เลือกตั้ง 66: รวมเสียงวิจารณ์การจัดการเลือกตั้งของ กกต.

เหลือเวลาอีกไม่ถึงกี่สัปดาห์จะถึงวันเลือกตั้งในวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 แต่เสียงวิพากษ์วิจารณ์ต่อการจัดการเลือกตั้งของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ยังคงเซ็งแซ่ตั้งแต่การคำนวณจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) การแบ่งเขตเลือกตั้ง การรายงานผลการนับคะแนนแบบเรียลไทม์ (Real-Time) การเปิดลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้า บัตรเลือกตั้ง จนมาถึงการให้ข้อมูลที่สำคัญกับประชาชนก่อนใช้สิทธิเลือกตั้ง

โดยไอลอว์ได้ทำการรวบรวมปัญหาที่ทำให้ประชาชนออกมาวิพากษ์วิจารณ์การจัดการเลือกตั้งของ กกต. อย่างน้อย 12 เรื่อง ดังนี้

1) เอาจำนวนคนที่ไม่มีสัญชาติไทยมาคำนวณ จำนวน ส.ส.

ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 31 มกราคม 2566 สมชัย ศรีสุทธิยากร ประธานยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนนโยบาย พรรคเสรีรวมไทย และอดีต กกต. ได้ตั้งข้อสังเกตว่า กกต. ได้นำจำนวนราษฎรที่ไม่มีสัญชาติไทยมาใช้กำหนดจำนวน ส.ส. ในแต่ละจังหวัด จนนำไปสู่การยื่นศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยว่า การคำนวณจำนวน ส.ส. โดยนำราษฎรที่ไม่มีสัญชาติไทยมาใช้คำนวณด้วย เป็นการกระทำที่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่

ต่อมาศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์ว่า การกำหนดจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง ที่แต่ละจังหวัดจะพึงมีตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 86 (1) ที่กำหนดให้ใช้จำนวนราษฎรทั้งประเทศตามหลักฐาน การทะเบียนราษฎรที่ประกาศในปีสุดท้ายก่อนปีที่มีการเลือกตั้ง นั้น คำว่า “ราษฎร” ไม่หมายความรวมถึงผู้ไม่ได้สัญชาติไทย ดังนั้น การคำนวณจำนวน ส.ส. ในแต่ละจังหวัดของ กกต. จึงไม่ถูกต้องและต้องดำเนินการใหม่

หลังศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยว่า การคำนวณจำนวน ส.ส. ของกกต. ไม่ถูกต้อง ทำให้เกิดความกังวลใจว่าจะกระทบกับกรอบเวลาที่ใช้ในการพิจารณาการแบ่งเขตเลือกตั้ง เพราะต้องมีการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนเพื่อจะออกแบบเขตเลือกตั้งให้เป็นธรรม

2) แบ่งเขตเลือกตั้งแบบแยกเขต ผู้สมัคร-ประชาชน สับสนเขต

หลัง กกต. ได้ดำเนินการกำหนดจำนวน ส.ส. ในแต่ละจังหวัดเป็นที่เรียบร้อย ขั้นตอนต่อมาคือการแบ่งเขตเลือกตั้ง โดยหลักคิดสำคัญของการแบ่งเขตเลือกตั้ง คือ เขตเลือกตั้งแต่ละเขตต้องมีพื้นที่ติดกัน สามารถเดินทางคมนาคมถึงกันได้โดยสะดวก และจำนวนประชากรของแต่ละเขตเลือกตั้งต้องมีจำนวนที่ใกล้เคียงกัน รวมถึงให้ใช้เขตปกครองโดยใช้อำเภอหรือตำบลเป็นหลักในการแบ่งเขต ไม่ควรแยกบางส่วนของอำเภออกจากกัน เว้นแต่เพื่อให้มีจำนวนประชากรใกล้เคียงกัน

อย่างไรก็ดี ในการแบ่งเขตในกรุงเทพมหานคร พบว่ามี 13 เขตเลือกตั้งที่เกิดจากการรวมตัวของแขวงโดยที่ไม่มีเขตหลักอยู่ หรือหมายความว่า บางเขตเลือกตั้งประกอบด้วยเขตพื้นที่ต่างๆ ของกรุงเทพมหานครไม่ได้มีเขตหลัก หรือ พื้นที่หลัก เหมือนการแบ่งเขตที่ผ่านมา ยกตัวอย่างเช่น เขตเลือกตั้งที่ 12 ประกอบไปด้วย เขตสายไหม (เฉพาะแขวงออเงิน) เขตบางเขต (เฉพาะแขวางท่าแร้ง) เขตลาดพร้าว (เฉพาะแขวงจรเข้บัว) ซึ่งเราอาจจะเรียกการแบ่งเขตแบบนี้ว่าเป็นการ แบ่งเขตแบบแยกเขต ที่แยกเขตเดียวกันออกจากกัน

จากการแบ่งเขตดังกล่าวมีการตั้งข้อสังเกตว่า การแบ่งเขตลักษณะนี้จะทำให้ผู้สมัครที่มีฐานคะแนนนิยมในพื้นที่อาจเสียเปรียบทำให้อดีต ส.ส. หรือผู้สมัคร ส.ส.ที่ทำพื้นที่มาก่อนอาจเสียพื้นที่เดิม และต้องเริ่มต้นทำพื้นที่ใหม่พร้อมกับผู้สมัครหน้าใหม่ ในขณะเดียวกัน ก็สรา้งความสับสนให้กับประชาชนที่ต้องไปใช้สิทธิเลือกตั้งเพราะมีการแบ่งเขตใหม่ที่ต่างไปจากความคุ้นเคยเดิม

3) การรายงานผลคะแนนแบบไม่เรียลไทม์ (Real-Time)

วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2566 ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ระเบียบคณะกรรมการเลือกตั้งว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 2566 โดยตัดหมวดว่าด้วยการรายงานผลอย่างไม่ทางการออก ซึ่งเดิมระบบดังกล่าวถูกเรียกกันว่า Rapid report  ซึ่งต่อมา แสวง บุญมี เลขาธิการ ดดต. ได้กล่าวขอโทษที่การเลือกตั้งครั้งนี้จะไม่มีเทคโนโลยีเข้ามาช่วย  สาเหตุมาจาก กกต. “ไม่เชื่อว่าระบบที่มีการจัดทำขึ้นจะสามารถแก้ไขปัญหาต่างๆ ในอดีตที่ทำให้การรายงานผลการเลือกตั้งมีความคลาดเคลื่อนได้” 

อย่างไรก็ดี หลังสื่อมวลชนและประชาชนตั้งคำถามอย่างมากทั้งในแง่ที่ว่าเมื่อขาดระบบแล้วจะใช้เวลาเท่าใดในการแจ้งผล หรือการรายงานเป็นระยะผ่านสื่ออย่างที่เคยทำมาในการเลือกตั้งที่ผ่านมา ท้ายสุดสำนักงานกกต. ระบุว่า จะมีระบบที่เรียกว่า ECT Report ซึ่งมีรูปแบบการทำงานไม่ได้แตกต่างจากระบบ “Rapid Report” มากนัก กล่าวคือ หลังคณะกรรมการนับคะแนนประจำหน่วยเลือกตั้ง (กปน.) ได้นับคะแนนเสร็จแล้ว และได้ตรวจสอบความถูกต้องเสร็จแล้ว คณะกรรมการรวมคะแนนจะนำผลการนับคะแนนในแบบรายงาน ส.ส. 5/18 มากรอกลงในระบบ ECT Report เพื่อรายงานผลต่อสื่อมวลชน

สิ่งที่น่ากังวลต่อวิธีการรายงานผลคะแนนการเลือกตั้งแบบไม่เป็นทางการอย่าง ECT Report คือ รวมศูนย์ อยู่ที่ กกต. กล่าวคือ แม้จะมีระบบที่จะรายงานผลคะแนนจากแบบฟอร์ม ส.ส. 5/18 แต่แบบฟอร์มดังกล่าวเป็น ‘ข้อมูลที่ถูกจัดการ’ โดย กปน. มาเป็นที่เรียบร้อย โดยมีคณะกรรมการรวมคะแนนเป็นผู้คัดกรองคะแนนดังกล่าวอีกชั้น หรือหมายความว่า นับตั้งแต่หลังการนับคะแนนเสร็จ กปน. จะเป็นคนจัดการคะแนนเป็นคนแรก จากนั้นจะส่งให้คณะกรรมการรวมเขตจัดการต่อ (และอาจจะมี กกต. ชุดใหญ่จัดการอีกครั้ง) ก่อนจะส่งมาแสดงผลต่อสื่อมวลชน

4) ใช้ “บัตรโหล” ผลักภาระให้ประชาชนต้องจำเบอร์ผู้สมัคร

ในการเลือกตั้ง 2566 ระบบหมายเลขผู้สมัครยังเป็นระบบ “ต่างเขต-ต่างเบอร์” หรือหมายความว่า ผู้สมัครในพรรคเดียวกันจะได้รับหมายเลขผู้สมัครไม่เหมือนกัน และหมายเลขของผู้สมัครก็อาจจะไม่ตรงกับพรรค ต่างกับการเลือกตั้งในอดีต เช่น ปี 2554 ที่ใช้ระบบเบอร์เดียวทั้ง ส.ส.เขต และ พรรค ซึ่งง่ายต่อประชาชนในการจดจำหมายเลขผู้สมัคร

เมื่อใช้ระบบ “ต่างเขต-ต่างเบอร์” การออกแบบบัตรเลือกตั้งจึงเป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยประชาชนในการเข้าคูหาเลือกคนที่รักเลือกพรรคที่ชอบได้ตรงกับความต้องการของตัวเอง แต่ทว่า กกต. กลับออกแบบบัตรเลือกตั้ง ส.ส.เขต ให้มีแค่ช่องกากบาทกับหมายเลขผู้สมัครเหมือนๆ กัน ในทุกเขต หรือที่เรียกว่า ‘บัตรโหล’ เพื่อให้ง่ายต่อการจัดการส่งบัตรของกกต.ในการเลือกตั้งล่วงหน้าทั้งในและนอกราชอาณาจักร แต่โยนภาระให้ประชาชนต้องแยกจำเบอร์ของทั้งผู้สมัครและพรรคการเมือง

อย่างไรก็ดี การแก้ไขบัตรเลือกตั้งอยู่ในอำนาจที่ กกต. สามารถกระทำได้ เพราะเคยมีการแก้ไขรูปแบบบัตรเลือกตั้งตามเสียงวิพากษ์วิจารณ์มาแล้ว ในการเลือกตั้งทั่วไป 2562 โดยตอนแรก กกต. เปิดเผยบัตรเลือกตั้งออกมาเป็น “บัตรโหล” ไม่มีชื่อคนและพรรค มีแต่หมายเลขและช่องให้ลงคะแนนเท่านั้น แต่ท้ายที่สุด จากการเผชิญแรงกดดันจากหลายฝ่าย กกต. ก็ต้องยอมเปลี่ยนรูปแบบบัตรเลือกตั้งเป็น “บัตรพิเศษ” ให้มีทั้งหมายเลขผู้สมัคร โลโก้พรรคการเมือง และชื่อพรรคการเมือง และจัดพิมพ์บัตรเลือกตั้งครบทุกเขต

5) ระบบลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้าล่มวันสุดท้าย

วันที่ 9 เมษายน 2566 ซึ่งเป็นวันลงทะเบียนเลือกตั้งนอกเขตวันสุดท้าย ทำให้มีประชาชนจำนวนมากที่ตั้งใจจะลงทะเบียนให้ทันตามกำหนดนี้ แต่ไม่สามารถเข้าเว็บไซต์ได้ หรือไม่สามารถลงทะเบียนเพื่อเลือกตั้งล่วงหน้านอกเขตได้สำเร็จ เนื่องจากเว็บไซต์สำหรับการลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้านอกเขตมีปัญหาการเข้าถึงตั้งแต่ช่วงหัวค่ำ ในเวลาประมาณ 21.00 น. เป็นต้นมา 

ต่อมา เมื่อใกล้เวลาปิดลงทะเบียน ก่อนเวลา 24.00 น. ประมาณสิบนาที เว็บไซต์กลับมาใช้ได้อีกครั้ง ผลกระทบที่เกิดจากปัญหาทางระบบในครั้งนี้จึงอาจทำให้ประชาชนจำนวนมากไม่อาจไปใช้สิทธิออกเสียงเลือกตั้งได้ โดยกกต.มีอำนาจขยายเวลาการลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้าให้กับประชาชน แต่ท้ายสุดไม่ได้ขยายเวลาให้ลงทะเบียนเพิ่ม

6) กกต. บินไปดูงานต่างประเทศพร้อมกัน ในช่วงใกล้เลือกตั้ง

หลังมีปัญหาระบบเลือกตั้งล่วงหน้า ประชาชนต่างคาดหวังความรับผิดชอบจาก กกต. แต่พบว่า กกต. จำนวน 6 คน มีกำหนดการบินดูงานที่ต่างประเทศในช่วงเวลาวันที่ 5-22 เมษายน โดยคาดการณ์กันว่าใช้งบประมาณไม่ต่ำกว่า 12 ล้าน และตามมาด้วยเสียงวิพากษ์วิจารณ์ถึงความเหมาะสม เพราะเป็นช่วงเวลาที่ใกล้กับการเลือกตั้ง และการไปดูงานต่างประเทศก็ขาดความเหมาะสมเพียงพอ

อย่างไรก็ดี อิทธิพร บุญประคอง ประธาน กกต. ชี้แจงว่า เดินทางไปดูงานต่างประเทศเพื่อดูกระบวนการการเลือกตั้งว่าสามารถตอบโจทย์การให้บริการกับคนไทยในต่างประเทศที่ลงทะเบียนแสดงความประสงค์เลือกตั้งได้มากน้อยแค่ไหน รวมถึงรับฟังปัญหาในการปฏิบัติที่อาจจะเกิดขึ้น นอกจากนี้ยังได้ดูเรื่องการส่งบัตรไปให้สถานทูตต่างๆ ใช้ในการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร และกระบวนการส่งบัตรเลือกตั้งกลับมายังประเทศไทย เพื่อถอดบทเรียนว่าสิ่งที่ได้จากการไปดูงานเรามีความมั่นใจให้บริการการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรครั้งนี้อย่างไรบ้าง

7) สัญลักษณ์ขอบบางพรรคไม่ชัดเจนในเอกสารแนะนำพรรค

วันที่ 25 เมษายน 2566 จรยุทธ์ จตุพรประสิทธิ์ ผู้สมัครส.ส. เขต กรุงเทพมหานคร ทวีตภาพเอกสารรายชื่อพรรคการเมืองที่ยื่นบัญชีรายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อที่ติดบนบอร์ดหน้าหน่วยเลือกตั้ง โดยเป็นการพิมพ์แบบขาวดำที่โลโก้ของพรรคก้าวไกลซีดจางจนแทบมองไม่เห็นต่างจากของพรรคอื่นๆ ระบุด้วยว่า จากการตระเวนดูหน่วยเลือกตั้งอื่นๆในเขตบางคอแหลมก็พบปัญหาเดียวกันหลายแห่ง วันถัดมาพรรคก้าวไกลได้ยื่นหนังสือถึงประธานคณะกรรมการเลือกตั้ง (กกต.) เพื่อขอให้ดำเนินการแก้ไข ต่อมาเวลา 15.26 น. ของวันที่ 26 เมษายน 2566 จรยุทธ์ทวีตภาพเอกสารที่ถูกนำมาติดใหม่เป็นภาพสีเห็นโลโก้พรรคชัดเจน พร้อมทั้งกล่าวขอบคุณ

8) พบรายชื่อบุคคลที่ไม่รู้จักอยู่ในบัญชีผู้มีสิทธิเลือกตั้งตามทะเบียนบ้าน

ประชาชนในเขตจอมทองร้องเรียนว่า มีรายชื่อบุคคลแปลกปลอมสองชื่อในบัญชีผู้มีสิทธิเลือกตั้งในบ้านของเธอ หรือทีเรียกกันว่า “รายชื่อผี” ซึ่งก่อนหน้านี้รายชื่อดังกล่าวเคยปรากฏในการเลือกตั้งปี 2554 และการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร 2565 ด้วย ที่ผ่านมาเธอเคยทำเรื่องแจ้งไปเขตจอมทองหลายครั้ง แต่ไม่ได้รับการแก้ไขแต่อย่างใด ด้านผู้อำนวยการเขตจอมทองระบุว่า เจ้าของบ้านยังไม่เคยร้องเรียนเรื่องราวดังกล่าวเข้ามา  หากยื่นเรื่องมาแล้วทางทะเบียนราษฎร์จะรับเรื่องไว้ และจะเปลี่ยนเลขที่บ้านให้ด้วย เนื่องจาก บ้านเลขที่ของผู้ร้องเรียนไปซ้ำกับอีกบ้านหนึ่งเป็นบ้านที่บุคคลสองคนดังกล่าวเคยมีประวัติอาศัยอยู่ แต่อยู่อีกพื้นที่หนึ่ง

9) ใส่รูปภาพผู้สมัคร ส.ส. สลับพรรคกัน ในเอกสารแนะนำผู้สมัคร

วันที่ 23 เมษายน 2566 มีรายงานว่า เอกสารแนะนำผู้สมัคร ส.ส. หรือใบรายชื่อผู้สมัคร ส.ส. ในการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร ที่กรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร มีความผิดพลาด พบว่า เขตเลือกตั้งที่ 11 กรุงเทพมหานคร ใส่ภาพผู้สมัครสลับกันระหว่าง เอกภาพ หงสกุล พรรคเพื่อไทยกับว่าที่รต. เทวิน พิมพ์พันธุ์ พรรคอนาคตไทย 

ต่อมา อิทธิพร บุญประคอง ประธานกกต.ยอมรับว่ากรณีดังกล่าวได้ตรวจสอบแล้ว พบว่า ความผิดพลาดเกิดขึ้นในขั้นตอนของเขตเลือกตั้ง ที่ กทม. และทาง กกต.กทม. ตรวจสอบพบความผิดพลาดจึงรีบแก้ไขแจ้งไปยังสถานเอกอัครราชทูต ตั้งแต่วันที่ 18 เมษายนแล้ว

10) เขียนชื่อพรรคการเมืองผิด ในเอกสารแนะนำผู้สมัคร ส.ส.

วันที่ 26 เมษายน 2566 ณัฐวุฒิ กองจันทร์ดี ผู้สมัคร ส.ส. เขต 3 จังหวัดหนองบัวลำภู พรรคไทยสร้างไทยโพสต์ภาพประกาศเอกอัครราชทูต/กงสุลใหญ่ ณ สำนักงานการค้าและเศรษฐกิจ ไทเป เรื่องรายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้งส.ส. เขต 3 จังหวัดหนองบัวลำภู โดยหมายเลข 3 ณัฐวุฒิ กองจันทร์ดี เป็นพรรคไทยสร้างชาติ ทั้งที่ณัฐวุฒิ สังกัดพรรคไทยสร้างไทยและภาพประกอบก็เห็นชัดว่า เขาสวมเสื้อโปโลสกรีนคำว่า ไทยสร้างไทยอยู่  

11) ซองบัตรเลือกตั้งล่วงหน้าชำรุด-รหัสไปรษณีย์ไม่ถูกต้อง

26 เมษายน 2566 คนไทยที่อาศัยอยู่ในเมืองทางเหนือของประเทศเยอรมันเปิดเผยกับสำนักข่าวไทยรัฐว่า ซองใส่เอกสารที่ภายในมีบัตรเลือกตั้งทั้งแบบแบ่งเขตและปาร์ตี้ลิสต์พร้อมกับซองส่งบัตรกลับประเทศไทย แต่กลับพบว่าบริเวณปากซองที่ใส่เอกสารส่งมา มีร่องรอยคล้ายกับถูกพยายามดึงออก โดยพบว่าที่บ้านมีผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 3 คน และทั้งสามซองมีร่องรอยเหมือนกัน

นอกจากนี้ซองสำหรับใช้ส่งกลับประเทศไทยยังจ่าหน้าเป็นรหัสไปรษณีย์ที่ไม่มีในประเทศไทยและแต่ละซองก็ไม่เหมือนกัน อย่างเช่นของตัวเขาเองที่มีภูมิลำเนาเลือกตั้งที่ จ.นนทบุรี แต่ซองส่งกลับระบุรหัสไปรษณีย์ 12003 เมื่อนำไปค้นหาในเว็บไซต์ก็ไม่พบว่ามีพื้นที่ไหนที่ใช้รหัสไปรษณีย์ดังกล่าว

12) จัดหน้าเอกสารแนะนำผู้สมัคร ส.ส. ไม่เรียบร้อย ทำให้สับสนเรื่องพรรค

วันที่ 26 เมษายน 2566 ภัสริน รามวงศ์ ผู้สมัครจากพรรคก้าวไกล เขต 7 กรุงเทพมหานครทวีตภาพเอกสารที่คาดว่า จะเป็นเอกสารแนะนำผู้สมัครของสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงวอชิงตัน ระบุว่า เหตุใดการตีเส้นบรรทัดชื่อพรรคของเธอถึงไม่อยู่ในกรอบเดียวกันกับหมายเลขและชื่อ เช่นเดียวกันกับ ศุภณัฐ มีนชัยนันท์ ที่ทวีตภาพเอกสารของสถานทูตเดียวกันที่เคาะตารางกรอบชื่อพรรครวมไทยสร้างชาติมาติดกับภาพและรายละเอียดของเขา พร้อมตั้งคำถามถึงกกต.ว่า จงใจทำให้สับสนหรือไม่

นอกจากนี้ นพเก้า คงสุวรรณ ผู้สื่อข่าว Voice TV ทวีตข้อความพร้อมภาพโดยระบุว่า ที่โอซาก้า พบว่าใบแนะนำตัวผู้สมัครเลืกตั้งล่วงหน้า มีเพียง หมายเลข ชื่อ นามสกุล ผู้สมัคร ส.ส.กทม.เขต 1 ของทั้ง กานต์กนิษฐ์ พรรคเพื่อไทย , สุวดี พรรคไทยสร้างไทย และ นันทพันธ์ พรรคชาติพัฒนากล้า โดยชื่อของพรรคถูกเลื่อนไปอยู่ในเอกสารหน้าถัดไปไม่รวมอยู่ในช่องเดียวกันกับผู้สมัคร 

You May Also Like
อ่าน

ส่องวาระศาลรัฐธรรมนูญ-องค์กรอิสระ สว. 67 เคาะเลือกคนใหม่ได้เกินครึ่ง

พฤษภาคม 2567 สว. ชุดพิเศษ จะหมดอายุแล้ว แต่ สว. ชุดใหม่ ยังคงมีอำนาจสำคัญในการเห็นชอบตุลาการศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ ภายใต้วาระการดำรงตำแหน่งของ สว. ชุดใหม่ จะมีอำนาจได้ “เกินครึ่ง” ของจำนวนตำแหน่งทั้งหมด
อ่าน

ศาลรธน. ไม่รับคำร้อง ปมรัฐสภาถามเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ทำประชามติกี่ครั้ง ทำตอนไหน

17 เมษายน 2567 ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเไม่รับคำร้องที่รัฐสภาขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยปัญหาอำนาจหน้าที่ของรัฐสภาว่า รัฐสภาจะมีอำนาจในการพิจารณาแก้รัฐธรรมนูญได้เลยหรือต้องทำประชามติก่อน