวิดีโอในระหว่างการจับกุมและคุมตัวต้องตกไป

ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2566 รัฐบาลของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ออก พ.ร.ก. หนึ่งฉบับเพื่อเลื่อนการบังคับใช้ในมาตรา 22 ถึง 25 ของ พ.ร.บ. ป้องกันการทรมานและอุ้มหายฯ ซึ่งผ่านสภาตั้งแต่ช่วงปลายปี 2565 และกำลังจะมีผลบังคับใช้

บทบัญญัติที่ถูกเลื่อนใช้บังคับออกไปนั้น มีเนื้อหาเกี่ยวกับกลไกการป้องกันการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย เช่น การกำหนดให้ตำรวจต้องติดกล้องและบันทึกสภาพของผู้ต้องหาเมื่อจับกุม โดยมีที่มาจากความเห็นของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักในการปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ป้องกันทรมานอุ้มหายฯ ขอให้ขยายเวลาการบังคับออก โดยให้เหตุผลเรื่องความไม่พร้อมทั้งเชิงงบประมาณสำหรับกล้องที่ต้องใช้เพื่อปฏิบัติงานตามกฎหมาย ซึ่งเป็นเรื่องที่มีความละเอียด ซับซ้อน และมีผลกระทบต่อความปลอดภัยในชีวิตและร่างกายของประชาชนโดยตรง และอาจส่งผลให้เกิดความไม่ปลอดภัยต่อสาธารณะ รวมทั้งความไม่พร้อมเชิงบุคลากรที่ยังขาดความรู้และทักษะในการปฏิบัติงาน

อย่างไรก็ตาม การออก พ.ร.ก. เช่นนี้ก็ทำให้มีเสียงคัดค้านว่าอาจจะไม่เข้าเงื่อนไขการตรา พ.ร.ก. ตามมาตรา 172 แห่งรัฐธรรมนูญ 2560 หรือไม่ โดยเงื่อนไขประกอบไปด้วย ประโยชน์ในอันที่จะรักษาความปลอดภัยของประเทศ ความปลอดภัยสาธารณะ ความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ ป้องปัดภัยพิบัติสาธารณะ โดยพรรคร่วมฝ่ายค้านได้ประกาศว่าจะโหวตคว่ำ พ.ร.ก. ทันที เพราะการอ้างเรื่องอุปกรณ์ไม่ใช่ความปลอดภัยสาธารณะ และเจ้าหน้าที่รัฐก็มีเวลา 120 วันตาม พ.ร.บ. ป้องกันการทรมานหรืออุ้มหาย ในการเตรียมความพร้อมแล้ว ทั้งนี้ หากสภาโหวตไม่เห็นชอบ พ.ร.ก. รัฐบาลก็จะต้องลาออกตามธรรมเนียมทางการเมือง

ในขณะเดียวกัน มติของพรรคร่วมฝ่ายรัฐบาลก็ไม่เห็นด้วยกับการตรา พ.ร.ก. ฉบับนี้ด้วยเช่นเดียวกัน ชินวรณ์ บุญยเกียรติ ส.ส. พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่าการให้สภาโหวตตกอาจเป็นเรื่องไม่สง่างามเพราะนายกรัฐมนตรีคือประยุทธ์จะต้องรับผิดชอบ “ไม่สวยงาม ที่พรรคร่วมรัฐบาลจะมาทิ้งพี่ ทิ้งเพื่อนในช่วงวิกฤตเช่นนี้” ทำให้เมื่อถึงวันลงมติ 28 กุภาพันธ์ 2566 และเป็นวันสุดท้ายของสภาด้วย ส.ส. ฝ่ายรัฐบาลจึงล่าชื่อส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญเพื่อยืดเวลาแทนการให้สภาลงมติ โดยมี ส.ส. ทั้งหมด 114 คนเข้าชื่อร่วมกันจากพรรคพลังประชารัฐ ประชาธิปัตย์ ภูมิใจไทย เป็นต้น

หลังจากได้รับเรื่อง ศาลรัฐธรรมนูญมีเวลา 60 วันในการพิจารณาและต้องใช้มติสองในสาม โดยผลปรากฏว่าศาลรัฐธรรมนูญให้ พ.ร.ก. ขัดกับรัฐธรรมนูญโดยไม่เข้าเงื่อนไขการใช้อำนาจของฝ่ายบริหารตามมาตรร 172 แห่งรัฐธรรมนูญ 2560 วรรคหนึ่ง และให้ พ.ร.ก. ไม่มีผลบังคับใช้มาตั้งแต่ต้น

You May Also Like
อ่าน

ส่องวาระศาลรัฐธรรมนูญ-องค์กรอิสระ สว. 67 เคาะเลือกคนใหม่ได้เกินครึ่ง

พฤษภาคม 2567 สว. ชุดพิเศษ จะหมดอายุแล้ว แต่ สว. ชุดใหม่ ยังคงมีอำนาจสำคัญในการเห็นชอบตุลาการศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ ภายใต้วาระการดำรงตำแหน่งของ สว. ชุดใหม่ จะมีอำนาจได้ “เกินครึ่ง” ของจำนวนตำแหน่งทั้งหมด
อ่าน

กรธ. ชุดมีชัย ออกแบบระบบ สว. “แบ่งกลุ่มอาชีพ”-“เลือกกันเอง” สุดซับซ้อน!

ระบบ “เลือกกันเอง” สว. 67 ที่ให้เฉพาะผู้สมัคร ซึ่งต้องจ่ายค่าธรรมเนียม 2,500 บาท มีสิทธิโหวต คิดค้นโดยคนเขียนรัฐธรรมนูญ 2560 นำโดยมีชัย ฤชุพันธุ์