เลือกตั้ง66: การยื่นคำร้องแจ้งเหตุโกงเลือกตั้งให้ กกต.สืบสวน/ไต่สวน

ตามระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยการสืบสวน การไต่สวน และการวินิจฉัยชี้ขาด พ.ศ. 2561 (ระเบียบ กกต.ไต่สวน) ประกอบด้วยฉบับแก้ไขเพิ่มเติมล่าสุดฉบับที่ 3 ว่าด้วยการทำคำร้องเพื่อยื่นให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ตรวจสอบวินิจฉัย รวมถึงการแต่งตั้งเจ้าพนักงานของ กกต. ในการตรวจมูล สืบสวนสอบสวน และไต่สวนแล้วจึงวินิจฉัยตามกรณีที่ผู้ให้ข้อมูลพบเห็นหรือมีเบาะแสเกี่ยวกับการกระทำที่เป็นการทุจริตการเลือกตั้งไปจนถึงการกระทำอันเป็นความผิดทั้งหลายตามกฎหมายเลือกตั้งและกฎหมายพรรคการเมือง

ประชาชนทุกคนมีสิทธิยื่นคำร้องหากพบโกงเลือกตั้งเฉพาะเขตตัวเอง

กรณีที่พบการกระทำความผิดที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร “ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง” “ผู้ลงสมัครเลือกตั้ง” หรือ “พรรคการเมือง” ถือว่ามีสิทธิเป็นผู้ร้องที่จะสามารถยื่นคำร้องในเขตเลือกตั้งที่ตนมีสิทธิเลือกตั้ง หรือเขตที่สมัครรับเลือกตั้ง หรือเขตที่พรรคการเมืองส่งสมาชิกลงสมัครรับเลือกตั้งต่อ กกต.ได้แล้วแต่กรณี โดยจะต้องยื่นเป็นหนังสือ ใช้ถ้อยคำสุภาพและมีรายละเอียดตามแบบในระเบียบ กกต.กำหนด ดังนี้ (ข้อ 22 แก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่ 3 และ ข้อ 23)

  1. วัน เดือน ปี ที่ทำคำร้อง
  2. ชื่อ ที่อยู่ สถานะของผู้ร้อง (หากมีหลายคนทำเป็นบัญชีแนบท้ายได้)
  3. ชื่อ ที่อยู่ สถานะของผู้ถูกร้อง (ถ้ามี) (หากมีหลายคนทำเป็นบัญชีแนบท้ายได้)
  4. การกระทำที่เป็นเหตุให้ยื่นคำร้องพร้อมข้อเท็จจริงและพฤติการณ์ของแต่ละข้อกล่าวหา ที่เป็นการฝ่าฝืนกฎหมายเลือกตั้งและกฎหมายพรรคการเมือง เป็นการทุจริตในการเลือกตั้งหรือการกระทำใดที่ทำให้การเลือกตั้งไม่สุจริต โดยจะต้องระบุรายละเอียดเกี่ยวกับวันเวลาและสถานที่ที่เกิดการกระทำ รวมทั้งตัวบุคคลและหลักฐานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง 
  5. บัญชีระบุพยานแนบท้าย (ถ้ามี)
  6. ลายมือชื่อผู้ร้อง 

ทั้งนี้ หากมีรายละเอียดไม่ครบถ้วนพนักงานสืบสวนและไต่สวนของ กกต.หรือพนักงานที่ได้รับมอบหมายจะแจ้งให้ทำการแก้ไขเพิ่มเติมคำร้องภายในเวลาไม่เกินสามวันหรือจะทำการบันทึกถ้อยคำของผู้ร้องไปประกอบเป็นส่วนหนึ่งของคำร้องแทนก็ได้

เมื่อคำร้องมีข้อมูลครบถ้วนชัดเจนเพียงพอพนักงานสืบสวนและไต่สวนของ กกต.จะเป็นผู้เสนอความเห็นประกอบเพื่อให้เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้งหรือผู้อำนวยการเลือกตั้งประจำจังหวัดสั่งรับไว้ดำเนินการสืบสวนไต่สวนโดยเร็วคือ ดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในสามวันนับตั้งแต่วันได้รับเรื่อง (ข้อ 26 แก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่ 3) อย่างไรก็ตาม ถ้ารายละเอียดไม่ชัดเจนเพียงพอเลขาธิการฯ หรือผู้อำนวยการฯ อาจพิจารณาสั่งให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงเพิ่มก่อน ทั้งนี้ กกต.จะไม่รับคำร้องไว้ดำเนินการหากคำร้องไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ข้างต้น ยื่นเกินระยะเวลาที่กำหนดหรือผู้ร้องไม่มีสิทธิร้องตั้งแต่ต้นหรือเหตุอื่นตามที่ กกต.กำหนด (ข้อ 27 แก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่ 3 )

หากพบพิรุธการนับคะแนนยื่นคำร้องต่อกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้งนั้นทันที

เมื่อยื่นคำร้องเสร็จสิ้นจะได้ใบรับคำร้องไว้เป็นหลักฐาน โดยผู้ร้องสามารถยื่นคำร้องด้วยตนเองที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดที่จัดการเลือกตั้งในพื้นที่นั้นหรือหากจำเป็นจะยื่นที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (สำนักงานหลัก) ก็ได้เช่นกัน

ถ้าไม่สามารถไปยื่นได้ด้วยตนเองสามารถมอบอำนาจให้ผู้อื่นไปยื่นแทนได้  โดยต้องเตรียมใบมอบอำนาจปิดอากรแสตมป์ตามประมวลรัษฎากรและแนบสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนหรือบัตรแสดงตัวอย่างอื่นที่ทางราชการออกให้ทั้งของผู้ร้องและผู้รับมอบอำนาจ  เว้นแต่กรณีที่เป็นการพบพิรุธเรื่องการนับคะแนนจะต้องยื่นต่อคณะกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้ง หรือเจ้าพนักงานที่เป็นผู้ดำเนินการเลือกตั้งหรือเป็นผู้นับคะแนนหรือรวมคะแนนเลือกตั้ง ณ ที่นั้น แล้วคณะกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้ง หรือเจ้าพนักงานดังกล่าวจะเป็นผู้ส่งคำร้องต่อสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดโดยเร็ว (ข้อ 25 แก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่ 3)

กรณีที่ผู้ยื่นคำร้องเป็นพรรคการเมืองจะต้องแนบข้อบังคับของพรรคการเมือง และมติของคณะกรรมการบริหารพรรคการเมืองในการยื่นคำร้องด้วย และในการมอบอำนาจให้ผู้ที่มีอำนาจทำการแทนพรรคการเมืองจะต้องแนบหลักฐานดังเช่นการมอบอำนาจที่กล่าวมาข้างต้น (ข้อ 25 แก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่ 3)

กรอบเวลาในการยื่นคำร้องให้ กกต.สืบสวน/ไต่สวนการทุจริตเลือกตั้ง

สำหรับระยะเวลาในการยื่นคำร้องของกรณีที่พบพิรุธในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ระเบียบ กกต.ไต่สวน ข้อ 24 (1) ระบุว่า “ให้ยื่นคำร้องได้ตั้งแต่วันที่ประกาศกำหนดวันเลือกตั้งจนถึงสามสิบวันนับแต่วันประกาศผลการเลือกตั้ง” กล่าวคือ ผู้ร้องสามารถยื่นคำร้องได้ตั้งแต่วันที่ กกต.ประกาศกำหนดวันเลือกตั้ง เป็นต้นไปและมีเวลาจนถึง 30 วันหลังประกาศผลการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการ อย่างไรก็ตามกรอบเวลาการยื่นคำร้องที่กล่าวมานี้จะไม่ใช้กับอีกสองกรณีที่เป็นความผิดในเรื่องค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งหรือเรื่องการนับคะแนนเสียง เพราะทั้งสองกรณีนี้มีกรอบเวลาเฉพาะตามแต่ละกรณีไป ดังนี้

  • กรอบเวลายื่นคำร้องในกรณีค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งจะมีระยะเวลาในการยื่นคำร้องได้ตั้งแต่วันเลือกตั้งเป็นต้นไปจนถึงเมื่อผลการเลือกตั้งออกแล้วสามารถยื่นได้อีกภายใน 180 วัน นับตั้งแต่วันที่ประกาศผลการเลือกตั้ง
  • กรอบเวลายื่นคำร้องที่เกี่ยวกับการนับคะแนน สามารถยื่นได้ตั้งแต่ระหว่างที่ยังนับคะแนนไม่เสร็จ แต่หากเป็นกรณีที่พบพิรุธในการรวมคะแนนจะสามารถยื่นคำร้องได้ก่อนประกาศผลการนับคะแนนที่หน่วยเลือกตั้ง

ทั้งนี้ การยื่นคำร้องแจ้งข้อมูลเบาะแสให้ กกต.นั้นจะต้องแจ้งภายในกรอบระยะเวลาที่กล่าวมาข้างต้น หากยื่นเกินกำหนดระยะเวลา กกต.จะไม่รับคำร้องนั้นไปดำเนินการ (ข้อ 27(3) แก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่ 3 ) 

กรณีถอนคำร้องต้องยื่นก่อน กกต.ชี้ขาด

หากผู้ยื่นคำร้องต้องการที่จะถอนคำร้องสามารถยื่นหนังสือขอถอนคำร้องต่อเลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้งหรือผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัดได้ก่อนที่จะมีการดำเนินการวินิจฉัยชี้ขาด ทั้งนี้ เมื่อได้รับหนังสือขอถอนคำร้องแล้วเลขาธิการฯ หรือผู้อำนวยการฯ จะเป็นผู้เสนอความเห็นพร้อมเหตุผลโดยระบุรายละเอียดเกี่ยวกับข้อเท็จจริงหรือพฤติการณ์ว่ามีหลักฐานพอสมควรหรือมีข้อมูลเพียงพอที่จะสืบสวนหรือไต่สวนต่อไปหรือไม่ต่อคณะกรรมการการเลือกตั้งเพื่อพิจารณา (ข้อ 72 แก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่ 3)