เลือกตั้ง66: เลือกตั้งล่วงหน้า เช็คให้ดีเจ้าหน้าที่ทำถูกไหม ขัดข้องรีบทักท้วง

7 พฤษภาคม 2566 ผู้ที่ลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้า จะได้ไปใช้สิทธิเลือกตั้งแล้ว โดยคูหาเปิดตั้งแต่เวลา 08.00 – 17.00 น. ผู้ที่ลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้านอกเขตไปแล้ว จะต้องไปใช้สิทธิในวันดังกล่าว ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงหรือไปใช้สิทธิในวันเลือกตั้งจริง 14 พฤษภาคม 2566 ได้แล้ว

สำหรับผู้ที่ลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้า โดยเฉพาะการเลือกตั้งล่วงหน้า “นอกเขต” เมื่อไปที่หน่วยเลือกตั้งแล้ว มีข้อสังเกตสองอย่างที่ต้องดูให้ดี ว่าเจ้าหน้าที่ปฏิบัติตามนี้หรือไม่ คือ 1) บัตรเล็กสีขาวที่เจ้าหน้าที่จะจดเขตเลือกตั้งให้ตอนอยู่หน้าหน่วย และหน้าซองใส่บัตรเลือกตั้งที่เจ้าหน้าที่จะต้องระบุ “เขตที่เรามีสิทธิเลือกตั้ง” ให้ เจ้าหน้าที่ระบุถูกต้องหรือไม่ และ 2) เจ้าหน้าที่ได้เซ็นชื่อตรงรอยต่อผนึกซองใส่บัตรเลือกตั้ง และ “ปิดเทปใสทับ” ทับหรือไม่ หากเห็นว่าไม่ถูกต้อง มีข้อขัดข้อง รีบสอบถาม ทักท้วงเจ้าหน้าที่เลย

โดยขั้นตอนการใปใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้านอกเขต มีดังนี้

1. ผู้ที่ลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้านอกเขต เช็คสิทธิเลือกตั้ง และลำดับที่ในบัญชีของตนเอง อย่าลืมพกบัตรประจำตัวประชาชน หรือเอกสารที่ราชการออกให้และมีเลขประจำตัวประชาชน 13 หลักไปด้วย เช่น หนังสือเดินทาง ใบขับขี่ หรือจะโหลดแอป ThaID เพื่อแสดงบัตรประจำตัวประชาชนแบบอิเล็กทรอนิกส์ก็ได้

เช็คสิทธิ

2. อย่าลืมเช็คเบอร์พรรคการเมืองเพื่อเลือก ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ (บัตรสีเขียว) และเบอร์ผู้สมัคร ส.ส. แบบแบ่งเขต (บัตรสีม่วง) ของเขตที่เรามีสิทธิเลือกตั้ง ระวัง! อย่าสับสนไปกาเบอร์ผู้สมัครของเขตที่เราเลือกสถานที่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง

เช็คเบอร์ ส.ส.

3. ไปถึงหน้าหน่วยเลือกตั้ง เข้าแถวแยกตามป้ายจังหวัดที่ตนมีสิทธิ เมื่อถึงคิวแล้วให้แจ้งชื่อ-นามสกุล และลำดับในบัญชีรายชื่อกับเจ้าหน้าที่ (ดูได้จากเว็บเช็คสิทธิ) เจ้าหน้าที่จะเขียนข้อมูล “เขตที่เรามีสิทธิเลือกตั้ง” ลงในบัตรสีขาวใบเล็ก ไม่ใช่เขตที่เราไปใช้สิทธิ ให้ดูว่าเจ้าหน้าที่เขียนถูกหรือไม่ ตัวอย่างเช่น ถ้าเรามีสิทธิเลือกตั้ง ในกรุงเทพมหานคร เขต 1 (สิทธิเลือกตั้งจะอิงตามที่อยู่ในทะเบียนบ้าน) แต่เราไปใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้านอกเขต ในนนทบุรี เขต 2 เจ้าหน้าที่จะต้องเขียนในบัตรใบเล็กสีขาวว่า กรุงเทพมหานคร เขต 1 ถ้าพบว่าเจ้าหน้าที่เขียนผิด ให้รีบแจ้ง ทักท้วงกับเจ้าหน้าที่ ว่า ระเบียบ กกต. ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2566 ข้อ 200 ระบุให้เจ้าหน้าที่ ต้องลงรายการเกี่ยวกับจังหวัดเขตเลือกตั้ง ของ “ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง” ลงบนซองใส่บัตรเลือกตั้ง

ดูระเบียบ กกต.

4. แสดงตนกับเจ้าหน้าที่: แจ้งลำดับที่ในบัญชีรายชื่อของเรา และยื่นบัตรประชาชน หรือเอกสารที่ราชการออกให้และมีเลขประจำตัวประชาชน 13 หลัก และมีรูปถ่าย เช่น ใบขับขี่ เพื่อให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบรายชื่อ

จากนั้นเจ้าหน้าที่จะให้เราลงลายมือชื่อในบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งนอกเขต และเจ้าหน้าที่ก็จะระบุ จังหวัด เขตเลือกตั้ง และรหัสเขตเลือกตั้งที่เรามีสิทธิลงบนซองใส่บัตรเลือกตั้ง ให้ดูด้วยว่าจังหวัดและเขตที่เรามีสิทธิเลือกตั้ง ระบุบนหน้าซองถูกต้องหรือไม่ โดยเจ้าหน้าที่จะต้องเขียนข้อมูล “เขตที่เรามีสิทธิเลือกตั้ง” ลงบนซอง ไม่ใช่เขตที่เราไปใช้สิทธิ  ให้ดูว่าเจ้าหน้าที่เขียนถูกหรือไม่ 

ตัวอย่างเช่น ถ้าเรามีสิทธิเลือกตั้ง ในกรุงเทพมหานคร เขต 1 (สิทธิเลือกตั้งจะอิงตามที่อยู่ในทะเบียนบ้าน) แต่เราไปใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้านอกเขต ในนนทบุรี เขต 2 เจ้าหน้าที่จะต้องระบุลงบนซองใส่บัตรเลือกตั้งว่า กรุงเทพมหานคร เขต 1 ถ้าพบว่าเจ้าหน้าที่เขียนผิด ให้รีบแจ้ง ทักท้วงกับเจ้าหน้าที่ ว่า ระเบียบกกต. ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2566 ข้อ 200 ระบุให้เจ้าหน้าที่ ต้องลงรายการเกี่ยวกับจังหวัดเขตเลือกตั้ง ของ “ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง” ลงบนซองใส่บัตรเลือกตั้ง

บนซองจะต้องมีการเจาะรูทั้งสองข้างเพื่อให้เห็นบัตรเลือกตั้งทั้งสองใบได้จากภายนอก ต่อมา จะส่งบัตรประชาชนและซองใส่บัตรเลือกตั้งของเรา ให้เจ้าหน้าที่คนที่ 2

5. รับบัตรเลือกตั้งกับเจ้าหน้าที่: หลังจากเจ้าหน้าที่คนที่ 2 ได้รับบัตรประชาชนและซองใส่บัตรเลือกตั้งหนึ่งซองของเรามาแล้ว เจ้าหน้าที่คนที่ 2 จะจดลำดับที่ในบัญชีรายชื่อของเรา ไว้ที่ต้นขั้วบัตรเลือกตั้ง และให้เราลงลายมือชื่อที่ต้นขั้วบัตรเลือกตั้งด้วย หลังจากนั้นเจ้าหน้าที่ก็จะลงลายมือชื่อกำกับตรงต้นขั้วบัตรเลือกตั้งเช่นกัน แล้วฉีกบัตรออกจากต้นขั้ว ในบัตรที่เราจะนำไปเข้าคูหา จะต้องไม่มีต้นขั้วบัตรที่เซ็นชื่อเราและชื่อเจ้าหน้าที่ จากแล้วส่งมอบบัตรเลือกตั้งและบัตรประชาชนคืนมาให้เรา

ถ้าหากผู้มีสิทธิเลือกตั้งไม่สามารถลงลายมือชื่อได้ ให้พิมพ์ลายนิ้วมือของนิ้วโป้งข้างขวา ถ้าไม่มีนิ้วโป้งขวาให้พิมพ์ลายนิ้วมือนิ้วโป้งซ้าย แต่ถ้าไม่มีนิ้วโป้งทั้งสองข้าง ให้พิมพ์ลายนิ้วมืออื่นแทนและกรรมการประจำหน่วยจะใส่หมายเหตุไว้

6. เข้าคูหา ทำเครื่องหมาย “กากบาท” ในบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ : ในคูหาเลือกตั้งจะมีปากกาเตรียมไว้ให้แล้ว แต่ถ้านำไปเองก็แนะนำให้ใช้สีน้ำเงินเพราะจะอ่านง่ายกว่าเวลาเจ้าหน้าที่นับคะแนน

บัตรเลือกตั้งใบแรก เลือกตั้งผู้สมัคร ส.ส. แบบแบ่งเขต (สีม่วง) จะมีแค่เบอร์มาให้ ไม่มีข้อมูลชื่อ-นามสกุล ไม่มีโลโก้พรรค ต้องจำเบอร์ให้ดีตั้งแต่แรก

บัตรเลือกตั้งใบที่สอง เลือกผู้สมัคร ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อพรรคการเมือง (สีเขียว) จะมีโลโก้พรรคการเมืองระบุไว้ในบัตร แต่ถ้าจำเบอร์ได้ก็จะช่วยให้กาไว้ขึ้น

ให้ทำเครื่องหมาย “กากบาท” ในช่องว่างสำหรับทำเครื่องหมาย โดยให้ทำเครื่องหมายกากบาทแค่ครั้งเดียวเท่านั้น แต่ละบัตรเลือกตั้ง สามารถกาเลือกได้เพียงเบอร์เดียว อย่ากาหลายเบอร์

หากไม่อยากเลือกผู้สมัคร ส.ส. แบบแบ่งเขตคนใดเลย และ/หรือ ไม่ประสงค์จะเลือกบัญชีรายชื่อจากพรรคการเมืองใดเลย ให้ทำเครื่องหมายกากบาทในช่อง “ไม่เลือกผู้สมัครผู้ใด” หรือ “ไม่เลือกบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองใด”

ระวัง! ข้อห้าม ไม่ควรทำพฤติกรรมดังต่อไปนี้ เพราะบัตรเลือกตั้งนั้นจะกลายเป็น “บัตรเสีย” ไม่ถูกนับเป็นคะแนน

  • ทำเครื่องหมายอื่นนอกจากกากบาท เช่น กากบาทแล้วใส่วงเล็บล้อม ทำเครื่องหมายดาว วาดรูปหัวใจ ทำสี่เหลี่ยม เขียนคำหรือเบอร์พรรคที่จะเลือก
  • ใส่เครื่องหมายกากบาทมากกว่าหนึ่งอันขึ้นไปในช่องเดียว
  • ทำเครื่องหมายกากบาทนอกช่องทำเครื่องหมาย
  • กาเบอร์มากกว่าหนึ่งเบอร์ขึ้นไป
  • เขียนข้อความใดๆ ลงในบัตรเลือกตั้ง
  • ปล่อยช่องเว้นว่างไว้ ไม่กาเบอร์ใดเลย
  • กาทั้งช่อง “ไม่เลือกผู้สมัครผู้ใด” หรือ “ไม่เลือกบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองใด” และกาเบอร์ผู้สมัคร ส.ส. แบบแบ่งเขต หรือเบอร์บัญชีรายชื่อพรรคการเมืองด้วย
  • กาในช่องที่ไม่มีผู้สมัคร

7. นำบัตรเลือกตั้งใส่ซอง ปิดผนึก ส่งให้เจ้าหน้าที่เซ็นกำกับ: หลังจากกาในช่องทำเครื่องหมายกากบาท ของบัตรเลือกตั้งทั้งสองใบแล้ว ให้นำบัตรเลือกตั้งใส่ซองใส่บัตรเลือกตั้ง และปิดผนึกซองให้เรียบร้อย อย่าเพิ่งนำบัตรเลือกตั้งไปหย่อนใส่กล่อง แต่ให้นำบัตรเลือกตั้งที่ใส่ซองเรียบร้อยแล้ว ไปให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบดูก่อนว่าใส่บัตรและปิดผนึกเรียบร้อยหรือไม่ จากนั้นเจ้าหน้าที่จะลงลายมือชื่อกำกับตรงรอยต่อผนึกซองบัตรเลือกตั้งและปิดทับรอยต่อผนึกซอง ด้วยเทปกาวใส กลไกนี้จะทำให้ช่วยตรวจสอบได้ว่า ซองใส่บัตรเลือกตั้งถูกเปิดหรือไม่

8. หย่อนซองใส่บัตรเลือกตั้งลงหีบ: หลังจากเจ้าหน้าที่จัดการกับซองใส่บัตรเลือกตั้งเรียบร้อยแล้ว ก็จะส่งซองใส่บัตรเลือกตั้งคืนกลับมาให้ ให้นำซองใส่บัตรเลือกตั้ง ไปหย่อนลงในหีบบัตรเลือกตั้ง โดยหีบจะมีใบเดียว และบัตรแต่ละประเภท (เลือก ส.ส. แบบแบ่งเขต – บัญชีรายชื่อ) จะถูกนำไปแยกภายหลัง โดยที่ซองใส่บัตรจะมีรูเพื่อให้เห็นว่ามีบัตรสองใบ สองสี