เปิดไทม์ไลน์หลังเลือกตั้ง 2566! อีกกี่วันคนไทยถึงได้รัฐบาลใหม่

การ #เลือกตั้ง2566 ที่เพิ่งเสร็จสิ้นไปเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 เวลา 17.00 น. ไม่ได้แปลว่าคนไทยจะได้พบกับการบริหารประเทศของผู้ชนะการเลือกตั้งครั้งนี้ในทันที แต่อาจจะกินเวลาประมาณ 90 วัน

โดยรัฐธรรมนูญไทย พ.ศ. 2560 และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (พ.ร.ป.ส.ส.) ระบุไทม์ไลน์หลังการเลือกตั้งว่า:

  1. คณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัด ต้องเผยแพร่ผลการเลือกตั้งออนไลน์ภายในห้าวันนับตั้งแต่การเลือกตั้ง
  2. หากได้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรถึงร้อยละ 95 สามารถเรียกประชุมรัฐสภาได้เมื่อมีเหตุจำเป็น
  3. กกต. มีอำนาจในการตรวจสอบความสุจริตของการเลือกตั้งไม่เกิน 60 วัน
  4. ต้องมีการเปิดประชุมสมัยรัฐสภาหลังประกาศผลการเลือกตั้งไม่เกิน 15 วัน

ภายใน 15 วันหลังการประกาศผลการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการต้องเกิดการประชุมรัฐสภา โดยถือเป็นการเปิดสมัยประชุมสามัญประจำปีครั้งที่หนึ่ง ซึ่งพระมหากษัตริย์ต้องเสด็จพระราชดำเนินมาทรงทำรัฐพิธีเปิดสมัยประชุมสามัญประจำปีครั้งแรกด้วยพระองค์เอง

ขณะเดียวกันการตรวจสอบการเลือกตั้งโดย กกต. ต้องถือหลักว่า หากไม่มีผู้ใดคัดค้านการเลือกตั้งก็ต้องสันนิษฐานว่าผลการเลือกตั้งมีความสุจริตไว้ก่อน แล้วจึงประกาศผลการเลือกตั้งอย่างเป็นทางต่อไปบนราชกิจจานุเบกษา อย่างไรก็ตามหากพบว่าการเลือกตั้งไม่ถูกจัดขึ้นอย่างสุจริต กกต. มีอำนาจสั่งระงับ ยับยั้ง แก้ไขเปลี่ยนแปลง หรือยกเลิกการเลือกตั้ง และสั่งให้ดำเนินการเลือกตั้งใหม่หรือนับคะแนนใหม่ได้

อย่างไรก็ตาม หาก กกต. สามารถตรวจสอบความสุจริตของการเลือกตั้งให้เสร็จสิ้นก่อนระยะเวลาสองเดือน ก็สามารถที่จะกระทำได้โดยไม่ได้มีข้อห้ามทางกฎหมาย

ต่อมา ส.ส. จะต้องเสนอชื่อคนละหนึ่งชื่อจากบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองได้เสนอเอาไว้ก่อนหน้าในการลงสมัครรับเลือกเป็นนายกรัฐมนตรี โดยเลือกเฉพาะจากรายชื่อของพรรคการเมืองที่มีจำนวน ส.ส. มากกว่าร้อยละ 5 ของจำนวน ส.ส. ทั้งหมด ซึ่งก็ต้องมีการรับรองโดย ส.ส. ไม่น้อยกว่า 1 ใน 10 ของจำนวน ส.ส. ที่มีทั้งหมดด้วย

จากนั้น ทั้งสองสภาจะทำการลงมติเลือกนายกรัฐมนตรี โดยมติเห็นชอบต้องมีคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดของทั้งสองสภา และให้ประธานประกาศผลการลงคะแนนต่อที่ประชุมรัฐสภาเพื่อให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรนำความขึ้นกราบบังคมทูลเพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งต่อไป

อย่างไรก็ตาม หากไม่สามารถได้นายกรัฐมนตรีตามวิธีดังกล่าว สมาชิกของทั้งสองสภารวมกันไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดสามารถเสนอญัตติต่อประธานรัฐสภาเพื่อขอเสนอชื่อบุคคลนอกรายชื่อเดิมของพรรคการเมืองเข้ามาเป็นนากยกรัฐมนตรีได้ หรือพูดอย่างง่าย คือ เป็นช่องทางการได้มาซึ่งนายกรัฐมนตรีคนนอก

สรุปแล้ว การเลือกตั้ง 2566 ประชาชนไทยจะ:

  1. เห็นผลคะแนนรายจังหวัดจาก กกต. ในวันที่ 19 พฤษภาคม 2566
  2. กกต. มีระยะเวลาตรวจสอบการเลือกตั้ง ไม่เกินวันที่ 13 กรกฎาคม 2566
  3. เห็นการเปิดสมัยประชุมรัฐสภาใหม่ครั้งแรก อย่างช้าที่สุดภายใน 28 กรกฎาคม 2566
  4. ได้ประธานรัฐสภาและรองประธานรัฐสภา อย่างช้าที่สุดภายในวันที่ 31 กรกฎาคม 2566
  5. ได้นายกรัฐมนตรีคนใหม่ ขึ้นอยู่กับการเลือกของรัฐสภาว่าจะเกิดขึ้นเมื่อใด

เมื่อนำระยะเวลาดังกล่าวมาเทียบกับไทม์ไลน์การเลือกตั้งซึ่งจัดขึ้นในวันที่ 24 มีนาคม 2562 จะพบว่า

  1. กกต.ประกาศผลการเลือกตั้ง ส.ส. วันที่ 8 พฤษภาคม 2562 หรือ 45 วันหลังจากวันเลือกตั้ง
  2. เปิดสมัยประชุมรัฐสภาครั้งแรกในวันที่ 24 พฤษภาคม 2562 หรือ 61 วันหลังจากวันเลือกตั้ง
  3. สภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาลงมติเลือกพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีอีกสมัย ในวันที่ 5 มิถุนายน 2562 หรือ 73 วันหลังจากวันเลือกตั้ง
  4. มีประกาศพระบรมราชโองการแต่งตั้งคณะรัฐมนตรีจนแล้วเสร็จ ในวันที่ 10 กรกฎาคม 2562 หรือ 108 วันหลังจากวันเลือกตั้ง

ดังนั้นการรู้ผลการเลือกตั้งปี 2566 และการได้มาซึ่งสภาผู้แทนราษฎรและนายกรัฐมนตรีใหม่จะช้าหรือเร็วขึ้นอยู่กับการทำงานของ กกต.ซึ่งสามารถทำได้เร็วกว่ากรอบเวลาที่กฎหมายกำหนดได้

You May Also Like
อ่าน

ส่องเล่มจบป.เอก สว. สมชาย แสวงการ พบคัดลอกงานคนอื่นหลายจุด

พบว่าดุษฎีนิพนธ์ของ สว. สมชาย แสวงการ มีการคัดลอกข้อความจากหลากหลายแห่ง ซึ่งในหลายจุดเป็นการคัดลอกและวางข้อความในผลงานตัวเอง เหมือนต้นทางทุกตัวอักษร
อ่าน

เป็น สว. เงินเดือนเท่าไหร่? ได้สวัสดิการ-สิทธิประโยชน์อะไรบ้าง?

สว. 2567 แม้ไม่มีอำนาจเลือกนายกฯ เหมือน สว. ชุดพิเศษ แต่มีอำนาจอื่นๆ เต็มมือ พร้อมกับเงินเดือนหลักแสน และสวัสดิการ สิทธิประโยชน์อีกเพียบ