เลือกตั้ง66: รทสช. ส่อผิดประกาศ กกต. กรณีเลเซอร์หาเสียงบนสะพานพระราม 8

หลังจากพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) ได้ฉายภาพหาเสียงขนาดยักษ์ลงบนสะพานพระราม 8 ในช่วงคืนวันที่ 8 พฤษภาคม 2566 โดยไอลอว์พบว่า รทสช. ส่อผิดประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้ง เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการจัดทำสถานที่ปิดประกาศเกี่ยวกับการเลือกตั้ง และสถานที่ติดแผ่นป้ายเกี่ยวกับการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2566 หรือประกาศ กกต. หลักเกณฑ์ประกาศและป้ายหาเสียง

ข้อครหา รทสช. อาจมีความผิดสองประการ

ความผิดสำคัญ เกิดจากการละเมิดประกาศ กกต. หลักเกณฑ์ประกาศและป้ายหาเสียง ข้อ 9 เรื่องการจัดทำแผ่นป้ายหาเสียง เนื่องจากประกาศระบุไว้อย่างชัดเจนว่า แผ่นป้ายดังกล่าวต้องกว้างไม่เกิน 130 ซม. และมีความยาวไม่เกิน 245 ซม. ซึ่งแน่นอนว่าการฉายแสงหาเสียงดังกล่าวบนสะพานพระราม 8 ย่อมมีทั้งความกว้างและความยาวกว่าที่กำหนดไว้มาก

ประการต่อมา ในรูปที่ปรากฏเป็นข่าวไม่ปรากฏประโยคห้อยท้ายที่ระบุผู้ผลิตสื่อชิ้นนี้ตามข้อกำหนดของการหาเสียงเลือกตั้ง ซึ่งอาจจะทำให้การฉายภาพหาเสียงดังกล่าวละเมิดประกาศข้อ 9(1) ที่ระบุให้ต้องระบุชื่อ นามสกุล ที่อยู่ของผู้ว่าจ้าง จำนวน และวันเดือนปี ไว้ให้ชัดเจนบนป้ายอีกด้วย

ประเด็นสองข้อนี้ คือ ประเด็นสำคัญที่ทุกพรรคการเมืองต้องปฏิบัติตามในการเลือกตั้ง 2566 เพื่อการแข่งขันที่เสมอภาคและเป็นธรรม

ปัจจัยสำคัญที่อาจทำให้ รทสช. รอดการลงโทษ

อย่างไรก็ตาม รทสช. ได้ระบุว่า การฉายไฟครั้งนี้เป็นการกระทำส่วนบุคคลของ ทิพานัน ศิริชนะ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และแกนนำพรรค รทสช. ผ่านการขออนุญาตกับปลัดกรุงเทพมหานคร ขอใช้สถานที่ตั้งแต่วันที่ 8-12 พฤษภาคม 2566 ตั้งแต่เวลา 20.00-02.00 น. ทุกวัน โดยไม่ได้แจ้งให้ รทสช. ทราบแต่อย่างใด จนทำให้พรรคต้องเร่งสืบหาข้อเท็จจริง และเสียใจต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นอย่างมาก

เหตุการณ์นี้ทำให้เส้นแบ่งระหว่างการกระทำของผู้สมัครรับเลือกตั้งกับการกระทำของพรรคการเมืองพร่าเลือน เนื่องจากการฉายแสงดังกล่าวเป็นการหาเสียงให้แก่พรรค รทสช. เพื่อหวังคะแนนเสียงในบัตรเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อ ผ่านข้อความ “บัตรสีเขียว กาเบอร์ 22 พรรครวมไทยสร้างชาติ รวมไทยสร้างชาติ เบอร์ 22” และมีโลโก้พรรคประกอบอย่างชัดเจน

บทลงโทษ หากตรวจพบแล้วว่ากระทำผิดจริง

หากภายหลังมีการสืบทราบได้ว่า ผู้สมัครหรือพรรคการเมืองต้องรับผิดชอบจากการละเมิดประกาศในข้อนี้ หัวหน้าหน่วยงานมีอำนาจในการสั่งให้แก้ไขการกระทำได้ภายใน 5 วันนับตั้งแต่มีการแจ้ง และหากไม่แก้ไขให้แล้วเสร็จในเวลาที่กำหนด ผู้อำนวยการเลือกตั้งประจำจังหวัดมีอำนาจสั่งรื้อถอนการประกาศดังกล่าว โดยคิดค่าใช้จ่ายในการรื้อถอนกับผู้สมัครหรือพรรคการเมืองนั้นๆ อีกด้วย

แต่หากย้อนกลับไปจับหลักกฎหมาย จะพบว่าความผิดสำหรับการติดประกาศที่ไม่เป็นไปตามมาตรา 83 ของ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฏร พ.ศ. 2561 หรือ พ.ร.ป.เลือกตั้งฯ สามารถถูกจำคุกไม่เกินหกเดือน และปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับได้อีกด้วย